Tourism Set Zero ท่องเที่ยวหลัง COVID-19 สร้างใหม่ให้ยั่งยืน?
The last century witnessed exponential economic growth coupled with severe environmental decline due to unsustainable human production and consumption practices. With the COVID-19 crisis disrupting current economic patterns and bringing the number of international travel close to zero, some experts are calling for a ‘great change’ from the current economic order to a system that is fairer and more in tune with nature. Whether we will survive the current crisis or not, the choice is ours.
โดย ชญานิน วังซ้าย
“เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติจากมุมมองระยะสั้นสู่มุมมองระยะยาว จากระบบทุนนิยมที่หุ้นส่วนเป็นใหญ่ ไปสู่ทุนนิยมที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด มีความสำคัญ การตรวจสอบธุรกิจและรัฐบาลทั้งหลายต้องคำนึงถึงปัจจัย ด้านธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม”
เคลาส์ ชวาบ
ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก
The Great Acceleration เศรษฐกิจปัง สิ่งแวดล้อมพัง
อาจเป็นเพราะเราฉลาดมากเกินไป หรือเพราะความขยันล้วนๆ แต่ในศตวรรษ ที่ผ่านมา เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาส่งผล ให้เศรษฐกิจและผลิตภาพของมนุษย์เติบโตแบบเท่าทวีคูณอย่างที่ไม่เคย เป็นมาก่อน ผลผลิตรวมของโลกเพิ่มขึ้น 20 เท่า เฉพาะในรอบ 50 ปี ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวถึง 4 เท่า ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของ ประชากรโลกดีขึ้นตามลำดับ จำนวนประชากรโลกเติบโตจาก 2.5 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 1950 จนเกือบ 8 พันล้านคนในปัจจุบัน คนรุ่นปัจจุบันมีอายุ เฉลี่ยสูงกว่าคนรุ่นปู่ย่าตายายประมาณ 25 ปี จำนวนคนจนที่มีรายได้ ต่ำกว่า 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวันลดลงครึ่งหนึ่ง และจำนวนประชากร ที่นับเป็นชนชั้นกลางโลกเพิ่มขึ้น 700 ล้านคน
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลิตภาพและความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (ซึ่งบางคนมองว่าเกินความจำเป็นต่อ การใช้สอยของมนุษย์) ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างรุนแรง
- การตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายระบบนิเวศของสัตว์ป่าส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีสัตว์ ประมาณ 1 ล้านสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในปัจจุบัน
- สภาพที่ดินของโลกร้อยละ 75 และทะเลร้อยละ 66 ถูกเปลี่ยนแปลง ผ่านการกระทำของมนุษย์ โดยปัญหาที่รุนแรงที่สุดคือสารไนโตรเจน และฟอสฟอรัส (ปุ๋ยเคมี ผงซักฟอก) ที่ละลายลงในดินและน้ำ
- การปล่อยคาร์บอนของมนุษย์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหากมนุษย์ไม่สามารถลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยลง นักวิทยาศาสตร์ คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 2.6 ถึง 3.9 องศาเซลเซียส
มนุษย์จอมขยันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมมากเสียจนนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มได้เริ่มเรียกยุคสมัยปัจจุบันว่า ‘Anthropocene’ หรือยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้ แม้ว่าจะมีสัญญาณเตือนหลายอย่างว่าความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางธรรมชาติทั้งหมดนี้ จะส่งผลเสียต่อชาวมนุษย์เองในท้ายที่สุด และสาเหตุหลักของการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือระบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืนของมนุษย์ แต่ดูเหมือนว่าผู้นำโลก ผู้นำระดับประเทศแทบทุกประเทศ รวมทั้งผู้นำภาคธุรกิจ ล้วนแต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าการรักษาสมดุลทางสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่ายุค Anthropocene จะดำเนินต่อไปจนถึงที่สุด จนกระทั่ง…
2020 โลกพบ COVID-19
การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในอดีตเคยสันนิษฐานไว้ว่าการทำลาย ระบบนิเวศจะส่งผลให้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ รุนแรงขึ้น โดยการตัดไม้ทำลายป่าและการรุกรานที่อยู่อาศัยเดิมของสัตว์ป่ามีส่วน เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา โรคไลม์ และโรคมาลาเรีย ในแอฟริกาและอเมริกาใต้
แต่ถึงจะได้รับการเตือนมาแล้ว ในที่สุดมนุษย์ก็ได้พบกับไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุเบื้องต้นมาจากการบริโภคสัตว์ป่า เช่นเดียวกับโรคซาร์ส วิกฤตในครั้งนี้นอกจากทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อและ ผู้เสียชีวิตทั่วโลกนับล้านคน ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก หยุดชะงักลงอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศที่ต้อง หยุดลงในทันที มาตรการล็อกดาวน์และการปิดพรมแดนในหลายประเทศ ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทาง ระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมในปีนี้ลดลงแทบเป็นศูนย์
ผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รุนแรงและรวดเร็ว IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะลด 3% ในปี 2020 โดยเป็นการปรับลดการคาดการณ์จากก่อนหน้านี้ถึง 6.3 จุด
สำหรับภาคการท่องเที่ยว UNWTO คาดการณ์ว่ารายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะลดลงจากปีที่ผ่านมา 80% หรือ 1.2 ล้านล้านเหรียญ มีอาชีพ
ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่คาดว่าจะตกงาน 120 ล้านตำแหน่ง กล่าวได้ว่าวิกฤต COVID-19 เป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก
ได้เผชิญนับตั้งแต่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นมา
ภายหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลแทบทุกแห่งทั่วโลกได้ออกมาตรการเพื่อพยุงและกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศของตน โดยมาตรการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจแบบเดิม แม้ว่าการ ‘เร่งเครื่อง’ ทางเศรษฐกิจอาจกลายเป็นการเร่งทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากเป็นการผลิตในรูปแบบเดิมที่มุ่งแต่ใช้ทรัพยากรแบบไม่ทดแทน แต่ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงเป็นประเด็นสุดท้ายที่ใครจะคำนึงถึง
ใช่หรือไม่?
The Great Reset
สู่การปรับครั้งใหญ่ สร้างใหม่ให้ยั่งยืน
เคลาส์ ชวาบ นักเศรษฐศาสตร์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) ได้ออกมากล่าวว่า การกลับไปเดินตามแนวทางเศรษฐกิจในรูปแบบเดิม หรือ Business as usual เป็นคำตอบที่ผิด! เนื่องจากวิกฤต COVID-19 แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของระบบดังกล่าว ในทางกลับกัน วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนแนวทางการพัฒนาแบบเก่าๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นธรรม
และยั่งยืนกว่าเดิม
ชวาบ กล่าวว่า ในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 เราต้องมีการปรับครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนของสังคมและต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว
การขับเคลื่อน The Great Reset หรือการปรับครั้งใหญ่ มีแนวทางดำเนินการ 3 ข้อหลัก
-
ขับเคลื่อนกลไกการตลาดไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมขึ้นโดยอาศัยมาตรการภาครัฐ เช่น ภาษี ข้อบังคับ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีในการใช้ มาตรการภาครัฐเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้เป็นธรรมและมีความยั่งยืนมากขึ้น
-
ส่งเสริมให้การลงทุนทางธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างผลลัพธ์ที่เป็นธรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
-
ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อสร้างระบบตลาดรูปแบบใหม่ที่เอื้อต่อ สาธารณประโยชน์ รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
หัวใจสำคัญของ The Great Reset คือการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โดยที่ผ่านมา WEF ได้พยายามสร้างโมเดลพัฒนา
เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นจุดเริ่มต้น หรือ New Nature Economy ซึ่งมองว่าธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของโลก และต้องพึ่งพาธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่มีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นเนื่องจากทรัพยากรทาง ธรรมชาติลดลงหรือสูญหายไป หรือการถูก Disrupt จากภัยธรรมชาติ ที่รุนแรงขึ้น ในทางกลับกัน การรักษาสิ่งแวดล้อมก็คือการรักษา ความต่อเนื่องทางธุรกิจ และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล โดย WEF ได้จัดตั้งแพลตฟอร์ม Nature Action Agenda ซึ่งมีสมาชิก จากหลากหลายภาคส่วนเพื่อผลักดันวาระดังกล่าวในเวทีโลก
สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดภาคหนึ่งจากวิกฤตในครั้งนี้ การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่หยุดชะงักจากเหตุการณ์ COVID-19 ทำให้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มทบทวนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของตน ‘จำนวน’ ของ นักท่องเที่ยวกลายเป็นเป้าหมายที่ถูกละวางไปชั่วคราว หรือสำหรับ แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งอาจเป็นการถาวร เมืองบาร์เซโลนาประกาศปรับ เป้าหมายการท่องเที่ยวสำหรับปีนี้ไปสู่การเพิ่ม ‘คุณภาพ’ แทนจำนวน (Quality over quantity) โดยมุ่งเน้นกิจกรรมและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง
สำหรับเมืองอัมสเตอร์ดัม จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนความสำคัญของภาคการท่องเที่ยว
ต่อเศรษฐกิจของเมืองโดยรวม ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตของการท่องเที่ยวได้สร้างปัญหาให้กับชาวอัมสเตอร์ดัมมากขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังวิกฤต COVID-19 ทางเมืองอัมสเตอร์ดัมเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของเมืองตามแนวคิด ‘Doughnut Model’ ที่มุ่งตอบสนองความจำเป็นและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ก่อนที่จะคิดถึงผลกำไรทางธุรกิจ วิกฤตในครั้งนี้จึงถือเป็นการหยุดพักเพื่อทบทวนแนวทางที่จะไปต่อของเมืองอัมสเตอร์ดัมอย่างแท้จริง
#ให้มันจบที่…ตัวเรา
การปรับครั้งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก แต่สิ่งที่สำคัญ ไม่แพ้กันคือบทบาทของเราเองในฐานะผู้บริโภคซึ่งมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นชานมหนึ่งแก้ว หรือการเดินทาง ด้วยเครื่องบินหนึ่งครั้ง สิ่งที่เราทำส่งผลต่อธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเสมอ ดังนั้นการบริโภคอย่างมีสติและเท่าที่จำเป็น การเลือกการบริโภคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการผลักดันให้ภาคธุรกิจหันมาปรับวิธีดำเนินการผลิตให้ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงเป็นสิ่งที่เราทำได้ในฐานะปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง
สุดท้าย การปรับตัวจำเป็นขนาดไหน เรามาทวนเนื้อความจากหนังสือ The Origin of Species ของนักธรรมชาติวิทยา ชาลส์ ดาร์วิน ที่กล่าว ไว้ในทำนองนี้ :
“ในกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติ ไม่ใช่สายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด หรือแข็งแกร่งที่สุดที่อยู่รอด แต่เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีที่สุด ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ตนอยู่อาศัย”
มนุษย์จะรอดหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับตัวเรา
ที่มา:
- Nature Risk Rising: Why the Crisis Engulfing Nature Matters for Business and the Economy. World Economic Forum. January 2020
- New Nature Economy Report II The Future of Nature and Business. World Economic Forum. 2020
- Now is the time for a ‘Great Reset’. Klaus Schwab. World Economic Forum. 3 June 2020
- COVID-19 and nature are linked. So should be the recovery. Marie Quinney. World Economic Forum. 14 August 2020
- The World’s most popular tourist cities may have to rethink their entire model. Rina Chandran. World Economic Forum. 25 August 2020