การสร้างความยั่งยืน ทำไมจึง ‘ได้ใจ’ แต่ ‘ไม่ได้ทำ’

รศ. ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

 

ยั่งยืน ยั่งยืน จะนั่งจะยืนที่ไหนก็ได้ยินเค้าพูดกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเรากำลังหมุนไปสู่ทางนั้นอย่างแน่นอน แต่ทำไมได้ยินเยอะกลับไม่ได้เห็นแยะตามที่คุย ในเมื่อต่างฝ่ายต่างพากันพูดถึงความพยายามสร้างความยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ประชาสังคม สื่อมวลชน รวมไปถึงประชาชนคนทั่วไป ขอบข่ายการสร้างความยั่งยืนครอบคลุมตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร ชุมชน ประเทศและโลกใบนี้ ฟังแล้วได้ใจจริงจัง แต่พอไม่เห็นได้ผลจากการลงมือทำอย่างชัดเจนก็เลยเกิดคำถามว่าเป็นเพราะอะไร

 

ทฤษฎีช่องว่างระหว่างทัศนคติกับพฤติกรรม หรือ Attitude-Behavior Gap อธิบายไว้ว่า มนุษย์เรามักจะมีรอยต่อระหว่างความคิดความตั้งใจกับการลงมือทำ ด้วยสาเหตุที่อาจแยกออกเป็น 2 ประเภทหลักคือปัจจัยส่วนตัว ตั้งแต่เบื้องลึก เช่น ความคิด ความเชื่อ การให้คุณค่า อารมณ์ ความรู้สึก ไปจนถึงเรื่องทั่วไป เช่น ระดับรายได้ การศึกษา ผลวิจัยพบว่ายิ่งเป็นคนเอาความพอใจส่วนตัวเป็นหลักมากกว่าการคำนึงถึงสังคมสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งทำให้ช่องว่างของการสร้างความยั่งยืนกว้างขึ้น ไม่จำกัดว่าจะมีรายได้หรือการศึกษาสูงแค่ไหน ส่วนอีกประเภทได้แก่ปัจจัยรอบตัว เช่น ความเป็นไปในสังคม นโยบายและสิ่งสนับสนุน แคมเปญสร้างการรับรู้ตื่นตัว ความเปลี่ยนแปลงของตลาดและระบบเศรษฐกิจการค้า ยิ่งเป็นสังคมที่แรงกดดันจากคนอื่นมีผลกับการตัดสินใจส่วนตัวมากก็ยิ่งทำให้ปัจจัยด้านนี้ส่งผลชัด เช่น สังคมเอเชียที่คนเกาะกลุ่มกันและคำนึงถึงหน้าตา หากสามารถสร้างกระแสยั่งยืนจนเป็นที่พบเห็นวงกว้างได้อย่างกรณีการใช้ถุงผ้า ก็มีโอกาสต่อยอดเป็นแรงกระเพื่อมได้มาก

 

 

หากถามว่าการคิดหรือพูดแล้วไม่ได้ทำนำมาซึ่งความอึดอัดขัดข้องใจบ้างหรือไม่ ElHaffer, Durif, & Dubé (2020) ระบุถึงกลไกทางจิตวิทยาที่คนจำนวนมากใช้เพื่อลดความละอายใจ หรือเพื่ออธิบายเหตุผลให้ตัวเองรู้สึกรับได้อย่างการอ้างถึงสาเหตุนอกตัว เช่น การเข้าถึงสินค้า บริการ หรือกิจกรรมสร้างความยั่งยืนได้ยาก การปฏิเสธความรับผิดชอบว่าเป็นเรื่องใหญ่ ลำพังตัวเองไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ กลไกนี้ถ้ามีการทำซ้ำโดยคนจำนวนมากไปเรื่อย ๆ จะกลายเป็นการสร้างความคิดและพฤติกรรมแบบผิดเพี้ยนในสังคม คือเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา  

 

จากทฤษฎีมาดูภาคปฏิบัติกันบ้างว่าช่องว่างเกิดขึ้นอย่างไร และมีความพยายามทำอะไร เห็นผลแค่ไหนในการลดช่องว่าง เริ่มจากเวียดนามเพื่อนบ้านของเรา มีการศึกษาช่องว่างความคิดกับพฤติกรรมสร้างความยั่งยืนของประชาชนในเมืองโฮจิมินห์กับฮานอย ผลวิจัยโดย Nguyen, Nguyen, & Hoang (2018) พบว่า การเข้าถึงสินค้าและบริการที่คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลในการลดช่องว่าง สนับสนุนให้คนที่มีความคิดได้เกิดการลงมือทำ และทำนองเดียวกันหากขาดสิ่งนี้ก็สามารถเป็นปัจจัยปิดกั้นคนที่แม้มีความตั้งใจแต่ก็ไม่มากพอจะไปหาทางลงมือทำ นักวิจัยอธิบายว่าความเข้าถึงง่ายสามารถแปลงเป็นการเล็งเห็นในต้นทุน (จากกระบวนการค้นหาเลือกซื้อ) ที่ลดลง และยังช่วยทำหน้าที่เป็นสิ่งเตือนใจให้คนนึกถึงความตั้งใจที่มี อีกปัจจัยที่ส่งผลเช่นเดียวกัน ได้แก่ ความเชื่อว่าการลงมือทำนั้นจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ โดยนักวิจัยอธิบายไว้เช่นกันว่าเพราะคนเล็งเห็นในสิ่งที่ได้มาเพิ่มขึ้น เป็นการตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตระดับส่วนตัวเชื่อมโยงกับระดับสังคมไปพร้อมกัน

 

 

เห็นดังนี้แล้ว อาจพอสรุปข้อคิดเพื่อปรับใช้กับบ้านเมืองของเราได้ว่า หมดยุคเอาแต่พูดเพียงแค่สื่อสารสร้างการรับรู้แล้ว เพราะพูดไปก็รังแต่จะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นอกจากนั้นการพูดที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่เป็นที่ยอมรับยังกลับจะไปทำให้ช่องว่างกว้างขึ้นไปอีกด้วย ทางที่ดีควรหาวิธีให้คนเข้าถึงการลงมือทำผ่านการสนับสนุนสินค้า บริการ กิจกรรมได้ง่ายดีกว่า เกิดประโยชน์ครบตั้งแต่สร้างการรับรู้ เข้าใจ ไปจนเข้าถึงและพัฒนาได้ต่อ โดยทุกกิจกรรมชวนทำต้องสามารถวัดผล Social Impact อย่างเปิดเผยโปร่งใส พร้อมแสดงให้เห็นว่าที่คนมาร่วมด้วยนั้นมีส่วนช่วยสร้างผลลัพธ์กับสังคมสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรและแค่ไหนกัน แนวคิดนี้พบในชุมชนที่มีพฤติกรรมการบริโภคแบบใหม่ (New Consumption Communities หรือ NCCs) ในประเทศอังกฤษ งานวิจัยโดย Moraes, Carrigan, and Szmigin (2012) ระบุถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างเพื่อให้พฤติกรรมสร้างความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและอุปนิสัย (Habits) ของคนทั่วไป ไม่ใช่เป็นทางเลือกให้ต้องตัดสินใจสำหรับคนบางกลุ่มที่มีความพร้อมและความสนใจเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ต้องอาศัยการออกแบบเมืองพร้อมการมีส่วนร่วมของคนสร้างเมืองให้เป็นพื้นที่จรรโลงคุณค่าแบบ Ethical Space ที่ซึ่งคนดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนเป็นปรกติ (Ethical by default) เช่นการไม่ใช้ถุงพลาสติกเพราะไม่มีใช้กัน หรือการแยกขยะทุกชิ้นในมือเพราะทุกที่มีถังแยกและทุกคนทำกันจนชิน นักวิจัยอ้างถึงวิถีเช่นนี้ว่าเป็นอีกรูปแบบของทางเลือกร่วมกันในสังคม (Collective Choice) 

 

ฟังดูดีมีความหวัง เป็นเมืองน่าอยู่แท้ ๆ แต่เมื่อมองลึกไปถึงลักษณะชุมชน NCCs ที่กล่าวมา พบว่าทั้งหมดมีขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่แบบชนบท ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขให้การออกแบบเมืองและความสัมพันธ์ของผู้คนเพื่อสร้างความยั่งยืนเป็นไปได้โดยง่าย แต่ความเปลี่ยนแปลงในโลกกำลังมุ่งไปอีกทางจากการเติบโตของชุมชนเมือง Urbanization เช่นนั้นแล้วลองข้ามไปดูชุมชนเมือง 3 แห่งในประเทศฟินแลนด์ โดย Valkila and Saari (2013) ทำการศึกษาเรื่องช่องว่างระหว่างทัศนคติและพฤติกรรมการประหยัดพลังงาน พบว่าคนส่วนใหญ่ยืนยันการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ต่างจากกรณีเมืองชนบทที่ข้อตกลงร่วมมีบทบาทสำคัญ อย่างไรก็ดีคนที่ฟินแลนด์ต่างก็ได้รับข้อมูลข่าวสารและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความยั่งยืน โดยมีใจอยากร่วมแต่ถ้าพบว่าเป็นเรื่องยากและไม่สะดวกก็ไม่พร้อมจะลงมือทำ ข้อดีคือบอกตรงไม่ต้องพูดสร้างภาพ และยังระบุต่อด้วยว่าต้องการผลลัพธ์ที่จับต้องได้ทางเศรษฐกิจ เช่นการประหยัดพลังงานสามารถช่วยแปลงเป็นเม็ดเงินได้เท่าไร เรียกว่าสวยหล่อเพื่อสังคมแต่กินไม่ได้ไม่เอา ข้อมูลนี้สอดคล้องกับผลวิจัยที่ฮานอยกับโฮจิมินห์ ทำให้พอเห็นภาพได้ว่าคนในสังคมเมืองให้ความสำคัญกับความต้องการส่วนตนเป็นสำคัญซึ่งส่งผลต่อช่องว่างของการลงมือทำเพื่อส่วนรวม แม้จะตระหนักรู้และมีความตั้งใจอยากมีส่วนร่วมเพียงใดก็ตาม ในการออกแบบสินค้า บริการ หรือกิจกรรม จึงควรหาทางสร้างผลประโยชน์ร่วมระหว่างการตอบโจทย์ส่วนตนกับส่วนรวมไปพร้อมกัน

 

 

แนวทางดังกล่าวดูจะเหมาะกับกลยุทธ์ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนในระดับบุคคล แต่เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ระดับชุมชนสังคมพบว่า อาจเป็นไปได้ยากที่จะนำกลไกตลาดตามระบบทุนนิยมมาใช้ได้ทั้งหมด เพราะการจะสร้างบ้านแปลงเมืองให้ยั่งยืนจำเป็นต้องมีผู้เสียสละให้ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน การศึกษาโดย Saui (2017) ระบุหลุมพรางของการสร้างเมืองยั่งยืนว่า เกิดจากฐานการมองเมืองเป็นขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตัดสินใจโดยเล็งผลตอบแทนทางการค้าเป็นสำคัญ จึงอาจปิดกั้นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างสรรค์สังคมสิ่งแวดล้อมที่หลายเรื่องไม่อาจสร้างความคุ้มค่าทางตัวเลขผลกำไรได้ อีกประเด็นคือการทำให้สะดวกเห็นเป็นสิ่งเข้าถึงได้ง่าย นับเป็นการตอบโจทย์   ในระดับบุคคล แต่ในภาพใหญ่อาจกลายเป็นหลุมพรางให้เกิดการมองข้ามเงื่อนไขที่ซับซ้อน ยิ่งถ้ามีความพยายามสร้างภาพประกอบไปด้วยยิ่งอันตราย เช่น ตัวอย่างบางเมืองที่มีการจัดการประชุมหรือเทศกาลระดับภูมิภาคหรือระดับโลก และต้องการนำเสนอภาพความยั่งยืนของเมืองจนกลายเป็นความเสี่ยงของการฟอกเขียว (Greenwashing) หรืออีกกรณีคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาครอบโดยไม่คำนึงถึงบริบทพื้นที่ ทำให้เกิดการเสียสมดุลจากการละทิ้งวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่นที่พบกับสังคมเกษตรกรรมหลายแห่ง ที่เกษตรกรรายย่อยมีหนี้สินขนาดใหญ่จากการซื้อหาเครื่องทุ่นแรงเทคโนโลยีสูง แต่ขาดทักษะการใช้งานทำให้ไม่ได้ผลเต็มประสิทธิภาพ สุดท้ายที่น่าสนใจคือ การสร้างเมืองยั่งยืนที่ลงเอยกลับกลายเป็นเมืองร้าง ดังที่เห็นเป็นกรณีศึกษาบางแห่งในประเทศจีน ซึ่งสะท้อนช่องว่างอีกแบบจากการทำแต่ไม่ได้คิด (ให้รอบด้าน) ต่างจากช่องว่างแบบคิดแต่ไม่ได้ทำ สาเหตุสำคัญมาจากการขาดการสร้างการมีส่วนร่วมของคนตั้งแต่ขั้นการออกแบบวางแผน ทำให้ไม่สามารถสร้างความต้องการหรือความสนใจของคนที่จะเข้ามาร่วมอยู่ร่วมสร้างเมืองยั่งยืนไปด้วยกัน หรืออีกกรณีคือการสร้างเมืองยั่งยืนที่กลายเป็นเมืองสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม เช่นคนรวย คนมีการศึกษา เรียกกันว่าอยู่ในฟองสบู่เขียว หรือ Green Bubbles พร้อมกันยังเกิดความขัดแย้งจากการไปโยกย้ายเอาชุมชนที่เคยอยู่มาเก่าก่อนออกไป

 

“การสร้างความยั่งยืน ทำไมจึงได้ใจแต่ไม่ได้ทำ” จากความเข้าใจสาเหตุช่องว่างระหว่างทัศนคติ ความตั้งใจ กับพฤติกรรม นำไปสู่แนวทางการออกแบบให้เกิดการสนับสนุนสินค้า บริการ กิจกรรมในระดับบุคคลที่เข้าถึงง่าย แสดงผลลัพธ์ได้ชัด พร้อมกันกับที่ต้องวางแผนให้สอดคล้องกันกับการจัดการระดับชุมชนสังคมที่คำนึงถึงคนหลากหลายกลุ่มที่มีเงื่อนไขความพร้อมและความต้องการต่างกัน ถ้าให้ดีควรสื่อสารให้บุคคลรับรู้ภาพใหญ่ไปพร้อมกันด้วยก็จะเป็นการช่วยลดช่องว่างตั้งแต่ชั้นการสร้างทัศนคติ ให้เกิดความคิดเห็นตามความเป็นจริง นำไปสู่โอกาสการลงมือทำให้เห็นเป็นจริงได้ตามกัน   

 

References
ElHaffar, G., Durif, F., & Dubé, L. (2020), “Towards closing the attitude-intention-behavior gap in green consumption: A narrative review of the literature and an overview of future research directions,” Journal of Cleaner Production, 275(1), 122556. https://doi.org/10.1016/j.jclepro.2020.122556
Moraes, C., Carrigan, M., & Szmigin, I. (2012), “The coherence of inconsistencies: Attitude–behaviour gaps and new consumption communities,” Journal of Marketing Management, 28 (1-2), 103-128. DOI: 10.1080/0267257X.2011.615482
Nguyen, H. V., Nguyen, C. H., & Hoang, T. T. B. (2018), “Green consumption: Closing the intention-behavior gap,” Sustainable Development, 27(1), 118- 129. doi:10.1002/sd.1875
Saiu, V. (2017), “The Three Pitfalls of Sustainable City: A Conceptual Framework for Evaluating the Theory-Practice Gap”. Sustainability 9, 2311. https://doi.org/10.3390/su9122311
Valkila, N. & Saari, A. (2013), “Attitude–behaviour gap in energy issues: Case study of three different Finnish residential areas,” Energy for Sustainable Development, 17(1), 24-34. 

Share This Story !

3.8 min read,Views: 1155,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024