Utopia Travel

If the amount of tourists is limited, local people will lose their income. The Palau Pledge was consequently written by Tommy E. Remengesau, President of the Republic of Palau, to be a symbolic contract, showing respect to the environment. The most important point of this pledge is that it will lead to further environmental conservation for the sake of Palauan future generations to grow up and be surrounded by abundant nature. This is the first country in the world that the environmental protection commitment will be stamped on the tourists’ passport.

บทวิเคราะห์จาก UNWTO ระบุว่า ในปี 2018 นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางท่องเที่ยวแตะจำนวน 1.4 พันล้านคน เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 2 ปี ตัวเลขนี้คิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ 10 ของ GDP โลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2030 ปาเลา (Palau) หรือสาธารณรัฐปาเลา เป็นประเทศหมู่เกาะที่แวดล้อมไปด้วยมหาสมุทรในทะเลแปซิฟิก เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ประกอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวนมาก ปาเลาได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกาในปี 1994 และมีประชากรน้อยที่สุดในโลกเพียงราวๆ 22,000 คนเท่านั้น (United Nations, 2019) คิดเป็นเพียง 0.0003% ของประชากรทั่วโลก

ใครๆ ก็รู้จักปาเลาในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม โดยเฉพาะการดำน้ำเนื่องจากปาเลามีแนวปะการังที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การท่องเที่ยวจึงกลายเป็นรายได้หลักของคนในประเทศไปโดยปริยาย
น้ำที่ใสราวกระจกมองลงไปเห็นปะการังชัดแจ๋ว และสิ่งมีชีวิตในทะเลที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ปาเลาเป็นหนึ่งในจุดดำน้ำที่ดีที่สุดในโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาจนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปาเลาประสบปัญหา Overtourism ถาโถมอย่างหนักในปี 2016 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปปาเลาสูงถึง 160,000 คน (เทียบได้กับชาวปาเลา 1 คนต่อนักท่องเที่ยว 8 คน เลยทีเดียว!) สิ่งนี้จึงสร้างความตึงเครียดให้กับสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป รวมถึงชาวปาเลาเองไม่น้อย

เมื่อการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ…

เราคือหนึ่งในคนที่เคยตั้งคำถามว่าหากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่จุดอ่อนที่ยากจะแก้ไขซ่อนอยู่ นั่นคือปัญหา Overtourism ซึ่งส่งผลกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบแทบจะแยกจากกันไม่ขาด แล้วทางออกที่ดีที่สุดอยู่ตรงไหน แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดที่ตายตัว บางประเทศอย่างโครเอเชีย เลือกแก้ไขปัญหาด้วยการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ ขณะที่อัมสเตอร์ดัมออกนโยบาย การใช้ City Card ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ มาช่วยบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวภายในเมือง หรือหมู่เกาะพีพี เลือกที่จะปิดแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้ระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตนเอง แต่ประเทศเล็กๆ อย่างปาเลากลับคิดต่างออกไป

เพราะถ้าหากมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะทำให้ประชาชนขาดรายได้ Palau Pledge หรือ ‘คำมั่นสัญญาปาเลา’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นสัญญาเชิงสัญลักษณ์ในการแสดงความเคารพต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือเพื่อเป็นต้นทุนต่อยอดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานปาเลาได้ เติบโตมาพร้อมกับธรรมชาติที่สมบูรณ์ คำมั่นสัญญาดังกล่าวถูกเขียนขึ้น โดยนาย Tommy E. Remengesau ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปาเลา นี่จึงเป็นคำมั่นสัญญาด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในรูปแบบตราประทับลงในหนังสือเดินทางครั้งแรกของโลก

ปาเลายังดำเนินการในส่วนอื่นควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ เรียกได้ว่าวางไว้แทบทุก touchpoint ตั้งแต่การทำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ข้อมูล การเปิดคลิปสั้นบนเครื่องบิน (Inflight Movie) ที่บินสู่ปาเลา ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์หรือ คำเตือนโทษปรับในแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเห็นแล้วไม่ขัดกับอารมณ์สุนทรีย์ คู่มือการท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงการลงชื่อตราประทับ แทนการใส่พาสเวิร์ดล็อกอินเข้าใช้บริการ WIFI ในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อเป็นการย้ำตือนอ้อมๆ ตลอดการมาเยือน

‘คำมั่นสัญญา’ เพื่อ ‘ปาเลา’


เด็กๆ แห่งปาเลาทั้งหลาย… ในฐานะแขกผู้มาเยือน ฉันขอสัญญาว่าจะดูแลและหวงแหน
บ้านที่สวยงามหลังนี้ของพวกหนูอย่างดีที่สุด ฉันจะเข้ามาท่องเที่ยวด้วยความเคารพ
และประพฤติปฏิบัติกับสิ่งแวดล้อมอย่างใส่ใจ จะไม่แตะต้องสิ่งที่ไม่ควร
จะไม่ทำร้ายสิ่งที่ไม่ทำร้ายฉัน และสิ่งเดียวที่ฉันจะเหลือไว้ที่ปาเลาก่อนจากไป
นั่นคือสิ่งที่สามารถลบเลือนได้ดั่งรอยเท้าบนผืนทราย

ในปี 2017 ปาเลาได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมผ่านโปรเจกต์ ‘Palau Pledge’ โดย Seamus Higgins หัวเรือใหญ่จากเอเจนซี่โฆษณา Havas ลงความเห็นว่าต้องเริ่มจากการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนพฤติกรรมและยังต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าบ้านเอาไว้ อยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ไม่ออกคำสั่งหรือบังคับให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช้กรอบ บังคับด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ การใช้ถ้อยคำในคำมั่นสัญญา จึงเป็นการให้สัญญากับ ‘เด็กๆ’ เพื่อปลดล็อกความรู้สึกต่อต้านบางอย่างในใจที่นักท่องเที่ยวมีแนวคิดนี้ทำให้แคมเปญนี้แตกต่างจากวิธีคิดแบบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง นักท่องเที่ยวจึงเกิดความรู้สึกตื่นเต้นและอยากให้ความร่วมมืออย่างจริงใจ

Palau Pledge ประสบความสำเร็จเพราะได้รับความร่วมมืออย่างดี จาก 3 ภาคส่วนด้วยกัน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ประชาชนชาวปาเลา และนักท่องเที่ยว เมื่อเดินทางถึงประเทศผ่านจุดตรวจหนังสือเดินทาง ตราสัญญานี้จะถูกประทับลงในพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวทุกคนเพื่อให้นักท่องเที่ยวลงนามให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยรักษาธรรมชาติอันสวยงามของปาเลาจึงจะได้รับการอนุญาตเข้าประเทศได้ โดยตราประทับดังกล่าว มีถึง 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน

แคมเปญนี้ทำให้ปาเลากลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองมาช่วยขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อม นาย Tommy E. Remengesau ประธานาธิบดีของปาเลาเผยถึงอีกแง่มุมของคนอยู่อาศัยว่า “หนึ่งในหน้าที่สำคัญในฐานะเจ้าบ้านคือเราต้องแสดงให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าเราเคารพบ้านของเราอย่างไร เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและแสดงถึงความตั้งใจจริงในการเคารพสิ่งแวดล้อม” โดยนาย Tommy ยังเป็นบุคคลแรกที่ลงนามใน Palau Pledge อีกด้วย

เพียงเวลาแค่หนึ่งปี มีคนลงนามมากกว่า 150,000 คน แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก นั่นคงเป็นเพราะความตั้งใจที่จะทำเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ผ่านการคิดโฆษณาแคมเปญซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ที่สำคัญ Palau Pledge ยังเป็นต้นแบบของ Tourist Vow ของหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Icelandic Pledge (ไอซ์แลนด์) Tiaki Promise (นิวซีแลนด์) หรือ Pono Pledge (หมู่เกาะฮาวาย)

Small Country, Big Impact

ทั้งหมดนี้คือความละเมียดละไมของความคิดที่อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ใช้คำสั่งหรือการบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรม แต่ค่อยๆ ขอความร่วมมือให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเดินทางผ่านมาท่องเที่ยวชั่วคราวหรือเป็นพลเมืองปาเลา ทุกคนก็มีโอกาสช่วยคิดช่วยเก็บรักษาธรรมชาติอันสวยงามของปาเลาได้ตลอดไปด้วยเครื่องมือบริหารจัดการสมบัติทางสิ่งแวดล้อมที่ช่วยหล่อหลอมจิตสำนึกให้ทุกคนรักและหวงแหนธรรมชาติที่สวยงาม แม้ว่าปาเลาอาจจะเป็นเพียงแค่ประเทศเล็กๆ ในแผนที่ แต่สิ่งนี้นับเป็นก้าวการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่อิมแพกต์ไปทั่วโลกตามคำขวัญของประเทศว่า

‘Rainbow’s End’

หรือสายรุ้งที่คนเห็นแล้วจะมองอย่างมีความสุข เพราะความสุขที่ส่งผ่านทางรอยยิ้มของคนปาเลาและนักท่องเที่ยว คือสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า GDP หรือรายได้ก้อนโตนั่นเอง

ที่มา:
https://palaupledge.com/
https://www.greenery.org/articles/wastesidestory-palau-pledge/
https://www.cntraveler.com/story/eco-friendly-travel-guide

Share This Story !

3.3 min read,Views: 505,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024