
สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศปี 2564
ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว
ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2564
แนวโน้มสถานการณ์การท่องเที่ยว
โดยงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด ททท.
- ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม): สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศปี 2564 หดตัวต่อเนื่องจากปี 2563 แต่ปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังจากนโยบายเปิดประเทศ Thailand Reopening และการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง
- สถานการณ์การเดินทางตลาดต่างประเทศได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลก สถานการณ์การระบาดทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหลังพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ “สายพันธุ์เดลต้า” ที่แพร่กระจายไปยังหลายประเทศอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศเร่งยกระดับมาตรการควบคุมโรค รวมทั้ง “จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ” เพื่อควบคุมการระบาดฯ ขณะที่ไทยคงมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 14 วัน
- อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง จากปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ (1) การกระจายวัคซีนต้าน COVID-19 ที่ครอบคลุมประชากรในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคดังกล่าวที่ได้รับวัคซีนครบโดสมีความเชื่อมั่นในการเดินทาง (2) นโยบายส่งเสริมนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส “โดยไม่กักตัว” ผ่านโครงการ Phuket Sandbox Samui Plus และ Phuket Sandbox 7+7 Extension และ (3) การประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ “Thailand Reopening” (พ.ย. 64) ซึ่งเป็นแรงเสริมกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ปี 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 427,869 คน หดตัวร้อยละ 93.61 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563* โดยมีนักท่องเที่ยวที่มาจากภูมิภาคยุโรปมากที่สุด รองลงมาคือ ภูมิภาคอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ
- นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุด 10 อันดับแรก: ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลางเป็นหลัก ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส อิสราเอล จีน เกาหลีใต้ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ
สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวรายไตรมาสปี 2564:
ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2564): การเดินทางท่องเที่ยวไทยของตลาดต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ทุกภูมิภาคยกระดับมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเข้มงวด อาทิ มาตรการล็อกดาวน์ ห้ามการเดินทางมาไทย (Travel Ban) ห้ามการเดินทางกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป (Leisure) การระงับเที่ยวบินเข้าไทยชั่วคราว ฯลฯ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออก โอเชียเนีย และเอเชียใต้ (จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย และออสเตรเลีย) ในขณะที่ไทยผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอนุญาตให้เที่ยวบินกึ่งพาณิชย์สามารถบินเข้าไทยได้ เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่ม อาทิ นักธุรกิจ กลุ่มพำนักระยะยาว (Special Tourist Visa) กลุ่มผู้เข้ามารักษาพยาบาล ฯลฯ รวมถึงมีการนำสถานประกอบการท่องเที่ยวมาปรับใช้เป็นสถานที่กักตัวควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุข อาทิ โรงแรม สปารีสอร์ตเพื่อสุขภาพ สนามกอล์ฟ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น
ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2564): การระบาดรอบใหม่ของไวรัส COVID-19 “สายพันธุ์เดลต้า” เป็นอุปสรรคฉุดรั้งการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และ กลุ่มประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการเดินทางระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง หลังจากมีการเร่งอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยหลายประเทศทยอยเปิดพรมแดนและผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส อาทิ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ตามนโยบาย Traffic Light System (17 พ.ค. 64) อิสราเอล และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศโดยยกเว้นการกักตัว (มิ.ย. 64) โดย ททท. มีการเตรียมความพร้อมและวางแผนส่งเสริมตลาดรองรับการเดินทางท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายจากภูมิภาคดังกล่าว เช่น การส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านโครงการเปิดเมืองท่องเที่ยวนำร่อง (City Marketing) และการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยผ่านมาตรฐาน SHA : Amazing Thailand Safety & Health Administration เป็นต้น
ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2564): Kick-Off “Phuket Sandbox Model” กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย จำนวนนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นชัดเจนระดับหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
1.) การดำเนินการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของ ททท. ผ่านโครงการ Phuket Sandbox (1 ก.ค. 64) Samui Plus (Sealed Route) (15 ก.ค. 64) และ Phuket Sandbox 7+7 Extension (ภูเก็ต+สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต+กระบี่, ภูเก็ต+พังงา) (24 ส.ค. 64)
2.) อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดลูกค้าหลักของไทยทั้งตลาดระยะไกลและตลาดระยะใกล้ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล กลุ่มประเทศยุโรป สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
3.) สายการบินต่างชาติและสายการบินของไทยประกาศแผนการบินเข้าภูเก็ต
ตามนโยบายเปิดเมือง Phuket Sandbox และพื้นที่เกาะสมุย (Sealed Route) อาทิ Qatar, Emirates, Turkish Airline, EI AI Israel Airlines, Singapore Airlines, Finnair, Korean Air, Thai Airways และ Bangkok Airways โดยมีเส้นทางบินตรงรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าเมืองภูเก็ตและสมุย
ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2564): แรงหนุนจาก Thailand Reopening และการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงฤดูท่องเที่ยวไทยปลายปี โดยมีปัจจัยผลักดันสำคัญคือ
- ไทยยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ (ก.ย. 64) หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยระลอกเดือนเมษายนอยู่ในระดับควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวไทย
- ไทยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยภายใต้โครงการ Phuket Sandbox อาทิ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศเดินทางเข้าไทยได้ และ ลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน (จากเดิม 14 วัน) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564
- ความชัดเจนของนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอย่างเป็นทางการ (Thailand Reopening) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยกำหนดแนวทางและเงื่อนไขผู้เดินทางเข้าไทย จำแนกเป็น 3 รูปแบบ:
1) นักท่องเที่ยวจากประเทศนำร่องไม่กักตัว หรือ Exemption From Quarantine (TEST&GO) คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส จาก 63 ประเทศ/พื้นที่ กักตัว 1 คืนในโรงแรมเพื่อรอผลตรวจ COVID-19 หากผลตรวจเป็นลบ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกพื้นที่ของไทย
2) นักท่องเที่ยวกลุ่ม Living in the Blue Zone พื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัด (Sandbox) คือ นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดส แต่มาจากประเทศที่อยู่นอกเหนือเกณฑ์ 63 ประเทศ/พื้นที่ ต้องเดินทางเข้ามาพักใน 17 จังหวัดนำร่อง เป็นเวลา 7 วัน
3) นักท่องเที่ยวกลุ่ม Happy Quarantine คือ นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบตามเกณฑ์ จำเป็นต้องกักตัวเป็นเวลา 7-14 วันในสถานที่ที่ราชการกำหนด
- การเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติมต่อจากโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus อาทิ กรุงเทพมหานคร พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน ฯลฯ
- ประเทศลูกค้าหลักของไทยปลดล็อกข้อจำกัดการเดินทางออกต่างประเทศของนักท่องเที่ยว อาทิ อินเดีย และ รัสเซีย อนุญาตให้เที่ยวบินพาณิชย์กลับมาทำการบินเข้าไทยได้ ออสเตรเลีย อนุญาตให้เดินทางออกต่างประเทศสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสในเดือนพฤศจิกายน 2564
- การเพิ่มเส้นทางบินตรงเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของไทยในตารางบินฤดูหนาว
ปี 2564-2565 จากเส้นทางบินในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก เข้ากรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และกระบี่ จากเดิมที่มีเที่ยวบินรองรับเข้าภูเก็ตและสมุยในโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus เป็นหลัก
จัดทำข้อมูลโดย งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด ททท.
*จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่อาจมีการปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นภายหลัง
ที่มา: กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา (ณ วันที่ 20 มกราคม 64)
************************