Travel Back in Time การจาริกแสวงบุญ ในดินแดนแห่งนักเขียน

 

“ยามออกเดินทาง-ไม่ว่าจะไปแห่งใด, สิ่งหนึ่งที่ผมมักทำเสมอ คือการค้นหาว่า ณ จุดหมายปลายทางนั้น ๆ เคยมีนักเขียนที่ผมชื่นชอบในผลงานมาใช้จ่ายบางช่วงเวลาของชีวิตอยู่ในบางส่วนเสี้ยวของเมืองบ้างหรือเปล่า”

ข้อความนี้เป็นข้อความเกริ่นนำเรื่องของคุณโตมร ศุขปรีชา ที่เล่าถึงการเดินทางตามรอยนักเขียนผู้มีชื่อเสียงตามประเทศต่าง ๆ หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่เหล่านักเขียนใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือที่โด่งดัง

วันนี้ TAT Review Magazine ขอชวนคุณร่วมเดินทางไปกับคุณโตมร ศุขปรีชา ไปยังสถานที่ที่เหล่านักเขียนเคยใช้ชีวิต สัมผัสกับบรรยากาศจริง ๆ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานอันงดงามขึ้นมา และกลายเป็นแรงบันดาลใจของหลาย ๆ คนกันเลยทีเดียว

#TATReviewMagazine

 


 

บรุกลิน ดินแดนแห่งนักเขียนชาวอเมริกัน

 

บรุกลินคือย่านหนึ่งของนิวยอร์ก ที่เคยเป็นแถบถิ่นราคาถูก นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเขียนแห่แหนกันมาอยู่ในบรุกลินเป็นจำนวนมาก

ถนนของบรุกลินไม่ใหญ่นัก รายเรียงไปด้วยอาคารสีน้ำตาลที่ทำจากหินบราวน์สโตน อาคารเหล่านี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของบรุกลิน

ผมเริ่มต้นวันด้วยกาแฟจากร้านใกล้ๆ Borough Hall แล้วเดินไปตาม ถนน Remsen เพื่อไปหยุดอยู่ที่บ้านหลังแรก

บ้านเลขที่ 91 บนถนน Remsen นั่นคือบ้านของ เฮนรี มิลเลอร์ (Henry Miller)

แม้เฮนรี มิลเลอร์ จะเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ แต่ในตอนที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ในปี 1924 เขาแสดงความกังวลเรื่องเงินออกมาอย่างโจ่งแจ้ง แม้ว่าค่าเช่าในบรุกลินจะไม่แพงเหมือนแมนฮัตตัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่า นักเขียนในอเมริกายุคนั้นอาจไม่ได้มีสุขภาวะทางการเงินดีนัก

จากบ้านของเฮนรี มิลเลอร์ ผมเดินย้อนกลับ ก่อนมาถึงถนนคลินตัน บ้านเลขที่ 169 ของ H.P. Lovecraft 

บ้านที่ทำให้ผมขนลุก เพราะเขาคือนักเขียนที่สร้าง ‘จักรวาล’ แห่งความเขย่าขวัญขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันถูกนำมาดัดแปลงใช้ในเกมมากมาย เช่น บอร์ดเกมโปรดของผมอย่าง Mansion of Madness

ต่อมาคือบ้านของ W.H. Auden กวีที่ผมรักที่สุดคนหนึ่ง บ้านของเขาอยู่บนถนน Montague Terrace ถนนที่ตัดเลาะเลียบริมฝั่งสูงชัน เมื่อมองออกไป เราจะเห็นแมนฮัตตันทั้งเกาะ 

เมื่อนั่งอยู่ตรงนั้น ผมนึกถึงบทกวีบทยาวที่ชื่อ New Year Letter มันเป็นบทกวีแสนสวยที่พริ้งพรายไปด้วยถ้อยคำ เมื่อนั่งอยู่ที่นั่น ผมไม่สงสัยเลยว่าเพราะอะไรกวีจึงสามารถสร้างสรรค์งานอันงดงามได้ถึงเพียงนั้น

แต่นักเขียนที่น่าจะโด่งดังที่สุด ร่ำรวยที่สุด และมีอิทธิพลต่อวงการนักเขียนอเมริกันที่สุด และเคยอยู่ที่บรุกลินด้วย ก็คือ ทรูแมน คาโพที (Truman Capote) ผู้ที่เคยกล่าวประโยคยิ่งใหญ่อหังการเอาไว้ว่า “I live in Brooklyn. By choice.” หรือ “ผมอาศัยอยู่ในบรุกลิน ผมเลือกเอง”

คาโพทีเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ชั้นใต้ดิน ตั้งอยู่เลขที่ 70 Willow Street และเป็นที่นี่เอง ที่เขาเขียนนิยายลือลั่นอย่าง Breakfast at Tiffany’s และ In Cold Blood จบ

บรุกลินจึงเป็นคล้ายเมืองหลวงของนักเขียนอเมริกัน ดินแดนที่นักอ่านควรมาจาริกแสวงบุญ

 


 

ดับลิน เมืองแห่งหมุดหมายทางวรรณกรรม

 

อีกเมืองหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นหมุดหมายทางวรรณกรรมสำหรับนักอ่าน ก็คือ ดับลิน

สำหรับนักอ่าน ดับลินคือเมืองที่เต็มไปด้วย ‘ยักษ์’ ทางวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็น เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) ผู้เขียน Ulysses อันลือลั่น หรือ ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เจ้าของงานเขียนที่มีทั้งเจ็บแสบในฝีปากและเจ็บร้าวในความจริงที่เขานำเสนอ ยังไม่นับกวียิ่งใหญ่อย่าง วิลเลียม บัตเลอร์ ยีตส์ (William Butler Yeats) หรือนักเขียนอีกคนหนึ่งที่ฝีปากจัดจ้านไม่แพ้ออสการ์ ไวลด์ คือ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw)

ดับลินมีพิพิธภัณฑ์นักเขียน และมีห้องสมุดใน Trinity College ที่เก็บรักษาหนังสือเก่าแก่ เมื่อเดินอยู่ในนั้น เราจะได้พบกับความโอ่อ่าหรูหราของงานเขียน พร้อมยลโฉมรูปปั้นของนักคิดนักเขียนที่ทรงอิทธิพลต่อโลกตะวันตกรายเรียงอยู่ตามทางเดิน

ในตัวเมืองเองก็มีรูปปั้นของนักเขียนต่าง ๆ เกลื่อนกระจาย ไม่นับรวม ร้านอาหาร ผับ ร้านขายไอศกรีม สวนสาธารณะ หรือกระทั่งร้านขายยา ที่เคยปรากฏอยู่ในนิยายเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ ‘รุ่มรวย’ ไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งการเขียนชนิดที่ฝังลึกอยู่ในเนื้อเมืองเลย

 



ปารีสที่มีมากกว่างานศิลปะ

 

 

อีกเมืองหนึ่งที่หากไปเยือนแล้วไม่ควรพลาด การเดินย้อนกลับเข้าไปในดินแดนมหัศจรรย์แห่งการเขียน ก็คือมหานครปารีส

ปารีสไม่ได้มีแต่แบรนด์เนม ไม่ได้มีเพียงหอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ โบสถ์นอเทรอดาม และงานศิลปะ แต่ทุกหนแห่งของปารีสคือหมุดหมายทางวรรณกรรม เกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein), เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway), เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald), ที. เอส. เอลเลียต (T. S. Eliot) เป็นเพียงชื่อส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ฝังอยู่ในเนื้อเมืองและคาเฟ่แห่งปารีส

ยังมีนักเขียนอื่นอีกมากที่เกี่ยวข้องกับปารีส ไม่ว่าจะเป็น อัลแบร์ต กามูส์ (Albert Camus), แบร์โทลต์ เบร็ชต์ (Bertolt Brecht) หรือกระทั่ง เจมส์ จอยซ์ และ ออสการ์ ไวลด์ ไม่นับรวม ฌอง ปอล ซาร์ตร์ และ ซีโมน เดอ โบวัวร์ แม้แต่ เฮนรี มิลเลอร์, อนาอิส นิน และวิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ส (William S. Burroughs) ก็เคยใช้ปารีสเป็นดินแดนผลิตงานเขียนด้วยเช่นกัน รวมไปถึงกลุ่มกวีบีตอย่าง อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) ด้วย

ปารีสจึงมีร้านหนังสืออย่าง Shakespeare and Co. และมีสุสานที่บรรจุร่างของนักเขียน คีตกวี และคนสำคัญ ๆ ในทางศิลปะของโลกเอาไว้นับสิบนับร้อย ร่างของ ออสการ์ ไวลด์ ถูกฝังอยู่ที่ปารีส เช่นเดียวกับ ร่างของโชแปง และคนอื่น ๆ ในสุสานชื่อ Pere Lachaise

Share This Story !

2 min read,Views: 535,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 25, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 25, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 25, 2024