Shape of Muslim Millennial

Do you know that one quarter of the current global population is of the Muslim faith? What’s more, 60 percent of that population or around 1.08 billion people are under the age of 30. Muslim Millennials are increasingly traveling abroad, with friends, family or solo travel. Aside from common traits with other Millennials, such as love of technology and the need to share their opinions and experiences online, Muslim Millennials have specific needs that are often neglected by tourism suppliers. However, they are projected to be an industry-changing market in the future.

สถานการณ์ท่องเที่ยวมุสลิมโลก
ในเวลานี้หากพูดถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มไหนที่มาแรงและน่าจับตามองเป็นอันดับต้นๆ ถ้าแบ่ง Demographic Segment ตามศาสนา แน่นอนว่าหลายคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ากลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมนี่แหละที่กำลังมาแรงและน่าจับตามองมากที่สุด เหตุผลง่ายๆ คงหนีไม่พ้นอัตราการเติบโตของประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเติบโตมากกว่าสองเท่าของอัตราการเพิ่มของประชากรโลก นอกจากนั้นผลสำรวจจาก MasterCard ที่ได้ทำร่วมกับ CrescentRating ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางระหว่างประเทศว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สวนทางทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน จาก 25 ล้านคนในปี 2000 เป็น 98 ล้านคนในปี 2010 และเพิ่มเป็น 121 ล้านคนในปี 2016

MasterCard ยังได้คาดการณ์อนาคตอันใกล้ไว้อีกด้วยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 158 ล้านคนภายในอีก 2 ปีข้างหน้า และในขณะเดียวกัน ประชากรมุสลิมทั่วโลกจะมีปริมาณกว่าร้อยละ 26 ของประชากรโลกภายในปี 2030 อีกด้วย

Muslim Millennial

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างทราบกันดีว่าตลาดการท่องเที่ยวมุสลิมนั้นจะแพร่กระจายไปรอบโลกอย่างรวดเร็วในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตก็คงหนีไม่พ้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชาการกลุ่ม Muslim Millennial ที่จะมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากร Millennial ของศาสนาอื่น

คุณทราบหรือไม่ว่าประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกรวมกันนั้นมีมากถึง 1.8พันล้านคน (ร้อยละ 24.1 ของประชากรโลก) และร้อยละ 60 ของ 1.8 พันล้านคน (1.08 พันล้าน) ของจำนวนดังกล่าว ก็คือประชากรชาวมุสลิมซึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี กลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมนับเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุด โดยมีอายุเฉลี่ยเพียง 23 ปีเท่านั้นเอง

แน่นอนว่านักการตลาดหลายคนที่ตระหนักถึงความสำคัญของแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คงจะไม่อยู่เฉยๆ อย่างแน่นอน พวกเขาเหล่านั้นก็คงจะเริ่มคิดค้นหากลยุทธ์ไม้เด็ดออกมามัดใจผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นแน่แท้ยกตัวอย่างเสื้อผ้าแบรนด์ดัง Dolce & Gabbana, DKNY และ Tommy Hilfiger ที่ได้เริ่มสร้างสรรค์เสื้อผ้าสไตล์ ‘Modest Fashion’ เพื่อออกมาตีตลาดจับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นหญิงชาวมุสลิม

 

Muslim Millennial กับการท่องเที่ยว

ถ้าพูดถึงลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของผู้บริโภคกลุ่ม Millennial ไม่ว่าจะมาจากศาสนาไหน คงมีคำนิยามสั้นๆ เพียง 5 คำมาอธิบาย ซึ่งก็คือ Specific Need (มีความต้องการเฉพาะเจาะจง), Character (มีความเป็นเอกลักษณ์), Motive (มีความจูงใจ), Expectation (มีความคาดหวัง) และ Tech-savy (มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี) สำหรับข้อแตกต่างที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งของผู้บริโภคกลุ่ม Millennialที่แตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆก็คงจะเป็นลักษณะนิสัยการชอบแชร์ประสบการณ์และชอบแสดงออกทางความคิดที่เปิดกว้างทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์

หากมองย้อนกลับไปถึงโครงสร้างโดยรวมของตลาดการท่องเที่ยวฮาลาลจากหลายๆ สำนักที่ทำ Research ก็จะพบว่านักท่องเที่ยวชาวมุสลิมส่วนมาก นิยมเดินทางกันเป็นครอบครัว ซึ่งในขณะเดียวกัน MasterCard ก็ได้ออกมาระบุเพิ่มเติมว่านักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เกิดระหว่างปี 1980-2000 (ร้อยละ 60 ของประชากรมุสลิมทั่วโลก) มีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งกับเพื่อน เดินทางคนเดียวและครอบครัว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2016 กว่าร้อยละ 36 แน่นอน ว่านักท่องเที่ยวกลุ่ม Muslim Millennial จะต้องทำให้รูปโฉมตลาดการท่องเที่ยวนั้น
สั่นคลอนอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

นักเดินทางกลุ่ม Muslim Millennial ส่วนมากจะนิยมเดินทางเพื่อจุดประสงค์หลักในการพักผ่อน สัมผัสประสบการณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นและเพื่อเยี่ยมญาติพี่น้อง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ย 2-5 ครั้งต่อปี พวกเขาให้ความสำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล ผลสำรวจของ MasterCard และ HalalTrip ได้ระบุค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Muslim Millennialโดยแบ่งออกเป็น 5 หมวดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว (ค่าใช้จ่ายสำหรับบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายซื้อของช้อปปิ้ง และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด) ผลปรากฏว่าในแต่ละทริป นักท่องเที่ยว Muslim Millennial หนึ่งคนจะใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 101-500 เหรียญสหรัฐต่อหมวดค่าใช้จ่าย(ประมาณ 3,232-16,000 บาท ต่อหมวดค่าใช้จ่าย) ส่วนความต้องการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นั้น ก็จะคล้ายคลึงกับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม Generation อื่นๆ เช่น ความต้องการในอาหารฮาลาลและความต้องการในสิ่งอำนวยความสะดวกทางศาสนกิจ

สำหรับเทรนด์แนวโน้มการตัดสินใจเลือกและเดินทางท่องเที่ยวของผู้บริโภคกลุ่มนี้นั้นสามารถแบ่งเป็นเกณฑ์การตัดสินใจได้เป็น 3 กลุ่ม หลักๆ ประกอบด้วย Authentic (ความเป็นของแท้), Affordable (ราคาเหมาะสม) และ Accessible (สามารถเข้าถึงได้) ซึ่งหากจุดหมายปลายทางไหนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้มากกว่าก็จะมีแนวโน้มสูงที่พวกเขาจะเลือกเดินทางไปในจุดหมายปลายทางนั้นมากกว่าจุดหมายปลายทางอื่น

สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวมุสลิมในไทย

ผลสำรวจรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก (Global Muslim Travel Index) ประจำปี 2017 ที่จัดทำขึ้นโดย MasterCard และ CresentRating ได้รายงานว่าประเทศไทยมีอันดับคะแนนความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งหากตัดประเทศกลุ่ม OIC – Organisation of Islamic Cooperation (ประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม) ออก ประเทศไทยก็จะอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศทั้งหมดที่ไม่ใช่ประเทศในกลุ่ม OIC ตามหลังเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่สูง มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจากกลุ่มชาติ Majority (ตะวันออกกลางและเอเชีย) จาก 2.63 ล้านคนในปี 2006 เพิ่มเป็น 6.03 ล้านคนในปี 2016

ถึงแม้ศาสนาอิสลามจะไม่ใช่ศาสนาหลักของประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับทุกศาสนา เห็นได้จากปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาที่มีน้อย ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงนับเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม และเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ชาวมุสลิมนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว

อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่เดินทางเข้าประเทศไทย ณ ตอนนี้ ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์มาจากการออกคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 27 มกราคม 2017 ที่ได้ระงับการรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ และระงับการออกวีซ่าให้กับ 7 ประเทศกลุ่มมุสลิม(อิรัก อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซีเรีย ซูดาน และเยเมน) เดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมกระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่นๆ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็นับเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ไม่มากก็น้อย

ในขณะเดียวกัน นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้เริ่มต้นให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเร็วกว่าหลายๆ ประเทศ เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับชาวมุสลิมมากมาย อาทิ ร้านอาหารฮาลาล ที่พักฮาลาล และสิ่งอำนวยความสะดวกทางศาสนกิจทั้งภายในท่าอากาศยานและบริเวณสถานที่ท่องเที่ยว หากเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์

ประเทศยอดนิยมอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวมุสลิมที่ไม่ใช่กลุ่ม OIC ตามผลสำรวจรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกประจำปี 2017 (Global Muslim Travel Index 2017) จะเห็นได้ถึงจุดแข็งในหลายๆ ด้านของประเทศไทยที่มีคะแนนที่สูงกว่า ได้แก่ คะแนนการเป็นจุดหมายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว สิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยานสถานที่พักและโรงแรม การให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมการเดินทางทางอากาศที่เชื่อมโยง และการเดินทางโดยไม่ต้องขอวีซ่า

ในวินาทีนี้คงไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักโรงแรมอัล มีรอซ (Al Meroz) โรงแรม 4 ดาวแห่งแรกในประเทศไทยที่มีลักษณะการให้บริการรูปแบบฮาลาลเต็มรูปแบบ โรงแรมอัล มีรอซ ได้รับการออกแบบในรูปแบบคอนเทมโพรารีอิสลามิกดีไซน์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานฮาลาลระดับโลก โรงแรมอัล มีรอซมีจุดเด่นก็คือการเป็นโรงแรมฮาลาลที่เป็นมากกว่าการให้บริการอาหารฮาลาลเหมือนโรงแรมทั่วไป แต่ภายในโรงแรมนั้นจะปราศจากแอลกอฮอล์ มีห้องละหมาดที่สะดวกสบายมีสระว่ายน้ำ มีฟิตเนสที่แยกบริการชายหญิง และมีห้องพักและห้องอาหารที่ถูกต้องตามหลักฮาลาลอย่างแท้จริง

อนาคต

ในอนาคตผู้บริโภคชาวมุสลิมนั้นจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และสร้างรายได้มหาศาล ถึงแม้ว่าในตอนนี้ผู้ประกอบการหลายๆ คนอาจมองข้ามผู้บริโภคกลุ่มนี้และยังให้ความสำคัญไม่มากนัก แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่จะทำให้กระแสการทำธุรกิจนั้นต้องเปลี่ยนแปลง สามารถยืนยันได้จากผลการวิจัยของ Pew Research Center ที่ได้ศึกษาและคาดการณ์อัตราการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ (เชิงศาสนา)ระหว่างปี 2015-2060 ที่แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรชาวมุสลิมที่มีการเติบโตกว่าร้อยละ 70 ที่เติบโตสูงกว่าประชากรศาสนาอื่น และในปี 2070 ประชากรมุสลิมก็จะกลายเป็นกลุ่มประชากรทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ผู้ประกอบการทุกๆ อุตสาหกรรมนั้นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

คาดการณ์อัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลก

PEW RESEARCH CENTER

Source: Pew Research Center demographic projections. See Methodology for details.

เรื่องโดย : บัณฑิต เอนกพูนสินสุข พนักงานวางแผน 4 กองวิจัยการตลาด ททท.  

Share This Story !

4 min read,Views: 1721,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 20, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 20, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 20, 2025