สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด ททท.

ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2565

 

 

ภาพรวมสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 มีการเติบโตดี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีสัดส่วนเดินทางเข้าไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน (ร้อยละ 46) รองลงมาคือ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป มีสัดส่วนร้อยละ 17 และ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้ มีสัดส่วนเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 12 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาสนี้ ได้แก่ 

  1. การยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass และยกเลิกข้อกำหนดการซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้าไทย 
  2. การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเข้าไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออก โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้
  3. ทุกตลาดในภูมิภาคอาเซียนผ่อนคลายมาตรการเดินทางขากลับเข้าประเทศ 
  4. การผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติมของตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
  5. กระแสการเดินทางท่องเที่ยวไทยช่วงฤดูร้อนและปิดภาคเรียน และ
  6. กิจกรรมดำเนินงานด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ของ ททท. มุ่งเน้นการเดินทางและสร้างการรับรู้ประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มตลาดอาเซียน อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย  

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ทั้งในไทยและในต่างประเทศ และความวิตกกังวลของการระบาดของโรคฝีดาษลิงที่ลุกลามไปยังหลายประเทศทั่วโลก ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในภาพรวม แต่มีปัจจัยลบที่บั่นทอนบรรยากาศการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ คือ ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศปรับราคาสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงของสายการบินต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ ความไม่สะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากเหตุหยุดงานประท้วงของพนักงานสายการบินและสนามบินหลายแห่งในยุโรป ส่วนสถานการณ์การเดินทางเข้าไทยของตลาดรัสเซียทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการระงับทำการบินเที่ยวบินตรงเข้าไทยชั่วคราวนับตั้งแต่เดือนมีนาคม

โดยสรุปรายละเอียดสถานการณ์ของแต่ละภูมิภาค ดังนี้     

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และ อาเซียน) คาดว่า มีนักท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เดินทางเข้าไทยรวม 1,940,602 คน ขยายตัวร้อยละ 20,401 สร้างรายได้การท่องเที่ยว 73,077 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10,284 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564  โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าไทย ดังนี้

(1) นักท่องเที่ยวอาเซียนไม่ต้องกักตัวขากลับเข้าประเทศหลังมาเที่ยวไทย ในขณะที่ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเดินทางมากขึ้นหลังผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 รายละเอียดดังนี้ 

    • จีน: ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ลดวันกักตัวเป็น 7+3 วัน คือ กักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด 7 วัน และกักตัวที่บ้าน 3 วัน (จากเดิม 14+7 วัน) 
    • ญี่ปุ่น: ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ประกาศผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าประเทศ (ชาวต่างชาติ+ชาวญี่ปุ่น) โดยเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เป็น 20,000 คนต่อวัน (จากเดิม 10,000 คนต่อวัน) 
    • ฮ่องกง: ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ลดวันกักตัวในโรงแรมเหลือเพียง 3 วัน (จากเดิม 7 วัน) หลังจากนั้นพักอาศัยในบ้านหรือในโรงแรมเป็นเวลา 4 วันเพื่อสังเกตอาการ ซึ่งสามารถออกจากที่พักได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผับบาร์ และโรงพยาบาล
    • ไต้หวัน: ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 ปรับลดวันกักตัวเหลือ 3+4 วัน (จากเดิม 7+7 วัน) โดยกักตัว 3 วันแรกห้ามออกไปข้างนอก และสังเกตอาการตนเองอีก 4 วัน โดยในระหว่างนี้สามารถออกไปข้างนอกได้ หากมีผลตรวจ ATK เป็นลบ และตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ยกเลิกการแสดงผลตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าไต้หวัน
    • เกาหลีใต้: ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ก่อนเข้าเกาหลีใต้ ต้องแสดงผล RAT (Rapid Antigen Test) ที่มีแพทย์รับรอง ก่อนเดินทาง 24 ชั่วโมง (จากเดิม ให้แสดงผล RT-PCR เท่านั้น) และหลังเข้าเกาหลีใต้ ต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี PCR Test ภายใน 3 วัน (72 ชั่วโมง)  แบบยกเว้นการกักตัว (จากเดิม ต้องตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง ภายใน 24 ชม.)

(2) การเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เพื่อรองรับการเดินทางเข้าไทยในช่วงวันหยุดปิดเทอมภาคฤดูร้อนของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก: จากข้อมูลแผนการบินจากระบบ OAG พบว่า มีเที่ยวบินจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้าไทย รวม 14,275 เที่ยวบินในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 86 จากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า รวม 7,677 เที่ยวบิน โดยแบ่งเป็น ภูมิภาคอาเซียน มีจำนวนเที่ยวบินรวม 10,555 เที่ยวบิน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 94 จากเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 (จำนวน 5,432 เที่ยวบิน) และ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน) มีจำนวนเที่ยวบินรวม  3,720 เที่ยวบิน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จากเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 (จำนวน 2,245 เที่ยวบิน) 

(3) กระแสการเดินเข้าไทยทางบกของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน หลังจากไทยเปิดด่านชายแดนทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย กัมพูชา และ ลาว: ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวอาเซียนเข้าไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 ล้านคน (1.54 ล้านคน) หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัวจากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย กัมพูชา และลาว สามารถเดินทางเข้าไทยได้สะดวกขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย กัมพูชา ลาวเข้าไทย ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 236 ร้อยละ 173 และร้อยละ 222 จากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า (เมษายน-มิถุนายน) 

(4) กิจกรรมเด่นเพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียเข้าไทยของ ททท. ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 

    • ททท. สำนักงานในภูมิภาคอาเซียน: มุ่งเน้นกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับสายการบินและบริษัทนำเที่ยว เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้าไทยทั้งทางอากาศและทางบก (หลังเปิดด่านชายแดนทั่วไทย 1 มิถุนายน 2565) รวมทั้ง ส่งเสริมการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มกอล์ฟ และกลุ่ม Incentive เช่น
    • สำนักงานกัวลาลัมเปอร์: 
      • ผลักดันการเดินทางของกลุ่ม Leisure ร่วมกับสายการบิน Thai Air Asia ในแคมเปญ Health & Wellness in Amazing Thailand ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 รับส่วนลดพิเศษจาก Let’s Relax Spa เมื่อโชว์ Boarding Pass จากแอร์เอเชีย เป้าหมายการขาย 1,000 Pax และสนับสนุนกลุ่มผู้เล่นกอล์ฟ ร่วมกับสายการบิน Air Asia Malaysia ในเดือนกรกฎาคม คาดว่าจะขายได้ 1,000 Pax
      • ส่งเสริมการเดินทางของกลุ่ม Incentive เข้าไทย (กรุงเทพฯ ภูเก็ต สงขลา) ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว อาทิ 1) ILA Travel 2) Tashin Travel 3) World Traveler 4) AF Travel 5) Travel With You รวม 660 Pax 
      • กระตุ้นการเดินทางเข้าไทยทางบก โดย ททท. ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวขาย Package Tour เพื่อเข้าร่วมงาน Durian Festival และ Betong Fruit Festival ณ อ.เบตง จ.ยะลา ประมาณ 648 Pax 
      • ททท. สำนักงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ: ถึงยังคงมีข้อจำกัดในการเดินทางต่างประเทศ แต่ ททท. ยังคงประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยว รวมทั้ง Joint Promotion กับบริษัทนำเที่ยวและสายการบินอย่างต่อเนื่อง เช่น
    • สำนักงานโตเกียว: Joint Promotion กับ Rakuten Travel (Online Travel Agency ที่ครองสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 50 ในญี่ปุ่น) ในการเสนอขายแพ็กเกจ  Visit Thailand Year 2022 Amazing Thailand New Chapters ที่มีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน-กันยายน 2565
    • สำนักงานไทเป: ร่วมกับ การบินไทย และ บริษัท SET Tour, Lide Tour Cinfort Around the World ส่งเสริมการขายนักท่องเที่ยวกลุ่มกอล์ฟ Amazing Thailand Golf Package ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 คาดว่าขายได้ 400 Pax

 

ภูมิภาคยุโรป คาดว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 จำนวน 564,747 คน ขยายตัวร้อยละ 2,727 สร้างรายได้การท่องเที่ยว 42,225 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,932 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวจาก 

(1) กระแสการเดินทางท่องเที่ยวไทยช่วงวันหยุดฤดูร้อนและปิดภาคเรียนของชาวยุโรป (กรกฎาคม-สิงหาคม) โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และ สเปน 

(2) การไร้ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต้นทางในยุโรปและการยกเลิกลงทะเบียน Thailand Pass ของไทยช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวสะดวกขึ้น 

(3) การให้บริการเที่ยวบินตรงเข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ต มาจากเมืองมิวนิก แฟรงก์เฟิร์ต ซูริก ลอนดอน ปารีส โคเปนเฮเกน สตอกโฮล์ม อัลมาตี และอิสตันบูล รวม 14 เส้นทางบิน โดยในไตรมาสนี้ มีจำนวนเที่ยวบินรวม 139 เที่ยวบิน ทรงตัวระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า เดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 (จำนวน 138 เที่ยวบิน) 

(4) การดำเนินงานของ ททท. เพื่อส่งเสริมการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวยุโรป กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวยุโรปร่วมกับพันธมิตร บริษัทนำเที่ยว และสายการบินในพื้นที่ตลาดเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และสวีเดน โดยมีกิจกรรมเด่นของสำนักงาน ททท. ในภูมิภาคยุโรป (ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565) อาทิ สำนักงานสตอกโฮล์ม: จัดกิจกรรม Joint Marketing ร่วมกับพันธมิตรบริษัทนำเที่ยวกลุ่ม Hi-End ในตลาดสวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ เพื่อประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการขายสินค้าท่องเที่ยว Health and Wellness โดยเน้นแพ็กเกจหัวหิน เกาะสมุย และเกาะกูด (สำหรับฤดูร้อนปี 2565) และภูเก็ต กระบี่ เกาะยาวน้อย เชียงราย และกรุงเทพฯ (สำหรับฤดูหนาวปี 2565) สำนักงานกรุงโรม: จัดกิจกรรม Tourism Ambassador Trip 2022 โดยเชิญ Celebrity กลุ่ม LGBT จากอิตาลีและสเปน เดินทางถ่ายทำรายการในประเทศไทย ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการประเทศไทย ได้แก่ Romance, Luxury, Health and Wellness และ Responsible Tourism เป็นต้น สำนักงานปารีส: จัดกิจกรรม Joint Marketing ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว Adventure Specialist (Shoestring/Koning Aap/YourWay2Go) ส่งเสริมการเดินทางช่วง Green Season ในตลาดเบลเยียม

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปมีความไม่แน่นอนที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ คือ

(1) ข้อจำกัดด้านการบินต่อการเดินทางเข้าไทยของตลาดรัสเซีย การระงับการให้บริการเที่ยวบินตรงเข้าไทยจากตลาดรัสเซียตั้งแต่เดือนมีนาคม-ปัจจุบัน (เดือนกันยายน) ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาไทยด้วยเที่ยวบินเชื่อมโยงจากประเทศตะวันออกกลางและตุรกีเท่านั้น อาทิ สายการบิน Emirates, Etihad Airways, Qatar Airways, Turkish Airlines, Fly Dubai ส่งผลให้ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดรัสเซียเดินทางเข้าไทยในไตรมาสนี้ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) มีจำนวน 24,836 คน เพิ่มขึ้นจาก 20,560 คนในไตรมาสก่อนหน้า (เดือนเมษายน-มิถุนายน) 

(2) ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินมีราคาแพงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงของสายการบินต่าง ๆ ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจวางแผนการเดินทางมายังประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระยะไกล 

(3) ปัญหาการขาดแคลนพนักงานบริการในภาคอุตสาหกรรมการบินจากเหตุหยุดงานชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนการจ้างบ่อยครั้งทั่วภูมิภาคยุโรปในช่วงฤดูร้อนในพื้นที่ตลาดเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสเปน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวบางส่วนเกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการให้บริการของสนามบินและการยกเลิกเที่ยวบินเป็นจำนวนมาก

 

 

ภูมิภาคอเมริกา คาดว่า มีนักท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เดินทางเข้าไทยรวม 154,240 คน ขยายตัวร้อยละ 2,085 และสร้างรายได้การท่องเที่ยว 11,607 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,503 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จากความเชื่อมั่นต่อการเดินทางท่องเที่ยว ผนวกกับการผ่อนคลายมาตรการของไทย สนับสนุนการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวฤดูร้อนในช่วงเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเที่ยวบินระหว่างประเทศภายในภูมิภาคอเมริกากลับมาเพียงแค่ร้อยละ 70 เท่านั้น และการยกเลิกเที่ยวบินที่มีอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งราคาบัตรโดยสารโดยรวมมีการปรับราคาสูงขึ้น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกาที่เป็นตลาดระยะไกลยังไม่กลับมาฟื้นในระดับปกติ โดยตลาดอเมริกาเป็นตลาดที่เดินทางเข้ามามากที่สุดในภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ รวมทั้ง การดำเนินงานของ ททท. ในการกระตุ้นการเดินทางผ่านโครงการ Thailand Moving Forward เช่น การโฆษณาเสนอขายแพ็กเก็จที่พักในประเทศไทย ผ่าน OTA สำคัญในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Expedia.com,  Hotels.com และ Orbitz.com และการร่วมกับสายการบินสัญชาติอเมริกัน “Delta Airlines” ดำเนินกิจกรรม Pack & Fly Now to Thailand รายงานถึงผลการส่งเสริมการขายที่เจาะกลุ่ม LGBTQ+

 

 

 

ภูมิภาคเอเชียใต้ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เดินทางเข้าไทย จำนวน 393,957 คน ขยายตัวร้อยละ 58,437  สร้างรายได้การท่องเที่ยว 19,300 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 37,194 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยภูมิภาคเอเชียใต้มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด ด้วยมีปัจจัยหนุนสำคัญ จากการขยายเส้นทางบินเข้าไทยจากตลาดอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 คือ สายการบิน Vistara เส้นทางมุมไบ-กรุงเทพฯ 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มวันที่ 5 สิงหาคม 2565 และ สายการบิน Thai VietJet เส้นทางอะห์มดาบาด-กรุงเทพฯ 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มวันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนการขยายเส้นทางบินจากตลาดอื่น ๆ เข้ามาช่วยเสริมการเดินทางเข้าไทยของภูมิภาคนี้ อาทิ ตลาดเนปาล สายการบิน Thai Smile กลับมาให้บริการเส้นทางกาฐมาณฑุ-กรุงเทพฯ 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 รวมถึงตลาดมัลดีฟส์ สายการบิน Bangkok Airways มัลดีฟส์-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 และ สายการบิน Bangla Airlines ธากา-กรุงเทพฯ 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2565 รวมทั้งการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวจากความร่วมมือระหว่าง ททท. กับผู้ประกอบการในการขาย (Joint Promotion) โดยมอบสิทธิพิเศษแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย เช่น การใช้ Boarding pass นำไปลดราคาการใช้บริการร้านค้าและบริการเมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ดึงดูดการเดินทางจากภูมิภาคเอเชียใต้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

 

ภูมิภาคโอเชียเนีย คาดว่า มีนักท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เดินทางเข้าไทย จำนวน 121,463 คน ขยายตัวร้อยละ 12,592 และสร้างรายได้การท่องเที่ยว 10,059 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9,623 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีแรงหนุนจากกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวโอเชียเนีย ในช่วง School Holiday (กรกฎาคม) รวมทั้งการเพิ่มเส้นทางบินของสายการบิน Thai Airways เส้นทาง เพิร์ท-กรุงเทพฯ 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 โดย ททท. และหน่วยงานพันธมิตรได้ขยายพื้นที่ตลาดเพื่อผลักดันการเดินทางจากฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย โดยได้ทำ Joint Promotion ร่วมกับสายการบิน Thai Airways จากการเปิดเส้นทางบิน เมืองเพิร์ท และผลจากการยกเลิก Thailand Pass ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดดังกล่าวเติบโตขึ้นทันที เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเมษายน-มิถุนายน 2565 โดยขยายตัวร้อยละ 73 เช่นเดียวกับตลาดนิวซีแลนด์ที่ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางและยกเว้นการแสดงผลตรวจ COVID-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 107 จากช่วงเมษายน-มิถุนายน 2565  โดยปัจจุบันมี 3 สายการบินหลักคือ Thai Airways, Jet Star และ Qantas ที่ให้บริการนำนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียจาก 3 เมืองหลักในออสเตรเลีย ซิดนีย์ และ เมลเบิร์น เข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ต รวม 28 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในขณะที่นักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ยังคงเดินทางด้วยเที่ยวบินเชื่อมโยง

 

 

ภูมิภาคตะวันออกกลาง สถานการณ์การท่องเที่ยวมีการเติบโตดีอย่างชัดเจน คาดว่า มีนักท่องเที่ยวเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 เดินทางเข้าไทยจำนวน 180,092 คน ขยายตัวร้อยละ 2,649 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 15,982 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,980 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 32 ปี ส่งผลให้การเดินทางเข้าไทยของตลาดซาอุดีอาระเบียกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีเที่ยวบินตรงเข้าไทย จากเมืองเจดดาห์ และรียาด โดยสายการบิน Saudia และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 สายการบิน Thai Airways เปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่ เส้นทางเจดดาห์-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดย ททท. ได้รุกทำตลาดซาอุดีอาระเบีย โดยได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของตลาดซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งมุ่งเน้นการส่งเสริมกลุ่มตลาดคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย ส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเข้าไทยเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนและเช่นเดียวกับการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดอิสราเอล ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเมษายน-มิถุนายน 2565 โดยขยายตัวร้อยละ 149 จากปัจจัยสนับสนุนในด้านเที่ยวบินตรงและจากการจัดกิจกรรม Joint Promotion ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว Gulliver (OTA) และ Issata (TO) โดยประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายแพ็กเกจประเทศไทยผ่าน Holmes Place Group เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีความสนใจเรื่องของสุขภาพ

 

ภูมิภาคแอฟริกา คาดว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 จำนวน 15,361 คน ขยายตัวร้อยละ 2,045 สร้างรายได้การท่องเที่ยว 1,066 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,397 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทางด้านการบินช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจากแอฟริกา ได้แก่ สายการบิน Ethiopian Airlines ให้บริการเส้นทางอะดิสอะบาบา-กรุงเทพฯ จำนวน 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และ สายการบิน Air Austral เปิดเส้นทางบินใหม่จากภูมิภาคแอฟริกาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวพักผ่อนช่วงฤดูร้อน มาจากเมืองเรอูว์นียง-กรุงเทพฯ จำนวน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม-21 สิงหาคม 2565 และการให้บริการเที่ยวบินเชื่อมโยงการเดินทางจากภูมิภาคแอฟริกามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่องของสายการบินในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ Qatar Airways, Emirates, Etihad ฯลฯ

Share This Story !

5.4 min read,Views: 1379,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 2, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 2, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 2, 2025