‘โรค’ ไร้พรมแดน
Looking back to the beginning of February 2020, each day China had COVID-19 cases as high as 3,000. With sacrifice and dedication by medical staff, the number of infected cases were reduced to around 200 per day not long after that. At the moment, robots, drones and technologies have come in and played a significant role in all dimensions of fighting against the virus. It is believed that we will see exponential technology afterwards. China has importantly conveyed a message to the world community that it is a country with progressive evolution in many fields, which gives impetus for the development of world technology in the future.
สรุปและเรียบเรียงจากรายการ Thinking Asean
โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล
มองกลับไปตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตอนนั้น ในแต่ละวันจีนมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 สูงถึง 3,000 เคส แต่ความเสียสละและทุ่มเทอย่างหนักของบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับไวรัส ก็ทำให้จำนวนการติดเชื้อลดเหลือเพียงราวๆ 200 เคสต่อวันในช่วงหลังจากนั้นไม่นาน สวนทางกับสถานการณ์การติดเชื้อที่มีความรุนแรงขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก และในช่วงเวลานี้เอง หุ่นยนต์ โดรนและเทคโนโลยีต่างๆ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติของการต่อสู้กับไวรัส ตั้งแต่การรักษาเยียวยาผู้ติดเชื้อ การตรวจ วินิจฉัย วิเคราะห์ จำกัดการแพร่ระบาด ตลอดจนการค้นคว้าวิจัยด้านยาและวัคซีนรักษา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความผิดพลาด ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เพราะลดการติดต่อสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจนึกถึงโรคระบาดร้ายแรงในอดีตอย่าง ซาร์ส (SARS)
แต่จริงๆ แล้วการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่รุนแรงกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดของโรคทวีความรุนแรงในภูมิภาคยุโรป พบว่าตัวเลขการเสียชีวิต COVID-19 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 มีระดับความรุนแรงกว่าครั้งที่เกิดโรคซาร์ส ถึง 70 เท่า และหากพิจารณาดูผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่าเช่นกัน ธนาคารโลกได้ประเมินไว้ว่าตั้งแต่เริ่มการระบาดจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 อาจสูงถึง 3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยขณะนั้น การแพร่ระบาดยังไม่ได้ลุกลามเข้าไปในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และยุโรปด้วยซ้ำ จึงมีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านั้นอีกหลายเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจในทุกภูมิภาคทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ COVID-19 จึงอาจเทียบกับโรคซาร์สไม่ได้ เพราะระดับความรุนแรงที่ต่างกัน แต่น่าจะมีความคล้ายคลึงกับการแพร่ระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ในช่วงปี 1346-1353 เมื่อ 600 ปีก่อนเสียมากกว่าในตอนนั้นการค้าขายทั่วโลกเชื่อมโยงกันภายใต้เส้นทางการค้าที่เรียกว่า ‘เส้นทางสายไหม’ สินค้าคุณภาพสูง ของหรูหราฟุ่มเฟือยจากอินเดียและจีนถูกส่งไปขายในทวีปยุโรปอย่างแพร่หลาย และสิ่งที่ติดตามไปกับขบวนคาราวานสินค้าด้วยนั่นก็คือเชื้อกาฬโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากถึง 200 ล้านคน โรคนี้ทำให้คนยุโรปหายไปมากกว่า 40% ในช่วงราวๆ 10 ปีที่มีการแพร่ระบาด ในตอนนั้นเอง จีนที่นับว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกก็สูญเสียคนไปกว่า 25 ล้านคนจาก 100 ล้านคน ถือได้ว่าเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในตอนนั้น โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สุดของความรุนแรงคือการขาดองค์ความรู้ถึงต้นเหตุที่แท้จริงของการแพร่ระบาด ประกอบกับในช่วงเวลานั้นระบบสาธารณสุขที่ยังไม่ค่อยดีนัก อีกหลายร้อยปีต่อมาภายหลังเหตุการณ์ระบาดจึงพบว่าตัวหมัดในหนูที่ติดไปกับขบวนคาราวานสินค้านั่นเองที่เป็นตัวการ
จึงประมาณการว่า COVID-19 อาจจะมีระดับการระบาดที่ใหญ่พอๆ กับครั้งที่เกิดกาฬโรค หากแต่ระดับของความรุนแรงจะต่ำกว่า เนื่องจากปัจจุบันวิวัฒนาการด้านการแพทย์เดินหน้ามาไกลกว่ามาก
บทพิสูจน์ของเทคโนโลยี
เมื่อเกิดวิกฤตที่ต้องมีคนเสียชีวิตจำนวนมากทุกครั้ง มนุษย์ก็มักได้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เลวร้ายได้เสมอ มนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวพัฒนาองค์ความรู้จนเกิดเป็นวิวัฒนาการใหม่ๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ระดับโลกที่รุนแรง และนักวิเคราะห์มองว่าสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หลังจากนี้ นั่นคือเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด (Technology breakthrough) อีกจำนวนมากมาย
ย้อนกลับไปเมื่อคนยุโรปล้มตายจากกาฬโรคโดยไม่มีใครทราบสาเหตุไม่นาน ยุคเรอเนสซองส์หรือยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมา และยุโรปก็เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นการออกจากยุคมืดเข้าสู่ความรุ่งเรืองในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดการปฏิวัติในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งงานศิลปะต่างๆ ที่พัฒนาและสร้างความมั่งคั่งให้กับยุโรป หลังตกอยู่ในจุดต่ำสุดไปอีกกว่า 300-400 ปี
หรืออย่างในกรณีของจีนเอง ช่วงเวลานั้นจีนอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวนของมองโกล ตอนนั้นเกิดโรคระบาดจนราชวงศ์เกิดความอ่อนแอ ‘จูหยวนจาง’ ผู้นำชาวฮั่นจึงปฏิวัติโค่นล้มมองโกลออกไปได้ แม้ว่าการลดลงของประชากรอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความอดอยากและภัยสงคราม แต่นักประวัติศาสตร์ก็เชื่อว่ากาฬโรคน่าจะเป็นสาเหตุหลักของการลดลงของประชากรในครั้งนั้น ภายหลัง ‘จูหยวนจาง’ ก็เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หมิงซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน และเป็นราชวงศ์ที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดด้วย สถาบันการเงินสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงระบบเงินตราไปเป็นระบบ ‘Fiat Money’
เป็นยุคเริ่มต้นของการใช้ธนบัตรแทนการใช้เหรียญทองหรือเงินจริงๆ ทำให้ระบบการเงิน การธนาคาร การค้าการลงทุนเฟื่องฟูมากพอที่จะสามารถหล่อเลี้ยงจีนให้เรืองอำนาจยาวนานมาถึงสมัยองค์จักรพรรดิที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง ตอนนั้นเอง กัปตัน ‘เจื้องเหอ’ ได้เดินทางออกสำรวจเส้นทางการค้าใหม่ทางทะเลเพื่อทดแทนเส้นทางสายไหมที่เคยเฟื่องฟู เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา สร้างความมั่งคั่งให้กับการค้าของจีนเป็นอย่างมาก
แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง เรารู้จักกาฬโรคในนาม ‘โรคห่า’ ตามพงศาวดารและตำนานกล่าวว่ามีผู้นำชาวบ้านพาผู้คนหนีตายจากโรคนี้ออกมาสร้างบ้านเมืองใหม่บริเวณหนองโสน เป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่ดีมาก เนื่องจากเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำทั้ง 3 สาย นั่นคือ เจ้าพระยา ป่าสักและลพบุรี ทำให้สามารถคุมการหลั่งไหลของสินค้าจากทางเหนือลงมายังอาณาจักรแห่งนี้ซึ่งก็ไม่ไกลจากทะเล จึงกลายเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าที่สำคัญ ซึ่งในตอนนั้นเป็นห้วงเวลาเดียวกันที่กัปตันเจื้องเหอเดินทางลงมาสำรวจเส้นทางทะเลพอดีจนเกิดเป็นเส้นทางการค้าสายใหม่ทำให้อาณาจักรนี้รุ่งเรืองที่สุดในประเทศไทยในเวลาต่อมา อาณาจักรที่ว่านี้ก็คือ ‘กรุงศรีอยุธยา’ เหตุการณ์ดังกล่าวตรงกับปี 1350 ส่วนผู้นำชาวบ้านที่พากันอพยพหนีโรคห่าออกมาตั้งรกรากใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา นั่นคือ ‘พระเจ้าอู่ทอง’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดการระบาดของกาฬโรคครั้งใหญ่ระดับโลกนั่นเอง
แม้ตอนนี้เราอาจจะอยู่ท่ามกลางพายุรุนแรง แต่ฟ้าหลังฝนจะสดใสและสว่างกว่าเดิมเสมอ
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าภายหลังจากนี้เราจะได้เห็นเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดเป็นไปได้จริงและไปไกลกว่าที่เคยเป็น เทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่ในห้องปฏิบัติการมาตลอด 10-15 ปี จะถูกนำมาใช้จริง เห็นได้ชัดที่สุดคือ Autonomous Driving (รถยนต์ไร้คนขับ) ที่ได้ยินกันมานับ 10 ปี เริ่มลงถนนจริงๆ ในประเทศจีนที่มีต้นทุนทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ในช่วงวิกฤตที่หลายเมืองในจีนต้องปิด จีนจึงได้นำรถยนต์ไร้คนขับออกมาใช้งานจริงเพื่อขนส่งบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นยา เวชภัณฑ์ต่างๆ และเมื่อรถยนต์เหล่านี้ได้ลงมาวิ่งบนถนนในเมืองจริงๆ แล้ว ผู้เชี่ยวชาญมองว่ายิ่งเป็นการพิสูจน์ความเป็นไปได้ที่มันจะถูกนำมาใช้ในเมืองจริงๆ จังๆ สักที
Robots to the rescue
เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ AI ที่เห็นกันแต่ในห้องทดลอง แต่วันนี้มันได้ถูกนำมาใช้ขนส่งเครื่องมือแพทย์และยาในสถานการณ์จริงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตัวผู้ป่วยโดยตรง ที่สำคัญหลังจากนี้ โลกจะมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวไกลมากขึ้น ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตไวรัสระบาดอย่างมาก มีคนเป็นล้านคนติดเชื้อเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยไม่มีบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอในการคัดแยกผู้ป่วย เราได้เห็น PING-AN Good Doctor หรือแพลตฟอร์มการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพรูปแบบใหม่เข้ามาช่วยมี AI เป็นผู้ให้คำปรึกษา สามารถตรวจวินิจฉัยและจ่ายยาให้ได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรงมากนัก ซึ่งถือว่าสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยในกรณีที่กลับบ้านได้ หรือต้องส่งต่อแพทย์เฉพาะทาง ช่วยลดภาระและความกดดันทางการแพทย์ลงได้
โดยล่าสุดที่เกาหลีใต้นำนวัตกรรมการตรวจคัดกรอง COVID-19 ด้วยระบบ Drive Through ที่มีความแม่นยำสูงและนำมาใช้ได้จริงแทนการส่งของเหลวในร่างกายไปตรวจผลแล็บ เช่น เลือด หรือน้ำในปอด ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล และที่จีนกลับไปไกลกว่านั้น เมื่อ Damo Academy หน่วยงานการวิจัยของ Alibaba ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยรับมือกับ COVID-19 หลังจากได้พัฒนาและนำเทคโนโลยี CT scan มาตรวจปอดและใช้ AI วิเคราะห์สภาพปอดว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วินาที โดยสามารถแบ่งแยกผู้ติดเชื้อกับโรคปอดอักเสบทั่วไป และมีความแม่นยำกว่า 96% โดยภายหลังจากการตรวจคนไข้แต่ละคน จะมีการใช้โดรนขนาดเล็กบินเข้าไปพ่นฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อในท่อ CT scan โดยไม่ต้องให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปเสี่ยงกับการติดเชื้อเลย เทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยวินิจฉัยผู้ติดเชื้อที่โรงพยาบาลต่างๆ กว่า 100 แห่งในมณฑลหูเป่ย กวางตุ้ง ฯลฯ
Mobile Location Data สู้กับโคโรนาไวรัส
นอกจากนี้ อาวุธใหม่ล่าสุดที่จีนใช้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส นั่นคือระบบการใช้ QR code เดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจ่ายสินค้าต่างๆ ในระบบ Alipay, WeChat pay ที่ผ่านมาจีนได้นำระบบ QR code มาใช้เพื่อแก้ pain point ให้คนในประเทศเดินทางในเมืองได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น และทางอ้อมก็เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกทางด้วย
โดยระบบ QR code เฉพาะบุคคลจะถูกเชื่อมต่อกับระบบ GPS ในโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น ถ้าหาก GPS บันทึกได้ว่าบุคคลนั้นเคยเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง QR code ใน Alipay ของบุคคลนั้นจะเปลี่ยนสีโดยอัตโนมัติ เช่น สีแดง นั่นหมายถึงบุคคลนั้นเคยเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงมาก่อน และต้องสงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เสนอแนะให้กักตนเองหรือแยกจากบุคคลอื่นเพื่อสังเกตโรคเป็นเวลา 14 วัน ในช่วงเวลานั้นบุคคลนั้นจะไม่สามารถจ่ายเงินผ่านระบบ Alipay QR code ได้ชั่วคราวขณะเดียวกัน หากเคยเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ QR code ก็จะเปลี่ยนเป็น สีส้ม แสดงสถานะว่า บุคคลดังกล่าวเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหรือต้องกักบริเวณเป็นเวลา 7-14 วัน แล้วแต่ระดับความเสี่ยงของพื้นที่ที่เดินทางไปหรือจนกว่า QR code จะเปลี่ยนเป็น สีเขียว เพื่อแสดงสถานะว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีอาการผิดปกติแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลความเสี่ยงของเมืองต่างๆ เหล่านี้ จะมีการอัพเดตแบบเรียลไทม์อยู่ตลอดเวลา ทำให้รัฐสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางของผู้ติดเชื้อได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
เช่นเดียวกันกับโลกใหม่ด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง หลังจากที่เราได้เห็นการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 2,000 เตียง ในระยะเวลา 10 วัน ทำให้เกิดมาตรฐานการก่อสร้างใหม่ๆ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เฉพาะทางจากประสบการณ์ตรง เช่น การปิดจุดอ่อนของการสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นมุมอับอากาศที่ทำให้เชื้อโรคสะสมได้นาน ระบบสาธารณูปโภค การตกแต่งภายในอาคาร รวมไปถึงระบบการหมุนเวียนอากาศที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
มองจากประเทศไทย เราได้เห็นความพยายามของคนจีนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา COVID-19 อย่างแข็งขันทั้งบริษัทข้ามชาติ ภาคเอกชน และภาครัฐที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา อย่างบริษัท BenZene, Alipay และมหาวิทยาลัยชิงหวาที่นำซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการวิจัยอยู่แล้วมาติดตั้งเพื่อทำงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์และคำนวณหาสูตรยาต้านไวรัส COVID-19
ท่ามกลางวิกฤต จีนก็ยังมีโอกาสทำให้ต่างชาติประจักษ์ว่านี่คือประเทศหนึ่งที่มีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า
จากประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ในตอนนี้จีนกลับเป็นประเทศที่ส่งความช่วยเหลือไปประเทศอื่นที่การแพร่ระบาดมีความรุนแรงผ่านองค์ความรู้ที่ตนเองมี ทีมแพทย์ของจีนถูกส่งไปประเทศต่างๆ แจ็กหม่า เจ้าของธุรกิจ Alibaba ส่งเงินบริจาคและหน้ากากอนามัยกว่า 1 ล้านชิ้นกลับไปให้กับญี่ปุ่นเพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือที่ญี่ปุ่นเคยมอบหน้ากากให้จีน 1 ล้านชิ้นครั้งที่การระบาดเพิ่งเริ่มเกิดในอู่ฮั่น ทำให้เห็นถึงน้ำใจและความช่วยเหลือเกื้อกูลที่มีให้กับเพื่อนร่วมโลก
Silver Lining ฟ้าหลังฝนจะสดใสเสมอ
มาถึงตอนนี้ แง่งดงามของวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือเราได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในความจริงมากยิ่งขึ้น
ในที่สุดแล้วฤดูร้อนก็จะมาถึง เชื้อโรคเหล่านี้ก็จะถูกเผาผลาญไปเมื่อแดดทอแสงลงมา เรามีหน้าที่ทำตัวเองให้แข็งแรง ทำความเข้าใจหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง อย่าตื่นตระหนก ปฏิบัติตามองค์ความรู้อย่างง่ายๆ เช่น กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว และการล้างมือ
เราได้เห็นความสร้างสรรค์จากการใช้เทคโนโลยี และกรณีศึกษาของประเทศจีน บทเรียนนี้ได้มอบความหวังให้มนุษยชาติผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้อีกครั้ง และเมื่อวิกฤตใหญ่ผ่านพ้นไป พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะปรับเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล และบางพฤติกรรมก็อาจอยู่อย่างถาวร เกิดทั้งผลกระทบและความท้าทายที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ในมุมการตลาด นั่นหมายถึงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ของผู้ประกอบการในการเข้าถึงผู้คนด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างกลับมาฟื้นตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมองไปข้างหน้า เดินหน้าสร้างแบรนด์ให้ยังอยู่ในสายตาผู้บริโภคเน้นความคุ้มค่าของสินค้า ดังคำคมของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่เขียนไว้ว่า
“ไม่ใช่คนที่แข็งแรงหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด
แต่เป็นคนที่สามารถปรับตัวได้มากกว่า”
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จีนก็ยังมีโอกาสตอกย้ำให้ต่างชาติประจักษ์ว่านี่คือประเทศหนึ่งที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้าหลากหลายแขนง ซึ่งสร้างความสนใจให้ประชาคมโลก และเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในระดับโลกต่อไป
ที่มา
- https://www.facebook.com/Thinkingradio/videos/196204971631799/
- https://www.bbc.com/news/technology-51717164