Enough is Enough ถึงเวลาเลิกกินเหลือ

AGENDA

 

คนอดอยากเกือบพันล้านคน แต่ขยะอาหารล้น จนเป็นสาเหตุโลกร้อน

 

“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า..” คำกลอนที่มีชื่อเสียงที่สุดบทหนึ่งสำหรับคนไทย เพราะต้องได้ท่องในวัยเรียน จุดประสงค์หลักคืออยากปลูกฝังให้เด็กเห็นคุณค่าของอาหารตรงหน้า คำนึงถึงกลุ่มผู้ผลิตที่ตรากตรำ ไปจนถึงผู้ยากไร้ที่ไม่มีข้าวกิน แต่สำหรับปัจจุบัน ‘โลกร้อน’ กลายเป็นอีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึงถ้ากินข้าวเหลือ

 

 

ต้นทุนที่แท้จริงของการกินเหลือ

Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO รายงานว่าในปี 2021 ทั่วโลกมีคนทรมานจากความหิวโหยมากถึง 702 ถึง 828 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2030 ก็จะยังมีผู้คนที่อดอยากมากถึง 670 ล้านคน

 

บนโลกใบเดียวกัน ขยะอาหารกลับเพิ่มขึ้นมหาศาลจนเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน ปี 2021 มีขยะอาหารเกิดขึ้นมากถึง 931 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตอาหารในแต่ละปี แปลว่าอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก สุดท้ายแล้วจะต้องกลายเป็นขยะอย่างน้อย 17% และการเน่าเสียของมันก็ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า มีส่วนสร้างมลพิษถึง 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เราปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

 

The Rockefeller Foundation ระบุว่า คนอเมริกันใช้จ่ายค่าอาหารปีละ 1.1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ต้นทุนที่แท้จริงของอาหารนั้นแลกมาด้วยต้นทุนแรงงาน วัตถุดิบ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการบริโภคมากเกินก็ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เมื่ออาหารเหล่านั้นกลายเป็นขยะ ก็ยิ่งเท่ากับว่าสูญเสียสิ่งเหล่านั้นไปในกระบวนการห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นมูลค่าแล้ว แพงกว่าค่าอาหารถึง 3 เท่าตัว

 

 

ขยะอาหารเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง?

ในระดับโลก ขยะอาหาร 931 ล้านตัน มาจากครัวเรือนมากที่สุด คือ 567.9 ล้านตัน คิดเป็น 61% มาจากร้านอาหาร 242 ล้านตัน คิดเป็น 26% และมาจากร้านขายปลีก 121 ล้านตัน คิดเป็น 13% 

 

ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษเผยว่า ในปี 2017 มีปริมาณขยะอาหารเกินกว่าครึ่งหนึ่งของขยะมูลฝอยทั้งหมด โดยอยู่ที่ 17.6 ล้านตัน เท่ากับว่าคนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารราว 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งขยะเหล่านี้เกิดจากครัวเรือนมากถึง 57% 

 

ความสอดคล้องของข้อมูลข้างต้นก็คือ ขยะอาหารส่วนใหญ่นั้นมาจากครัวเรือนและร้านอาหาร ทำให้แนวทางการจัดการขยะอาหารมุ่งเน้นไปที่การบริโภคปลายทาง ธุรกิจให้บริการด้านอาหาร อย่างร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม เป็นต้น 

 

เราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ขยะอาหารหายไป 50% ภายใน 8 ปี

ไทยเข้าร่วมเป้าหมายของสหประชาชาติตามแนวทางความยั่งยืน ซึ่งตั้งเป้าลดขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2030 

แปลว่าเราเหลือเวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น 

 

ป้องกัน-ลด-ทิ้ง Food Waste Management Model

FAO และ UNEP (United Nations Environment Programme)  ได้ร่วมกันออกแบบแนวทางบริหารจัดการขยะอาหารเป็นโมเดลแบบพีระมิดหัวกลับ เพื่อแสดงลำดับขั้นของการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร ดังนี้ 

 

1) การป้องกัน (Prevention) เริ่มต้นตั้งแต่การผลิต ภาคเอกชนควรประเมินความต้องการของสินค้าเพื่อให้เกิดสมดุลการบริโภค ส่วนภาครัฐดูแลที่ปลายน้ำ โดยกำหนดนโยบายจัดการขยะอาหาร เช่น เก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น

 

2) การเพิ่มประโยชน์ (Optimization) นำอาหารที่จะกลายเป็นขยะกลับมาใช้ใหม่หรือปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ในบริบทอื่น ๆ เช่น บริจาคแก่ผู้ยากไร้ ผลิตเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น

 

3) การผลิตเพื่อใช้ใหม่ (Recycle) นำขยะอาหารเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น การผลิตปุ๋ยหมักหรือก๊าซชีวภาพ เป็นต้น

 

4) การเปลี่ยนเป็นพลังงาน (Recovery) ขยะอาหารสามารถเข้าสู่เตาเผาเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานหรือแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้ 

 

5) การกำจัด (Disposal) บางส่วนของขยะอาหารที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการกำจัดที่รับผิดชอบต่อโลก โดยอาจนำไปเผาหรือฝังกลบ

 

 

การบังคับใช้โมเดลพีระมิดในฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสคือประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการลดขยะอาหาร ด้วยการนำนโยบายและมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ 

 

ปี 2016 ฝรั่งเศสได้บังคับใช้อนุบัญญัติภายใต้ประมวลกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยกำหนดข้อบังคับต่าง ๆ พร้อมบทลงโทษหากไม่ทำตาม โดยออกแบบกฎหมายตามแนวทางการลดขยะอาหารแบบพีระมิดด้วย

 

ข้อบังคับเริ่มตั้งแต่ต้องมีการนำอาหารไปบริจาคมากกว่านำไปทิ้ง โดยตั้งโทษปรับสูงถึง 4,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ทำสัญญาบริจาคอาหารให้กับมูลนิธิต่าง ๆ โดยการบริจาคอาหารจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและมั่นใจว่าอาหารนั้นยังรับประทานได้ ถ้าฝ่าฝืนก็มีโทษปรับเช่นกัน

 

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีมาตรการทางภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการบริจาคอาหาร โดยกำหนดให้ผู้ที่บริจาคอาหารสามารถขอคืนภาษีได้ร้อยละ 60 ของมูลค่าอาหารที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของผลประกอบการต่อปี

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับอื่น ๆ เช่น ร้านอาหารที่มีพื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร ต้องจดรายงานปริมาณขยะอาหารอย่างสม่ำเสมอ ซูเปอร์มาร์เก็ตห้ามกำหนดมาตรฐานรูปร่างผักผลไม้เพื่อลดขยะอาหารที่ถูกคัดทิ้ง 

 

รัฐบาลไทยทำอะไรอยู่ และทำอะไรได้อีก

อุปสรรคสำคัญก็คือ ประเทศไทยขาดระบบติดตามและคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่ทราบปริมาณขยะอาหารที่แน่ชัด รวมทั้งขาดข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ครัวเรือนและผู้ประกอบการจึงไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของปัญหาขยะอาหาร และประโยชน์ที่จะได้จากการจัดการปัญหานี้ โดยหากมองในภาพรวมแล้ว ไทยมีเพียงการสนับสนุนในระดับหน่วยงานย่อย แต่ยังไม่มีนโยบายที่ส่งผลอย่างจริงจัง ทั้งการจูงใจและมาตรการบังคับ รัฐบาลไทยจึงควรเพิ่มบทบาทอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่

  1. การจูงใจด้วยมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่วางระบบบริหารจัดการขยะ หรือผู้ที่บริจาคอาหาร 
  2. เพิ่มบทลงโทษสำหรับการจัดการขยะอาหารที่ไม่ถูกต้อง และพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขยะอาหารโดยไม่จำเป็น
  3. กระตุ้นและสนับสนุนการนำขยะอาหารกลับมาใช้ใหม่ หรือนำไปใช้ต่อ อย่างการปฏิรูปเพื่อพัฒนาและบังคับใช้การแยกขยะอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลขยะ นำมาคัดแยก รีไซเคิล และลดขยะที่จะกลายเป็นมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

จัดการขยะอาหารได้ดี แล้วได้อะไรอีก

ถึงแม้กฎหมายและข้อบังคับจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่เห็นความสำคัญของการจัดการขยะอาหาร เพราะนอกจากจะสามารถลดต้นทุนการจัดการขยะได้แล้ว ยังดีต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์สีเขียวให้แก่ผู้ประกอบการตามกระแสของผู้บริโภคด้วย

 

– ลดขยะอาหาร 10% ลดค่าใช้จ่ายปีละ 1 ล้าน

จากข้อมูลจากการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทยโดย TDRI พบว่า โรงแรมในไทยที่มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเข้ารับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการให้เกิดขยะอาหารให้น้อยที่สุดนั้น ได้เห็นผลของการวางระบบว่า หากโรงแรมลดปริมาณขยะอาหารได้ 10% จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ปีละกว่า 1 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการวางระบบการจัดการขยะในโรงแรม

 

– Sushiro ความลับใต้จานซูชิ ลดขยะอาหารเกินครึ่ง

ร้านอาหารชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นที่มีสายพานหมุนเป็นจุดขายนั้น จริง ๆ มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ลูกค้าหยิบจานซูชิขึ้นมา ผ่านแท็ก IC ที่ติดอยู่ใต้จานซูชิทุกจาน เทคโนโลยีนี้ทำให้ Sushiro ทราบว่าลูกค้าแต่ละโต๊ะหยิบซูชิประเภทไหน หยิบเมื่อไหร่ แต่ละจานอยู่บนสายพานนานแค่ไหน การเก็บข้อมูลนี้ทำให้ Sushiro นำมาบริหารจัดการการเสิร์ฟ จนสามารถป้องกันการเกิดขยะอาหาร ที่ปกติมีราว 10% ให้เหลือ 4% ได้

 

– Oho! สตาร์ตอัปช่วยเคลียร์ของเหลือในร้านอาหาร

ร้านอาหารหลายร้านมีอาหารที่ขายไม่หมดแต่ยังกินได้ Oho! คือกลุ่มคนไทยที่อยากช่วยลดปัญหาขยะอาหาร โดยสร้างแพลตฟอร์มรวมอาหารขายไม่หมดที่คุณภาพดีราคาถูกจากร้านอาหารต่าง ๆ ตอบโจทย์ทั้งร้านอาหารที่ลดขยะอาหารได้ และผู้บริโภคที่ได้อาหารในราคาถูกกว่าปกติ เพราะอาหารที่วางขายบน Oho! จะมีส่วนลดขั้นต่ำ 25%-70% จากราคาหน้าร้านเลยทีเดียว

 

– ต้นแบบท่องเที่ยวยั่งยืน ‘เดอะเลกาซี ริเวอร์แคว รีสอร์ต’

รีสอร์ตที่ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นหลักในการบริหาร เพื่อให้ทุกอย่างหมุนเวียนได้อย่างไม่สิ้นสุดและไม่เกิดขยะอาหาร ตั้งแต่การปลูกผักที่ใช้ในการปรุงอาหารเอง เศษหญ้า ใบไม้แห้ง และขยะอาหารก็นำมาหมักเพื่อใช้ในรีสอร์ต นอกจากจะลดขยะอาหารได้แล้ว ยังทำให้มีรายได้เพิ่มจากการขายผลผลิตที่ปลูกในรีสอร์ตอีกด้วย

 

 

ที่มา: 

FAO, IFAD, UNICEF, WFP and WHO. 2022. The State of Food Security and Nutrition in the World 2022. Repurposing food and agricultural policies to make healthy diets more affordable. Rome, FAO. https://doi.org/10.4060/cc0639en

UNEP. FOOD WASTE INDEX REPORT 2021. 2021.

TDRI. “Food Waste ปัญหาร่วมระหว่างเรา และ โลก (1).” TDRI: Thailand Development Research Institute, 10 Oct. 2019, https://tdri.or.th/2019/10/food-waste/. 

IDB INVEST, et al. Fighting Food Waste in the Tourism Sector Challenges and Opportunities for Latin America, the Caribbean, and Beyond. Sept. 2020, https://www.oneplanetnetwork.org/sites/default/files/fighting-food-waste-in-the-tourism-sector.pdf. 

Rockefeller Foundation. True Cost of Food Measuring What Matters to Transform the U.S. Food System. 2021. 

TDRI. “การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย.” TDRI: Thailand Development Research Institute, 30 Sept. 2019, https://tdri.or.th/2019/09/food-waste-management/. 

“Sushiro: Always Bring the Best Sushi for You, Because They Know You.” Digital Innovation and Transformation, 5 Oct. 2022, https://d3.harvard.edu/platform-digit/submission/sushiro-always-bring-the-best-sushi-for-you-because-they-know-you/.

“รู้จัก Oho! แพลตฟอร์มแก้ปัญหา Food Waste ร้านอาหารลดของเหลือทิ้ง ผู้บริโภคได้กินของดีราคาถูก.” ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี), 1 Mar. 2023, https://www.smethailandclub.com/startup-techstartup/8249.html.

 

Share This Story !

4.7 min read,Views: 4054,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 21, 2024