SAFETY FIRST, THAILAND

Current news about Thailand’s safety (or lack of) may have many wondering where exactly is Thailand on the global  travel safety map. To be sure, let’s look into  different studies with different methods of  ranking to see just how safe Thailand is for travelers…

Tourism Australia: Safe is Smart and Sustainable 

Safety is an important strategy in the Australian government’s long-term tourism  development plan ‘Tourism 2020’, with clear  and comprehensive risk management tools  and framework at both national and regional level, giving Australian tourism a competitive advantage over rival destinations with similar natural resources.

ข่าวคราวความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้หลายคนอดสงสัย ไม่ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ ในแผนที่ความปลอดภัย  ในแง่การท่องเที่ยวของโลก

เรื่องแบบนี้ จะให้ใครมาตัดสินใจหรือบอกเราเพียงเจ้าเดียว เห็นท่าจะไม่ได้การ จึงอยากชวนคุณผู้อ่าน ไปสำรวจผลการจัดอันดับของสองเจ้าที่มีวิธีหาข้อมูล (หรือวิธีวิจัย) แตกต่างกัน เพื่อหาว่าประเทศไทยของเรา อยู่ตรงไหนในความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว อยากชวนคุณมาเริ่มต้นที่เว็บ backgroundchecks.org ซึ่งเป็นเว็บแบบ crowdsourcing รวบรวมข้อมูลจากผู้คนทั่วโลก เขาได้ทำสำรวจประเทศที่อันตรายที่สุดและปลอดภัยที่สุดสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวเอาไว้  (เข้าไปดูได้ที่ http://backgroundchecks.org/safest-and-most-dangerous-countries-for-travel.html)  โดยข้อมูลที่ได้นั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น อัตราการเกิดอาชญากรรม, รัฐบาลและการให้คำแนะนำของรัฐบาล เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทาง, โอกาสที่จะเกิดภัยธรรมชาติต่างๆ รวมไปถึงการแข่งขันและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ 

เขาบอกว่า 10 ประเทศแรกที่อันตรายต่อการท่องเที่ยวที่สุดก็คือ

ฮอนดูรัส

นี่เป็นประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมสูงที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปี 2017  เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาถูกฆาตกรรมไปแล้ว 47 ราย  ซึ่งเป็นสถิติที่น่าตระหนกมาก โดยฮอนดูรัสไม่ได้มีกลุ่มก่อการร้ายอะไร ปฏิบัติการที่ไหน ทว่าเป็นกลุ่ม street gangs ที่ตระเวนอยู่ทั่วไป ตามท้องถนน โดยมีเป้าหมายเพื่อลักพาตัว ปล้นบ้าน ปล้นนักท่องเที่ยว ทำให้ฮอนดูรัสเป็นประเทศที่อันตรายอันดับหนึ่ง และแม้อัตราการ ฆาตกรรมจะลดลง คือจาก 86.5 รายต่อประชากร 100,000 ราย  ในปี 2011 มาเหลือ 59.1 รายต่อประชากร 100,000 ราย ในปี 2016  แต่ก็ยังถือว่าสูงมากอยู่ดี (ดูรายละเอียดได้ที่ www.insightcrime.org/ news/analysis/insight-crime-2016-homicide-round-up/) โดยมีการพุ่งเป้าไปยังนักท่องเที่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่

ปากีสถาน

ความรุนแรงในปากีสถานเกิดขึ้นจากกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม  แต่กลุ่มหลักๆ ก็คือ ISIS เราจะเห็นข่าวระเบิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง  ซึ่งน่าเสียดายมาก เนื่องจากชาวปากีสถานเป็นกลุ่มชนที่รักสันติและเป็นมิตร ทว่าต้องมาเผชิญกับชะตากรรมเหล่านี้

เอลซัลวาดอร์

เป็นประเทศเล็กๆ ที่เผชิญเคราะห์กรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะ ความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ทำให้คนยากจน กระทั่งเกิดลักษณะเดียวกับฮอนดูรัส คือมี street gang ออกปฏิบัติการทั้งลักพาตัว ปล้นชิง  รวมถึงการค้ายาเสพติดด้วย ประมาณว่าในปี 2015 ชาวเอลซัลวาดอร์  24.5% (หรือเกือบหนึ่งในสี่) ต้องเจอกับอาชญากรรม ดังนั้นจึงเป็นประเทศที่ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง

ชาด

เป็นประเทศในแอฟริกาที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งเรื่องศาสนา กลุ่มหัวรุนแรงอย่าง Boko Harem โจมตีพื้นที่หลายแห่ง ทำให้เกิด การสู้รบกับกองทหาร

มอริทาเนีย

เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กลุ่มก่อการร้ายปฏิบัติงาน โดยเฉพาะกลุ่ม ISIS

บุรุนดี

เป็นอีกประเทศในแอฟริกาที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งรุนแรง เพราะถูกกลุ่มทหารจากคองโกบุกเข้ามาโจมตีและคุกคาม ชาวบุรุนดีมากกว่าสามแสนคนต้องอพยพออกนอกประเทศ ความวุ่นวายและการซุ่มโจมตี ต่างๆ ทำให้บุรุนดีไม่เหมาะต่อการท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง

มาลี

สภาพการณ์ในมาลีก็ไม่ต่างจากประเทศที่ว่ามาแล้วทั้งหมด เพราะมีกลุ่มหัวรุนแรงที่เชื่อมโยงกับขบวนการอัลเคดาและอื่นๆ ปฏิบัติการ อยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นประเทศที่มีแนวโน้มจะเกิดการก่อการร้ายสูงมาก

ไนจีเรีย

มีคำเตือนจากประเทศในโลกตะวันตกมากมาย ไม่ให้คนของประเทศ ตัวเองเดินทางเข้าไปในไนจีเรีย นั่นเพราะไนจีเรียมีการจี้ปล้นและ การคุกคามทางเพศสูงมาก โดยไนจีเรียมีกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา ชื่อ Boko Haram คอยปฏิบัติการอยู่ในหลายแห่งทั่วประเทศ ในปี 2014 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะกลุ่มนี้มากถึงกว่าหกพันคน  ซึ่งน่าเสียดายมาก เพราะไนจีเรียมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก  มีทั้งป่าฝน พื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งหญ้าสะวันนา และยังมีประเพณีเก่าแก่ ทั้งด้านศิลปะและดนตรีด้วย

เลโซโธ

ประเทศในแอฟริกาที่มีอาชญากรรมสูงมาก ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนยากจน และไม่มีงานทำ ที่สำคัญก็คือ ชาวเลโซโธยังมีอัตราการติดไวรัสเอชไอวี สูงที่สุดในโลกด้วย ประมาณว่า 25% ของประชากรมีเอชไอวีอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้ หากนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้ การรักษาตัว ในเลโซโธจะยากและอันตรายมาก

โคลัมเบีย

ที่จริงแทบไม่ต้องพูดก็ได้นะครับ ว่าโคลัมเบียอันตรายอย่างไร แม้นี่จะเป็นประเทศที่สวยงามมาก และมีพัฒนาการในด้านการท่องเที่ยวมากกว่า เดิมหลายขุมแล้ว และอัตราการเกิดฆาตกรรมก็ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1974  (คือลดเหลือเพียง 24.4 รายต่อประชากร 100,000 ราย)  แต่กระนั้น สิ่งที่ทำให้โคลัมเบียยังอันตรายต่อการท่องเที่ยวเดินทาง ก็คือขบวนการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะในชนบท ส่วนในเมืองใหญ่ๆ อย่างโบโกตานั้น ถือว่าปลอดภัยพอสมควรสำหรับนักท่องเที่ยว

(ส่วนประเทศที่ถือว่าปลอดภัยต่อการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกตามข้อมูลของ backgroundchecks.org ก็คือ ฮ่องกง ตามมาด้วย สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, สเปน (จริงหรือนี่!), สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, แคนาดา,  นอร์เวย์ และออสเตรเลีย) 

จะเห็นว่า ถ้าดูตามการจัดอันดับนี้ ประเทศไทยไม่ติดอะไรกับเขาเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอันตรายหรือปลอดภัย  ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าน่ายินดีหรือเสียใจกันแน่ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าไปดูการประโคมโหมข่าวของสื่อตะวันตกบางราย (เช่น สื่อจากนิวซีแลนด์อย่าง sutff.co.nz  หรือสื่อจากเวลส์อย่าง walsesonline.co.uk รวมไปถึงสื่อการเงินอย่าง moneyversed.com เราจะพบว่า สื่อเหล่านี้รายงานอันดับประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักท่องเที่ยวเอาไว้ว่า ประเทศไทยนั้นอันตราย อันดับ 19 ของโลก โดยสื่ออย่าง moneyversed.com รายงานผิดด้วยซ้ำ เพราะกลับหัวกลับหางลำดับ  ความที่ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 19 จาก 20 พอกลับหัวกลับหางก็เลยรายงานว่าไทยเราอันตรายที่สุดในโลก เป็นอันดับ 2 (ดู http://moneyversed.com/dangerous-countries-for-tourists/) ซึ่งชวนให้เข้าใจผิดอย่างมาก 

คำถามก็คือ แล้วสื่อพวกนี้ไปได้ข้อมูลที่ว่านี้มาจากไหน 

คำตอบอยู่ที่รายงานของ World Economic Forum คือ The Travel & Tourism Competitiveness  Report ของปี 2017 (อ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ www3.weforum.org/docs/WEF_TTCR_2017_web_0401.pdf)  โดยข้อมูลที่สื่อเหล่านี้นำเสนอ อยู่ใน Appendix B ซึ่งเอาเข้าจริง เป็นรายงานที่น่าสนใจมาก 

Appendix B นั้น จัดทำเป็นดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเดินทาง (Travel & Tourism  Competitiveness Index) โดยแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ หลายด้าน 

ด้านแรกที่อยากชวนคุณมาดูก็คือ Business Environment หรือบรรยากาศในการทำธุรกิจ ซึ่งอันดับหนึ่ีง ตกเป็นของฮ่องกง ตามมาด้วย สิงคโปร์, สวิตเซอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์,  ลักเซมเบิร์ก, นิวซีแลนด์, ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ โดยที่ประเทศไทยของเราอยู่ที่อันดับ 45 ไล่หลังเกาลีใต้ มาติดๆ แต่นำหน้าฝรั่งเศส (ฝรั่งเศสอยู่ที่อันดับ 46)

อีกด้านคือด้านทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงานนั้น ประเทศแรก ที่ชนะเลิศไปก็คือ ไอซ์แลนด์ ตามมาด้วย สวิตเซอร์แลนด์, เดนมาร์ก,  นอร์เวย์ และสิงคโปร์ โดยไทยเราอยู่ที่อันดับ 40 ซึ่งเหนือกว่าเกาหลีใต้  (43) เสียอีก (แต่สู้เวียดนามไม่ได้ เพราะเวียดนามอยู่อันดับ 37) 

พอมาดูความพร้อมด้านเทคโนโลยีสื่อสาร เอไทยเราก็ไม่ด้อยเท่าไหร่ นะครับ 5 ประเทศแรกคือ ฮ่องกง, เดนมาร์ก, สวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน,  นอร์เวย์ โดยไทยเราอยู่ที่อันดับ 58 ซึ่งแม้จะสู้สิงคโปร์ (14) กับไต้หวัน  (30) ไม่ได้ แต่ก็ยังเหนือว่าเวียดนาม (80) อยู่ค่อนข้างมาก 

ยิ่งถ้าไปดูเรื่องการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเดินทางแล้วล่ะก็  อันดับของเราดีทีเดียวครับ โดย 5 ประเทศแรกคือ มอลตา, สิงคโปร์,  ไอซ์แลนด์, มอริเชียส และสเปน (เราคงเห็นกันอยู่ว่าสิงคโปร์เน้นเรื่องนี้ มากแค่ไหน) โดยไทยเราอยู่อันดับ 34 ซึ่งแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับ เรื่องการท่องเที่ยวเดินทางมากทีเดียว 

แต่เรื่องที่โดดเด่นมากอีกเรื่อง ก็คือการแข่งขันด้านราคา เพราะเรา กระโดดมาอยู่ใน 20 อันดับแรก คืออยู่ที่อันดับ 18 โดยมีอิหร่าน, อียิปต์,  มาเลเซีย, อัลจีเรีย, อินโดนีเซีย, ภูฏาน, เยเมน, คาซัคสถาน, ตูนิเซีย  และอินเดีย อยู่ใน 10 อันดับแรก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราเป็นประเทศ ที่ค่าใช้จ่ายไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีนะครับ  เพราะอันดับแรกคืออิหร่านนั้น หลายคนคงรู้อยู่ว่ากำลังมีปัญหา เงินเฟ้ออย่างรุนแรง ทำให้นักท่องเที่ยวที่กำเงินสกุลอื่นเข้าไปเที่ยว  สามารถใช้จ่ายได้อย่างสนุกมือในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ 

แล้วถ้ามาดูเรื่องการเปิดกว้างต้อนรับนานาชาติ หรือ International Openness จะพบว่า 10 อันดับแรกคือ สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, ชิลี,  โคลัมเบีย, นิวซีแลนด์, เอลซัลวาดอร์, ไอร์แลนด์, ปานามา, ไอซ์แลนด์  และญี่ปุ่น ซึ่งเห็นได้เลยนะครับว่ามีทั้งประเทศที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย  ต่อการท่องเที่ยว ซึ่งต่างก็ต้องการนักท่องเที่ยวนำเม็ดเงินเข้าประเทศ กันทั้งนั้น ในเรื่องนี้ไทยเราอยู่ที่อันดับ 52 ซึ่งก็นับกว่ากลางๆ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ถือว่าแย่มากๆ ของไทยเรามีอยู่สองเรื่อง 

รื่องแรกก็อย่างที่สื่อตะวันตกที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นบอกนั่นแหละครับ  ว่าเราไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่นัก ประเทศที่ปลอดภัย 10 อันดับแรก คือ ฟินแลนด์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไอซ์แลนด์, โอมาน, ฮ่องกง,  สิงคโปร์, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์, รวันดา และกาตาร์  

หลายคนอาจจะประหลาดใจที่การจัดอันดับนี้ดูแปลกๆ เช่น ทำไมญี่ปุ่น ถึงไปอยู่ที่อันดับตั้ง 26 แต่ต้องบอกว่าเขาใช้หลายปัจจัยมาประกอบนะครับ  รวมไปถึงเรื่องของภัยธรรมชาติด้วย ซึ่งในกรณีนี้ ของไทยหล่นลงไปอยู่ ที่อันดับ 118 (จากทั้งหมด 136 ประเทศ) ซึ่งก็คืออยู่ที่อันดับ 19 จากท้ายตาราง

ถามว่าเขาพิจารณาจากอะไรบ้าง ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเรื่อง Safety and Security นั้น คือต้นทุนทางธุรกิจ ที่ต้องใช้กับเรื่องอาชญากรรมและความรุนแรง, ความน่าเชื่อถือของตำรวจ, ต้นทุนทางธุรกิจในเรื่องของ การก่อการร้าย, ดัชนีการก่อการร้าย และอัตราการเกิดฆาตกรรม เมื่อรวมๆ กันออกมาแล้ว เราจึงหล่นไปอยู่ อันดับท้ายๆ ของโลกในเรื่องนี้ โดยประเทศที่อยู่เหนือเราขึ้นไปอีก ก็คือ คองโก (117) และถัดมาก็ได้แก่  จาเมกา, แอฟริกาใต้, กัวเตมาลา, ชาด, บังกลาเทศ, มาลี, เลบานอน, ฟิลิปปินส์, ยูเครน, ฮอนดูรัส, เคนยา,  อียิปต์, เวเนซุเอลา, ไนจีเรีย, ปากีสถาน, เอลซัลวาดอร์, เยเมน และโคลัมเบีย ซึ่งหลายประเทศอยู่ในลิสต์ของ  backgroundchecks.org ด้วย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดดูใน Appendix B แล้ว ผมพบว่ายังมีอีกด้านหนึ่งที่ประเทศไทยมีอันดับต่ำกว่าอันดับ ความปลอดภัยเสียอีก นั่นก็คือเรื่องของความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)  ซึ่งเราร่วงไปอยู่อันดับที่ 122 หรืออยู่ที่อันดับ 15 จากท้ายตาราง โดย 10 ประเทศแรกได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์,  ออสเตรีย, นอร์เวย์, ลักเซมเบิร์ก, ฟินแลนด์, สวีเดน, เยอรมนี, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์ และสโลวีเนีย โดยการประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมีตั้งแต่การควบคุมและบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ไปจนถึงพัฒนาการของ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม กระทั่งถึงการดูแลป่าและสปีชีส์ต่างๆ ที่ถูกคุกคาม ทั้งบนบก และในทะเลด้วย 

แม้เราจะได้คะแนนในเรื่องนี้เหนือมาเลเซีย (123), เวียดนาม (129) และอินเดีย (134) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเท่าไหร่ เพราะผลที่ออกมา แสดงให้เห็นว่าเราเป็นสังคมที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก  อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ทำนายไว้สอดคล้องกับรายงานของ World Travel and Tourism Council  หรือ WTTC ด้วยว่า 10 ประเทศที่จะเติบโตเร็วที่สุดในด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ  (Leisure-Travel) นับตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2026 (คือในอีกราวๆ 10 ปี นับจากนี้ไป) คือ อินเดีย, แองโกลา,  อูกานดา, บรูไน, ไทย, จีน, พม่า, โอมาน, โมซัมบิก และเวียดนาม  จากรายงานนี้ จะเห็นได้ชัดเลยว่า เราพร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวดุจญาติมิตรเพื่อรายได้ แต่ในเวลาเดียวกันหลังบ้านของเรายังไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้าง ความยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะถามตัวเองว่าถ้าเราจะยังคงเติบโตในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปเรื่อยๆ เราควร ต้องย้อนกลับมาปรับปรุงเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น อย่างไรก็ยังมีคำถามที่สำคัญกว่านั้นขวางกั้นอยู่ 

คำถามนั้นก็คือแล้วผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองนี้เห็นหรือเปล่า, ว่าเรามีปัญหาเหล่านี้อยู่ หรือมัววุ่นอยู่แต่กับการปฏิเสธเพื่อสร้างภาพซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใดๆ ขึ้นได้เลย!

เรื่องโดย : โตมร ศุขปรีชา

Share This Story !

3.9 min read,Views: 374,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 21, 2024