การปรับตัวสู่ความยั่งยืนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวหลังยุค COVID-19
บงกช นันทิวัฒน์
ภาพจาก ITB Berlin : the world’s Leading Travel Trade show
หลังจากที่ยกเลิกการจัดงาน ITB Berlin ไปเมื่อปี 2020 และปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น Virtual ในปี 2021-2022 มาในปีนี้งาน ITB Berlin 2023 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้กลับมาจัดแบบ On site อีกครั้ง ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2023 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ซึ่งภายในงานนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้มาพบปะกันแล้ว ยังจัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น eTravel, Future work, Diversity & Inclusion, Hospitality, MICE, Medical, Wellness & Health ฯลฯ ซึ่งหัวข้อหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่น้อยคือเรื่องของ Sustainable Destination และ Responsible Tourism หรือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน/การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
ในปัจจุบันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลายลง องค์การอนามัยโลกประกาศยุติภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโลกของ COVID-19 จึงทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้มาพร้อมกับกระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ยังคงมีอยู่และนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) และ Trip.com เปิดเผยว่า 69% ของนักท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยังวางแผนที่จะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาแล้วแต่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไม่เหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงและเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นความต้องการที่จะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การเดินทางเพื่อท่องเที่ยวเรียนรู้ ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ การยอมจ่ายในราคาสูงเพื่อให้ได้คุณภาพระดับพรีเมียม เป็นต้น
จากการเข้าร่วมรับฟังการสัมมนาในงาน ITB Berlin 2023 ครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนการบริการของธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว กล่าวคือ ในทุกขั้นตอนการเดินทางของนักท่องเที่ยวล้วนมีความคาดหวังเกิดขึ้น ตั้งแต่เมื่อนักท่องเที่ยวตัดสินใจที่จะออกไปท่องเที่ยว ค้นหาข้อมูล วางแผน จองตั๋ว เดินทาง กระทั่งกลับถึงบ้านหลังเสร็จสิ้นการเดินทางอันน่าประทับใจ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปในหลาย ๆ มิติ ตั้งแต่ก่อนการเดินทาง ระหว่างเดินทาง ไปจนถึงหลังการเดินทาง ดังนี้
ก่อนการเดินทาง : นักท่องเที่ยวจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก กิจกรรม ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปยังสถานที่นั้น ๆ โดยอาจหาข้อมูลจากหลาย ๆ ที่ เพื่อเปรียบเทียบทั้งด้านคุณภาพและราคาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ นั้นมักจะอยู่แยกกันตามประเภทของธุรกิจ ทำให้ต้องเข้าไปค้นหาจากหลายแหล่งหรือหลายช่องทาง ซึ่งนับว่ายุ่งยากและเสียเวลาในการค้นหา ผู้ประกอบการบางรายจึงมีความพยายามที่จะสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมบริการให้ครอบคลุมทุกบริการทางการท่องเที่ยว เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวมาไว้ในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งอาจรวมไปถึงการให้บริการซื้อสินค้าและบริการ และชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มได้เลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เช่น
- Neoke แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหารของ Booking.com ได้รวบรวมบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวเอาไว้ในที่เดียว โดยนักท่องเที่ยวต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างรหัสสำหรับเข้าระบบ ซึ่งรหัสนี้จะเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการทางการท่องเที่ยวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการบินหรือที่พัก ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้จากแพลตฟอร์มเดียวและไม่ต้องกรอกข้อมูลเดิมซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่ใช้บริการ นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการการจองของนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- Google ให้ความสำคัญในเรื่องของข้อมูล โดยมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์การท่องเที่ยว หรือข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ มีการนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาช่วยนักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวต้องยุ่งยากและสับสนในการค้นหาข้อมูลจากหลายช่องทาง และยังมีการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบการเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยวและช่วยในการตัดสินใจ เช่น เว็บไซต์ Travel Insights with Google เป็นต้น
ระหว่างการเดินทาง : เมื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกแต่กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ผู้ประกอบการในธุรกิจการเดินทางจึงหันมาให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานและพยายามชูจุดขายของการเป็นหน่วยงานที่เห็นความสำคัญของความยั่งยืน มีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ติดตามข่าวสารและเทรนด์ใหม่ ๆ ให้ความรู้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการเสนอบริการต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการนี้ของผู้บริโภค เช่น
- Lufthansa สายการบินที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของยุโรป ได้เปิดตัว Green Fares อัตราค่าโดยสารแบบใหม่ที่ช่วยให้สายการบินสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งอัตราค่าโดยสารใหม่นี้ 20% ใช้เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการบินที่ยั่งยืน ส่วนอีก 80% ใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศให้มีคุณภาพดี ในโครงการซื้อคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ผู้โดยสาร เช่น การเพิ่มไมล์สะสม และการจองบัตรโดยสารใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เป็นต้น Green Fares เป็นทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารที่ต้องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ซึ่ง Lufthansa มองว่าผู้คนไม่ได้ต้องการเดินทางเพื่อสำรวจโลกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องการปกป้องโลกไปพร้อมกันด้วย การนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้คือความพยายามที่สำคัญที่จะทำให้การเดินทางทางอากาศเป็นมิตรกับสภาพอากาศมากขึ้น โดย Lufthansa มุ่งมั่นที่จะนำนวัตกรรมมาพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินทางในรูปแบบที่ยั่งยืนได้สะดวกและง่ายดายมากขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน Green Fares ให้บริการชั้นประหยัดและชั้นธุรกิจในหลายสายการบินในเครือของ Lufthansa ปีละกว่า 730,000 เที่ยวบิน เฉพาะเส้นทางยุโรปและบางส่วนของแอฟริกาเหนือ ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า Green Fares อาจจะดึงดูดกลุ่มนักธุรกิจที่ชอบสะสมคะแนนหรือไมล์ ซึ่งอาจจะไม่ได้สนใจเกี่ยวกับเรื่องของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเลยก็เป็นได้
- Deutsche Bahn (DB) หรือการรถไฟของเยอรมนี มีการออกบัตรโดยสารรายเดือนราคาเดียว 9 ยูโร ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วเยอรมนีภายใน 90 วัน ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในเดือนที่ซื้อตั๋ว ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ปี 2022 โดยสามารถใช้โดยสารรถประจำทาง รถไฟ รถราง และรถใต้ดิน (ไม่ครอบคลุมรถไฟหรือรถโดยสารประจำทางระยะไกล รถไฟภูมิภาคชั้นหนึ่ง และหากนำรถจักรยานหรือสุนัขขึ้นรถไฟต้องเสียค่าธรรมเนียมตามปกติ) แคมเปญนี้เกิดจากความพยายามที่จะจัดการกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามในยูเครน และเพื่อจูงใจชาวเยอรมันและชาวยุโรป รวมทั้งผู้คนจากทั่วโลก ให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและหันมาเดินทางด้วยยานพาหนะสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเข้ากับเทรนด์ในปัจจุบันที่เน้นการลดการใช้คาร์บอนด้วย
จากกระแสตอบรับที่ดีของบัตรโดยสารรายเดือน 9 ยูโรนี้ ทำให้ผู้คนคาดหวังว่าจะมีบัตรโดยสารราคาพิเศษที่คล้าย ๆ กันออกมาอีก ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2022 BVG บริษัทขนส่งสาธารณะของกรุงเบอร์ลินก็ได้ออกบัตรโดยสารรายเดือน 29 ยูโร สำหรับท่องเที่ยวในเมืองเบอร์ลิน โซน A และ B (ไม่รวมบรันเดนบวร์ก และโซน C) โดยใช้ได้ถึงเดือนเมษายน 2023 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2023 Deutsche Bahn ก็ได้ออก Deutschlandticket หรือบัตรโดยสารรายเดือนสำหรับท่องเที่ยวทั่วเยอรมนีในราคา 49 ยูโร ใช้สำหรับรถโดยสารประจำทาง รถราง รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าที่วิ่งระหว่างเมือง และรถไฟภูมิภาค (ไม่ครอบคลุมรถไฟหรือรถโดยสารประจำทางระยะไกล)
- TUI Group กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวชั้นนำของโลกสัญชาติเยอรมนี ที่ดำเนินกิจการครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว สายการบิน เรือสำราญ โรงแรม ฯลฯ เห็นว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิมโดยเน้นความยั่งยืนมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเสียก่อน เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่นักท่องเที่ยว จึงได้มีการก่อตั้ง TUI Sustainability Academy ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มุ่งเติมเต็มช่องว่างทักษะที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เพื่อเป็นช่องทางในการ Upskill/Reskill ให้ความรู้แก่บุคลากร และในอนาคตจะพัฒนาไปเป็นแพลตฟอร์มเปิด เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะที่จำเป็นให้กับบุคคลทั่วไปในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนต่อไปได้
หลังการเดินทาง : เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวสิ้นสุดลง ผู้ประกอบการยังคงต้องติดตามและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ว่ามีการพูดถึงและบอกต่อในสื่อสังคมออนไลน์อย่างไร รวมทั้งสอบถามความพึงพอใจและความคาดหวัง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปปรับปรุงบริการต่าง ๆ ต่อไป เช่น
- Lufthansa ให้ความสำคัญกับการรักษาความพึงพอใจและความจงรักภักดีของนักท่องเที่ยว จึงได้เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อเป็นการรับฟังข้อคิดเห็นหรือความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยมีเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก ทำให้ Lufthansa สามารถระบุได้ว่าปัญหาหรือจุดที่ควรปรับปรุงอยู่ที่ใดและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งสามารถเฝ้าสังเกต ตรวจสอบ ติดตามความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวได้ตลอดเวลา และนำเอาข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพัฒนาบริการเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวในทุกช่วงเวลา ซึ่งนักท่องเที่ยวเองก็ยินดีที่จะให้ข้อเสนอแนะและรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุง
- TUI Group เห็นว่าหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง นักท่องเที่ยวก็เริ่มกระตือรือร้นที่จะออกเดินทาง TUI จึงได้พัฒนาและนำเสนอแพ็กเกจแบบครบวงจรที่เฉพาะเจาะจงสำหรับนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มมากขึ้น ซึ่ง TUI นั้นนับว่าได้เปรียบเนื่องจากมีธุรกิจที่ครอบคลุมทุกมิติของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงสามารถควบคุมดูแลการดำเนินงานได้เองตลอดทั้งกระบวนการ ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ครบถ้วนและไร้รอยต่อ นอกจากนี้ TUI ยังสามารถเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้ในทุกช่วงเวลา ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการเดินทาง ทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการอย่างแท้จริงได้แม่นยำมากขึ้น ช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มได้อย่างเกินความคาดหมาย
ความต้องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นของนักท่องเที่ยว และการหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของผู้ประกอบการ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลและตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ชีวิตของผู้คนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นนอกจากจะเป็นการตอบสนองต่อความคาดหวังของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวม เพราะเมื่อผู้ประกอบการเปลี่ยน นักท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนตาม ดังนั้นในอนาคตเราอาจเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การท่องเที่ยวยั่งยืนขึ้นก็เป็นได้
ที่มา
Travel Insights with Google, https://travelinsights.withgoogle.com/intl/en/.
“The 49-euro Deutschlandticket.” The German Way, 8 December 2022,
“About Germany’s 9-Euro Monthly Public Transport Ticket.” The German Way, https://www.german-way.com/travel-and-tourism/public-transport-in-germany/about-germanys-9-euro-ticket/.
Honores, Sebastián. “NeoKe.” Devpost, 29 June 2022, https://devpost.com/software/neoke.
“Lufthansa launches Green Fares initiative in response to passenger demand for sustainable travel.” Future Travel Experience, 21 February 2023, https://www.futuretravelexperience.com/2023/02/lufthansa-launches-green-fares-initiative-in-response-to-passenger-demand-for-sustainable-travel/.
McGough, Oliver. “How Lufthansa improve & track online customer satisfaction.” LinkedIn, 20 March 2015, https://www.linkedin.com/pulse/how-lufthansa-improve-track-online-customer-robert-mulder.
“69% of Travellers Want to Travel Sustainably This Year, New Report Shows – SchengenVisaInfo.com.” Schengen Visa, 23 January 2023, https://www.schengenvisainfo.com/news/69-of-travellers-want-to-travel-sustainably-this-year-new-report-shows/.
“TUI: Improving Customer Experience to Boost Revenue.” Station10, https://station10.co.uk/case-studies/tui-improving-customer-experience-to-boost-revenue/.