เมื่อ ‘โรคร้าย’ เปลี่ยนให้ ‘โลกดี’
Almost all the people around the world have had to stay home during the COVID-19 outbreak. This has reduced pollution and let the nature to recover. But, is it really positive to the ‘environment’?
โดย พัชรวรรณ วรพล
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กระจายลุกลามไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศว่าเป็น ‘การระบาดใหญ่’ (Pandemic) นั่นคือการที่โรคติดเชื้อแพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในช่วงเวลาพร้อมๆ กันในหลายพื้นที่ทั่วโลก จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก!
เมื่อพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อรับมือวิกฤตนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการการแพร่ระบาด แล้วการล็อกดาวน์การเว้นระยะห่างทางสังคมก็เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือ ต้องการให้ประชาชนอยู่นิ่งกับที่ให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้การใช้ชีวิตปกติของผู้คนต้องหยุดชะงักและเปลี่ยนไป เมื่อต้องหยุดงาน ที่ทำงานห้างร้านต้องปิด หยุดการเดินทาง หยุดกิจกรรมทางสังคม ฯลฯ นี่คือผลกระทบจาก COVID-19 แต่ในผลกระทบนี้ กลับเกิดบางสิ่ง บางเหตุการณ์ที่เราคาดไม่ถึงจากภารกิจอยู่บ้านหยุดเชื้อ ทำให้หลายๆ พื้นที่บนโลกสะอาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภาพถ่ายจากดาวเทียมติดตามสภาพอากาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) พบว่ามลพิษทางอากาศทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30 และยังพบการลดลงแบบเดียวกันนี้ในบริเวณอื่นของโลก การปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) อันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในการขนส่ง การผลิตพลังงานไฟฟ้า การอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในจีน ซึ่งปกติแล้วมลพิษมักจะลดลงและจะเพิ่มขึ้นเมื่อพ้นช่วงวันหยุดตรุษจีน โดยไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) นั้นสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของมนุษย์เรา
ประเทศอิตาลีมีปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ลดลงประมาณร้อยละ 40 โดยในเวนิสนั้น น้ำในคลองกลับใสสะอาด จนเห็นปลาตัวเล็กๆ ที่ว่ายไปมาอย่างสบายใจเพราะบ้านของมันยามนี้เงียบสงบ แม้นักวิทยาศาสตร์จะให้ความเห็นว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพน้ำในคลองดีขึ้นหรอกนะ แต่เพราะปราศจากนักท่องเที่ยวและเรือหยุดสัญจรต่างหาก
ในประเทศอินเดีย พบว่าค่าฝุ่นละอองในอากาศทางตอนเหนือของอินเดีย ลดลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ของอากาศในเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี ลดลงจากช่วงก่อนการประกาศล็อกดาวน์ ถึงร้อยละ 71 จนมีรายงานว่าประชาชนทางตอนเหนือของรัฐปัญจาบสามารถมองเห็นเทือกเขาหิมาลัยเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ การพบเต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธ์ุอย่าง Olive Ridley กว่าแสนตัว กลับขึ้นมาวางไข่หลังจากหายไปกว่า 7 ปี บนชายหาด Rushikulya และ Gahirmatha ในรัฐโอดิชา (Odisha)
ฝูงวาฬฟิน (Fin Whale) ว่ายน้ำอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือมาร์กเซย์นอกชายฝั่งทางใต้ของฝรั่งเศส ที่ธรรมดาจะมีเรือและคนคับคั่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะปกติแล้วจะเจอวาฬพันธุ์นี้ในแถบน้ำลึกเท่านั้น
นอกจากนี้ พื้นที่ป่าหรือเขตวนอุทยานก็มีสัตว์ที่ปกติไม่ได้พบง่ายๆ มาปรากฏตัวให้เห็นอย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบซ่อน อย่างในประเทศไทยเองนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แห่งชาติทั้งทางบกและทางทะเลต่างก็พบสัตว์ออกมาเพ่นพ่านในพื้นที่ที่ปกติแล้วเป็นโซนของนักท่องเที่ยว อย่างเช่น พะยูนกว่า 30 ตัวมาว่ายลอยคอแถวเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งตามปกติ โอกาสที่เจอมีเพียงตัวเดียวหรือไม่กี่ตัวเท่านั้น แม้แต่ในเมืองที่เคยมีผู้คนคลาคล่ำอย่างสวนสาธารณะ ก็พบเห็นสัตว์พื้นถิ่น นกจำนวนมากที่ออกมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อย่างไม่เกรงกลัวว่าใครจะทำร้าย ถือว่าเป็นโอกาสของสัตว์ที่จะได้ท่องโลกมากขึ้นในขณะที่มนุษย์เกือบทั้งโลกต้องกักตัวภายในบ้านภายใต้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวที่เข้มข้น
แต่ในขณะที่หลายๆ คนกำลังชื่นชมกับปรากฏการณ์ด้านบวกของสิ่งแวดล้อม นายอิงเกอร์ แอนเดอร์สัน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กลับเห็นต่างว่า คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นในตอนนี้ ไม่ควรถูกมองว่า ‘เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม’ ในขณะที่หลายๆ ประเทศกำลังรับมือกับเชื้อ COVID-19 เพราะผลดีจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว พร้อมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตอย่างยากลำบากของมนุษย์โลก และแนะนำว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค การขนส่งให้สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการลงทุนในพลังงานทดแทน การสร้างอาคารอัจฉริยะ จึงจะเป็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะจากที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านในช่วงไวรัสระบาด ทำให้เห็นคุณค่าของครอบครัว การดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นการส่งผลให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคต อาจจะชอบอยู่บ้านมากขึ้น เดินทางน้อยลง ก็ลดปริมาณก๊าซพิษต่างๆ ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มขยะในอีกทางหนึ่ง
ผลจากการปิดร้านค้าและบริการ การทำงานจากบ้าน คนส่วนมากจึงสั่งอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี โดยในประเทศไทยนั้น ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่าปริมาณขยะจากผู้สั่งอาหารออนไลน์ เช่น ถุงพลาสติก กล่องพลาสติก ช้อน ส้อม ไม้จิ้ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน จากปกติประเทศไทย ผลิตขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1,500 ตันต่อวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เพิ่มขึ้นถึง 1,500 ตันต่อวัน อีกทั้งขยะ เศษอาหารหรือขยะเปียก ถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น ปัญหาขยะติดเชื้อทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและ ผ่านการคัดแยกเพื่อทิ้งอย่างถูกวิธี ก็มีจำนวนทั่วประเทศประมาณ 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน
เมื่อเห็นเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราได้เรียนรู้ ศึกษาว่าช่วง COVID-19 ให้อะไรกับเราบ้าง ต้นเหตุของหายนะนี้มาจากใคร? เราจะยังคงกระตือรือร้นรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปหรือไม่ จะไม่รุกรานสัตว์ ให้สัตว์ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ต้องหวาดกลัวหลบซ่อน จะคัดแยกขยะ จะเลือกใช้พลังงานสะอาด เราจะนำเหตุการณ์เหล่านี้มาใช้เป็นบทเรียนต่อเราแค่ไหน?
อย่าลืมว่า…ธรรมชาติเป็นผู้สร้างเรื่องราว และเราเป็นเพียงผู้บันทึก
ที่มา
- ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
- ThaiQuote
- สำนักข่าวซินหัว (China Xinhua News) รายงานและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
- ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
- https://www.bangkokbiznews.com/news
- https://thaipublica.org/2020/04/lockdown-measures-covid-19-and-impact-onair-pollution/
- https://www.visualcapitalist.com/coronavirus-lockdowns-emissions/
- The Sixth Extinction: An Unnatural History by Elizabeth Kolbert