From Mask to Trash จากป้องกันเป็นแปดเปื้อน
บัณฑิต เอนกพูนสินสุข
- การแพร่ระบาดทั่วโลกของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้สร้างปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว สูงถึงเดือนละ 129,000 ล้านชิ้น
- หากนำหน้ากากใช้แล้วแต่ละเดือนมาวางต่อ ๆ กันทั้งหมด จะมีขนาดกว้างเป็น 3 เท่าของพื้นที่สาธารณรัฐสิงคโปร์
- แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลหลายจุดทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักจากคลื่นขยะที่เพิ่มมากขึ้น
- 75% ของขยะทางการแพทย์และหน้ากากอนามัยใช้แล้ว มักถูกนำไปฝังกลบ หรือไม่ก็กระจายอยู่ตามท้องทะเลทั่วโลก
การแพร่ระบาดทั่วโลกของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่แรกของโลกนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 นั้น ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของประชากรทั่วโลกต่าง ๆ มากมาย ทั้งการปิดกั้นชายแดน มาตรการกักตัวเพื่อความปลอดภัย การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือแม้แต่ข้อกำหนดด้านการเดินทางท่องเที่ยว
เพื่อชะลอและหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั่วโลกต่าง ๆ พากันล็อกดาวน์ (Lockdown) ประเทศ รัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกแห่พากันออกมาตรการ คำแนะนำ และแคมเปญต่าง ๆ มากมาย ทั้งแคมเปญรณรงค์ให้ล้างมือบ่อย ๆ คำแนะนำเว้นระยะห่างทางสังคม (อย่างน้อย 1 เมตร) และที่สำคัญที่สุดการรณรงค์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองตลอดเวลาเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะทุกครั้ง
ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organisation) ได้ออกมาประกาศถึงรูปแบบการแพร่กระจายของไวรัสที่สามารถถ่ายทอดจากคนสู่คนผ่านทางอากาศและความจำเป็นในการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อเดินทางเข้าพื้นที่สาธารณะ ความหวาดกลัวต่อการติดเชื้อได้ แปรเปลี่ยนกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้านทุกครั้ง
เมื่อป้องกันกลายเป็นทำร้าย
“3 ล้านชิ้น ทุก ๆ 1 นาที”
– David Fogarty –
บรรณาธิการประจำคอลัมน์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Editor),
หนังสือพิมพ์ The Straits Times
เชื่อหรือไม่ ในแต่ละเดือนขณะที่พวกเรากำลังสู้รบกับ COVID-19 กันอย่างหนักหน่วง เราได้สร้างปริมาณหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วจำนวนมหาศาล ซึ่งมีจำนวนต่อเดือนสูงถึงประมาณ 129,000 ล้านชิ้น หากลองแปลงเป็นน้ำหนักโดยคร่าว ๆ โดยเฉลี่ยมวลน้ำหนักของหน้ากากอนามัยเกรดการแพทย์ที่คนส่วนใหญ่ใช้กันและพบเห็นอยู่บ่อย ๆ จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 3.5 กรัม ถ้าเราอ้างอิงจากตัวเลขนี้ เมื่อรวมน้ำหนักกันทั้งหมดขยะเหล่านี้จะมีปริมาณมวลหนักถึง 451,500 ตัน (451,500,000 กิโลกรัม) และหากนำมาวางต่อ ๆ กันมันจะมีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของพื้นที่สาธารณรัฐสิงคโปร์เลยทีเดียว
จากผลการศึกษาและการเก็บข้อมูลของสหประชาชาติ (UN: United Nations) พบว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วรวมกับขยะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนั้น ท้ายที่สุดจะถูกนำไปฝังกลบ หรือไม่ก็กระจายอยู่ตามท้องทะเลทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 75 (UN 2020) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากและในขณะเดียวกันความเสียหายในส่วนนี้ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการประมง โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ได้คาดการณ์มูลค่าความเสียหายไว้ในส่วนนี้ว่าจะอยู่ที่ราว ๆ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท)
ปัญหา 2 ด้าน จากปริมาณหน้ากากอนามัยและขยะทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น
- ปัญหาด้านสังคม
ปริมาณหน้ากากใช้แล้วและขยะทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อและปัญหาด้านความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่กำจัดขยะ ทั้งปัญหากลิ่นเหม็นที่รบกวนชีวิตความเป็นอยู่ และปัญหาด้านสุขอนามัยที่คนในชุมชนมีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อโรคและสารพิษตกค้างที่อาจจะปนเปื้อนมาจากอุปกรณ์ใช้แล้วทางการแพทย์
ในขณะเดียวกัน ปริมาณขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก็นำไปสู่ความต้องการในการจัดการขยะอันตรายที่เพิ่มขึ้น ทั้งการลงทุนสร้างสถานที่และการสร้างเตาเผาขยะติดเชื้อที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย สำหรับประเทศไทย ภายใต้กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้ใช้เตาเผาที่มีห้องเผามูลฝอยติดเชื้อและห้องเผาควัน โดยจะต้องสามารถเผาได้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 760 องศาเซลเซียส นอกจากนั้น เตาเผาที่ใช้จะต้องมีการควบคุมมาตรฐานการปล่อยอากาศเสียด้วยเช่นกัน (TDRI 2020)
- ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
พื้นที่บริเวณภูเขา แม่น้ำ และชายทะเลกลายเป็นแหล่งสะสมขยะ ซึ่งยากต่อความสามารถในการจัดการที่ทั่วถึง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ทั้งโอกาสที่สัตว์ป่าจะมากินขยะติดเชื้อ พื้นที่อาศัยปนเปื้อนขยะเป็นพิษ และในขณะเดียวกันขยะบางส่วนอาจมีแนวโน้มเล็ดลอดไหลลงสู่ท้องทะเลทั้งในรูปแบบชิ้นหรือแปรสภาพเป็นไมโครพลาสติก (Microplastics) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์ทะเล
ขยะโควิดกับผลกระทบด้านการท่องเที่ยว
กระบวนการจัดการของเสียที่ไม่ถูกต้อง/ไม่สมบูรณ์/ไม่เหมาะสม สืบเนื่องมาจากปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะประเภทที่มีส่วนประกอบของพลาสติก (อาทิ ถุงพลาสติก ถุงมือ หน้ากากอนามัย และบรรจุภัณฑ์เจลล้างมือ) ทำให้มีขยะจำนวนไม่น้อยหลุดรอด ปนเปื้อน และสามารถพบเห็นได้ตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่มีระบบการจัดการขยะที่ไม่ดีพอ/ไม่เพียงพอ หากสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวกลายเป็นมลพิษ ผู้ประกอบการธุรกิจ ชาวบ้านและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการท่องเที่ยวย่อมอยู่ได้ยากเพราะกิจกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพย์สินทางสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ
ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ก็เปรียบเสมือนแว่นขยายอันใหญ่ที่เข้ามาเปิดเผยเรื่องที่พวกเราเคยมองข้าม ทั้งความเปราะบางของห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (Thailand’s Value Chain) หรือแม้แต่ห่วงโซ่คุณค่าทั่วโลก (Global Value Chain) และความสัมพันธ์ของรูปแบบการทำธุรกิจแบบหมุนเวียน (Circular Business Model) ผ่านการใช้พลาสติกที่ในบางครั้งพวกเราก็พึ่งพาการใช้พลาสติกมากเกินความจำเป็น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์เหลือใช้ทางการแพทย์นั้นส่งผลกระทบและแสดงให้เห็นได้หลายจุดทั่วโลกโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ยกตัวอย่างเช่น
อินโดนีเซีย
“หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-usemask) ที่ถูกทิ้งและกลายเป็นขยะภายในเมืองจาการ์ตาแห่งเดียวมีปริมาณรวมกันหนักราว ๆ 860 กิโลกรัม นับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาด”
– Andono Warih –
หัวหน้าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองจาการ์ตา
(Head of Jakarta’s Environment Agency) ประเทศอินโดนีเซีย
ในประเทศอินโดนีเซีย ซากหน้ากากอนามัยใช้แล้วและขยะเวชภัณฑ์ใช้แล้วทางการแพทย์ ถูกพบเจอเป็นจำนวนมากในแถบชายหาดของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชายฝั่งของเกาะชวาตะวันตก ปริมาณขยะติดเชื้อและขยะทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงการแพร่ระบาดทำให้ระบบการจัดการขยะในประเทศไม่สามารถรองรับได้ดี ทำให้มีขยะปนเปื้อนจำนวนมากเล็ดรอดลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อประชากรที่มีรายได้น้อย-ปานกลางที่อาศัยใกล้เคียงแหล่งน้ำที่จำเป็นต้องใช้น้ำในแม่น้ำที่ปนเปื้อนในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก
ประเทศอินโดนีเซียกำลังประสบกับปัญหาขยะอันตรายที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน นับตั้งแต่เริ่มต้นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในแต่ละวันสาธารณรัฐอินโดนีเซียต้องแบกรับภาระขยะอันตรายเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติก่อนการแพร่ระบาดราว ๆ 1,000 ตัน (1 ล้านกิโลกรัม) หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักช้างประมาณ 200 เชือก
สหราชอาณาจักร
“หากเดินตามท้องถนน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วพัดปลิวลอยผสม
ปนเปไปกับเศษใบไม้และไปกองอยู่ตามแนวท่อน้ำตามท้องถนน ไม่แตกต่างกับก้นบุหรี่ชนิดหนึ่ง”
– Charlotte Green –
โฆษกและตัวแทนจากบริษัทจัดการขยะ TradeWaste.co.uk
ในขณะเดียวกัน บริษัท TradeWaste.co.uk ได้ทำการสำรวจสถิติและพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัยของประชากรสหราชอาณาจักรในช่วงสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา โดยพบว่าในแต่ละวันมีหน้ากากอนามัยที่ถูกใช้จำนวนประมาณ 58.8 ล้านชิ้น โดยมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เป็นหน้ากากอนามัยแบบสามารถใช้ซ้ำได้ (Reusable Mask) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 หรือปริมาณราว ๆ 53.3 ล้านชิ้นจะถูกทิ้งและถูกนำไปฝังกลบตามบริเวณแนวภูเขาซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมลงสู่ท้องทะเล (The Guardian 2020)
ปริมาณขยะที่เยอะมากขึ้น ความหวาดกลัวการติดไวรัส ผนวกกับจิตสำนึกของประชากรที่แตกต่างกันไปส่งผลให้หน้ากากอนามัยบางจำนวนไม่น้อยถูกทิ้งไม่ถูกต้องและกำจัดอย่างผิดวิธี ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไปจบอยู่ตามชายหาด แม่น้ำ และท้องทะเล ในสหราชอาณาจักร (TradeWaste 2021)
จากผลการสำรวจประจำปี 2020 ของกลุ่ม Marine Conservation Society ที่จัดกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดเป็นประจำทุกปี ปีละ 100 กว่าแห่ง (หาด) ทั่วสหราชอาณาจักรพบว่า 1 ใน 4 ของหาดทั้งหมดที่ทางกลุ่มได้ไปจัดกิจกรรมเก็บขยะจะพบเจอหน้ากากอนามัยใช้แล้วและถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ถูกทิ้งอยู่ตามชายหาด (BBC 2020)
“นับตั้งแต่การ Lockdown เริ่มต้นขึ้น พวกเราได้พบเจอกับคลื่นลูกใหม่ของมลพิษพลาสติกที่ถูกทิ้งตามชายหาดในรูปแบบของหน้ากากอนามัยและถุงมือ”
– Jack Middleton –
ผู้จัดการด้านชุมชนและกิจกรรมประจำชุมชน (Community and Events Manager)
องค์กรการกุศลอนุรักษ์ท้องทะเล Surfers Against Sewage (SAS)
ประจำเขตการปกครองคอร์นวอลล์ (Cornwall) ประเทศอังกฤษ
ประเทศไทย
ในประเทศไทยท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 พบว่าปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว สอดคล้องกับผลสำรวจของบริษัท YouGov และวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชากร 6 ประเทศใน ASEAN ที่พบว่าร้อยละ 95 ของประชากรไทยสวมใส่หน้ากากอนามัยเกือบทุกครั้งเมื่อเดินทางเข้าพื้นที่สาธารณะ
ประชาชนไทยส่วนใหญ่หันมาสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วยความหวาดกลัวการติดเชื้อ จากเดิมความต้องการใช้หน้ากากอนามัยก่อนเกิดการแพร่ระบาดอยู่ที่ประมาณ 0.8 ล้านชิ้นต่อวัน กลายเป็น 1.56 ล้านชิ้นต่อวัน (TDRI 2020) ส่งผลให้ปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน
ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ปัจจุบันพบว่าปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ปัจจัยสำคัญมาจากปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยและจำนวนการใช้บริการจัดส่งอาหารถึงที่ (Delivery Service) ที่เพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมการสั่งอาหารผ่าน Delivery Service ของประชาชนชาวไทยในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากผลการสำรวจพบว่าอัตราการใช้บริการนั้นมีการเติบโตที่ก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 ถึง 3-4 เท่าตัว ปริมาณการสั่ง Delivery Serviceที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดเนื่องจากในทุก ๆ ยอดการสั่งอาหารผ่าน Delivery Service จะมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น กล่องอาหาร ถุงร้อน ถุงพลาสติก ช้อน/ส้อมพลาสติก ถุงน้ำจิ้ม ฯลฯ (TDRI 2020)
ธุรกิจท่องเที่ยวทำอะไรได้บ้างหลังจากนี้
UNWTO (2020) ได้ให้คำแนะนำสิ่งที่ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถทำเพื่อช่วยเหลือและเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกในช่วงหลังการแพร่ระบาด โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ข้อ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพลาสติกที่ไม่จำเป็นและ ใช้อุปกรณ์/เครื่องมือที่สามารถช่วยลด/ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้
- พัฒนารูปแบบ/ขั้นตอนการบริการ/ขั้นตอนการผลิตสินค้าที่สนับสนุนเรื่องความสะอาดอย่างจริงจังและสามารถพัฒนาต่อยอด สามารถผนวกร่วมกับการใช้แนวคิดการนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Reuse)
- ประมวลผลจำนวนพลาสติกที่จำเป็นต้องใช้และหาวิธีทางนำกลับมาใช้ใหม่
- ร่วมมือกับผู้จัดหา (Supplier) บริษัทให้บริการจัดการขยะ และหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นเพื่อพัฒนาประสิทธิผลในการดำเนินงาน การประสานงานและศักยภาพด้านความยืดหยุ่น
- สื่อสารกับพนักงานและลูกค้าอย่างเปิดเผย จริงใจ และโปร่งใส
เราทำอะไรได้บ้าง
เราในฐานะประชากรตัวเล็ก ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและแนวโน้มผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพียงช่วยกันแยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วจากขยะครัวเรือนประเภทอื่น พับหน้ากากอนามัยใช้แล้วใส่ถุงที่ปิดสนิทพร้อมเขียนระบุให้ชัดเจนว่าเป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพื่อให้พนักงานเก็บขยะสามารถแยกได้ง่าย ช่วยหยุดการแพร่ระบาด ช่วยป้องกันพวกเขา และช่วยให้พวกเขาสามารถนำไปกำจัดได้อย่างรวดเร็วและถูกวิธี ในขณะเดียวกันประชากรตัวเล็ก ๆ อย่างเราก็สามารถหันมาเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าเพื่อช่วยลดปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้เช่นกัน