สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดในประเทศปี 2565
งานวิเคราะห์ตลาดในประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด ททท.
ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2566
ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปี 2565 เติบโตเพิ่มขึ้น
ปี 2565 ประเทศไทยยังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่ากับช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากสายพันธุ์ที่พบไม่มีอาการรุนแรงและไม่มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง อีกทั้งจำนวนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น ผนวกกับปรับตัวและรับมือที่จะอยู่ร่วมกับ COVID-19 ได้ดีขึ้น ทำให้ความวิตกกังวลของคนไทยคลี่คลายลง และกล้าที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว จะเห็นได้จากช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันอย่างเนืองแน่นในทุกภูมิภาค แม้ว่าจะยังคงอยู่ภายใต้มาตรการ Social Distancing ก็ตาม และช่วงกลางปี 2565 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง พร้อมกับการเตรียมประกาศให้ COVID-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยประกาศปลดล็อก และผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ พร้อมกับเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศแบบไม่มีเงื่อนไข ทำให้ผู้คนต่างวางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยวปี 2565 ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ลดลง รวมถึงวันหยุดยาว วันหยุดกรณีพิเศษในหลายช่วง ผนวกกับมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนขยาย” ที่ขยายการใช้สิทธิ์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม และ โครงการคนละครึ่ง จากปัจจัยดังกล่าวถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนไทยออกเดินทางและใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น
แม้ว่าภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศปี 2565 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 เนื่องจากปัจจัยอุปสรรคและประเด็นท้าทายที่ฉุดรั้งให้การท่องเที่ยวในประเทศเดินหน้าได้ไม่เต็มที่ ได้แก่
- ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่พึ่งฟื้นตัว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น
- ความผันผวนของราคาน้ำมัน
- ความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย
ดังนั้นสถานการณ์ ในปี 2565 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยอยู่ที่ 151.45 ล้านคน-ครั้ง ฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยวอยู่ที่ 641,554 ล้านบาท ฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับปี 2562 (ดังตาราง)
แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวรายไตรมาสปี 2565
ไตรมาสที่ 1 (เดือน มกราคม – มีนาคม 2565) :
ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัว ด้วยเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทย ผนวกกับได้รับปัจจัยสนับสนุนหลัก ๆ ได้แก่
- มาตรการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และการเดินทางข้ามจังหวัด
- นโยบายการเปิดประเทศช่วงปลายปีที่ผ่านมา
- การฉีดวัคซีนเข็ม 2 และเข็ม 3 ที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น
- การอนุญาตให้กิจการและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้
- มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และคนละครึ่ง
- กิจกรรมส่งเสริมการตลาดจาก ททท. และพันธมิตร อาทิ การจัดโพรโมชันราคาตั๋วเครื่องบิน ที่พักเกาะสมุย-ภูเก็ต, งานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 40 ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้คนไทยบางส่วนเลือกชะลอหรือหยุดการเดินทางเพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศไตรมาสนี้มีการขยับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ไตรมาสที่ 2 (เดือน เมษายน – มิถุนายน 2565) :
สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายน และชะลอตัวลง ในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ซึ่งเป็นการเติบโตมาจากช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่รัฐบาลสนับสนุนให้จัดกิจกรรมงานประเพณีสงกรานต์โดยมีเงื่อนไขให้อยู่ภายใต้มาตรการ Social Distancing และมาตรการ COVID Free Setting เพื่อลดการติดเชื้อ อีกทั้งการยกเลิกมาตรการห้ามเดินทางข้ามภาค ทำให้คนไทยถือโอกาสออกเดินทางทั้งในรูปแบบเพื่อการท่องเที่ยวกลับภูมิลำเนา หรือเยี่ยมญาติ กอปรกับเป็นช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่ผู้ปกครองจะพาบุตรหลานออกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ Sentiment ของคนไทยที่ต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อคลายความเครียดจาก COVID-19 ก็มีส่วนช่วยผลักดันให้สถานการณ์ท่องเที่ยวเดือนเมษายนเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตามหลังเทศกาลสงกรานต์เกิดการติดเชื้อและกระจายเป็นวงกว้างอีกครั้ง ส่งผลให้รัฐบาลกลับมาใช้มาตรการ อยู่บ้านหยุดเชื้อ พร้อมกับขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น และไม่เดินทางข้ามภาคโดยไม่จำเป็น ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน อยู่ในภาวะชะลอตัวลง
ไตรมาสที่ 3 (เดือน กรกฎาคม – กันยายน 2565) :
รัฐบาลสามารถควบคุมและรับมือกับการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ดี และประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ
- ภาครัฐสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ
- กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจาก ททท. และภาคเอกชน
- ความร่วมมือจากพันธมิตรในการทำโพรโมชันแพ็กเกจโรงแรมที่พัก และการส่งเสริมการเที่ยวข้ามภาคจากสายการบินในประเทศ
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
- มีวันหยุดยาวหลายช่วง ขณะที่ในช่วง เดือนสิงหาคม – กันยายน ประเทศไทยเผชิญมรสุมหลายระลอกส่งผลให้เกิดอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบไม่มากต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญจึงยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ ทำให้ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาสนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ไตรมาสที่ 4 (เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2565) :
ประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดี ทำให้การติดเชื้อทุเลาลง พร้อมกับเตรียมประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่น ส่งผลให้ประชาชนคลายความกังวลและรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมกับวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว กอปรกับไตรมาสนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ได้แก่
- การเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยวด้วยหลายพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีอุณหภูมิเย็นลง ทำให้นักท่องเที่ยวต้องการออกไปสัมผัสอากาศหนาวพร้อมกับชื่นชมธรรมชาติและทะเลหมอกตามยอดดอยยอดภู
- ช่วงวันหยุดยาวหลายช่วง อาทิ วันรัฐธรรมนูญ วันหยุดสิ้นปี
- ภาครัฐประกาศให้มีวันหยุดกรณีพิเศษช่วงที่มีการประชุม APEC 2022 Thailand ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว
- กิจกรรมส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวจาก ททท. โดยเฉพาะกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับ ปีใหม่ 2566 “Amazing Thailand Countdown 2023” เพื่อสร้างความสุข ความหวังกลับสู่หัวใจคนไทยอีกครั้ง
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
- ความต้องการ “เที่ยวแบบล้างแค้น หรือ Revenge Travel” เพื่อคลายความอัดอั้นชดเชยเวลา และประสบการณ์การเดินทางที่เสียไปในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (ข้อมูลจาก Booking.com) ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีมีการเติบโตเพิ่มขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องติดตามคือ นานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นจุดหมายปลายยอดนิยมของคนไทย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ได้ผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นโอกาสให้คนไทยออกเที่ยวต่างประเทศได้ง่ายขึ้น