Film Feels Fun
พัชรวรรณ วรพล
หลาย ๆ คน คงจะชอบดูภาพยนตร์หรือก็คือดูหนัง จะชอบหนังประเภทไหน หรือจะดูที่ใด ก็ย่อมขึ้นกับรสนิยมของแต่ละคน ซึ่งหนังเหล่านี้ก็มีทั้งที่เป็นหนังทั่วไป หนังสั้น หนังสารคดี ซีรีส์ ฯลฯ ว่าแต่เมื่อดูแล้ว นอกจากความสนุกสนาน ความรู้ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้รับผ่านภาพเคลื่อนไหวและเสียงแล้ว มีใครรู้สึกอยากออกเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศในสถานที่จริงบ้าง หลายคนคงตอบอยากไป ในขณะที่หลาย ๆ คนตอบว่า “ไปตามรอยมาแล้ว”
หนัง ซีรีส์ ละคร ฯลฯ จึงเป็น Soft Power นำเสนอวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่หลากหลายผ่านเสื้อผ้า อาหาร ศิลปะ ดนตรี การท่องเที่ยว ที่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้ ซึ่งถ้าไม่พูดถึงเกาหลีใต้ก็คงไม่ได้ เพราะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการใช้หนังและซีรีส์เป็น Soft Power แทรกซึมเข้าไปในใจของคนดูจนเหมือนถูกสะกดจิตว่าต้องไปเกาหลีให้ได้ อย่างเรื่อง Itaewon Class ที่ทำให้ย่านอิแทวอน กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเพื่อต้องการไปเห็นย่านซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งชอปปิง ผับ ร้านอาหาร ฯลฯ นี้กับตา
เมื่อแต่ละฉากของหนังแต่ละเรื่องที่นำเสนอทั้งวิว บรรยากาศ อาหารการกิน มันจะไม่เพียงแค่ผ่านสายตาไปเท่านั้น แต่มันยังสร้างความสนใจให้คนดูว่าที่พักสวย ๆ นี้มันคือที่ไหน อาหารและขนมน่ากินเต็มโต๊ะจนทำให้เราอยากไปกินแบบนี้บ้าง ในซีรีส์เกาหลี King the Land ที่มาถ่ายทำในเมืองไทย อวดสถานที่หลายแห่งผ่านภาพสวย ๆ และมุมกล้องที่น่าสนใจ เมนูอาหารขนมจานฮิต รวมถึงความเป็นคนไทยผ่านคำว่า “สบาย ๆ” ที่คนต่างชาติแทบทุกคนรู้จักและพูดได้
จะว่าไป มีหนังต่างประเทศหลายเรื่องที่ใช้ประเทศไทยเป็นโลเคชัน และมีมานานนับร้อยปีแล้ว หลายคนอาจจะเคยได้ยินหนังชื่อเรื่องว่า “นางสาวสุวรรณ” หรือ Suwanna of Siam ซึ่งฮอลลีวูดเข้ามาถ่ายทำร่วมกับไทย นำเสนอเรื่องราวชีวิตรักของสาวสยามผ่านฉากวัด วัง เหตุการณ์ประเพณีสำคัญ ๆ ที่งดงาม ทั้งในกรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ นับว่าเป็นทั้งการถ่ายทำและเป็นหนังเรื่องแรกของไทย (พ.ศ.2466) จากนั้น ก็มีกองถ่ายจากนานาประเทศเข้ามาใช้สถานที่ของไทยในการถ่ายทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งภูเขา ทะเล เกาะแก่ง นาข้าว รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีและช่วงเทศกาลต่าง ๆ เราได้เห็นฉากขับรถไล่ล่าสุดระทึกในภาคใต้ของไทยจากเรื่อง Fast and Furious 9 ที่พักสุดหรูและทะเลสีครามในหนังสยองขวัญอย่าง Influencer หรือที่ดัง ๆ อย่าง The Beach ที่ทำให้อ่าวมาหยาแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว และเรื่องที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนแห่แหนมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นถึง 60% ในปีพ.ศ. 2555 และ 2556 ก็คือ Lost in Thailand หรือชื่อไทยว่า “แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์” หนังตลกจากจีนที่กล่าวถึงชายชาวจีนสามคนที่มีเหตุให้ต้องเดินทางมายังประเทศไทย โดยมีการถ่ายทำในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ แถมสามารถทำรายได้สูงเกินพันล้านหยวน นอกจากนี้ไทยยังถูกใช้สมมติเป็นประเทศอื่น ๆ เช่น กัมพูชา เวียดนาม หรือจีน โดยเฉพาะหนังสงครามอย่าง Good Morning, Vietnam และ The Killing Fields ซึ่งการมาใช้เมืองไทยแทนก็เพราะถ่ายทำในประเทศนั้น ๆ ไม่ได้หรือยากลำบาก แต่ที่ไทยดูจะปลอดภัยกว่า แถมมีทีมงานมืออาชีพที่พร้อมเนรมิตฉากที่คุณต้องการ เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม และไม่ต้องติดเงื่อนไขด้านศาสนาและสังคมมากนัก
“บอลลีวูด” อุตสาหกรรมหนังของอินเดียที่ถ่ายทำปีละนับพันเรื่อง นับว่าเป็น Soft Power ที่แข็งแกร่ง โดยมีฐานคนดูที่เป็นชาวอินเดียในประเทศและที่กระจายอยู่ทั่วโลกหลายล้านคน ฉากตัวละครเดิน วิ่ง ร้องเพลง เต้น ถือเป็นจุดขายหลักในการเผยแพร่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอินเดียให้ทั่วโลกได้รู้จัก แล้วเดี๋ยวนี้การออกแบบฉากและท่าเต้นก็ปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เรียกคะแนนจากคนดูที่ถึงแม้จะต่างวัฒนธรรมแต่ก็ยินดีเปิดใจรับ หรือจะเป็นหนังตลกกึ่งดรามาเรื่อง Bajrangi Bhaijaan ที่เล่าถึงชายชาวฮินดูที่ต้องออกเดินทางเพื่อพาเด็กหญิงมุสลิมชาวปากีสถานวัย 6 ขวบที่เป็นใบ้กลับไปยังบ้านเกิดของเธอ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นหนังที่ทำหน้าที่ทูตสานสัมพันธไมตรีระหว่างอินเดียและปากีสถานให้ดีขึ้น ประเทศจีนซึ่งมีหนังมากมายเป็นของตนเองก็ยังนิยมดูหนังอินเดีย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นจีนที่ตั้งกลุ่มแฟนคลับหนังและดาราที่ชื่นชอบ สื่อโซเชียลมากมายก็นำเสนอเกี่ยวกับบอลลีวูดบนเว็บไซต์อย่าง Douban และ Baidu BBS แม้แต่นักร้องจากฝั่งตะวันตก ก็ยังนำเพลงในหนังอินเดียไปทำเพลงแรป พูดได้ว่าบอลลีวูดก็โกอินเตอร์ไม่แพ้ฮอลลีวูดเลย
ซาอุดีอาระเบียที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเข้าร่วมเทศกาลหนังเมืองคานส์ ส่งแคมเปญเชิญชวนนานาชาติให้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในซาอุฯ ด้วยการนำเสนอสตูดิโอที่ทันสมัย การเปิดสถาบันศิลปะ ภาพยนตร์ และการละคร การออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถมารองรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งฮอลลีวูดก็ได้เข้าไปถ่ายทำหนังแอ็กชันเรื่อง Kandahar ในพื้นที่ของ AlUla ซึ่งมีทั้งทะเลทราย โอเอซิส เมืองโบราณอายุเก่าแก่หลายพันปี จนได้เป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโก ซาอุฯ คาดว่าเรื่องนี้น่าจะทำให้อุตสาหกรรมหนังของประเทศมีอนาคตที่สดใส อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการกรุยทางสร้างวิถีชีวิตใหม่ ๆ แก่คนรุ่นหนุ่มสาวด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งนอกจากจะเพื่อปรับภาพลักษณ์ให้กับประเทศแล้วยังหวังดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยือนซาอุฯ มากขึ้น
หนังจากลาว “สะบายดีหลวงพระบาง” ที่ทำรายได้อย่างงดงาม แต่ผลพลอยได้จากหนังเรื่องนี้คือสามารถกระตุ้นให้คนจำนวนมากอยากไปเที่ยวหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลก ลาวจึงเห็นความสำคัญของการสร้างหนังว่าเป็น Soft Power ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยวตามรอยหนัง อุตสาหกรรมหนังของลาวจึงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง “The Signal” ถูกเลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้าฉายในรอบ World Premier ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival 2023) โดยนิตยสารของสหรัฐอเมริกา The Hollywood Reporter ยังยกย่องให้เป็น 1 ใน 5 ภาพยนตร์ที่ต้องชมในเทศกาลนี้อีกด้วย แต่ก่อนหน้านั้น หนังลึกลับสยองขวัญเรื่อง “The Long Walk บ่มีวันจาก” ได้เป็นหนังสัญชาติลาวเรื่องแรกที่มีโอกาสฉายบน Netflix เป็นการขยายฐานให้คนจากทั่วโลกรู้จักประเทศลาวมากขึ้น
หนังหลายเรื่องจึงเป็นการจุดประกายและเป็นแรงผลักดันให้เราออกเดินทางไปเพื่ออยากรู้สึกว่าในสถานที่จริงนั้นจะทำให้เรารู้สึกเช่นเดียวกับที่เห็นในหนังหรือเปล่า โดยเราจะได้รับรู้ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ นั้นด้วยตัวของเราเอง เพราะเมื่อนึกถึง จูเลีย โรเบิร์ตส์ ใน Eat Pray Love ก็อยากเก็บกระเป๋าแล้วไปกินพิซซาที่อิตาลี ไปอาศรมแห่งความสุขในอินเดีย ไปดูนาขั้นบันไดที่อินโดนีเซีย สรุปแล้วมีหลายเรื่องให้อยากตามรอยและต้องใส่ไว้ใน The Bucket List เรื่องที่ดูแล้วคิดว่าในชีวิตนี้อยากจะไปเที่ยวที่ไหนก็ไปเถอะ
อ้างอิง
https://fanclubthailand.co.uk/40-of-the-best-movies-filmed-in-thailand/
https://www.al-monitor.com/originals/2023/06/saudi-arabias-growing-cinema-soft-power
https://english.news.cn/asiapacific/20230213/0ee7ad3e0b4c42be8a187a60dffff41e/c.html
https://www.thaimediafund.or.th/articlesoftpower/
https://pressxpress.org/2023/03/11/soft-power-of-bollywood-a-cornerstone-of-indian-diplomacy/