
Tourism Set Zero ท่องเที่ยวหลัง COVID-19 สร้างใหม่ให้ยั่งยืน
ทำไม COVID-19 จึงเป็นโอกาสให้เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น?
หากเราเริ่มทบทวนจากการพัฒนาของมนุษย์ที่เติบโตสวนทางกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นคำตอบได้ไม่ยาก
และทำให้เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมเราควรนับหนึ่งใหม่ให้ดีกว่าเดิม
ร่วมทบทวนและทำความเข้าใจไปพร้อมกันได้เลยค่ะ
The Great Acceleration เศรษฐกิจปัง สิ่งแวดล้อมพัง
มนุษย์เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ผลผลิตรวมของโลกเพิ่มขึ้น 20 เท่า เศรษฐกิจโลกขยายตัวถึง 4 เท่าในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา
คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น จำนวนประชากรโลกมากถึง 8 พันล้านคนในปัจจุบันและคนรุ่นปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าคนรุ่นปู่ย่าตายายประมาณ 25 ปี
แต่ผลิตภาพและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเกินความจำเป็นนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ยากที่จะฟื้นฟูกลับคืน
โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าในปัจจุบันมีสัตว์ประมาณ 1 ล้านสายพันธุ์ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่าและระบบนิเวศ
ที่ดิน 75% และทะเล 66% ถูกคนรุกราน ทิ้งสารเคมีลงในดินและน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เกิดจากการปล่อยคาร์บอนโดยมนุษย์
2020 โลกพบ COVID-19
ทั้งที่มีสัญญาณเตือน ว่าการทำลายระบบนิเวศ ทำให้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ รุนแรงขึ้น เราก็ยังไม่หยุด
อย่างการตัดไม้ทำลายป่าและการรุกรานที่อยู่อาศัยเดิมของสัตว์ป่า ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา โรคไลม์ และโรคมาลาเรีย
ในแอฟริกาและอเมริกาใต้
จนล่าสุด การบริโภคสัตว์ป่าก็ทำให้เราเจอกับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือวิกฤติ COVID-19 ซึ่งมีสาเหตุคล้ายกับโรคซาร์ส ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อและผู้เสียชีวิตทั่วโลกนับล้านคน
วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรุนแรงและรวดเร็ว IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมลด 3% ในปี 2020
UNWTO คาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายได้อาจลดจากปีก่อนถึง 80% มีคนตกงาน 120 ล้านคน COVID-19 ถือเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเคยเจอมา
The Great Reset ปรับครั้งใหญ่ สร้างใหม่ให้ยั่งยืน
หากยังทำธุรกิจในรูปแบบเดิม หรือ Business as usual ก็จะเข้าสู่วงจรเก่า และอาจเกิดวิกฤติใหม่ที่อันตรายกว่า
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) เสนอแนวคิด New Nature Economy ผนวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศโลก
การทำลายสิ่งแวดล้อมคือ ‘ความเสี่ยง’ ทางธุรกิจที่มีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นเนื่องจากทรัพยากรทางธรรมชาติลดลงหรือสูญหายไปหรือการถูก Disrupt จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น
ในทางกลับกัน การรักษาสิ่งแวดล้อมคือการ ‘รักษาความต่อเนื่อง’ ทางธุรกิจ และเป็น ‘โอกาส’ ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลทางการท่องเที่ยวการปรับ ‘เป้าหมาย’ ที่เน้น ‘คุณภาพ’ มากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว มุ่งเน้นกิจกรรมและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น หลัง COVID-19 เมืองอัมสเตอร์ดัมเลือกพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด ‘Doughnut Model’ ตอบสนองความจำเป็นและคุณภาพชีวิตภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ก่อนนึกถึงผลกำไรทางธุรกิจ
3 แนวทางขับเคลื่อน ‘The Great Reset’
1. ปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เอื้อต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยอาศัยมาตรการภาครัฐ เช่น ภาษี ข้อบังคับ
2. ส่งเสริมการลงทุนกับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. ใช้นวัตกรรมสร้างรูปแบบการตลาดที่เอื้อต่อสาธารณประโยชน์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน