The ‘Hothouse’ จากผู้อาศัยกลายเป็น ผู้ทำลาย

“ จะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว 

ขณะที่ทุกท่านกำลังอ่านบทความนี้ ขยะพลาสติกสกปรกกองพะเนินกำลังไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง ออกสู่ทะเลและพร้อมจะล่องลอยไปยังที่ต่างๆตามการหมุนวนของกระแสน้ำในมหาสมุทร

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของกระแสนิยมด้านการเดินทางนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดี รายได้จากการท่องเที่ยวส่งผลบวกกับเศรษฐกิจแต่ก็ส่งผลทางลบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน การมุ่งเน้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้มหาศาลเข้าประเทศน่าจะเป็นนโยบายของเมืองท่องเที่ยวสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก แต่สิ่งนี้กลับส่งผลบางอย่างกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหากขาดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดโดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (IPBES) ภายใต้การดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยผ่านทางรายงานประเมินความหลากหลายทางชีวภาพเขียนถึงสถานการณ์การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกว่ากำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แตะระดับวิกฤติ และยังให้ข้อมูลที่สำคัญไว้อีก 2 ประการ นั่นคือในอีกไม่กี่ทศวรรษต่อจากนี้ จะมีพืชและสัตว์ถึง 1 ล้านสายพันธุ์ทั่วโลกอาจต้องสูญพันธุ์ ขณะที่แม่น้ำที่มีมลพิษขยะพลาสติกมากที่สุด 8 ใน 10 สายอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเทียบเท่า  กัปริมาณขยะพลาสติกร้อยละ 95 ที่ไปสร้างปัญหาในมหาสมุทรโดยตรง และทั้งหมดเกิดจากการกระทำของมนุษย์

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เลยเปรียบเทียบระดับความรุนแรงของการสูญพันธุ์ในครั้งนี้ว่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมาถึงหลายแสนเท่าตัว และพบว่าทุกวันนี้เราไม่สามารถยับยั้งการสูญพันธุ์ของพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตบนโลกที่มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ต่อวัน นั่นอาจจะส่งผลกระทบต่อสมดุลในระบบนิเวศและมีแนวโน้มเข้าใกล้จุดที่สายเกินแก้เลยก็ว่าได้

‘ขยะทะเล’ วิกฤตการณ์ใหม่ของโลกและประเทศไทย

ที่มา: https://www.independent.co.uk/environment/husky-photograph-greenland-climate-change-melting-ice-photo-a8963466.html

Photographer : Steffen Olsen/AFP

ถ้าเอาขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั้งหมดมาต่อกันคิดเป็นความยาวรอบโลกถึง 425 รอบเลยทีเดียว รายงาน The New Plastics Economy ที่ตีพิมพ์โดย World Economic Forum คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2025ปลาในมหาสมุทรทุกๆ 3 ตันจะมีขยะพลาสติก 1 ตัน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2050 โลกจะมีจำนวนขยะพลาสติกมากกว่าปลาในมหาสมุทร ฟังดูเป็นสถิติที่น่าตกใจเพราะเท่าที่เห็นขยะพลาสติกอาจะไม่ได้มีจำนวนมากขนาดนั้นนั่นเป็นเพราะขยะที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทรที่มองเห็นได้มีเพียงจำนวนเล็กน้อย รายงาน   ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ปี 2016 ระบุว่าขยะทะเลที่พัดมาเกยหาดและสามารถมองเห็นได้คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของขยะทั้งหมดเท่านั้น โดยส่วนที่เหลือจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรและมีมากกว่าเราจจินตนาการถึง ซึ่งผลกระทบของขยะพลาสติกในทะเลคือไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนถึงขนาดเล็กมาก สะสมอยู่ในท้องทะเลและเดินทางเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารจนมาถึงมนุษย์อย่างเราในที่สุด

ในระยะหลังปัญหาขยะทะเลไทยปรากฏเป็นข่าวในสื่อระดับประเทศและระดับโลกบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

ถึงกระนั้นหลายคนก็ยังใช้ชีวิตกันแบบปกติ รับข่าวสารเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามโลกแบบผ่านหูผ่านตาจนกลายเป็นคุ้นหู หนาวจัด ร้อนจัดดินถล่ม เฮอร์ริเคน น้ำท่วม น้ำแข็งละลาย แต่ก็ยังไม่รู้สึกอะไร ช่วงปีที่ผ่านมา ภาพข่าวสัตว์ทะเลภาพแล้วภาพเล่าที่ต้องแลกชีวิตไปกับ ‘ขยะ’ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง แต่การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมดูจะยังเป็นเรื่องไกลตัวของคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่ยังรู้สึกไม่ตื่นตกใจ จนเมื่อวันหนึ่งที่เราได้รู้จักกับสาวน้อย ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ ประเด็นสิ่งแวดล้อมก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง เธอได้ก้าวเข้ามาเป็นไอคอนของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ดึงสติทุกคนให้ตระหนักถึงมหันตภัยร้ายแรงที่ผู้ใหญ่กำลังส่งมาให้คนเจเนอเรชันลูกหลานอย่างตัวเธอเอง

จริงอยู่ว่าความตื่นตระหนกคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่ถ้าหากเรากำลังเห็น ‘บ้าน’ อันเป็นที่รักกำลังไฟไหม้และพังลงมาต่อหน้าต่อตา ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นมาคงมีน้อยเลยทีเดียว ธรรมชาติและสรรพสัตว์ล้วนมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ทุกคนบนโลกอย่างแนบแน่น เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว เราต้องกลับมาคิดอย่างหนักว่าหากทุกคนยังเพิกเฉยต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าวในที่สุดเราอาจสูญเสียบ้านของสรรพชีวิตหลังนี้ไปตลอดกาล นี่คือส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ของหญิงสาวชาวสวีเดนที่มีอายุเพียง 16 ปี ซึ่งได้กลายมาเป็นไฮไลต์หนึ่งในการประชุมแก้ปัญหาโลกร้อน COP24 ครั้งล่าสุด เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2019 เป็นตัวอย่างคนรุ่นใหม่ที่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นและทำมากกว่าพูดเพื่อรักษาสิ่งที่เรายังพอจะรักษาอยู่ได้

Global Warming of 1.5’C

เนื่องจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติด้านสภาพอากาศรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลายครั้ง ทำให้เกิดภัยธรรมชาติและภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงส่งผลกระทบในทุกอุตสาหกรรมโดยรวมไปจนถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่พึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานระดับโลกอย่าง UNWTO ได้ออกมาประกาศความร่วมมือ กับนานาประเทศเพื่อแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันกำหนดเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนับจากนี้ไป เพื่อคงสภาพของระบบนิเวศและปกป้องสิ่งมีชีวิตของโลกที่เป็นอยู่ไว้ได้ตามกรออนุสัญญาปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำหนดไว้ว่าประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เพราะหากโลกร้อนขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่รุนแรงมาก และจะถึงจุดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว (IPCC Summary for Policymakers)

เรายังมีความหวังอยู่หรือเปล่า? คำตอบคือ มี!

หลายการประชุมในระดับนานาชาติมุ่งเป้าประเด็นสำคัญไปกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รายงาน The Global Risk Report 2019 แสดงให้รู้ว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ในเขตร้อน และจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงตามมามากมาย ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นจากการละลายของภูเขาน้ำแข็ง เกิดการระบาดของโรคทั้งเก่าและใหม่ สัตว์และพืชจะเริ่มสูญพันธุ์ ขาดแคลนอาหาร ถึงแม้จะสายไปมากแต่ก็ยังไม่สายเกินแก้ ซึ่งโลกมีเวลาถึงปี 2030 เท่านั้นก่อนที่สถานการณ์จะรุนแรงเกินเยียวยา

หากได้ติดตามเรื่องราวการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้วจะพบว่าการดูแลฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายอันดับต้นๆ ที่ประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐสภาสหราชอาณาจักรได้เห็นชอบการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ตามการเสนอของหัวหน้าพรรคแรงงานและผู้นำฝ่ายค้านในสภาที่เรียกร้องให้เร่งดำเนินมาตรการ
คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชนในรุ่นหลัง ขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าจะนำพลาสติกที่ผลิตในประเทศทั้งหมดกลับมาใช้ซ้ำให้ได้ภายในปี 2030

เมื่อมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตการณ์ระดับโลก ความจริงที่ไม่อยากรู้แต่ต้องรู้นั่นคือกิจกรรมทางการท่องเที่ยวทำให้เกิดคาร์บอนมหาศาลเกินคาดเดา การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอันสวยงาม ซึ่งหากวันหนึ่งถูกทำลายไป ก็จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับต้นๆ TAT Review ฉบับนี้จึงได้รวบรวมแนวคิดการเริ่มต้นเป็น ‘นักท่องเที่ยวที่ดี’ ที่คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการอนุรักษ์ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจฟังดูแล้วไม่น่ามีอะไรซับซ้อน แต่แท้จริงหากถึงเวลาต้องลงมือทำแล้ว การเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ นั้นมีวิธีที่หลากหลายซึ่งเราสามารถทำได้ง่ายกว่าที่คิด แม้เพียงการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เพียงเล็กน้อยนั้นก็จะเป็นหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เมื่อเราปฏิบัติกับธรรมชาติด้วยความเคารพ ธรรมชาติก็จะตอบกลับมาด้วยความเคารพเช่นกัน เพราะเราคงจะไม่อยากเห็น ‘บ้าน’ ของเราถูกไฟไหม้โดยไม่ทำอะไรเลยกันอย่างแน่นอน

 

ที่มา:

greenpowersharing.com/sea-of-plastic

www.nature.com/articles/d41586-019-01448-4

www.ipbes.net/news/Media-Release-Global-Assessment

www3.weforum.org/docs/WEF_The_New_Plastics_Economy.pdf

 

โดย พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล

Share This Story !

1.4 min read,Views: 578,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024