บทบาทการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเงื่อนไขของ UNESCO พื้นที่อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล
อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) ได้รับการประกาศจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทยจาก 140 แห่งใน 38 ประเทศ และเป็นแหล่งที่ 5 ของอาเซียน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา
โดยเป็นผลมาจากความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในเชิงธรณีวิทยาของพื้นที่กว่า 2,597 ตารางกิโลเมตร ใน 4 อำเภอ คือ อำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู อำเภอมะนัง และอำเภอเมืองสตูล นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับจากอุทยานธรณีในระดับประเทศไปสู่อุทยานธรณีโลก
เดิมพื้นที่แห่งนี้คือ ‘อุทยานธรณีสตูล’ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ให้สมัครสมาชิกเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ที่ผ่านมามีการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือและการมีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า นักวิชาการมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ รวมทั้งหน่วยงานสำคัญของจังหวัดสตูล เพื่อนำเสนอพื้นที่อุทยานธรณีสตูลเข้าสู่การประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกดังกล่าวข้างต้น โดยการดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการใช้องค์ความรู้ในเชิงวิชาการและงานวิจัยเป็นองค์ประกอบสำคัญในการศึกษาค้นคว้าผ่านการสำรวจ การประเมินการทดสอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากนักวิชาการและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในพื้นที่และจากส่วนกลางภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมจากสถาบันการศึกษาและองค์กรด้านการวิจัยในระดับประเทศและต่างประเทศ
หลังจากยูเนสโกประกาศให้เป็นธรณีโลกสตูลแล้ว นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล ได้พบหารือกับศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อหาแนวทางสนับสนุนด้านวิชาการ การวิจัย รองรับการประเมินของยูเนสโก ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดย สกว.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนทุนวิจัยในพื้นที่จังหวัดสตูลมาอย่างต่อเนื่อง มีฝ่ายวิจัยต่างๆ อาทิ ฝ่ายการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า ฝ่ายชุมชนและสังคม ฯลฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยในพื้นที่เพื่อพัฒนาด้านวิชาการและงานวิจัยของจังหวัดสตูล เช่น ช่วงป’ 2555-2561 ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สนับสนุนการวิจัยในจังหวัดสตูลและพื้นที่เชื่อมโยง ประกอบด้วย
1.การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในกลุ่มพื้นที่อ่าวปัตตานี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และอุทยานธรณีสตูล
2.การพัฒนาและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศมาเลเซีย
3.แนวทางการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เหมาะสมกับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส)
4.การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส) เชื่อมโยง 4 รัฐ (เคดาห์ เปอร์ลิส เปรัค และ กลันตัน) ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
โดยเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในและนอกพื้นที่อีกหลากหลายสถาบัน ที่ผ่านมางานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนชุมชน ดำเนินการค้นหาความรู้ด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนโครงการ ‘ศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล’ และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ จัดทำโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ด้วยการออกแบบการจัดการศึกษาระดับเขตพื้นที่ให้สานต่อกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาอีกทั้งสนับสนุนให้นักวิชาการและคนในชุมชนทำวิจัยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาครอบคลุมมิติทางด้านสังคมการดำรงอาชีพบนพื้นฐานวิถีถิ่น การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่จังหวัดสตูลให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และการวิจัยเพื่อหาแนวทางเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development GoalsะSDGs) อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นสกว. จึงได้นำคณะผู้บริหาร นำโดย รองศาสตรจารย์ ดร.ปัทมาวดีโพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงผู้อำนวยการและทีมงานฝ่ายต่างๆลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางในการวิจัยและพัฒนาด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูล ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นักวิชาการ และนักวิจัยในพื้นที่ในระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2561 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล โดยมีผู้เข้าร่วมในการประชุมจากทุกภาคส่วนจำนวน 221 คน โดยข้อสรุปสำคัญจากการประชุมในครั้งนี้ ทาง สกว. จะเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและงานวิชาการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัยพัฒนาหลักสูตรด้านศึกษา Geopark การวิจัยด้านสังคมและชุมชนฐานราก การวิจัยด้านการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนการวิจัยเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านธรณีและซากดึกดำบรรพ์เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ขององค์การยูเนสโกเพื่อการอนุรักษ์และการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกจังหวัดสตูลอย่างเป็นรูปธรรม
หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยในอุทยานธรณีโลกสตูล
ตามที่องค์การยูเนสโกได้มีเงื่อนไขหรือเกณฑ์ในการประเมิน 5 ด้าน อันได้แก่ ด้านธรณีวิทยาและภูมิประเทศ ซึ่งมีค่าน้ำหนักในการประเมินสูงสุด ประกอบด้วยการอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมทั้งขอบเขตอุทยานธรณี ด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ ด้านการสื่อสารและการให้ความรู้ ด้านการท่องเที่ยวธรณีวิทยาและสุดท้ายคือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมการเมือง เศรษฐกิจสังคมรวมทั้งการเพิ่มคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลโดยองค์การยูเนสโกจะดำเนินการประเมินทุก 4 ปี และหากมีความบกพร่องในการบริหารจัดการ จะถูกถอนออกจากการเป็นสมาชิกและเว้นช่วงเป็นเวลา 2 ปีในการยื่นสมัครใหม่ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานของอุทยานธรณีโลกสตูลขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาประเด็นสำคัญใน 6 กิจกรรมคือ การเข้าร่วมเครือข่ายอุทยานธรณี การบริหารจัดการและงบประมาณกลยุทธ์ในการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยา หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ กิจกรรมด้านการตลาด และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ดังนั้นการระดมทั้งผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณางานวิจัย นักวิจัยและกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์งานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนของ สกว. นำมาซึ่งกลยุทธ์ในการร่วมเป็นองค์กรหลักในการผลักดันและขับเคลื่อนอุทยานธรณีโลกสตูลตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโกสู่การบริหารจัดการที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายสำคัญคือ ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล โดยร่วมพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ การปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์ให้กับชุมชนท้องถิ่น ดังนั้นการสนับสนุนทุนวิจัยจึงจะต้องมีการจัดทำฐานข้อมูล (Best line data) และพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform) เพื่อให้ครอบคลุมภาพรวมของพื้นที่และสนับสนุนข้อมูลการบริหารจัดการครบถ้วนในทุกมิติ โดยในปีแรกสกว. ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยในพื้นที่ ในรูปแบบสตูลโมเดล และมีงานวิจัยเร่งด่วนตามความต้องการของพื้นที่ อาทิ ขีดความสามารถในการรองรับด้านการท่องเที่ยว carrying capacity แผนพัฒนาการท่องเที่ยว Satun-Geopark เมืองแฝดธรณีโลกสตูล – ลังกาวี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มรายได้ และ Logistic เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือ สกว. และอุทยานธรณีโลกสตูล
คณะผู้บริหาร สกว. เปิดเวทีประชุมเพื่อรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นด้านการวิจัยและวิชาการ
เพื่อการพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล
เรียบเรียง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)