Chao Phraya for All?
For the past 10 years the Bangkok riverside area, containing historic districts from Bang Rak to Klong San, has been undergoing significant transformation that is likely to permanently change the face of the Chao Phraya River. This article briefly outline these changes which can be divided into 2 currents: the creation of commercial retail space by the private sector and riverfront development for public use by various government organizations.
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนใจกลางพื้นที่เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ และถัดลงไปจนถึงบริเวณบางรักและคลองสาน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่ส่อแสดง ให้เห็นแนวโน้มของการพัฒนาพื้นที่อย่างขนานใหญ่ในอนาคต ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าของแม่น้ำเจ้าพระยา ไปอย่างสิ้นเชิง
ผู้เขียนอยากเริ่มต้นด้วยการนำเสนอโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสังเขป สำหรับผู้ที่อาจไม่คุ้นเคยกับพื้นที่นี้มากนัก โดยกระแสความเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญมีอยู่ 2 กระแส กระแสแรกคือ การปรากฏขึ้นของช้อปปิ้งมอลล์ หรือคอมมิวนิตี้มอลล์สมัยใหม่มากมายจากการลงทุนของ ‘ภาคเอกชน’ ตลอดพื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำ ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง เช่น Yodpiman River Walk ที่ปากคลองตลาด, ASIATIQUE The Riverfront ในย่าน เจริญกรุง, Tha Maharaj บริเวณท่าเรือท่ามหาราช, The Jam Factory และ LHONG 1919 บริเวณแถบคลองสาน รวมไปถึง ICONSIAM อภิมหาโครงการที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการปลายปีนี้
กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ การขยายตัวของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้จาก ‘ภาครัฐ’ ที่เริ่ม เข้ามาวางแผนการใช้ที่ดินสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ เช่น Yannawa Riverfront โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านยานนาวาให้เป็น พื้นที่สาธารณะริมน้ำที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร, โครงการหอชมเมืองกรุงเทพฯ, โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านกะดีจีน–คลองสาน, โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าช้างและท่าเตียน รวมไปถึงการย้ายที่ทำการของ TCDC มาที่ตึกไปรษณีย์กลางบางรัก เป็นต้น ไม่นับรวมโครงการพัฒนาลงทุน ขนาดใหญ่ของภาครัฐในนาม ‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ ที่มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับผิดชอบในการออกแบบวางแผนโครงการภายใต้สโลแกนที่สวยหรูว่าจะทำพื้นที่นี้ ให้กลายเป็น Chao Phraya for All ที่มีสาระสำคัญคือการก่อสร้าง ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือของเกาะรัตนโกสินทร์
โครงการทั้งหมดข้างต้นในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่างทั้งในด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในมิติด้านการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลให้แก่พื้นที่ และประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ให้แก่คนเมือง เนื่องด้วยโครงการเกือบทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานคิดที่ต้องการจะเพิ่มพื้นที่ทางเดินริมน้ำ ทางจักรยาน รวมถึงพื้นที่สีเขียวและลานกิจกรรมสำหรับคนทั่วไปให้มีโอกาสเข้ามาใช้สอยในพื้นที่ริมน้ำได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพอนาคตที่ถูกจินตนาการเอาไว้อย่างยิ่งใหญ่และสวยงามดังกล่าว ยังมีความเป็นจริง อีกด้านหนึ่งที่หลายคนยังไม่ตระหนักถึงเท่าที่ควร และผู้เขียนอยากจะชี้ชวนให้เราลองหันมาพิจารณา ความเป็นจริงด้านนี้อย่างจริงจังมากขึ้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
หากเราพิจารณาอย่างจริงจังจะพบว่าโครงการทั้งหมดล้วนถูกออกแบบและวางแผนเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย เพียง 2 กลุ่มคือ ‘นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ’ และ ‘คนชั้นกลางระดับบน’ เท่านั้น ห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้ มอลล์ การปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อปรับมาเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และร้านกาแฟชิคๆ คูลๆ ทางเดินและ ทางจักรยานริมน้ำ สวนหรือลานกิจกรรมสำหรับออกกำลังกาย สำหรับการออกร้าน สำหรับนิทรรศการศิลปะ และการแสดงดนตรี ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนเฉพาะเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ยิ่งหากมองในภาพ กว้างไปถึงกระแสความพยายามที่จะเปลี่ยนพื้นที่ ‘ย่านเมืองเก่า’ ในบริเวณดังกล่าว (โดยเฉพาะย่านบางรัก และพื้นที่ต่อเนื่อง) ให้กลายเป็น ‘ย่านความคิดสร้างสรรค์’ หรือ Creative District ยิ่งทำให้เราเห็นภาพ ชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะกลุ่มอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความพยายามเปลี่ยน พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตเมืองเก่า เพื่อนักท่องเที่ยวและคนชั้นกลางระดับบนมากกว่าที่จะสามารถ อ้างความเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง
ในทางวิชาการ ปรากฏการณ์นี้อาจเทียบเคียงกับปรากฏการณ์ในโลกสากลที่เรียกว่า gentrification อันเป็น กระบวนการที่เกิดขึ้นจากกระแสของกลุ่มคนชั้นกลางระดับบนที่โยกย้ายตัวเองเข้ามาอาศัยหรือเช่าพื้นที่ใน ย่านเมืองเก่าและปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดไปเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตในแบบของตน ผลสืบเนื่องของปรากฏการณ์นี้ คือการถีบตัวสูงขึ้นของราคาที่พักอาศัยในย่านเมืองเก่าที่สุดท้ายแล้วทำให้เกิดการผลักคนที่มีรายได้น้อยและ คนชั้นล่างให้ต้องย้ายออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งหากนำโมเดลดังกล่าวมาพิจารณาพื้นที่เมืองเก่าริมแม่น้ำ เจ้าพระยาก็จะพบว่าเป็นปรากฏการณ์ในทำนองเดียวกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจในกรณีของไทยคือ ปรากฏการณ์ gentrification นี้ถูกเร่งปฏิกิริยาให้เกิดรวดเร็วมากขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ของภาครัฐลงบนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ถือครองอยู่ (ในทางวิชาการอาจเรียกสิ่งนี้ ว่า state-sponsored gentrification) โครงการภาครัฐเหล่านั้นหากเสร็จสมบูรณ์จะก่อให้เกิดการไล่รื้อ บ้านเรือนในชุมชนริมแม่น้ำหลายแห่งที่เคยเป็นที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย (และถูกประเมินว่าไร้คุณค่า ทางวัฒนธรรม) ให้ออกไปจากพื้นที่อย่างขนานใหญ่ เพื่อเปิดทางให้กับทางเดินเลียบแม่น้ำและทางจักรยาน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพนี้จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่สืบเนื่องไปสู่กระแสการย้ายเข้ามาของคนชั้นกลาง ระดับบนในอัตราเร่งที่มากและรวดเร็วขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ และในที่สุดพื้นที่เหล่านี้ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ ที่สนองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนชั้นกลางระดับบนและนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แม่น้ำเจ้าพระยา จะไม่ได้เป็นพื้นที่ของคนเมืองกรุงเทพฯ ทุกกลุ่มและทุกวิถีชีวิตอีกต่อไป
แม้กระทั่งการทำพื้นที่สีเขียวประเภทสวนสาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Park) ซึ่งกลายมาเป็นทางออก สำเร็จรูปของโครงการพัฒนาย่านเมืองเก่าของสังคมไทยและกำลังถูกนำมาใช้ในการออกแบบพื้นที่ริมแม่น้ำ เจ้าพระยาในหลายส่วน ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องรื้อวิธีคิดและทบทวนกันทั้งระบบ เพราะในบริบททางวัฒนธรรม และสภาพภูมิอากาศของไทย ไม่เคยเอื้อให้เกิดการใช้ประโยชน์สวนสาธารณะแบบนั้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เลย ที่สำคัญกลุ่มผู้ใช้สอยพื้นที่สวนแบบนี้ก็มีแค่คนชั้นกลางระดับบนและนักท่องเที่ยวอีกเช่นเคย แน่นอนผู้เขียน เห็นด้วยว่าในพื้นที่เมืองควรมีสวนสาธารณะในลักษณะดังกล่าวอยู่บ้าง แต่ในกรณีสังคมไทยปัจจุบันซึ่ง ทุกโครงการของการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่ามักจะต้องออกแบบ ให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแบบนี้ทุกโครงการ จนกลายเป็นเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่จะต้องมีเสมอไปนั้น ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าเป็นการออกแบบที่ผิดพลาดและคับแคบจนเกินไป
ทั้งหมดนี้หากกล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ทางเดินริมน้ำ, ทางจักรยาน, สวนสาธารณะ, ร้านอาหารชิคๆ, ร้านกาแฟคูลๆ, ภาพกราฟฟิตี้ตาม ผนังตึกเก่าที่เป็นกระแสนิยมทำกันมากในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ ในปัจจุบัน รวมไปถึงโครงการเกือบทั้งหมดภายใต้นิยามของคำว่า Creative District นั้นในด้านหนึ่งคือการทำลายความหลากหลายของ ผู้คนและวิถีชีวิตในย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการเปลี่ยน เมืองเก่าไปสู่ ‘วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว’ ที่ขาดเสน่ห์ที่แท้จริง แน่นอน ในตอนนี้เราอาจจะเห็นภาพดังกล่าวในแง่บวก พื้นที่ได้รับการพัฒนา มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น เกิดความคึกคักในพื้นที่อย่างที่ไม่เคย เป็นมาก่อน แต่ในระยะยาว ผู้เขียนเชื่อว่าการพัฒนาไปสู่วัฒนธรรม เชิงเดี่ยวที่เอื้อเฉพาะนักท่องเที่ยวและคนชั้นกลางระดับบนเช่นนี้ จะไร้ซึ่งความยั่งยืน และจะส่งผลทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในย่านเมืองเก่าซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และผู้คนมาโดยตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา กลายเป็นพื้นที่ไร้เอกลักษณ์ และความหลากหลายไปอย่างน่าเสียดาย
หากไม่พัฒนาไปตามแนวทางข้างต้นจะกระทบต่อมิติทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวแค่ไหน จะทำให้พื้นที่นี้ทรุดโทรมเหมือนที่เป็นมา หรือไม่ คำถามเหล่านี้อาจจะอยู่ในใจของหลายคน ผู้เขียนอยากเสนอว่า การไม่พัฒนาไปตามแนวทางข้างต้น มิได้หมายความว่าเราจะต้องปล่อย พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปเฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยก็หาไม่ ผู้เขียน ตระหนักดีถึงปัญหามากมายที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา การรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาความเสื่อมโทรมทางกายภาพ ตลอดจน ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำที่ยากลำบากจนเกินไป ฯลฯ แต่แนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินไปภายใต้การเปลี่ยน พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของคนชั้นกลางระดับบนและนักท่องเที่ยวเช่นกัน การฝืน ทำในลักษณะดังกล่าวเป็นเพียง ‘การหนีเสือปะจระเข้’ เป็นเพียงการหนี ปัญหาหนึ่งไปเจออีกปัญหาหนึ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า
ทางออกที่แท้จริงของปัญหาทั้งหมด คือการตระหนักถึงความหลากหลายที่ลึกซึ้งแท้จริงทั้งในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ชนชั้นทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการพักผ่อนที่หลากหลาย การใช้พื้นที่ริมน้ำที่แตกต่าง (มิใช่แค่ทาง เดินเท้าและเลนจักรยาน) ของคนหลายกลุ่ม การประเมินสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ ในมิติที่ลึกซึ้งและซับซ้อน โดยมิใช่แค่การมองวัฒนธรรมแค่รากเหง้าเดิมในอดีต แต่ต้องเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนร่วมสมัย ในทุกกลุ่ม อย่ามองเห็นเพียงคุณค่าของการทำบาตรแบบโบราณของชุมชน ‘บ้านบาตร’, ขนมฝรั่งกุฎีจีน, ตึกแถวตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5, วัฒนธรรมจีนของเยาวราช ฯลฯ เท่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ควรสืบสาน แต่การรักษา และต่อยอดทางวัฒนธรรมที่แท้จริงต้องเกิดจากการขยายเพดานนิยามของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไปสู่ เรือนไม้ ร่วมสมัย, ชุมชนแออัด, วัฒนธรรมของคนใช้แรงงาน, เพิงไม้ไผ่หรือสังกะสีที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวให้สอดคล้อง กับวิถีชีวิตเมืองเก่าในยุคปัจจุบัน ฯลฯ หากเราสามารถที่จะขยายเพดานความคิดออกไปได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยน จากสิ่งที่ต้องทำลาย กำจัดทิ้ง หรือปิดซ่อน มาสู่การพัฒนาต่อยอดที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการ ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ไปพร้อมๆ กับการธำรงรักษาความหลากหลายของผู้คนในเมืองอย่างแท้จริง ตัวอย่าง ที่น่าสนใจกรณีหนึ่งที่สอดรับกับข้อเสนอนี้เป็นอย่างดีก็คือ ในปัจจุบันได้เกิดกระแสที่เรียกว่า slum tourism หรือ ‘การท่องเที่ยวชุมชนแออัด’ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก อินเดียเป็นพื้นที่สำคัญที่เกิดกระแสการท่องเที่ยวในลักษณะ ดังกล่าว หรือแม้แต่ในกรณีของสังคมไทยเอง ชุมชนแออัดที่คลองเตยก็เริ่มกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว โดยในปัจจุบันได้มีการจัด half-day trip ในราคาประมาณ 3,000 บาทต่อหัวเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมชุมชนคลองเตย ซึ่งถือว่าเป็นทัวร์ที่ประสบความสำเร็จทีเดียว
ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เป็นเพียงกรณีเล็กๆ ที่รอการพัฒนาต่อยอดให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ลักษณะทำนองนี้ ยังซุกซ่อนอยู่อีกมากมายตามตรอกซอกซอยในพื้นที่ชุมชนสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่รอคอยการเห็นคุณค่า ที่แท้จริงอยู่ หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่กำลังดำเนินการวางแผนพัฒนาพื้นที่สองฟากฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ ณ ปัจจุบัน จะลองเปิดใจและพยายามขยายเพดานความคิด ตลอดจนนิยามของสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ ของตนเองให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ปิดกั้นตัวเองอยู่แค่วัฒนธรรมของคนชั้นกลางระดับบนและ การท่องเที่ยวแบบเดิมๆ เพียงอย่างเดียว ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าจะทำให้ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดกว้างไปสู่ทิศทางที่ดีกว่าและสมประโยชน์แก่ทุกฝ่ายได้อย่างแน่นอน และเหนือสิ่งอื่นใดจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น Chao Phraya for All ได้อย่างแท้จริง
เรื่องโดย : ชาตรี ประกิตนนทการ