Campin’ Keeps Poppin’
เรียบเรียงจากงานเสวนา Tourism Trend Talk: Campin’ Keeps Poppin’
โดย พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล
- เข้าป่าไปกางเต็นท์กับฟรอยด์ ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ นักแสดงหนุ่มอารมณ์ดีที่หลงใหลไลฟ์สไตล์แอดเวนเจอร์ ผู้ที่ชื่นชอบการเข้าป่าเขาเป็นชีวิตจิตใจ เพราะเชื่อว่าการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติคือความสงบที่เกิดจากข้างใน
เปิดประเด็น “แคมป์ปิ้ง”
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่การฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 นั้น จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยด้านสุขอนามัยควบคู่ไปด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้งจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุค New Normalที่คนส่วนใหญ่ต้องการกลับไปหาธรรมชาติ ทำให้ธุรกิจที่พักแบบแคมป์ปิ้งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกลับมาคึกคักอย่างกว้างขวาง
ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกเดือนเมษายน TAT Review ได้คุยกับณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ หรือ ‘ฟรอยด์’ นักแสดงหนุ่มอารมณ์ดี ที่นอกจากการใช้ชีวิตแบบคนเมืองทั่วไป ฟรอยด์นิยามตนเองว่าเป็นคนที่หลงใหลไลฟ์สไลต์แบบกลางแจ้งอย่างจริงจัง เมื่อมีโอกาสก็ต้องเข้าป่า
ฟรอยด์ชอบธรรมชาติ ป่า เขา มาตั้งแต่เด็ก
ชีวิตของฟรอยด์ในวัยเยาว์ผูกพันกับธรรมชาติมาตลอด ถือเป็นหนึ่งในคนดังที่นอกจากงานประจำแล้ว ก็คงจะมีการท่องเที่ยวแบบ Outdoor นี่แหละที่เป็นชีวิตจิตใจของฟรอยด์ โดยเฉพาะการไป ‘แคมป์ปิ้ง’
เราเริ่มบทสนทนาด้วยเรื่องทั่ว ๆ ไปของการไปแคมป์ก่อนจะพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของสายแคมป์ปิ้ง ฟรอยด์เล่าว่าจุดเริ่มต้นนั้น เกิดจากการเดินทางไปท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ เข้าป่าเขากับครอบครัวตั้งแต่เด็ก ๆ ซึมซับกับธรรมชาติกลายเป็นความชอบการเดินทางไปใกล้ชิดธรรมชาติ “ผมได้รับการปลูกฝังแบบการเที่ยวทางธรรมชาติตั้งแต่จำความได้ ชอบต้นไม้ ชอบภูเขา ธรรมชาติทำให้อากาศดี เย็นสบายและเกิดความรู้สึกสงบจากข้างใน คล้าย ๆ ธรรมชาติบำบัด”
“มันเริ่มจากความชอบต้นไม้ด้วยแหละ” ฟรอยด์ตอบทันทีพอถามว่าถึงขนาดทำให้บ้านเหมือนป่า ผมชอบต้นไม้มาก เคยสงสัยว่าทำไมป่ามันเย็นจังเลยแม้ไม่มีเครื่องปรับอากาศ กลับมาคิดว่าอยากทำให้บ้านเย็นสบายบ้างต่อให้ไม่ได้ออกไปเที่ยวในป่า ก็เลยจัดบ้านให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด มีต้นไม้ร่มรื่นคอยผลิตโอโซนคล้ายป่าย่อม ๆ
มุมมองของฟรอยด์ในยุคที่เทรนด์แคมป์ปิ้งมาแรง
ไม่เพียงแต่การไปแคมป์ปิ้งที่รักสุดใจ ฟรอยด์ยังชอบการเดินป่า ปีนเขา เรียกว่าเป็นสายแอดแวนเจอร์ตัวจริง “ผมว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของการไปแคมป์ปิ้ง คือความสนุกในการใช้อุปกรณ์นะ มันช่วยเพิ่มสีสันและทำให้การไปแคมป์ปิ้งราบรื่นและสนุกสนาน” นอกจากนี้การไปแคมป์ปิ้งยังช่วยฝึกทักษะการใช้ชีวิต เรียนรู้ธรรมชาติ การทำอาหาร หรือแม้แต่เรื่องการกำจัดและแยกขยะที่ใช้แล้ว เหมือนนอกจากธรรมชาติจะช่วยขัดเกลาจิตใจแล้วยังช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในการหวงแหนธรรมชาติและทรัพยากรไปพร้อม ๆ กันด้วย”
ความพิเศษของแคมป์ปิ้งมีความหมายมากกว่าการพักค้างแรม แคมป์ปิ้งคือไลฟ์สไตล์ รสนิยมและความชื่นชอบที่แตกต่างระหว่างบุคคล แล้วถ้าหากสนใจอยากไปแคมป์ปิ้งบ้างล่ะ? ฟรอยด์อธิบายว่าหากต้องการเข้ามาลองท่องเที่ยวสายแคมป์ดูไม่ยากเลย “จริง ๆ การไปนอนแบบ Glamping (เทรนด์การท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง มาจากคำว่า Glamurous กับ Camping หมายถึงรูปแบบการไปแคมป์ปิ้งที่หรูหราขึ้นมามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีความสะดวกสบาย) ก็ตอบโจทย์การเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่อยากไปแคมป์ปิ้งครั้งแรกเพื่อดูว่าแบบไหนที่เหมาะกับตนเอง เพราะสะดวกสบาย ไม่ต้องกางเต็นท์หรือขนสัมภาระไปให้ลำบาก มีเครื่องปรับอากาศ เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายภาพ”
แล้วมีจุดแคมป์ปิ้งใกล้ ๆ ที่ไหนน่าสนใจบ้าง TAT Review สงสัยต่อ “มีหลายที่เลยครับ อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ ที่แรกผมนึกถึงจังหวัดนครนายก อย่างคลองมะเดื่อ มีทั้งน้ำตก ภูเขา แต่ที่ผมไปบ่อยที่สุดคือศูนย์ศึกษาธรรมชาติเจ็ดคด โป่งก้อนเส้า จังหวัดสระบุรี สามารถไปแบบเช้าเย็นกลับได้เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ”
จะไปแคมป์ปิ้งทั้งทีอุปกรณ์ต้องครบ เมื่อถามถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นเมื่อไปแคมป์ปิ้ง ฟรอยด์ตอบกึ่งขบขันว่าโทรศัพท์มือถือน่าจะสำคัญที่สุด “สำหรับผมนะถ้าไม่นับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดคือ เต็นท์ แผ่นรองนอน และแสงสว่าง” ซึ่งราคาของอุปกรณ์ก็จะแตกต่างกันไปตามวัสดุที่ใช้ผลิต ความสบายในการใช้งาน การระบายลม ความสวยงาม และดีไซน์
พอมาถึงตรงนี้ก็อดถามถึงเรื่องเครื่องแต่งกายไม่ได้ “ผมชอบมากที่การไปแคมป์ปิ้งเป็นเรื่องที่ไปได้ทั้งด้านไลฟ์สไตล์และแฟชั่น” ฟรอยด์ตอบทันที “ชุดไปแคมป์จริง ๆ คือชุดที่สบายที่สุดเพราะไปถึงก็ต้องเซตแคมป์ต้องทะมัดทะแมงนิดนึง”
เหตุการณ์ประทับใจ
“ทุกครั้งที่ไปแคมป์จะมีเรื่องประทับใจเสมอ ได้พบเจออะไรใหม่ ๆ แต่ที่ประทับใจที่สุดคงเป็นเหตุการณ์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว” ฟรอยด์เล่าว่าครั้งหนึ่งไปแคมป์ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติเจ็ดคด ได้พบกับผู้ชายวัยกลางคนที่เข้ามาทักทายแต่สุดท้ายก็ได้คุยกันเพลินอย่างถูกคอดูเวลาอีกทีก็ดึกซะแล้ว มารู้ตอนหลังว่าเขาเป็นนักธุรกิจฐานะดีคนหนึ่ง มิตรภาพดี ๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้หวนคิดว่าการไปแคมป์เป็นกิจกรรมของทุกเพศทุกวัยจริง ๆ หลังจากนั้นก็ได้ไปร่วมทริปเดินทางกันหลายครั้ง และทำให้นักแสดงหนุ่มคนนี้หลงรักการไปแคมป์อย่างเต็มหัวใจ
ความแตกต่างของการไปแคมป์ต่างประเทศกับในบ้านเรา
เรื่องแรกเลยคือความปลอดภัย “เที่ยวในไทยยังไงก็ปลอดภัยกว่าต่างประเทศ” อย่างตอนผมไปแคมป์ที่เอธิโอเปีย บริเวณนั้นเป็นสนามรบที่อยู่ชายแดน จะไปไหนมาไหนต้องมีทหารเดินประกบตลอด ไหนจะเรื่องภาษาที่ใช้สื่อสาร แต่ในอีกมุมของการไปแคมป์ต่างประเทศนั่นคือการได้เปิดหูเปิดตา ได้ประสบการณ์และแนวคิดบางอย่างกลับมา ครั้งนั้นผมได้ข้อคิดบางอย่างติดตัวกลับมาทำจนกลายเป็นนิสัย คือเรื่องการใส่ใจกับขยะที่ใช้แล้วและการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เราจะมองข้ามไม่ได้ เพราะในต่างประเทศค่อนข้างจะซีเรียสเรื่องนี้มาก ซึ่งมองกลับมาที่บ้านเราคงไม่ผิดนักที่จะบอกว่ากิจกรรมแคมป์ปิ้งในบ้านเราสร้างขยะอยู่มากพอสมควร
บทสนทนากับฟรอยด์ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ฟรอยด์เล่าประสบการณ์การตั้งแคมป์ในต่างแดนผ่านบรรดารูปถ่ายที่นำมาให้ชมด้วยไม่ว่าจะเป็นการไปแคมป์ที่สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเอธิโอเปีย
ว่าแล้วก็เลยสงสัยขึ้นมาบ้างว่าตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 การไปแคมป์ในมุมมองของฟรอยด์ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า “อาจจะไม่เหมือนเดิมเป๊ะ เพราะพอมี COVID-19 เราไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้ ก็หันมาเที่ยวในประเทศกันหมด ดีมานด์ที่สูงขึ้นก็ทำให้การไปแคมป์บูมขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา”
เทรนด์แคมป์ปิ้งและการท่องเที่ยวไทย
ผมมองว่ากระแสการไปแคมป์ปิ้งในช่วงนี้สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศได้มาก เห็นได้จากคนรอบ ๆ ตัวที่หันมาไปแคมป์ปิ้งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเขาใหญ่ สวนผึ้ง ที่เห็นคนไปกันเยอะ “พอคนเหล่านี้ได้ไปอยู่กับธรรมชาติก็หลงรักธรรมชาติ หลงรักประเทศไทย เหมือนแคมป์ปิ้งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และหวงแหนสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ซึ่งเป็นไฮไลท์ของการไปแคมป์ปิ้งสำหรับผมเลย” นักแสดงหนุ่มเล่าไปยิ้มไปด้วยความชื่นชม
“ผมไม่อยากให้แคมป์ปิ้งเป็นแค่กระแส มาแล้วก็ไป อยากให้มองเป็นไลฟ์สไตล์และเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตกลางแจ้งจริง ๆ” พูดอีกแง่หนึ่งนั่นคืออยากให้มองว่าการได้เข้าป่า มีวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ เราจะได้รู้จักกับชีวิตอย่างแท้จริง ได้นั่งทบทวนว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคืออะไร ซึ่งมันยั่งยืนกว่า มีคุณค่ามากกว่ากระแสนิยมที่มาแล้วก็หายไป
เราจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวจากกิจกรรมแคมป์ปิ้งได้อย่างไรบ้าง?
หลังจากได้ไปทริปที่จังหวัดน่าน ได้พบและแลกเปลี่ยนความคิดกับคนในพื้นที่ เราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเจ้าบ้านที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคนในทริป ได้เห็นอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ของคนพื้นถิ่นของริมสองฝั่งแม่น้ำน่าน
ทริปนั้นถ้าไม่ได้ไปคงเสียใจเหมือนกัน เพราะเต็มอิ่มกับธรรมชาติที่สวยงาม กลับมาพร้อมความประทับใจไม่ลืม พอกลับมาจากทริปผมก็บอกต่อกับคนรอบข้าง มีคนมาถามมากมายว่าไปทริปที่ไหนมาสวยจัง “ทางตรงผมได้ไปเที่ยว ทางอ้อมเป็นการกระจายรายได้ และช่วยคนในชุมชนให้มีรายได้จากการบอกต่อของเรา”
TAT Review ถามต่อไปด้านการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว “กลุ่มที่ชอบไปแคมป์ตอนนี้เป็นกลุ่มวัยรุ่นกันมากขึ้นนะ คนส่วนใหญ่อาจจะตัดสินใจจากสื่อที่เห็นและการบอกต่อประสบการณ์จากคนรอบข้าง แล้วในตอนนี้ Influencer ก็มีส่วนสำคัญด้วย เพราะคนหาข้อมูลและเข้าถึงสื่อออนไลน์กันเป็นหลัก”
ช่วงท้ายของการสนทนาฟรอยด์พูดด้วยแววตาเป็นประกาย เสียงที่พูดอย่างจริงจังทำให้คนฟังอย่างเราเกิดความคิดในหัวว่าอยากลองเข้าป่าดูบ้าง “เอาจริง ๆ นะ ทุกครั้งที่ไปแคมป์กลับมาเหมือนผมได้ Reset ตัวเอง ได้คำตอบให้กับตัวเองในสิ่งที่ยังตัดสินใจไม่ได้ ผมได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตัวเองมากขึ้น ได้ฝึกการวางแผนและบริหารวินัยของตัวเอง การไปแคมป์ไม่ใช่ต้องไปลำบากแต่มันคือการได้พักผ่อน อยู่กับธรรมชาติ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ สุขและสงบ นั่นแหละคือการไปแคมป์สำหรับผม”
แล้วเราอาจจะได้เป็นเพื่อนร่วมแคมป์กันก็ได้นะครับ – ฟรอยด์ทิ้งท้าย