![d1](https://tatreviewmagazine.com/wp-content/uploads/2018/02/d1.jpg)
12 เดือน 12 เมือง : การทำงานแบบใหม่ ที่พาคุณไปทั่วโลก Digital Nomad
โจทย์ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่ผมมักได้ยินบ่อยๆ คือ พวกเขาอยากท่องเที่ยว – อยากเห็นโลกกว้าง – อยากเดินทางให้มากๆ “พอแก่ตัวไป ก็เดินทาง ได้แหละพี่ แต่ก็จะไม่เหมือนตอนนี้แล้ว การเดินทางตอนยังมีเรี่ยวมีแรงอยู่มันดีนะ” พวกเขาบอกกับผม บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มักเป็นคำบ่นที่ตามมาด้วยอาการสิ้นหวัง
ถึงแม้จะอยากออกไปข้างนอก อยากสาวเท้าไปยังดินแดนใหม่ๆ อย่างนี้ แต่สิ่งที่ ‘รั้ง’ ไว้ไม่ให้พวกเขาเดินทางท่องโลกได้อย่างใจก็คือตัวแปรสำคัญนั่นแหละครับ – ‘งาน’ โดยเฉพาะงานที่ต้องตัวติดกับออฟฟิศตลอดเวลา วันหนึ่งๆ เข้างานแปดโมงเช้า
เลิกงานห้าโมงเย็น ทำให้ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ตามใจชอบ หรือจะไปก็ต้องลาไปเป็นช่วงๆ ไม่ได้ไปได้ไกลอย่างที่ใจคิด
โจทย์ของการรักษาสมดุลระหว่างการเดินทางกับการทำงานทำให้หลายคนเลือกวิถีชีวิตที่เรียกว่า Digital Nomad หรือ‘นักเร่ร่อนดิจิทัล’อันหมายถึงผู้คนที่สามารถเคลื่อนย้ายงานไปตามสถานที่ที่ตนเองอยู่ได้บางคนอาจเป็นฟรีแลนซ์ไม่รับจ้างประจำในขณะที่บางคนก็มีสัญญาจ้างประจำ ชนิดที่ยืดหยุ่นพอที่จะไม่ต้องให้ตัวติดกับออฟฟิศตลอดเวลา และบางคนก็เป็นเจ้าของกิจการ
การเป็น Digital Nomad และวางแผนการเดินทางด้วยตนเองนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย แต่จะว่ายากก็ยากสาหัสสากรรจ์เช่นกันเพราะคุณต้องวางแผนทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตการท่องเที่ยวไปพร้อมๆกันคุณต้องกังวลกับทุกคำถามตั้งแต่เรื่องว่าที่ที่คุณจะไปมีอินเทอร์เน็ตที่ดีพอให้คุณทำงาน ส่งงานอย่างไม่ติดขัดได้ไหม ที่นั่นมีสภาพแวดล้อมหรือโต๊ะ หรือคาเฟ่
ให้คุณไปทำงานได้อย่างสะดวกๆ หรือเปล่า วันที่คุณไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เป็นวันที่ตรงกับวันส่งงานหรือวันสำคัญที่นัดลูกค้าไว้หรือไม่คุณจะจองตั๋วทุกสิ่งทุกอย่างไปพร้อมๆ กับที่มีสมาธิทำงานได้อย่างไร ไหนจะเรื่อง ‘สังคม’อีกล่ะ-คุณจะหาเพื่อนระหว่างเดินทาง
ได้ไหม หรือจะเหงาตายไปเสียก่อน?
Remote Year (2014) / Start Up
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ Remote Year สัญญาว่าจะแก้ไขให้
Remote Year เป็นสตาร์ทอัพอายุ 4 ปี (ก่อตั้งปี 2014) คุณ Greg Caplan เกิด
ความคิดเรื่องธุรกิจลักษณะนี้ขึ้นมาเมื่อเขาพบปัญหาว่าหลังจากขายธุรกิจเว็บไซต์แฟชั่น Obaz ให้กับเครือ Groupon แล้ว เขาก็อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตคืออยากเดินทางไป
ด้วยและก็อยากทำงานไปด้วยแต่ทุกอย่างก็ดูยุ่งยากเหลือเกินเขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร
FastCompany ว่าปัญหาหลักๆ ปัญหาหนึ่งของเหล่า Digital Nomads
คือการหาสังคมที่อยู่ร่วมกันได้
“ผมทำงานจากที่ห่างไกลได้แหละครับ แต่ผมหาเพื่อนที่จะเดินทางไปด้วยไม่ได้ ปัญหาหลักของผมคือการเดินทางคนเดียวผมคิดว่าตัวเองจะเหงามากผมอยากท่องเที่ยว
นะ แต่ก็อยากมีสังคมไปด้วยพร้อมๆ กัน” – นี่คือใจความหลักที่เขาตัดสินใจตั้ง Remote Year ขึ้นมา
ในทุกๆ ปี (ปีละหลายรุ่น) Remote Year จะพาเหล่า Digital Nomads ที่มีความคิด
ความเชื่อคล้ายคลึงกัน (และที่สำคัญคือต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้) ประมาณ 80-100 คน เดินทางไปทำงานในสถานที่ต่างๆราว12-18แห่งทั่วโลกโดยจัดการทุกสิ่งให้ตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่พิเศษมากคือ ถ้าผู้สมัครไม่มีงาน
ที่สามารถ ‘ทำระยะไกล’ ได้อยู่แล้วล่ะก็ Remote Year ก็จะเป็นธุระจัดการหางานที่เหมาะกับความสามารถของพวกเขาให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสายไหน และระดับใด
ท่าทางว่าปัญหาที่คุณ GregCaplan เจอจะเป็นปัญหายอดฮิตสำหรับเหล่า
แรงงานสมัยใหม่เพราะเมื่อ Remote Year ประกาศเปิดให้บริการเพียงหนึ่งเดือน ก็มีใบสมัครหลั่งไหลเข้ามาถึง 25,000 ใบ (แต่แน่นอนว่าเขารับผู้สมัครได้ไม่ถึงร้อยคนเท่านั้น) รวมไปถึงมีบริษัทอีก 15 แห่งที่ติดต่อมาบอกว่าอยากจ้างงานคนที่เข้าร่วมใน
โครงการของ Remote Year ด้วย (ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าผู้สมัครเหล่านี้เป็นใครเลยก็ตาม!)
แต่บริการสุดวิเศษนี้ก็มาพร้อมกับค่าบริการที่สูงเช่นกัน นิตยสาร Atlas Obsucra รายงานว่า Remote Year เก็บค่าบริการสูงถึง $2000 ต่อเดือน (ประมาณ 65,000 บาท) จากผู้ร่วมโครงการ และมีเงินค่าเข้าโครงการที่ต้องจ่ายตอนแรกอีก $3,000 (ประมาณ 100,000 บาท) –ซึ่งสำหรับบางคนแล้วเงินจำนวนนี้ก็นับว่าคุ้มกับประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้รับ
12 เดือน 12 เมือง สำหรับนักเดินทาง และ นัดทำงาน
ในปีแรก ผู้ร่วมโครงการได้เดินทางไป 12 แห่งทั่วโลกตามลำดับนี้: ปราก สาธารณรัฐเช็ค, Ljubljana สโลวีเนีย, Cavtat โครเอเชีย, อิสตันบูล ตุรกี, ปีนัง มาเลเซีย, เกาะพงัน ประเทศไทย, ฮานอย เวียดนาม, เกียวโต ญี่ปุ่น, บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา, Montevideo
อุรุกวัย, ซานดิเอโก ชิลี และไปจบที่ ลิม่า เปรู
ฟังดูเหมือนเล่นเกมโชว์ The Amazing Race แต่แทนที่จะเดินทางระยะสั้นๆ คุณกลับต้องเดินทางเป็นเวลายาวนานถึงหนึ่งปี!
พูดแบบนี้แล้ว ก็คงมีทั้งคนที่อิจฉา และคนที่คิดว่าโครงการนี้ฟังดูน่าเหนื่อยเกินไป (ลองจินตนาการถึงความรู้สึกหลังจากที่เราเดินทางยาวๆ สักเดือนสิครับ – แล้วคูณสิบสองเข้าไป!), แล้วคนที่ร่วมโครงการจริงๆ เขามีกระแสตอบรับยังไงบ้าง?
ผู้ร่วมโครงการบอกว่า ตอนที่พวกเขาเดินทางถึงปราก ความรู้สึกก็เหมือนย้อนกลับไปสมัยเข้าปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เหมือนตอนที่เป็น
เฟรชแมน (เฟรชชี่) เลย คือมีอะไรให้ดูให้ทำ ให้ปรับตัวเต็มไปหมด มีเพื่อนใหม่ๆ ให้รู้จักเยอะมาก และทุกอย่างก็ดูวุ่นวายสับสน “เราเมากันแทบทุกคืน”ผู้เข้าร่วมโครงการคนหนึ่งบอก แต่สุดท้ายทุกคนก็สามารถย้อนกลับมาคิดได้ว่า นี่ก็ไม่ใช่แค่ทริปเพื่อท่องเที่ยวอย่างเดียวนะ แต่เป็นทริปเพื่อ ‘การทำงาน’ จริงๆ ด้วย พวกเขาจะต้องปรับตัวกับแต่ละสถานที่ให้ได้เร็วที่สุดและจะต้องผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาตามมาตรฐานของตนให้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ตรงมุมไหนของโลก
เมื่อพูดถึง ‘งาน’ – กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานอะไรกันบ้าง? คำตอบดูจะหลากหลายมาก ยิ่งในยุคที่เราสามารถส่งแทบทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างในทุกวันนี้ ก็ดูเหมือนความเป็นไปได้จะไร้ขีดจำกัด–งานของผู้เข้าร่วมโครงการมีตั้งแต่วิดีโอเกม ดีไซเนอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ นักการตลาด โปรเจกต์เมเนเจอร์ (ที่ต้องยื่นข้อเสนอให้กับที่ทำงานว่าเธอจะเข้าร่วมโครงการนี้ แต่จะไม่ลาออก โดยสัญญาว่าจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เหมือนเดิม) เจ้าของธุรกิจที่พบว่าการเดินทางเปิดโอกาส และเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของเธอ หรือคนที่ยังไม่มีงานตอนเริ่มต้นโครงการ แต่ไปหางานเอาดาบหน้าก็มีการพูดว่า‘ได้ท่องโลกสิบสองเดือนในสิบสองสถานที่’ นั้นฟังดูสวยหรู แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้สดใสอย่างที่ผู้เข้าร่วมโครงการคาดไว้นัก (อาจเพราะเป็นปีแรกของ Remote Year ด้วย)
ที่พักที่ Remote Yearจัดไว้ให้นั้นมีตั้งแต่ที่พักดีๆ อย่างโรงแรมบูติกในปราก ไปจนถึงที่พักแย่ๆ อย่างหอพักโรงเรียนในสโลวีเนีย สภาพการทำงานก็มีตั้งแต่ดีที่สุดไปจนถึงขั้นที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องภาวนาให้มีอินเทอร์เน็ต สภาพเช่นนี้ทำให้บางคนตัดสินใจออกจากโครงการ โดยเดินทางแยกออกไปเอง (Remote Year อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมแยกทางออกไปในเดือนไหนก็ได้ และจะย้อนกลับมาในภายหลังก็ทำได้ โดยเสียค่าบริการ 50% ในเดือนที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน) ซึ่งบางคนก็กลับมาร่วมขบวนในตอนท้าย แต่บางคนก็ไม่กลับมาอีกเลย
ถึงแม้ Remote Year จะเสนอยกเว้นค่าบริการให้ในตอนท้าย หลังจากได้รับคำบ่นจากผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่นั่นก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นถึงแม้ Remote Yearกลุ่มแรกจะเรียกว่าประสบความสำเร็จได้ไม่เต็มปากนักมีทั้งคนชอบและผิดหวังปะปนกันไป แต่บริษัท Remote Year เองก็ยังสามารถดึงดูดนักเดินทาง (นัก ‘ทำงาน’) กลุ่มถัดๆ มาได้อย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันเปิดรับกลุ่มที่จะร่วมเดินทางในเดือนมกราคม 2018-มกราคม 2019 แล้ว โดยจะเริ่มเดินทางที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย, มายังเชียงใหม่ ประเทศไทย แล้วไปจบที่เม็กซิโก
ทั้งหมดนี้อาจเป็นประสบการณ์ที่เป็นการประนีประนอมได้อย่างสมดุล ระหว่างการเดินทาง
กับการทำงาน ที่คนสมัยนี้ต้องการ และคงไม่น่าแปลก หากเราจะเห็นบริการลักษณะนี้
เกิดขึ้นอีก โดยอาจมี ‘จุดขาย’ หรือ ‘จุดหักมุม’ ที่เป็นเอกลักษณ์ต่างๆ กันไปในอนาคต
เรื่อง : ทีปกร วุฒิพิทยามลคล