DE AMAZON RAINFOREST มหันตภัยมนุษยทำ

โดย บัณฑิต เอนกพูนสินสุข

Every minute, the Amazon rainforest is destroyed, which is equivalent to 3 football fields. On a large scale, over the past 10 years, we have already lost the Amazon forest area, equalling 8.4 million football fields (Smithsonian Magazine 2020), or approximately 62,160 square kilometres in comparison withthe size of the Republic of Latvia, which is ranked 118th among the world’s largest countries (Nation Master 2020). What are the real causes of the Amazon Rainforest’s disaster? And what are these things implying to humans?

 

1. Welcome to the Lungs of the World

จำกันได้ไหมเมื่อปีก่อน ข่าวไฟไหม้ป่าฝนแอมะซอนรุนแรงจนสามารถมองเห็นกลุ่มควันได้จากภาพถ่ายดาวเทียมนอกโลก เหตุการณ์ในครั้งนั้นกำลังจะบอกนัยสำคัญอะไรกับเรา? เกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้? ‘แอมะซอน’ ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ประมาณ 6.7 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่พอๆ กับประเทศอินเดีย 2 ประเทศมารวมกัน (WWF 2019) ผืนป่าแห่งนี้มีพื้นที่คิดเป็นอัตราส่วนราวๆ 4.5% ของพื้นผิวโลกทั้งหมด มีความสำคัญและได้รับการขนานนามว่าเป็นปอดของโลก มีหน้าที่สำคัญช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราวๆ 2 พันล้านตันต่อปี และยังช่วยผลิตออกซิเจนกลับสู่โลกกว่า 20% นอกจากจะมีจำนวนต้นไม้ที่มากมายแล้ว ป่าฝนแอมะซอนยังเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิตในโลก 1 ใน 4 สายพันธุ์ สามารถพบเห็นได้ ณ ผืนป่าแห่งนี้ (พืช 40,000 ชนิด สายพันธุ์ปลาน้ำจืด 3,000 ชนิด สายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลาน 370 ชนิด) (WWF 2020)

เราเชื่อกันว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่ หรือ โฮโมเซเปียนส์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 200,000 ปีก่อน แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าเปรียบเทียบความเก่าแก่กับผืนป่าแอมะซอนแล้วนั้น มนุษย์เกิดหลังผืนป่าแห่งนี้ราวๆ 9,800,000 ปีเลยทีเดียวมนุษย์เราเริ่มเข้าไปอาศัยและใช้ประโยชน์จากแอมะซอนช่วงแรกประมาณ 13,000 ปีก่อน และด้วยความฉลาดและเห็นแก่ตัวกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ หลังจากนั้นไม่นาน ผืนป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ ก็เริ่มได้รับผลกระทบต่างๆ นานา มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้นมา


2. Amazononomic Areas

ผืนป่าฝนแอมะซอนมีพื้นที่แผ่กระจายอยู่ใน 9 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล เปรู โคลอมเบีย โบลิเวีย เอกวาดอร์ เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และ เฟรนช์เกียนา โดยพื้นที่มากกว่าครึ่ง (60%) ตั้งอยู่ในประเทศบราซิล (NBC News 2019) ซึ่งทั้ง 9 ประเทศได้ใช้ประโยชน์จากผืนป่าแห่งนี้ ทั้งด้านการเกษตร/อาหาร อุตสาหกรรมการบริการ/การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมทรัพยากร จากผลการศึกษาที่เผยแพร่ในจุลสารวิชาการวิทยาศาสตร์ของ Nature Research พบว่า ถ้ามนุษย์หยุดทำลายป่าแอมะซอนในตอนนี้ ผืนป่าทั้งหมดจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีกว่า 8,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปี (Al Jazeera 2019) เลยทีเดียว


3. Tourism in Amazon

การท่องเที่ยวในผืนป่าฝนแอมะซอนมีมานานมากกว่า 50 ปี โดยเริ่มมีบทบาทสำคัญและเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญของการเติบโต คือเทรนด์ความสนใจ ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตย้อนกลับไป ปี ค.ศ. 1997 ช่วงเวลานั้นมีภาพยนตร์ดังอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำ ให้คนไทยและชาวต่างชาติหลายคนเริ่มรู้จัก สนใจ และอยากที่จะเดินทางไปเยือนป่าแอมะซอนสักครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ อนาคอนดากระแสภาพยนตร์เรื่องนี้ในตอนนั้น ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้การท่องเที่ยวป่าแอมะซอนได้รับความสนใจ จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกการเดินทางท่องเที่ยวป่าแอมะซอนนั้นสามารถเดินทางเข้าถึงได้จากทั้ง 9 ประเทศ โดยส่วนมากนักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางไปเที่ยวป่าแอมะซอนในอาณาบริเวณ/อาณาเขต/โซนของประเทศบราซิล ประมาณ 1.1 ล้านคนต่อปี (Amazonastur, Paratur 2010) สถานที่ทางโซนเปรู ประมาณ 225,000 คนต่อปี (Amazon Experience 2017) และผ่านทางเอกวาดอร์ ประมาณ 10,000 คนต่อปี (GringosAbroad 2019)

แม้ว่าการท่องเที่ยวของป่าแอมะซอนจะมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ในทางกลับกัน รายได้ที่ลงสู่ชุมชนกลับลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากผลการศึกษาเรื่องรายได้การท่องเที่ยวของป่าฝนแอมะซอน โดยศาสตราจารย์ Germán Ignacio Ochoa แห่งมหาวิทยาลัย National University of Colombia พบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดเพียง 11% เท่านั้นที่กระจายลงสู่ชุมชนในป่าฝนแอมะซอน สัดส่วนที่เหลืออีก 89% กลับตกไปเป็นของสายการบินและร้านอาหาร/ที่พักที่อยู่ในตัวเมือง


4. #PrayforAmazonia

ถ้าจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาของการเกิดไฟป่าแอมะซอน เราคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในตอนนั้นบราซิลเริ่มตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้และการเผาป่าเพื่อเคลียร์พื้นที่ในการทำการเกษตร และเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเริ่มใช้กฎหมายลงโทษรุนแรง เพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าภายในแอมะซอน การแก้ปัญหาในครั้งนั้น ได้ผลเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นานจำนวนการตัดไม้ทำลายป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด

มาถึงช่วงปี ค.ศ. 2013 บราซิลเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้ รัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือประชาชนทำมาหากิน และหนึ่งในการแก้ปัญหา ของรัฐบาล ณ ตอนนั้น คือการสนับสนุนและอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ในพื้นที่ป่าแอมะซอน การช่วยเหลือของรัฐบาลในตอนนั้นส่งผลให้กฎหมายการตัดไม้ถูกผ่อนปรนลง ที่ดินในผืนป่าจำนวนมากถูกเปลี่ยนเป็นไร่นาและฟาร์มปศุสัตว์ทั้งถูกและผิดกฎหมาย ท่ามกลางการฟื้นฟูและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศบราซิล ผืนป่าแอมะซอน ถูกทำลายและใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องมากขึ้นทุกๆ วัน

จนกระทั่งเข้าสู่ปี ค.ศ. 2019 ภายหลังการผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ยุคผู้นำขวาจัดคนแรกของประเทศในรอบ 3 ทศวรรษ (ประธานาธิบดีโบลโซนาโร) การสูญเสียพื้นที่ป่าแอมะซอนก็มีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดอย่างน่าใจหาย มีจำนวนครั้งของการเกิดไฟไหม้ที่สูงกว่าปีก่อนมากกว่า 83% (ประมาณ 195,000 ครั้งใน 1 ปี) (Business Insider 2019)

สำนักข่าวและนักวิชาการทั่วโลกวิเคราะห์ถึงต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าแอมะซอนมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ ว่าเกิดจากนโยบายการส่งเสริมการขยายพื้นที่ทำการเกษตรของรัฐบาลภายใต้การกำกับของประธานาธิบดี โบลโซนาโร ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศมากกว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน (โดยเฉพาะนายทุนใหญ่) ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าแอมะซอน ในทางตรงกันข้าม กลับลดการให้ความสำคัญในบทลงโทษของการตัดไม้เถื่อนและรุกล้ำพื้นที่ป่าอย่างผิดกฎหมาย เห็นได้จากการเปรียบเทียบจำนวนไม้ผิดกฎหมาย ที่ถูกยึดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 25,000 ลูกบาศก์เมตรในปี ค.ศ. 2018 (รัฐบาลชุดอดีตประธานาธิบดีมิเชล เทเมอร์) เหลือเพียง 40 ลูกบาศก์เมตร ในปี ค.ศ. 2019

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ไฟป่าแอมะซอนจะคลี่คลายและสามารถควบคุมได้แล้ว แต่หากสรุปค่าเฉลี่ยของเหตุการณ์ จะพบว่า ทุกๆ 1 นาที ป่าแอมะซอนถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างเท่ากับสนามฟุตบอล 3 สนาม หรือถ้ามองเป็นภาพกว้าง ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราสูญเสียพื้นที่ป่าแอมะซอนไปเป็นที่เรียบร้อยจำนวนเท่ากับ 8.4 ล้านสนามฟุตบอล (Smithsonian Magazine 2020) หรือประมาณ 62,160 ตารางกิโลเมตร (ขนาดเทียบเท่ากับสาธารณรัฐลัตเวียทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 118 ของโลก) (National Master 2020)


5. Amazon / โลกร้อน / Australia

ไฟไหม้ป่าแอมะซอน ไฟไหม้ป่าในออสเตรเลียครั้งใหญ่ และภาวะโลกร้อน 3 สิ่งนี้แท้ที่จริงแล้วมีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเชื่อมโยงกันทั้งหมด

แม้ว่าการเกิดขึ้นของไฟป่าที่ออสเตรเลียจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เริ่มต้นจากภาวะสภาพอากาศร้อนและความชื้นในอากาศต่ำที่ก่อให้เกิดไฟป่าลุกลามจนยากที่จะควบคุม ในขณะที่ไฟป่าในแอมะซอนเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เริ่มจากการเผาเพื่อเตรียมที่ดินสำหรับการเพาะปลูก แล้วเกิดไฟป่าลุกลามและควบคุมได้ยากเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งในฤดูแล้ง แต่ถ้าเราย้อนกลับมาทบทวนถึงต้นตอสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ทั้ง 2 มีความรุนแรงมากขึ้น ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุของสิ่งเลวร้ายและความวิปริตเหล่านี้

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวนผิดเพี้ยน ฤดูแล้ง/ฤดูร้อนมีอุณหภูมิความร้อนสูงขึ้น ความแห้งในอากาศเพิ่มสูงขึ้น และมีระยะเวลาของฤดูกาลที่ยาวนานมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าและการเผาไหม้ที่ลุกลามในออสเตรเลียและแอมะซอนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี

ผลกระทบจากพฤติกรรมการก่อก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวันของมนุษย์ บวกกับการตัดต้นไม้เพื่อเร่งทำลายเกราะป้องกันของโลก สองสิ่งนี้เป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นภาวะโลกร้อนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผล ให้เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าเกิดมากขึ้น และ ณ ตอนนี้เอง นักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายสำนักก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่า หากมนุษย์ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยังคงสร้างก๊าซเรือนกระจก ตัดต้นไม้ เผาป่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ป่าแอมะซอนคงจะถึงจุดแตกหัก (Tipping point) เมื่อถึงวันนั้นระบบวัฏจักรของน้ำและของป่าจะถูกทำลาย จากเดิมเราเคยมีป่าฝนผืนใหญ่ที่มีต้นไม้คอยดูดซับน้ำจากพื้นดิน รวบรวมปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก และผันเปลี่ยนให้กลายมาเป็นฝน หากแอมะซอนถึงจุดจุดนั้น ฝนและความชื้นของทวีปอเมริกาทั้งทวีปจะวิบัติอย่างแน่นอน


6. Back to Us

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หากยังคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแอมะซอนนั้นห่างไกลจากชาวไทย บอกได้เลยว่าคิดผิด สถานการณ์ฝุ่นควันปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดบางส่วนในภาคเหนือ แม้จะเกิดขึ้นจาก การก่อสร้างและกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แต่ในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่ประชาชนประกอบอาชีพเพาะปลูกพืชไร่ อาทิ กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี และกำแพงเพชร กลับประสบกับปัญหาคุณภาพอากาศย่ำแย่เช่นกัน จากผลการศึกษาโดย Asian Institute of Technology (2017) พบว่าแหล่งที่มา ของฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยอันดับหนึ่งมาจากการเผาชีวมวลในภาคการเกษตร

 

ภาพ A และ B จากมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2020
ภาพ C จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 2017

 

อ้อยและข้าวโพด พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยที่มีเกษตรกรจำนวนมากปลูก (GISDA 2020) จากผลสำรวจพฤติกรรมเกษตรกรปลูกอ้อยและข้าวโพดพบว่า มากกว่า 60% ของเกษตรกรเลือกที่จะใช้วิธีการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตและเคลียร์หน้าดิน เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า หากเรานำแผนที่เพาะปลูกไร่อ้อย แผนที่เพาะปลูกข้าวโพด และแผนที่คุณภาพอากาศออกมากางซ้อนทับพร้อมๆ กัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ทั้ง 3 มีอาณาบริเวณที่ทับซ้อนกัน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ปัญหาสภาพอากาศ ย่ำแย่ในประเทศไทยเกิดจากการเผาชีวมวล (โดยเฉพาะอ้อยและข้าวโพด) ของเกษตรกรในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ

ในขณะเดียวกันปริมาณฝุ่นและควันที่เกิดจากการเผาชีวมวลที่เพิ่มมากขึ้น ก็มีความสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนไร่อ้อยในประเทศไทยอีกด้วย (8,456,000 ไร่ ในปี 2557 เป็น 11,469,000 ไร่ ในปี 2562) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายส่งเสริมด้านการเกษตรของภาครัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ นโยบายที่มุ่งเน้นและให้เกษตรกรเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกอ้อยแทน และมีการให้เงินสนับสนุนไร่ละ 2,000-3,000 บาท หรือแม้แต่เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย (BIOTHAI 2020)

เห็นชัดว่ากรณีของไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกับกรณีของป่าแอมะซอนในมุมของการส่งเสริมด้านการเกษตรของรัฐบาลที่ขาดการพิจารณาถึงผลกระทบที่ครอบคลุมทั้งระบบ แต่อย่างไรก็ดี หากมองภาพใหญ่ เหตุการณ์ไฟไหม้ลุกลาม ปัญหาหมอกควัน ภาวะโลกร้อน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ มันกำลังส่งสัญญาณเตือนที่สำคัญให้มนุษย์ได้รู้ว่า

“มันถึงเวลาจริงๆ แล้วที่มนุษย์จะต้องหักดิบ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทันที และไม่สามารถรีรอได้อีกแล้ว เพราะทุกอย่างใกล้จะถึงจุดจบเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้”

 

Share This Story !

3 min read,Views: 889,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024