Climate Clock จับเวลานับศูนย์ (สูญ)

พัชรวรรณ วรพล

 

เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งดีและไม่ดีที่ล่วงเลยไปวันแล้ววันเล่า ล้วนแต่มีความหมายเสมอ ไม่ว่าความหมายที่ได้รับนั้นจะเป็นไปในแง่บวกหรือแง่ลบสุดท้ายก็ย่อมผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น “เวลา” ย่อมมีค่าเสมอ นับตั้งแต่สมัยโบราณที่คนเราดูเวลาโดยอาศัยธรรมชาติอย่างแสงแดด จนพัฒนาเรื่อยมาเป็น “นาฬิกา” หลากดีไซน์และตอบสนองต่อการใช้งานหลายรูปแบบอย่างในทุกวันนี้ แต่หากใครได้ไปยูเนียน สแควร์ (Union Square) ย่านแมนฮัตตัน มหานครนิวยอร์ก ก็จะเห็นนาฬิกาดิจิทัล บอกตัวเลขขนาดใหญ่ พาดอยู่บนตึกเมโทรโนม (Metronome) แต่เวลาที่แสดงนั้นไม่ได้บอกเวลาอันเป็นปัจจุบันแต่กลับมีเลข ปี วัน ชั่วโมง นาที และวินาทีที่นับถอยหลัง สร้างความโดดเด่นพร้อม ๆ กับความสงสัยว่ามันคือตัวเลขที่ต้องการจะบอกอะไร?

 

นาฬิกาที่นับเวลาถอยหลังนี้ เกิดจากการสร้างสรรค์ของ กัน โกแลน(Gan Golan) และแอนดรูว์ บอยด์ (Andrew Boyd) ศิลปิน นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ที่ช่วยกันทำ Climate Clock (นาฬิกาสภาพอากาศ) โดยสาเหตุที่สร้างก็เพราะต้องการเตือนให้คนเรารีบหันมาสนใจภาวะวิกฤตโลกร้อน โดยส่วนหนึ่งพวกเขาได้แนวคิดมาจาก Doomsday Clock (นาฬิกาวันสิ้นโลก) ที่อยู่ในการดูแลของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งคือ Bulletin of Atomic Scientists และ National Debt Clock ในเมืองแมนฮัตตัน สร้างขึ้นมาเพื่อบอกแก่ชาวโลกว่า โลกเราใกล้จะพังพินาศด้วยเทคโนโลยีที่สร้างมาจากน้ำมือของมนุษย์เอง โดยเลือกใช้สัญลักษณ์นาฬิกาที่บอกว่าโลกเหลือเวลาอีกไม่นาน หากเข็มของนาฬิกาเคลื่อนที่ถึงเที่ยงคืน สาเหตุคือมนุษย์เราใช้อาวุธเข่นฆ่ากัน เช่น อาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากที่หลาย ๆ ประเทศต่างพากันสะสมและทดลอง แต่ในปี พ.ศ. 2534 เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น เป็นช่วงที่นาฬิกามีเข็มห่างจากเที่ยงคืนมากที่สุด แต่ไม่กี่ปีมานี้ เข็มนาฬิกากลับเดินเข้าสู่ระยะน่าเป็นห่วงอีกครั้ง เมื่อผู้คนมาใช้พลังงานกันอย่างฟุ่มเฟือยจนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าขั้นวิกฤต เพราะฉะนั้น วันสิ้นโลกไม่ได้เกิดจากนิวเคลียร์เพียงสาเหตุเดียวเหมือนกับเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่มีเรื่องโลกร้อนถูกนำมาเป็นสาเหตุร่วมด้วย โดยการปรับนาฬิกาครั้งล่าสุด (มกราคม 2020) มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เกิดวันสิ้นโลก 3 ประเภท คือ  เทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์  เทคโนโลยีพลังงานที่ส่งผลต่อโลกร้อน และเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกจัดให้เป็น “การทำลายอารยธรรมของตนเองด้วยเทคโนโลยีที่อันตราย”

 

นอกจากจะมี Climate Clock ที่แสดงบนตัวตึกแล้ว เราก็ยังสามารถเข้าไปดูนาฬิกานี้บนเว็บไซต์ https://climateclock.world ซึ่งจะแสดงตัวเลขที่กำลังวิ่งบนแถบสีเขียวและแถบสีแดง โดยแถบสีแดง จะแสดงนาฬิกานับถอยหลัง ซึ่งกระตุ้นเตือนให้มนุษย์ต้องรีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะแสดงให้เห็นถึงตัวเลขงบประมาณคาร์บอนของโลก (The Global Carbon Budget) ที่ตอนนี้เหลืออยู่ที่ 305 Gt (Gt: จิกะตัน โดย 1 จิกะตัน เท่ากับ 1 พันล้านตัน) ที่จะสามารถปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยไม่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งการหาค่าของคาร์บอนนี้ ได้มาจากวิธีการของนาฬิกาคาร์บอน (Carbon Clock) โดยนักวิจัยจาก The Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change (MCC) ได้ใช้ข้อมูลจากการรายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำที่ทำหน้าที่ประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) โดยคำนวณอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกล่าสุด ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนี้ จริง ๆ แล้วมันช่วยดูดซับรังสีความร้อนบางส่วนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่โลก ทำให้โลกมีอากาศอบอุ่นเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต แต่เมื่อก๊าซนี้มีปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง 

 

 

ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุด ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมายของมนุษย์ทั่วโลก นอกจากนั้นยังมี ก๊าซมีเทนจากการทำฟาร์มปศุสัตว์ การเกษตร ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ที่เกิดจากการถลุงอะลูมิเนียมและการผลิตสารกึ่งตัวนำ ซึ่งเป็นสารที่สามารถทำลายชั้นโอโซนอย่างรุนแรง

 

ส่วนแถบสีเขียวแสดงถึงเปอร์เซ็นต์การขยายตัวของการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ โดยเราต้องทำให้ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ Lifeline จากการผลิตพลังงานจากแหล่งหมุนเวียนทั่วโลกนี้ให้ถึง 100% ก่อนที่ Deadline จะถึง 0  แต่ ณ ปัจจุบัน Lifeline มีเพียงประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  หากเราไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหันมาเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนนี้แล้ว อุณหภูมิของโลกอาจสูงขึ้นถึง 1.5 หรือเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะสร้างหายนะแก่โลกนี้ในอีก 7 ปีข้างหน้า พร้อม ๆ กับก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศและส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรงจนอาจไม่มีวันเยียวยาให้เหมือนเดิมได้ 

 

ซึ่งรายงานข่าวจากหลายแหล่งต่างกล่าวถึงภาวะโลกร้อนว่ามีแนวโน้มที่จะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมระหว่างปี 2573 ถึง 2595 ซึ่งระดับความร้อนดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ ร้อนเกินไป แล้งเกินไป น้ำแข็งละลาย การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืช ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างไม่อาจคาดการณ์ได้ การสูญเสียแนวปะการัง ไฟป่าและภัยพิบัติอื่น ๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายประมาณ 54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั่วโลกจึงมีข้อตกลงร่วมกันในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่จะให้อุณหภูมิโลกไม่สูงเกินไปกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามตั้งข้อจำกัดปริมาณไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

 

 

Climate Clock นี้ ผู้จัดต้องการที่จะจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะ มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาเห็นได้ชัดเจนและนำเสนอในรูปแบบงานศิลปะ แต่จะติดตั้งที่ยูเนียน สแควร์ ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อสิ้นสุด Climate Week ช่วงปลายเดือนกันยายน 2020 ก็จะย้ายไปแสดงที่อื่น ซึ่งที่จริงแล้วทีมงานของผู้สร้างต่างก็พยายามหาทางจะให้นาฬิกานี้ได้ติดตั้งอย่างถาวรเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ตระหนักเสมอว่าเวลาของเรานั้นมีไม่มากที่จะปกป้องโลกใบนี้ของเราไว้

 

ขณะนี้มีหลาย ๆ เมืองที่ติดตั้ง Climate Clock ตามตึกต่าง ๆ อย่างใน เบอร์ลิน นิวยอร์ก และปารีส เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างน่ากลัว ซึ่งความเป็นจริงนั้น ทุกคนก็สามารถมี Climate Clock นาฬิกาถอยหลังนี้ไว้เพื่อพกพา หรือมีที่บ้าน มือถือของตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีนาฬิการุ่น “Maker Kit” แบบ DIY สำหรับห้องเรียนและใครก็ตามที่อยากมี ก็สามารถทำขึ้นมาเองได้แบบง่าย ๆ เพื่อคอยกระตุ้นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเวลาที่เหลืออันน้อยนิดนี้คือเวลาที่เราจะช่วยโลก อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันติดแท็กภายใต้แฮชแท็ก #ActInTime และ #ClimateClock ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ Climate Clock และก่อนหน้านี้ในงานการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UN Climate Action Summit) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก ทั้งโกแลน และ บอยด์ ก็ได้ทำ Climate Clock แบบพกพาให้แก่ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กหญิงชาวสวีเดนที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย 

 

บางคนกล่าวว่าตัวเลขบน Climate Clock นี้ คือ “ตัวเลขที่สำคัญที่สุดในโลก” แต่มันจะไร้ค่าทันทีหากมนุษย์เพียงแต่รับรู้และมองมันอย่างละเลย และยังคงเพิกเฉยต่อตัวเลขเหล่านี้ การใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงแค่ลดขยะ หรือลดการใช้พลาสติกวันละชิ้น ก็นับว่ามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศของโลกใบนี้แล้ว โลกในอีก 7 ปีข้างหน้านั้นขึ้นอยู่กับมนุษย์เราแล้ว ว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจนให้เหลือ 0 หรือถึงคราวที่มนุษยชาติจะดับสูญ

Share This Story !

2 min read,Views: 1719,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024