Overtourism and a Stairway to Sustainability

Overtourism

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกคาดหวังให้มีระบบการจัดการที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหานักท่องเที่ยวล้นทะลักหรือ Overtourism กลับเป็นปัญหาใหญ่ที่จุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยวของโลกหลายแห่งต้องเผชิญ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังกรุงปรากเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 วอร์ซอว์ร้อยละ 40 ลิสบอนร้อยละ 37 และเบอร์ลินร้อยละ 34 เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งประสบปัญหาดังกล่าว และมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้

ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ Overtourism จะเกิดขึ้นในเขตเมืองหรือ City Destination แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดปัญหาในเขตชนบท สัญญาณของปัญหามีตั้งแต่การที่นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจพิจารณาได้จากคุณภาพการบริการ การรับรู้ภาพลักษณ์ของเมืองและลักษณะเฉพาะของเมืองที่อาจเปลี่ยนแปลงไป สาธารณูปโภคไม่เพียงพอแก่ความต้องการ สิ่งแวดล้อมถูกทำลายและประสบปัญหาการจัดการทรัพยากร ทั้งการจัดการสิ่งปฏิกูล น้ำ และพลังงาน วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง ไปจนถึงสัญญาณที่สำคัญที่สุดคือคนท้องถิ่นไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ Destination อีกต่อไป

Destination ทุกแห่งล้วนมีเอกลักษณ์และมีปัญหาที่เป็นความท้าทายเฉพาะตัว เกณฑ์ที่จะบอกว่า Destination ประสบปัญหา Overtourism จึงไม่ได้มีแค่เกณฑ์เดียว และวิธีแก้ปัญหาวิธีเดียวก็ไม่สามารถตอบโจทย์ของทุก Destination ได้

ขณะที่บางครั้งสถานการณ์นักท่องเที่ยวล้นทะลักก็ไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพต่างหากคือปัญหา Margaux Constantin,Associate Principal, McKinsey Council ได้เสนอปัจจัยที่ควรพิจารณาเมื่อประเมินปัญหา Overtourism ไว้ ได้แก่ สัดส่วนรายได้

ทางการท่องเที่ยวต่อ GDP และการจ้างงาน (Importance of Tourism)อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวต่อตารางกิโลเมตร (Density of Tourist) จำนวนนักท่องเที่ยวต่อประชากรในพื้นที่ (Tourism Intensity)ความรู้สึกแปลกแยกของคนท้องถิ่น รีวิวเชิงลบผ่านสังคมออนไลน์ ความแตกต่างของจำนวนที่นั่งในเที่ยวบินขาเข้าช่วง Hi และ Low Season (Arrival Seasonality) ความสามารถในการรองรับของสาธารณูปโภค จำนวนอนุภาคในอากาศที่สร้างมลพิษในแหล่งท่องเที่ยว (Annual Mean PM10 Concentration) ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานและคุณค่าทางวัฒนธรรม

การแก้ปัญหาด้วยการกระจายนักท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงหรือเขตชนบทอาจไม่ใช่ทั้งหมดมีอีกหลากหลายวิธีที่เราสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละ Destination ได้ โดยคำนึงถึงคนท้องถิ่นเป็นสำคัญ เช่น

จัดการ Flow ของนักท่องเที่ยว

เช่น การสร้างระบบจองล่วงหน้า การจำกัดการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว (จำกัดเวลาท่องเที่ยวบนเกาะ) การใช้เทคโนโลยี Realtime เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นความหนาแน่นของคนในแหล่งท่องเที่ยว ณ ขณะนั้นในอัมสเตอร์ดัม การจัดการเวลาเดินทางเข้า-ออกเมืองของนักท่องเที่ยวให้ไม่ชนกับเวลาเร่งด่วนของคนท้องถิ่น การขยายเมืองและ Public Space ให้รองรับผู้คนได้มากขึ้นและการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่น่าสนใจในเวลาที่แตกต่างกันเพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่เหมือนเดิม เช่น แคมเปญ Detourism ของเวนิสที่ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นมุมมองอื่นๆ ผ่านการสัมผัสเวนิสแบบคนท้องถิ่น

ใช้กลไกราคา

เช่น การใช้ Price Segmentation การตั้งราคาแบบ Premiumเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน (การขึ้นราคาค่าขึ้นชมหอไอเฟลร้อยละ 50) การตั้งราคาตามช่วงเวลา (ตำแหน่งที่ดีที่สุด เวลาที่ดีที่สุดของวัน เดือน และปี จะมีราคาแพงที่สุด) การเก็บภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม (ราคาตามจำนวนคืนที่พัก) หรือแม้กระทั่งการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา เช่น การจัดตั้งกองทุน Tourism Infrastructure Fund เพื่อช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวในประเทศนิวซีแลนด์

พัฒนาสินค้าทางการท่องเที่ยว

เช่นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวหรือกิจกรรมท่องเที่ยวใหม่และการปรับรูปแบบสินค้าให้มีเอกลักษณ์เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจแตกต่าง ไม่ใช่ดึงดูดนักท่องเที่ยว Mainstream เพียงกลุ่มเดียว

จัดการพฤติกรรมนักท่องเที่ยว

Frans van der Avert ซีอีโอของ Amsterdam Marketing กล่าวว่านักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับเมือง สนใจเพียงประสบการณ์ที่ได้รับโดยมีเมืองเป็นฉากหลังทำให้เกิดความไม่เคารพในความเป็นท้องถิ่น เราควรทำให้นักท่องเที่ยว (Tourist) รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มาเยือน (Visitor) และตระหนักถึงความเปราะบางของ Destination โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของเมือง ช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่แออัดและได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากเมืองรวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อรายได้ทางการท่องเที่ยวได้มาพร้อมผลกระทบทางลบ หากปราศจากการจัดการที่ดี คนท้องถิ่น บางกลุ่มอาจต้องการปิดเมือง Mato Frankovic นายกเทศมนตรีเมือง Dubrovnik สาธารณรัฐโครเอเชีย มีข้อคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า การเปิดเมืองให้เป็น Tourist Destination นั้นคือการส่งสาส์นบอกชาวโลกว่าเราเป็น Open City ดังนั้นในฐานะ Non-profit Tourism Organization (NTO) และ Destination Management Organization (DMO) เราควรถามตัวเองก่อนการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า Destination ของเราจะพัฒนาไปในทิศทางใด การท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบอย่างไร นักท่องเที่ยวแบบไหนที่ Destination ต้องการ มีการเตรียมการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอกับคนท้องถิ่นก่อนเผื่อแผ่ไปสู่นักท่องเที่ยวหรือไม่ และจะทำอย่างไรให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างแท้จริงได้มากที่สุด เพราะ NTO และ DMO ในปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงทำการตลาด แต่ต้องจัดการ Destination และบูรณาการการทำงานร่วมกับ Value Chain ด้วยซึ่งการวัดความสำเร็จของการส่งเสริมการท่องเที่ยวน่าจะหมายถึงการส่งมอบการบริการที่มีคุณภาพและทรงคุณค่ามากกว่าการนับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและต้องบอกให้ได้ด้วยว่าต้องเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จึงจะพอ

Sustainability

แม้ความยั่งยืนจะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในเวทีระดับโลก แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าหนทางใดคือหนทางที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง และเมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวกับความยั่งยืนก็แทบจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ Dr. Niko Paech ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์สาขาพหุนิยมและผู้เชี่ยวชาญ Post Growth Economy มหาวิทยาลัย Siegen ให้ความเห็นว่าการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ฟุ่มเฟือย การโดยสารเครื่องบินแต่ละครั้งทำลายระบบนิเวศ ทำให้แมลงสูญพันธุ์ อีกทั้งการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันก็มีส่วนทำลายธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังคงมีกลุ่มคนที่คิดว่าสามารถจัดการการท่องเที่ยวให้ไปสู่ความยั่งยืนได้ Michael Lutzeyer เจ้าของ Grootbos Private Nature Reserve ซึ่งเป็นที่พักระดับ 5 ดาวใน South Africa เล่าถึงความตั้งใจที่จะให้การท่องเที่ยวคืนประโยชน์สู่ชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างงานให้คนท้องถิ่นเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและพัฒนาการเกษตรแบบพอเพียง เช่น การปลูกผักเองในบริเวณที่พักLutzeyer มองว่าเราไม่สามารถบอกให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเพื่อการอนุรักษ์ได้ แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงแล้ว เราสามารถนำเสนอกิจกรรมที่จะทำให้เขาเข้าใจธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ได้ ซึ่งจะทำให้มุมมองของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป

เมื่อหันมามองบทบาทของ NTO อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบันไม่ได้เป็นแค่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใน
บริบทเดิมอีกต่อไป ทำให้ NTO มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันเศรษฐกิจสู่ Green Economy อย่างยั่งยืนและกระจายผลประโยชน์สู่ทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาค The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้แนะนำแนวทางการลงทุนและสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนใน 4 แนวทาง ได้แก่ การสร้างระบบขนส่งทางเลือกแบบ Low Carbon การลงทุนในสาธารณูปโภคประหยัดพลังงาน

การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืนซึ่งการสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถทำได้หลายทาง เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการที่พักให้จัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว นวัตกรรม การจัดการของเสีย การจัดการระบบนิเวศให้คงความหลายหลากทางชีวภาพและการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งเมื่อ NTO มีแนวทางที่ชัดเจนแล้ว การทำงานในขั้นตอนต่อไปร่วมกับ ผู้เกี่ยวข้องอาจมีได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

– การจัดทำแคมเปญการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

– การสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ

– การสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งสู่ความยั่งยืน

โดยมีตัวอย่างที่ OECD ดำเนินการร่วมกับประเทศต่างๆ ดังนี้

การจัดที่แคมเปญการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

– เม็กซิโก

แคมเปญเงินกู้ระยะยาว (Long Term Loan) และรับประกันความเสี่ยงร่วมกัน (Public Guarantee) ในการลงทุนผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงแรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก

อังกฤษ

แคมเปญการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม(Impact Investing) ในการเปลี่ยนอาคารสำนักงานที่ไม่ใช้แล้วให้กลายเป็น Green Hotel โดยใช้ผ้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล

สเปน

แคมเปญ Eco Tax ในหมู่เกาะ Balearic ที่นักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายภาษี 2 ยูโรต่อคืน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะ

ออสเตรเลีย

Reef Fund Program สนับสนุนธุรกิจเพื่อพลังงานสะอาด การสร้างพาหนะลดมลพิษ และการปรับปรุงอาคารหรือที่พักเก่า

นิวซีแลนด์

Tourism Infrastructure Fund ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อการท่องเที่ยวและช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นที่ประสบ
ปัญหาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

การสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ

ออสเตรเลีย

The Australian Trade and Investment Commission (Austrade) ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวก รวมถึงจัดทำขั้นตอน/กฎระเบียบที่คล่องตัวให้กับนักลงทุน

สวีเดน

The Swedish Agency for Economic and Regional Growth สนับสนุนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนตาม
ความต้องการของแต่ละ Destination หรือแต่ละภูมิภาค

การสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบและมุ่งสู่ความยั่งยืน

ฝรั่งเศส

The Chamber of Commerce and Industry สนับสนุนสมาชิกให้ทำธุรกิจ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและต่อสู้กับความท้าทายในการเป็น Green Business ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ

 ไอซ์แลนด์

The Icelandic Centre for Corporate Social Responsibility และ the Icelandic Tourism Cluster สนับสนุน SMEs ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นต้นแบบในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและเคารพธรรมชาติ

 เยอรมนี

สมาคมที่พักและร้านอาหารจัดทำแคมเปญให้โรงแรมเข้าร่วมระบบประหยัดพลังงาน ซึ่งช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในเวลาเดียวกัน

เพื่อให้การลงทุนและสนับสนุนงบประมาณเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐอาจจำเป็นต้องออกนโยบายเพื่อช่วยลดช่องโหว่ในการดำเนินการ เช่น มีเกณฑ์วัดความยั่งยืนประกอบการพิจารณาให้การสนับสนุนการลงทุน ให้ Incentive กับธุรกิจที่ลงทุนในสาธารณูปโภคโดยใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลทุกภาคส่วน และปรับปรุงข้อมูลรวมถึงวิธีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หัวข้อสัมมนาอ้างอิง
– Overtourism: Status Quo, Measures, Best Practices From European Tourism Destinations

– Focus On Overcrowded Destinations: Measures And Lessons Learned

– Tackling “Overtourism” At Destinations: Best Practice Solutions From Setting Quotas To Pricing To High Tech

– ITB Ministers’ Roundtable – Tourism in the 21st Century: Tourism Policy Caught between Growth Strategies and Overtourism

– The Hot Seat: Sustainability And Tourism ะ A Conflicted Relationship?!

– Investment and Financing For Sustainable Tourism: Country Practices And Policy Message

เรียบเรียง
มธุรส วัฒนโกเมร หัวหน้างานกลยุทธ์การตลาดในประเทศ ททท.

Share This Story !

5.6 min read,Views: 1608,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 26, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 26, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 26, 2024