Cashless Society is Coming True (to) World

รัตนพร รักการค้า

 

  • ปี 2019 ธุรกิจ e-Commerce มียอดขายทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 105 ล้านล้านบาท)
  • ธนบัตรอาจกลายเป็นพาหะของไวรัส COVID-19 ทำให้การชำระเงินโดยไร้สัมผัสมีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว
  • สำรวจศักยภาพนานาประเทศ ในการเป็นสังคมไร้เงินสดในช่วงทศวรรษ 2020s

 

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ความเปลี่ยนแปลงในการชำระเงินสดของผู้บริโภคกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบการชำระเงินดิจิทัล คนเริ่มพกเงินสดน้อยลง โดยแรกเริ่มเป็นการใช้บัตรเครดิตหรือเดบิต ต่อมาสมาร์ทโฟนมีบทบาทมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวัน การพัฒนาแอปพลิเคชันของธนาคารและแพลตฟอร์มการเงินอิเล็กทรอนิกส์  เช่น กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) จึงช่วยให้การชำระเงินออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและสะดวก

 

 

GlobalData บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชั้นนำ กล่าวว่าในปี 2019 ธุรกิจ E-Commerce มียอดขายทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 105 ล้านล้านบาท) ในขณะที่การใช้สมาร์ทโฟนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ธนาคารต่าง ๆ เริ่มทยอยปิดสาขา และหันมาพัฒนาธุรกรรมการเงินดิจิทัลแทน ผู้บริโภคไม่ต้องการเสียเวลาทำธุรกรรมการเงิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่าเงินสดยังมีความจำเป็นต่อไปไหม? ถึงแม้ว่ายังมีการใช้เงินสดแลกเปลี่ยนเฉพาะระหว่างธนาคาร แต่ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ การเคลื่อนย้ายและการผลิตสูง ซึ่งเหรียญส่วนใหญ่มีค่าน้อยกว่าวัสดุที่ใช้ทำเสียอีก

 

ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ไปยังทั่วโลก ทำให้การชำระเงินโดยไร้สัมผัส (Contactless Payment) มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เนื่องจากธนบัตรอาจกลายเป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ จากการหมุนเวียนของธนบัตรตลอดอายุการใช้งาน อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเกิด COVID-19 ‘สังคมไร้เงินสด’ หรือ ‘Cashless Society’ ได้เกิดขึ้น GlobalData คาดการณ์ว่าประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นประเทศที่มีศักยภาพอันดับต้น ๆ ในการเป็นสังคมไร้เงินสดในช่วงทศวรรษ 2020s 

 

สวีเดน

 

แม้จะเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่ผลิตธนบัตรขึ้นในปี 1661 แต่ในปี 2023 สวีเดนจะเป็นประเทศแรกที่กลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังพัฒนาโครงการผลิตสกุลเงินดิจิทัล ‘E-Krona’ ที่สนับสนุนโดยรัฐเป็นครั้งแรกของโลกในปี 2019 สำหรับ E-Commerce เกือบทั้งหมดในประเทศเป็นระบบดิจิทัล มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ชำระด้วยเงินสด ข้อมูลจากรายงานเทรนด์การชำระเงินทั่วโลก (Global Payments Trends Reports) โดย J.P. Morgan ระบุว่าแถบสแกนดิเนเวีย เป็นภูมิภาคแห่งสังคมไร้เงินสดที่ใหญ่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นว่าด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก ตลอดจนความเชื่อมั่นต่อสถาบันทางการเงินที่สูง ทำให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นได้จริง

 

ฟินแลนด์

 

เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีความพร้อมมากที่สุดประเทศหนึ่ง ฟินแลนด์มีอันดับการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในระดับต้น ๆ ของโลก เช่น การใช้บัตรเครดิตหรือเดบิต อันดับที่ 2 ของโลกรองจากไอร์แลนด์ 

การใช้จ่าย E-Commerce คิดเป็นร้อยละของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อันดับที่ 5 มีสัดส่วนการทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นอันดับ 3 และสัดส่วนการใช้สมาร์ทโฟนเป็นอันดับที่ 2 ของโลก จากการคาดการณ์ในปี 2022 อีกทั้งประชากรทั้งประเทศที่มีเพียง 5.5 ล้านคน ทำให้การใช้เงินสดทั้งในเมืองและชนบทเริ่มลดบทบาทลงเรื่อย ๆ

 

สหราชอาณาจักร

 

ข้อมูลจาก UK Finance สมาคมการค้าเพื่อภาคบริการการเงินและการธนาคารระบุว่าจำนวนคนที่อาศัยในสหราชอาณาจักรใช้ชีวิต ‘เกือบจะไร้เงินสด’ เพิ่มขึ้นสองเท่าภายใน 2 ปี ถึง 7.4 ล้านคน และเนื่องจากกรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ของโลกผู้คนส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับการชำระเงินโดยไม่ต้องสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงแหวนฝังชิปเดบิต จนกลายเป็นพฤติกรรมการชำระเงินทั่วไป ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ขึ้น ชาวสหราชอาณาจักรจึงพร้อมรับมือกับการดำเนินชีวิตท่ามกลางการระบาดของโรค UK Finance เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าในปี 2028 สหราชอาณาจักรจะลดการชำระเงินด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เหลือเพียงร้อยละ 9 จากวิธีการชำระเงินทั้งหมด นอกจากนี้สหราชอาณาจักรอยู่ใน อันดับที่ 2 ของโลกด้าน  E-Commerce เป็นรองเพียงจีนเท่านั้น โดยคิดจากอัตราร้อยละของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

จีน

 

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง และยังเป็นประเทศในทวีปเอเชียที่มีศักยภาพที่โดดเด่นและเป็นที่น่าจับตามองในทศวรรษนี้ 

 

ในสังคมไร้เงินสดของจีน การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมีการพัฒนาอย่างมากและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่เมืองหลวงปักกิ่งจนถึงเมืองตามชนบท โดยวิธีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่นิยมที่สุดคือ การสแกน QR Code ซึ่งพัฒนาขึ้นในปี 2014  โดยบริษัทชำระเงินดิจิทัลยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent 

 

และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา แม้จีนจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ก็เป็นตัวเร่งให้รัฐบาลจีนเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล ‘หยวนดิจิทัล’ (The digital RMB) โดยนำร่องทดลองใช้ใน 4 เมืองใหญ่ ได้แก่ เซินเจิ้น ซูโจว สงอัน และเฉิงตูด้วยความร่วมมือกับร้านแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ เช่น McDonald’s Starbucks และ Subway ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การที่จีนทดลองใช้หยวนดิจิทัลนั้น เพื่อหวังให้เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ด้านภาคเอกชนตลอดจนภาครัฐเห็นว่า การชำระเงินดิจิทัลนี้ไม่ได้ถือว่าบรรลุผลสำเร็จแล้ว แต่จะเป็นเหมือนประตูสู่ Ecosystem ขนาดใหญ่ของทั้งสินค้าออนไลน์ สินค้าออฟไลน์และการบริการ 

 

โดยพวกเขาจะใช้ข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้น นำมาปรับปรุงการบริการทางการเงิน ตลอดจนอุตสาหกรรมการค้าปลีก ทั้งนี้หยวนดิจิทัลใช้จ่ายเหมือนเงินปกติ ต่างตรงที่มีเฉพาะรหัสในกระเป๋าเงินดิจิทัลและไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร  จนถึงตอนนี้ทั่วโลกมีทั้งหมด 20 ประเทศ ที่ธนาคารกลางเป็นผู้สนับสนุนโครงการสกุลเงินดิจิทัลของประเทศ อย่างไรก็ตาม Globaldata วิเคราะห์ว่า แม้ว่าจีนจะกลายเป็นผู้นำของเงินดิจิทัลในขณะนี้ แต่ด้วยขนาดของประชากรจำนวนมาก หากจะทำให้สังคมไร้เงินสดแท้จริงเกิดขึ้นได้ อาจใช้เวลานานกว่าประเทศที่มีขนาดเล็ก

 

เกาหลีใต้

เป็นประเทศที่ตลาดการชำระเงินมีการพัฒนาได้เป็นอย่างดี Globaldata ได้ยกให้เกาหลีใต้ครองแชมป์สังคมไร้เงินสดของทวีปเอเชีย ถึงแม้อัตราการชำระเงินแบบไร้เงินสดของจีนจะเติบโตเร็วกว่ามาก แต่เมื่อพิจารณาจากความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เกาหลีใต้กลับมีความพร้อมมากกว่าที่จะเป็นสังคมไร้เงินสดแท้จริงได้อย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากชาวเกาหลีใต้นิยมชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่วนใหญ่นิยมใช้บัตรเครดิตมากที่สุด และจากความกังวลจากการระบาด COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการต่าง ๆ จากโทรศัพท์มือถือมากขึ้น รวมไปถึงการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งใน ปี 2016 มีมูลค่า 12 ล้านล้านวอน (ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท) ขณะที่ปี 2020 กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 209.7 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท) ทำให้คาดว่าในปี 2024 มูลค่าการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือจะสูงถึง 581.3 ล้านล้านวอน (ประมาณ 156 ล้านล้านบาท ) รายงานจากธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ระบุว่าธุรกรรมการชำระเงินไร้สัมผัสมีการขยายตัวพุ่งถึงร้อยละ 17 ในปี 2020 จากผู้ใช้ที่ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและเดบิต 

 

ปัจจุบัน Kakao Pay เป็นผู้ให้บริการการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่นิยมที่สุดในเกาหลีใต้มียอดผู้ใช้ 34 ล้านคน (ข้อมูลปี 2020) นอกจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญมากขึ้นของ E-Commerce ในช่วงการระบาดของ COVID-19 จากเดิมที่กลุ่มนี้อยู่นอกเทรนด์มาโดยตลอด ปรากฏการณ์ก้าวกระโดดของสังคมไร้เงินสด ทำให้ภาครัฐออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ ตั้งแต่ปี 2017 ธนาคารกลางร่วมกับห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อ ด้วยการลดการใช้เหรียญ หากได้รับเงินทอนเป็นเหรียญ ลูกค้าสามารถโอนเข้าบัตรโดยสาร หรือเข้าบัญชีเงินตนเอง หรือทางการกรุงโซลได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ออกโครงการ Zero Pay ช่วยเหลือร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็ก โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือและเมื่อไม่นานมานี้ T-money ผู้ผลิตบัตรสมาร์ทการ์ดของเกาหลีใต้ได้ทดลองใช้การสแกนใบหน้าแทนการแตะบัตร T-money เพื่อชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน จุดประสงค์เพื่อการชำระเงินที่ง่าย สะดวกรวดเร็วในช่วงเร่งรีบ อีกทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัส ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ COVID-19

 

ออสเตรเลีย

 

ประเด็นสำคัญจากงานวิจัยล่าสุดของกลุ่มบริษัทด้านการเงิน MyState ของออสเตรเลียเผยว่า บัตรเครดิตหรือเดบิตและการชำระเงินดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนเงินสด โดย 2 ใน 3 ของชาวออสเตรเลีย คิดเป็นร้อยละ 68 ของประชากรทั้งหมดชำระเงินด้วยเงินสดน้อยลง ตั้งแต่มีการแพร่ระบาด COVID-19 และยังพบว่าการเบิกถอนเงินสดลดลงร้อยละ 32 ในปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าชาวออสเตรเลียเริ่มใช้เงินสดกันน้อยลงและมีแนวโน้มนิยมชำระเงินโดยไร้สัมผัสในอนาคตต่อไป

 

ด้าน CEO ของธนาคาร MyState กล่าวว่า ออสเตรเลียจะก้าวไปเป็นสังคมไร้เงินสดในอนาคตได้เร็วกว่าเดิม โดยมีการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 เป็นตัวเร่ง อีกทั้งกระแสการซื้อสินค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรง ความสะดวกสบายของการชำระเงินดิจิทัล ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากลดหรืองดใช้เงินสดจากการใช้ชีวิตประจำวัน 

 

ข้อมูลจากธนาคารกลางแห่งออสเตรเลีย ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีอัตราการชำระเงินด้วยเงินสดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากผลสำรวจการชำระเงินของผู้บริโภคภายในประเทศ แสดงให้เห็นว่าการชำระเงินด้วยเงินสดในปี 2007 คิดเป็นร้อยละ 70 ขณะที่ในปี 2019 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 และล่าสุดรัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายห้ามชำระเงินด้วยเงินสดมากกว่า 10,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 2.3 แสนบาท) หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับสูงสุดที่ 25,200 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 5.9 แสนบาท) โดยนโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศเป็นดิจิทัลในปี 2022

 

บทวิเคราะห์จาก A.T. Kearney บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกเผยว่า ภายในปี 2021 อัตราการทำธุรกรรมที่ไร้เงินสดจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หลังการชำระเงินโดยไร้การสัมผัสและการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาท คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีอัตรามากกว่าร้อยละ 21 ของประเทศที่กำลังพัฒนา และร้อยละ 7 ของประเทศที่พัฒนาแล้ว (ข้อมูลจาก The Global Findex Database 2017) 

 

Cashless travel happening in future?

 

จากอัตราการชำระเงินโดยไร้เงินสดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชำระเงินโดยไร้เงินสดได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเช่นกัน หากในอนาคตการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการเบิกธนบัตรจากตู้ ATM ในต่างแดนไม่จำเป็นอีกต่อไป เพียงคุณมีแค่สมาร์ทโฟน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังไม่ต้องกังวลถึงความปลอดภัยของกระเป๋าเงิน หรือรู้สึกเสียดายเศษเหรียญเมื่อต้องเดินทางกลับประเทศตนเอง

 

เมื่อปี 2018 Visa บริษัทด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ได้เคยจัดแคมเปญ ‘Cashless   Challenge’ ค้นหานักเดินทางผู้โชคดีร่วมท่องเที่ยว โดยไร้เงินสดด้วยบัตร Visa ใบเดียว สามารถเลือกทริป ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมได้ระหว่างประเทศไทยกับแคว้นบาสก์ ประเทศสเปน โดยระหว่างท่องเที่ยวจะต้องแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยไร้เงินสดผ่าน Social Media 

 

ทั้งนี้ Visa เคยทำการศึกษาการวางแผนเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก พบว่าร้อยละ 72 ของนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถาม มักจะเตรียมเงินสดหรือสกุลเงินต่างประเทศก่อนเดินทาง อย่างไรก็ตามพวกเขายอมรับว่าเป็นเรื่องเสียเวลาอย่างมาก อีกทั้งปัญหาสูญหายหรือถูกขโมยเงินระหว่างการเดินทางเป็นปัญหาอันดับแรก ๆ ของนักท่องเที่ยว ดังนั้นการก้าวไปสู่การท่องเที่ยวโดยไร้เงินสด จะช่วยลดความกังวลและประหยัดเวลาก่อนการเดินทางได้

 

Thailand toward Fintech World 

 

 

ในประเทศไทย ผู้บริโภคทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ เช่น สแกนซื้อสินค้าหรือบริการ โอนเงิน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง เพราะบางร้านค้าหรือบางสินค้ายังไม่รองรับการชำระเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกโครงการกระตุ้นสังคมไร้เงินสด มากขึ้น เช่น โครงการ ‘คนละครึ่ง’ โครงการ ‘เราชนะ’

 

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวได้แก่ โครงการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ และโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ประชาชนออกมาท่องเที่ยว จับจ่าย  ใช้สอย และกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหารหรือโรงแรม

 

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ได้หารือร่วมกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นถือสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptocurrency) เช่น บิตคอย (Bitcoin) และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ให้เข้ามาเที่ยวประเทศไทยหลังสถานการณ์ COVID-19 สิ้นสุดลง ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และแนวโน้มการใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัลของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นมีความนิยมอย่างมาก โดย ททท. จะหารือความเป็นไปได้ร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากสามารถดำเนินการได้ ไทยจะเป็นประเทศท่องเที่ยวและใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัลประเทศแรกของโลก 

 

แม้ในขณะนี้ ไทยอาจยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเช่นจีน ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่ก้าวแรกของไทยกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการชำระเงินไร้เงินสดที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ โครงการ และจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกับการเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง ที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานต่อจากนี้

 

ที่มา :

  •  https://www.jpmorgan.com/europe/merchant-services/insights/digital-wallets-drive-cashless-society
  • https://www.finextra.com/blogposting/19834/2021-predictions-cashless-society-autopay-systems-fueled-by-ai-and-new-digital-banking-standards
  • https://www.globaldata.com/top-countries-moving-towards-a-cashless-society-by-2022/
  • https://www.fintechmagazine.com/venture-capital/will-we-see-cashless-society-2023
  • https://www.thenationalnews.com/business/banking/china-takes-steps-to-become-first-cashless-society-after-covid-19-1.1011042
  • https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/are-you-ready-with-virtual-money.html
  • https://www.theguardian.com/world/2020/jun/03/uk-cashless-changing-payment-habits-britons-lockdown
  • https://www.finextra.com/blogposting/19360/how-covid-is-turning-the-uk-cashless
  • http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200813000794
  • http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20201103000771
  • https://www.biometricupdate.com/202101/t-money-trials-face-biometrics-for-contactless-payments-to-public-transportation
  • https://www.marketscreener.com/quote/stock/GLOBALDATA-PLC-13101755/news/GlobalData-Mobile-wallet-payments-in-South-Korea-to-surpass-US-500bn-in-2024-reveals-GlobalData-32414024/
  • https://mozo.com.au/bank-accounts/articles/australians-shun-cash-in-2020-but-70-still-oppose-cashless-society
  • https://www.abc.net.au/news/2020-06-09/australia-can-learn-from-swedens-move-to-a-cashless-society/12282764
  • https://suitcasemag.com/articles/is-cashless-travel-the-future-of-tourism
  • https://insights.ehotelier.com/insights/2018/10/29/cashless-travel-is-the-future/
  • https://www.businesswire.com/news/home/20180515005574/en/Visa-Cashless-Challenge-International-Travel-Edition-Search
  • https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923371

 

Share This Story !

5.4 min read,Views: 1303,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 26, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 26, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 26, 2024