RT Phone Home ถึงเวลาท่องเที่ยว อย่างใส่ใจ

Climate change has had an effect on the travel decision-making of tourists. Actually, tourists themselves are part of the causes of climate change and natural disasters. Responsible tourism or RT is a pattern of tourism that plays an important role in raising tourists’ awareness of the protection of tourism attractions and beautiful natural resources. It is time for us to travel with responsibility for saving nature and building sustainable tourism.

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างมาก แต่ทว่าหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน 

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดความน่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยว หากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อาจมีผลต่อการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนหรือไฟป่า ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวอาจตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวหรือยกเลิกการเดินทาง ก็เป็นได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการท่องเที่ยวจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเพียงอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน

รูปแบบการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตค่อนข้างมาก มีความหลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงจริยธรรม การท่องเที่ยวสีเขียว เป็นต้น ซึ่งในขณะที่สภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงคุณค่าของสังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น นั่นก็คือ การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism – RΤ) เป็นแนวทางการท่องเที่ยวที่ทำให้สถานที่นั้นๆ มีความน่าอยู่ทั้งต่อเจ้าของบ้านและผู้มาเยือน โดยเป็นการท่องเที่ยวในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไปไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าหากนักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางโดยไม่ได้คำนึงถึงความรับผิดชอบ ก็จะสร้างผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือน 

ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่นหรือสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทรัพยากรธรรมชาติมากมายถูกทำลาย อีกทั้งยังอาจก่อมลพิษทางอากาศ การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาวะโลกร้อนให้ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ จากการรวบรวมติดตามข้อมูลจึงอยากนำเสนอสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ ดังนี้

จากรายงานฉบับพิเศษของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC)

ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1970 มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนส่วนเกินที่มาจากภาวะ โลกร้อนไว้กว่าร้อยละ 90 จึงทำให้พื้นผิวของโลกไม่ถูกทำลายเพราะความร้อนส่วนเกิน แต่ก็จะทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน อุณหภูมิโลกที่กำลังร้อนขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลเกี่ยวเนื่องทำให้อุณหภูมิยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้น้ำทะเลมีความเค็มลดลง และมีความเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล โดยเฉพาะปะการังจะเกิดภาวะฟอกขาว (Coral Bleaching) นอกจากนี้ยังทำให้เกิด ‘พายุระดับรุนแรงมาก’ มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของเหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม หรือแม้แต่ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด คือ แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาเดนมาร์ก (Danish Meteorological Institute – DMI) ระบุว่า กรีนแลนด์ได้เผชิญกับอุณหภูมิที่สูงที่สุดของช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็ง ละลายไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็วมากถึง 11,000 ล้านตันภายในวันเดียว โดยปกติแล้วน้ำแข็งที่กรีนแลนด์จะละลายตามฤดูกาลช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่ในปี 2019 น้ำแข็งมีการละลายมากกว่าปกติ และพบว่าอุณหภูมิของกรีนแลนด์สูงขึ้นจนทำลายสถิติหลายครั้ง ซึ่งภูมิภาคที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระดับน้ำทะเล น้ำแข็งที่ละลายอย่างผิดปกติอาจส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมโลกได้

จากข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO)

ระบุว่า ช่วงเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2015−2019 เป็นช่วงเวลาที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติ โดยพบว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี 1850 แต่ในช่วงระหว่างปี 2011−2015 เพิ่มขึ้น 0.2 องศาเซลเซียส และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อน อีกทั้งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1993 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.2 มิลลิเมตรต่อปี แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2014–2019 เพิ่มขึ้น 5 มิลลิเมตรต่อปี

นอกจากนี้ รายงานล่าสุดโดยทีมนักวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศจาก Crowther Lab มหาวิทยาลัย ΕΤΗ Zurich ชี้ว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 จะเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะคลื่นความร้อนรุนแรงอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 5 ปี และจากการประมาณการระดับน้ำทะเลคาดว่าอาจสูงกว่าปัจจุบัน 100 เท่าหลังจากปี 2100 ซึ่งจากรายงานของ IPCC เมื่อปีที่แล้ว ที่ประชุมได้มีมติที่จะพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ราวร้อยละ 45 ภายในปี 2030 และตั้งเป้าให้เป็น Net Zero ภายในปี 2050 ทั้งนี้ทำให้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ไม่ได้จำกัดเฉพาะแวดวงวิทยาศาสตร์หรือเชิงวิชาการอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคนทุกระดับชั้นรวมถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีบุคคลต่างๆ เริ่มออกมามีบทบาทและแสดงความคิดเห็น ในการผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เป็นวาระสำคัญระดับโลกที่คนทั่วทุกมุมโลกควรรับรู้ ตระหนักรู้ และร่วมกันแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ปี ที่ต้องการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้นำโลกและนานาชาติ ที่เพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทุกคนจะต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในขณะที่ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ซิงเงอร์ จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งนิตยสาร The New Yorker ยกให้เป็นนักปรัชญาที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ทรงอิทธิพลที่สุด กล่าวว่าเป็นความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่ต้องลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง หากไม่ทำอะไรเลยก็จะทำให้คนที่มีชีวิตอยู่รวมถึงคนรุ่นต่อไปตกอยู่ในอันตราย แม้ว่าการกระทำจะส่งผลเพียงเล็กน้อยในกระบวนการ

ถึงแม้ว่าความพยายามในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนเพียงไม่กี่คนอาจไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้ความสำคัญของปัญหาที่จะส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อคนส่วนรวม อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่าวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง

และทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้จะต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวในการตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถให้ความร่วมมือได้ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบและพฤติกรรมให้เป็นผู้เยี่ยมเยือนที่ดี มีจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ คำนึงถึงการเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับแหล่งท่องเที่ยวและสภาพแวดล้อมที่ไปเยือน ซึ่งไม่ได้มีแค่ทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่รวมไปถึงประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม เคารพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อลดการเกิดสภาวะโลกร้อนและการทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้มีบทบาทในการพัฒนา โดยสิ่งสำคัญ ที่สุดคือจะต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ร่วมมือกันแก้ไขและรณรงค์ให้เกิดการตระหนักถึงการรักษาสภาพแวดล้อมบนพื้นฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 


อ้างอิง:

  • https://www.spu.ac.th/uploads/contents/2018100281621.pdf
  • https://www.bbc.com/news/newsbeat-48947573
  • https://edition.cnn.com/2019/08/02/world/greenland-ice-sheet-11-billion-intl/index.html
  • https://public.wmo.int/en/media/press-release/global-climate-2015-2019-climate-change-accelerates
  • https://e360.yale.edu/digest/global-warming-causing-profound-changes-to-the-worlds-oceans-scientists-warn

Share This Story !

2.8 min read,Views: 505,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024