End of Excess สิ้นสุด … ส่วนเกิน (ความจำเป็น)

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อแบรนด์และนักท่องเที่ยวหันกลับมาคิดทบทวนใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับการให้ความหมายผลระยะยาวของการเดินทางและการท่องเที่ยว?

END OF EXCESS

หลอดพลาสติกใช้ครั้งเดียว ใช้แล้วโยนทิ้ง กลายเป็นประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปี 2018 ที่ผ่านมา มนุษย์เรียนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโลก? รูปแบบ Mindset ความเห็นแก่ตัวที่เรียกว่า ‘Grab-go-throw’ ที่สร้างผลกระทบและนำพาโลกไปสู่ทางตัน ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างแนวโน้มทางพฤติกรรมทางบวกที่เปลี่ยนไปของแบรนด์และผู้บริโภค จนกลายเป็นเทรนด์ End of Excess

End of Excess คือรูปแบบเทรนด์ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการลดส่วนเกินที่สร้างผลกระทบต่อโลก ยกตัวอย่าง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้ถุงพลาสติกมาเป็นถุงผ้า และการเลิกใช้หลอดพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งนั่นเอง

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มเทรนด์นี้ นักท่องเที่ยวนับล้านกำลังปรับเปลี่ยนทัศนคติและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเดินทางและการท่องเที่ยว ในขณะที่เทรนด์นี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ต่างๆ ภายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต่างพากันย้อนกลับมาคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับสินค้าประเภท Single-use โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์และบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ทำไมต้องให้ความสนใจ ณ จุดนี้

ขยะท่องเที่ยว

พูดง่ายๆ การท่องเที่ยว = การสร้างมลพิษ คุณทราบหรือไม่ว่า ในทุกๆ ฤดูร้อน นักท่องเที่ยวสร้างขยะสู่ท้องทะเลเมดิเตอเรเนียนเพิ่มขึ้น 40% สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และมลพิษจากพลาสติก แน่นอนว่าแบรนด์ภายใต้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้ผ่านการสร้างผลกระทบด้านบวก

สำคัญมากขึ้น

คำว่า ‘Single-use’ ถูกสถาปนาเป็นคำศัพท์ในพจนานุกรมคอลลินส์ (Collins Dictionary) ในปี 2018 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังตระหนักถึงปัญหาและมองหาแบรนด์ที่จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเคยชินแย่ๆ ของพวกเขา จากผลสำรวจของ *ABTA (2018) ผู้บริโภคร้อยละ 45 ให้ความสำคัญกับหนังสือรับรองและหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน (Company’s sustainability credential) และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการ โดยผลสำรวจยังพบว่าจำนวนผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มีอัตราเพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้

*ABTA (Association of British Travel Agents) คือสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวแห่งสหราชอาณาจักร

ความรับผิดชอบของแบรนด์แนวหน้า

แบรนด์ใหญ่ต่างไม่น้อยหน้าพากันแสดงความรับผิดชอบและใส่ใจกับแนวโน้มนี้ ไม่ว่าจะเป็น Marriot ที่วางแผนยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2019 นี้ จากที่เคยใช้ทั้งหมดกว่า 6,500 สาขาทั่วโลก หรือแม้แต่ Thomas Cook ยักษ์ใหญ่ Travel Agent ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้คล้ายๆ กัน ในส่วนของสายการบินนั้น สายการบิน Fiji Airways, Thai Airways และ Alaska Airlines ก็ได้ทำพันธสัญญาด้านความยั่งยืน (Sustainability commitment) ไว้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันอย่างรุนแรงต่อการตอบสนองของแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกอย่างแน่นอน

ยังไงต่อ

PLASTIC-FREE LIFESTYLE

หนทางชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมกับเทรนด์นี้ก็คือการเลิกผลิตสินค้าประเภท Single-use และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค แต่สำหรับแบรนด์ที่มีความเด่นชัดจะก้าวเกินกว่าอีกหนึ่งขั้นและทำให้สิ่งนี้กลายเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ควรค่าต่อการแบ่งปัน หากนึกไม่ออก ตัวอย่างของMermaid trip ของ Kate Nelson ที่จะกล่าวต่อไปอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้

คิดยาวๆ

เราทราบว่า Instagram เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา Overtourismบ่อยครั้งที่การแย่งกันถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพ Perfect shot เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว (ยกตัวอย่าง ภาพสเก็ตช์ ของโมนาลิซา) หรือแม้แต่การแย่งกันเดินทางไปท่องเที่ยวจุดหมายปลายทางยอดนิยม แบรนด์และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถควบคุมและยุติผลกระทบที่เกิดจากสิ่งที่เกินความจำเป็นเหล่านี้ได้หรือไม่? ภายใต้ความพยายามที่จะหยุดยั้งการกัดเซาะ การเสื่อมสภาพ และการสร้างมลพิษที่เกิดขึ้นจากการกระทำเกินความจำเป็นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการทิ้งขยะ

*Crowdsourcing พบความสะดวกสบาย

สุราบายา (เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอินโดนีเซีย) คืออีกหนึ่งตัวอย่างเมืองที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกใช้เกินความจำเป็น ด้วยการให้ประชาชนสามารถซื้อบัตรรถโดยสารได้ด้วยขวดพลาสติกบนรถโดยสารสาธารณะ แบรนด์ของคุณสามารถทำให้การทำดีเป็นประสบการณ์ของการมีส่วนร่วมที่ไร้รอยต่อได้หรือไม่?

*Crowdsourcing คือ การทำงานที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนจำนวนมากเพื่อเปิดรับและรวบรวมแนวคิดสร้างสรรค์ต่างๆ

สิ้นสุด … ส่วนเกิน (ความจำเป็น)

เราทราบถึงความสำคัญของเทรนด์นี้กันแล้ว ลองมาดูตัวอย่างแบรนด์เล็ก-ใหญ่ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกับวิธีการตอบสนองต่อเทรนด์นี้กัน

‘IJEN’ ร้านอาหาร Zero-waste เปิดบริการบนเกาะบาหลี

Ijen ร้านอาหาร Zero-waste แห่งแรกของอินโดนีเซีย เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2018 ที่ผ่านมา ณ Potato Head Beach Club บนเกาะบาหลี ร้านอาหารร้านนี้นำเสนออาหารทะเลท้องถิ่นที่จับด้วยมือเปล่า ปราศจากการใช้อุปกรณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายในร้านมีเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกทำขึ้นด้วยโฟมเหลือทิ้งและไม้รีไซเคิล พื้นทำจากซีเมนต์ แผ่นกระเบื้องแตก และเศษแก้ว เทียนที่ใช้ภายในร้านทำจากขวดไวน์เผาด้วยน้ำมันครัว ในขณะที่ขยะอินทรีย์ (Organic Waste) ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสุกรหรือนำไปทำปุ๋ย

‘HI FLY’ สายการบินนำเสนอเที่ยวบินไร้พลาสติก

เดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา สายการบิน Hi Fly ได้เริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินไร้พลาสติกเที่ยวแรก สายการบินได้เปลี่ยนจากการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและภาชนะบรรจุแบบพลาสติกเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่และวัสดุรีไซเคิลย่อยสลายง่าย สายการบินดังกล่าว เริ่มให้บริการเที่ยวบินไร้พลาสติกเที่ยวแรกจากสำนักงานใหญ่ในนครลิสบอน เดินทางไปยังประเทศบราซิล โดยเครื่องบินรุ่น Airbus A340 ซึ่งสายการบินดังกล่าว วางเป้าที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกในทุกเที่ยวบินของสายการบิน ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2019

‘เมืองสุราบายา’ ขวดแลกบัตรโดยสารรถกับเมืองต่อต้านการใช้พลาสติก

เมืองสุราบายา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เปิดบริการให้ประชาชนสามารถซื้อบัตรโดยสารรถประจำทางได้ด้วยขวดพลาสติก ขวดพลาสติก 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบ สามารถใช้แลกเป็นบัตรโดยสาร Bus pass 2 ชั่วโมงได้ โดยข้อมูลนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 แสดงออกมาว่ารถโดยสารประจำทาง 1 คัน สามารถช่วยลดปริมาณขวดพลาสติกได้ราว 550 ปอนด์ หรือ 250 กิโลกรัมต่อวัน สุราบายาวางเป้าที่จะช่วยลดปริมาณพลาสติกในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด สุราบายาวางแผนที่จะทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองปลอดพลาสติกให้ได้ภายในปี 2020

‘KATE NELSON’ ทริปส่งเสริมไลฟ์สไตล์ไร้พลาสติก

Kate Nelson Instagram influencer เจ้าของ IG @plasticfreemermaid ได้เป็นเจ้าภาพจัดทริป Mermaid Retreats ทริปผสมผสานระหว่างการเพิ่มคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมและการสร้างสรรค์การมีสุขภาพที่ดี  ตัวอย่างกิจกรรมภายใต้ทริปนี้ประกอบไปด้วย ว่ายน้ำร่วมกับฉลามวาฬ เล่นโยคะ รับประทานอาหารวีแกน และทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในรูปแบบไลฟ์สไตล์ไร้พลาสติก ทริปดังกล่าวจะถูกจัดขึ้นในโซนโอเชียเนีย โดยมีเป้าหมายเชิญชวนให้ผู้หญิงใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและบอกต่อถึงการเคลื่อนไหวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกใช้พลาสติก ทริป Mermaid Retreats จัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของเธอได้รับ
การสนับสนุนจากภาครัฐ จนส่งผลให้เธอได้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลีย สำหรับใครที่สนใจเข้าร่วมทริปกับเธอสามารถเข้าไปสมัครได้ที่ http://iquitplastics.com/retreats-overview โดยทริปครั้งที่ 2 จะจัดเป็นทริป 7 วัน จุดหมายปลายทางคือฟิจิ และกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2019 โดยราคาอยู่ที่ 2,300 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 52,500 บาท ผู้สนใจจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังจุดนัดพบตามกำหนดการเอง

‘AIRBNB’ Airbnb เปิดสำนักงานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เดือนเมษายน 2018 Airbnb เปิดตัวสำนักงานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Office of Healthy Tourism) ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นแบบ Authentic และส่งเสริมความยั่งยืนในประเทศและเมืองต่างๆ ทั่วโลก โดยหน่วยงานดังกล่าว จะทำงานร่วมกับชุมชนผ่านความร่วมมือ แผนงาน และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก และส่งเสริมประเพณีการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างการส่งเสริมของหน่วยงานดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริม Yoshino Cedar House ในประเทศญี่ปุ่น ที่สำนักงานดังกล่าว เข้าไปช่วยทำให้ชุมชนผู้สูงอายุกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านการช่วยส่งเสริมและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัสชุมชนในรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายรายได้และการสร้างงานภายในชุมชน

สรุป

ทุกวันนี้มนุษย์ให้ความสำคัญกับตัวเองมากจนลืมคิดถึงผลกระทบของการกระทำที่เกินความจำเป็น ปัจจัยสำคัญคงหนีไม่พ้นความสะดวกสบายและความเห็นแก่ตัว บ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวเลือกที่จะทำในสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตนโดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งการรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์โรงแรมทิ้งๆ ขว้างๆ ใช้หลอดดูดน้ำที่ทำจากพลาสติก ใช้ช้อนส้อมพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือแม้แต่การเปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้ในห้องพักเพื่อทำให้อุณหภูมิห้องเย็นอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่าเราจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่บวกของผู้บริโภคบ้างแล้วในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี บุคคลเหล่านี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยหรือไม่ก็พวกดีแต่ปากแต่ไม่ถือปฏิบัติอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เทรนด์นี้เติบโตและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น คงหนีไม่พ้นการส่งเสริมจากภาครัฐและการสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นภายในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและทำให้กลายเป็นเรื่องปกติภายในสังคม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากทุกคนคิดและเริ่มต้นที่จะทำจากตัวเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นค่านิยมและการถือปฏิบัติก็จะส่งต่อและขยายต่อเป็นวงกว้างได้ไม่ยากอย่างแน่นอน

โดย บัณฑิต เอนกพูนสินสุข

งานวิชาการและห้องสมุด กวจ.แปลและเรียบเรียงจาก Trendwatching.com

Share This Story !

2.4 min read,Views: 634,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 3, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 3, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 3, 2025