
เทคโนโลยี AR VR กับการท่องเที่ยว
นพพล อนุกูลวิทยา
ก่อนอื่นใดเรามาทำความเข้าใจแบบย่อ ๆ กับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
เทคโนโลยี AR จะเป็นการนำภาพเสมือนหรือวิดีโอเสมือนมาใช้กับโลกความเป็นจริง ซึ่งมักจะเป็นการฉายกล้องไปที่วัตถุ หรือฉากใดฉากหนึ่งในโลกจริง โดยใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ในขณะที่เทคโนโลยี VR นั้นจะเป็นการจำลองโลกเสมือนผ่านการสร้างภาพจำลองขึ้นมาใหม่ มักจะต้องใช้กับอุปกรณ์แว่นตาเฉพาะ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่สมจริงมากขึ้น
เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี AR นั้นใช้อุปกรณ์ที่ง่ายกว่า อย่างสมาร์ตโฟนที่ในปัจจุบันคนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายและราคาถูกกว่า จึงเริ่มมีการใช้งานกันกว้างขวางมากขึ้น อย่างเช่นเกม Pokemon Go ก็ใช้ AR เป็นส่วนหนึ่งของเกม แต่สำหรับ VR นั้น อุปกรณ์อย่างแว่นตายังมีราคาอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนขึ้นไป และยังมีข้อจำกัด ที่เมื่อใช้งานไปนาน ๆ ก็จะเกิดอาการเวียนศีรษะได้
เทคโนโลยีทั้ง AR และ VR นั้นเกิดขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่การใช้งานในเชิงพาณิชย์นั้นยังไม่คุ้มค่า หรือไม่เหมาะกับการประยุกต์ใช้งานเท่าไรนัก แต่ไม่นานมานี้ ทั้งปัจจัยของสถานการณ์ COVID-19 ก็ดี ทั้งกระแสของ Metaverse ก็ดี ทำให้สองเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาปรับให้เข้ากับการใช้งานในสถานการณ์ใหม่ ๆ อีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงที่ผู้คนเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้ การท่องเที่ยวก็หยุดชะงักลง ผู้คนจึงเริ่มมองหาทางเลือกที่จะมาทดแทนประสบการณ์การท่องเที่ยว เหล่านักคิดค้นพัฒนาจึงได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในหลายกรณีด้วยกัน ทั้งที่เป็นการทดแทนประสบการณ์การท่องเที่ยว หรือเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยว ซึ่งจะมีอยู่หลากหลายรูปแบบการใช้งาน โดยจะหยิบยกกรณีที่น่าสนใจมาให้ได้ศึกษา ดังนี้
VR สำหรับประสบการณ์การจองทริปท่องเที่ยว
Travel Agent สามารถนำเทคโนโลยี VR มาช่วยให้ลูกค้าได้เห็นบรรยากาศของทริปที่บริษัทนำเสนอ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจจองได้ง่ายขึ้น เช่น ให้ลูกค้าได้เห็นบรรยากาศของรีสอร์ตริมทะเลที่จะเข้าพัก หรือภาพจำลองของสถานที่ท่องเที่ยว หรือการเดินทาง เป็นต้น
VR สำหรับการท่องเที่ยวให้กับผู้สูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุที่ความแข็งแรงของร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปในสถานที่ที่ลำบาก เช่น ต้องปีนเขา หรือเดินระยะทางไกลเพื่อไปชมวิว ก็สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ได้สัมผัสประสบการณ์ ได้เห็นบรรยากาศแบบ 360 องศา และเสมือนจริงได้ง่าย ๆ ที่บ้าน
VR สำหรับการท่องเที่ยวเพื่อกิจกรรมความบันเทิง
การเข้าชมคอนเสิร์ตที่อาจต้องอยู่ในระยะไกล หรือการเข้าไปเที่ยวในไนต์คลับ รวมไปถึงการนำตัวละครในเกมมาร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ
AR สำหรับการเป็น Tour Guide
นักท่องเที่ยวสามารถใช้สมาร์ตโฟนของตัวเองจับภาพของสถานที่ท่องเที่ยว แล้วจะมีภาพเคลื่อนไหวของ Tour Guide ที่ออกมาเล่าเรื่อง หรือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ
AR สำหรับพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์เองก็สามารถสร้างความน่าสนใจและความสนุกเพิ่มขึ้นได้ โดยใช้ AR เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าชม เช่น เมื่อใช้โทรศัพท์มือถือจับภาพอาวุธโบราณซึ่งอาจอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นักในตู้โชว์ ก็จะปรากฏภาพจำลองการใช้งานอาวุธนั้น ๆ ในอดีตให้ได้เห็นภาพมากขึ้น หรือการดึงภาพบุคคลสำคัญออกมาจากภาพถ่าย แล้วให้ AI ช่วยประมวลผลให้ดูมีชีวิตและเคลื่อนไหวได้ เป็นต้น
AR สำหรับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
สำหรับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นั้น ในปัจจุบันอาจหลงเหลือซากปรักหักพังเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง การใช้ AR มาช่วยเติมภาพจำลองเข้าไปให้ได้สัมผัสถึงขนาดของสถานที่และรายละเอียดในอดีต ก็จะช่วยให้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มีความน่าสนใจมากขึ้นได้เช่นกัน
AR สำหรับการช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว
ในปัจจุบันมีการนำ AR มาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเราอาจได้เคยใช้งานแต่ไม่ทันได้คิดว่าเป็นเทคโนโลยี AR ยกตัวอย่างเช่น Google Lens ที่ช่วยแปลภาษาต่าง ๆ โดยการใช้โทรศัพท์มือถือจับภาพที่ป้าย แล้ว AR ก็จะเปลี่ยนภาษาในป้ายเป็นภาษาที่เราต้องการ หรืออย่างการใช้ช่วยนำทาง ซึ่งในปัจจุบัน Google Maps ก็มีการเปิดให้ใช้ฟังก์ชันนี้เรียบร้อยแล้ว เพื่อจะช่วยให้เราไม่หลงทิศ เพราะมีลูกศรชี้จากกล้องที่ฉายภาพจริงตรงหน้าเราอยู่
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวก็ยังคงมีเสน่ห์ในตัวของมันเองที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ เพราะหากเราพูดถึงการท่องเที่ยวแล้ว มันคือ Orchestra ของภาพเมืองที่ตาเรามองเห็น กลิ่นของอาหารจากร้านอาหารโดยรอบ เสียงจากแตรรถและความพลุกพล่าน ภาษาที่ผู้คนในเมืองพูดกัน รสชาติของกาแฟที่เราจิบขณะกำลังเดินชมเมือง รวมไปถึงความร้อนหรือเย็นของอากาศที่มาสัมผัสตัวเรา ที่ถูกบรรเลงออกมาเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยวที่วิ่งผ่านเส้นประสาทของร่างกาย เข้าไปประมวลผลกับประสบการณ์ชีวิตในสมองของเรา แล้วรับรู้เป็นอารมณ์ความสุขที่ได้รับจากการท่องเที่ยว จากความหลากหลายของสถานที่ต่าง ๆ บนโลกใบนี้ และท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีก็จะเป็นเพียงเครื่องมือที่เป็นส่วนเสริมให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวของเราดีขึ้นเท่านั้นเอง