Purpose – Driven: The Changing Roles of 2024’s Business

 

 

ธิติสรร พึ่งกัน

จากงาน TrendWatching’s Amsterdam 2023

 

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน เริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นของยุคอาณานิคมที่ธุรกิจเริ่มมีบทบาทในการแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดจากดินแดนต่าง ๆ ก่อนก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ธุรกิจให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางอุตสาหกรรมโดยใช้เชื้อเพลิงขับเคลื่อนการผลิตอย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะสมและส่งผลกระทบต่อโลกและสังคมอย่างต่อเนื่องมายาวนาน 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1990s บทบาทของธุรกิจต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีแนวคิดด้าน CSR เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากการแสวงหาผลกำไรแล้ว ยังมีการแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้กับการกุศลด้วย ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ยุควิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ธุรกิจจะแสวงหาผลกำไรพร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน และในช่วงทศวรรษที่ 2010s ธุรกิจต่าง ๆ ก็เริ่มเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของความยั่งยืน และยุคที่ขับเคลื่อนธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ไม่ใช่แค่กับผู้ถือหุ้นของตนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ในปี 2024 ที่จะถึงนี้ บทบาทของธุรกิจต่าง ๆ บนโลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากแนวคิดของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และนี่คือ 3 ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและโลกของเราต่อจากนี้

 

1.The Rise of Conscious Consumerism – การเพิ่มขึ้นของการบริโภคนิยมอย่างมีสติ

ในปี 2022 Yotpo แพลตฟอร์มการตลาดเพื่อการรักษาลูกค้า eCommerce ระบุว่า 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีค่านิยมสอดคล้องกับตนเอง และตัวเลขดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ในกลุ่ม Gen Z ผู้บริโภคเริ่มมีแนวคิดว่าการเลือกซื้อสินค้าเท่ากับการลงคะแนนเสียง (Buying = Voting) พฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคจะไม่นึกถึงแค่ตนเองเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงการแบ่งปันให้กับโลกด้วย ยกตัวอย่างเช่น จากการเลือกซื้อโยเกิร์ตทั่วไป เปลี่ยนเป็นการเลือกซื้อโยเกิร์ตยี่ห้อ Chobani ที่จ้างงานผู้ลี้ภัยและช่วยสนับสนุนเงินให้กับ UNHCR เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทั่วโลก เป็นต้น 

ในปี 2024 ผู้บริโภคจะหันมา “เปลี่ยนการซื้อให้เป็นการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม” ซึ่งสอดคล้องกับ Wunderman Thompson หน่วยงานด้านการสื่อสารการตลาดระดับโลกที่ระบุในปี 2023 ว่า 52% ของผู้บริโภคทั่วโลกอ้างว่าพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม

 

2.The End of Greenwashing Era – การสิ้นสุดของยุคฟอกเขียว

ในปี 2021 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ระบุว่า 53% ของการกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป ให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ทำให้เข้าใจผิด หรือไม่มีมูลความจริง และอีก 40% ไม่มีหลักฐานสนับสนุนใด ๆ เลย นอกจากนี้ ในปี 2023 Justin Keeble กรรมการผู้จัดการด้านความยั่งยืนระดับโลกของ Google Cloud ระบุว่า 59% หรือ 6 ใน 10 ของผู้บริหารทั่วโลกที่ร่วมตอบแบบสอบถามยอมรับว่า การเป็นตัวแทนด้านกิจกรรมความยั่งยืนของพวกเขาไม่ถูกต้องหรือพูดเกินจริง โดยตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อการแสดงจุดยืนด้านความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาความไว้วางใจของผู้บริโภคลดลงมากกว่าครึ่ง โดยลดลงจาก 48% ในปี 2021 เหลือเพียง 20% ในปี 2023 เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เชื่อว่าหลายธุรกิจไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลก หรือ “ฟอกเขียว” เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน European Commission ได้เสนอคำสั่งในการควบคุมค่าทางสิ่งแวดล้อม (Green Claims) ซึ่งวางกฎเกณฑ์โดยละเอียดเกี่ยวกับการพิสูจน์ สื่อสาร และตรวจสอบความถูกต้องของการกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสมัครใจ รวมถึงสหภาพยุโรปได้มีการเสนอคำสั่งเพื่อต่อสู้กับการฟอกเขียวและบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกและความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตและการบริโภคของสหภาพยุโรป 

ในปี 2024 หลายธุรกิจจะหันมา “สร้างความไว้วางใจด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง” เพื่อตอบรับคำสั่งและกฎหมายสีเขียวต่าง ๆ รวมถึงเพื่อกู้ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมา

 

3.The Quest for Meaningful Jobs – การแสวงหางานที่มีความหมาย

การลาออกครั้งยิ่งใหญ่ หรือ “The Great Resignation” ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสาเหตุด้านภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและจากการแสวงหางานที่มีความหมายต่อตนเองและสังคม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาของสหรัฐอเมริการะบุว่า พนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 59% กำลัง “ลาออกอย่างเงียบ ๆ” และอีก 18% ลาออกแบบไร้เยื่อใย นอกจากนี้ PwC บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ระดับโลกได้ระบุว่า 26% ของพนักงานทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนนายจ้างในปี 2023 โดยเพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อน โดยในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับธุรกิจที่นำโดยพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 40% หากเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยพนักงานจะร่วมกันกดดันบริษัทให้ทำอะไรบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเขามองว่าสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การหยุดงานประท้วงของพนักงาน Netflix เพื่อต่อต้านมุกตลกโจมตี และเหยียดกลุ่ม LGBTQ+ หรือล่าสุดที่พนักงานของ Amazon ประท้วงบริษัทที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพนักงาน GEN Z มีแนวโน้มที่จะออกมาพูดและกดดันให้บริษัทต้องรับผิดชอบต่อปัญหาสังคมมากกว่าถึง 2 เท่า ทั้งเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต เป็นต้น

ในปี 2024 พนักงานจำนวนมากจะแสวงหางานที่ “ช่วยให้พวกเขาค้นพบความหมายที่แท้จริงในการทำงาน” ซึ่งสอดคล้องกับ Edelman บริษัทให้คำปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดของสหรัฐอเมริกาที่ระบุในปี 2022 ว่า 7 ใน 10 ของพนักงานทั่วโลกต้องการให้งานของตนสามารถสร้างคุณค่าต่อสังคมได้อย่างมีความหมาย

 

จาก 3 ปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญที่กล่าวถึงข้างต้น จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ ใน 4 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ 

  • Awakened Sustainability – ตื่นตัวในความยั่งยืน
  • Regenerative Business – ธุรกิจเกื้อกูลโลก
  • Open Board – เปิดบอร์ด(บริหาร) เปิดใจ
  • Owned Purpose – แน่วแน่ในวัตถุประสงค์

 

  • Awakened Sustainability – ตื่นตัวในความยั่งยืน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา IBM ผู้ให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลก ระบุว่า 72% ของผู้บริหารทั่วโลกกล่าวว่า ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ) เป็นสิ่งที่ต้องได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในองค์กร ในปี 2024 ความยั่งยืนจะไม่เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดอีกต่อไป จากแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่มีความยั่งยืนเป็นจุดเสริม จะกลายเป็นการใช้ความยั่งยืนเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อ “สร้างความไว้วางใจอีกครั้งโดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นอันดับแรก และกำไรเป็นที่สอง”

ตัวอย่างแบรนด์ที่เสนอสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่สอดคล้องกับเทรนด์

Lombard Odier 

ผู้ให้บริการไพรเวตแบงก์ของสวิตเซอร์แลนด์ ว่าจ้าง Marc Palahí ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงระดับโลก มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธรรมชาติเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ยั่งยืนเป็นคนแรก ซึ่งจะรับผิดชอบการพัฒนาหน่วยการลงทุนที่ยั่งยืน (holistiQ Investment Partners) โดยมีแผนจะเปิดตัวเครื่องมือและกลยุทธ์การลงทุนเพื่อสนับสนุนการยุติกิจกรรมที่ก่อคาร์บอนสูง ไปสู่กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อธรรมชาติ (Lombard Odier, 2023)

Faith In Nature

แบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามจากวัตถุดิบธรรมชาติในสหราชอาณาจักร ได้แต่งตั้ง “ธรรมชาติ (Nature)” เป็นกรรมการบริหารอย่างถูกกฎหมาย โดยมีสิทธิ์ในการออกเสียงและลงคะแนนเสียงในนามของ Nature เช่นเดียวกับกรรมการที่เป็นมนุษย์ ภายใต้โมเดล “ความเป็นผู้พิทักษ์” ผ่านตัวแทนที่เป็นมนุษย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย (โดยตัวแทนจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับที่ผู้ปกครองทำเพื่อเด็กในการดำเนินคดีทางกฎหมาย) โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการในนามของ Nature สำหรับการตัดสินใจที่สำคัญทั้งหมด เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ (TrendWatching, 2023)

 

  • Regenerative Business – ธุรกิจเกื้อกูลโลก

ธุรกิจบนโลกของเราได้ก้าวผ่านยุคของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร (Business As Usual) สู่ยุคของการลดผลกระทบเชิงลบ (Sustainable Business) และในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการฟื้นฟูระบบนิเวศ ตอบแทนธรรมชาติและผู้คน (Regenerative Business) ในปี 2022 John de Yonge ผู้อำนวยการด้านข้อมูลเชิงลึกระดับโลกของ Ernst & Young (EY) ระบุว่า การฟื้นฟูนำเสนอภาพที่ชัดเจนของอนาคตที่เราต้องการบรรลุ มากกว่าภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่เราต้องหลีกเลี่ยง ในปี 2024 จากการทำร้ายโลกให้น้อยลง จะกลายเป็นการทำดีกับโลกให้มากขึ้น แนวคิด “การซื้อ = ฟื้นฟูธรรมชาติและชุมชน” จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

 

ตัวอย่างแบรนด์ที่เสนอสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่สอดคล้องกับเทรนด์

Nestlé

Nestlé วางแผนที่จะเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานข้าวสาลีขนาด 100,000 เอเคอร์ (253,000 ไร่) ไปสู่เกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative Agriculture โดยมีหลักการและแนวปฏิบัติที่เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างคุณภาพดิน ปรับปรุงแหล่งต้นน้ำ และเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ ผ่านการใช้แนวทางการเกษตรเชิงฟื้นฟูในฟาร์มข้าวสาลีภายในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงิน ทางด้านเทคนิค การปลูกพืชคลุมดิน รวมถึงลดการใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกันทั่วทั้งระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าสำหรับ Nestlé คุณค่าสำหรับเกษตรกร คุณค่าสำหรับผู้บริโภค และคุณค่าสำหรับโลก (Nestlé, 2023)

TAZO

แบรนด์ย่อยของ Lipton Tea ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นธุรกิจที่เกื้อกูลโลก (Regenerative Business Transformation) ในทุกแง่มุม ตั้งแต่กรรมวิธีผลิตชาไปจนถึงการรับรองว่าพันธมิตรด้านการเกษตรจะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและได้รับการปฏิบัติที่ดี นอกจากนี้ แบรนด์ยังสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาศักยภาพให้กับพนักงานและเกษตรกรที่ปลูกชา/สมุนไพรให้กับแบรนด์ รวมไปถึงส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและปรับปรุงคุณภาพของดินและน้ำ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยล่าสุดแบรนด์ได้นำเสนอโฆษณาเชิงฟื้นฟูตัวแรกของโลกเพื่อประกาศการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ โดยแต่ละครั้งที่มีผู้กดดูโฆษณา แบรนด์จะบริจาค 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ Rodale Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อการศึกษา ฝึกอบรมเกษตรกร และการวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์เชิงฟื้นฟู  (TrendWatching, 2023)

 

 

  • Open Board – เปิดบอร์ด(บริหาร) เปิดใจ

ในปี 2022 Ogilvy & Thred Media หน่วยงานโฆษณาการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ระบุว่า 87% ของกลุ่ม Gen Z ยินดีที่จะทุ่มเทเวลาหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานเพื่อแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบ ในปี 2024 “การมอบโอกาสให้พนักงานรุ่นใหม่มีสิทธิ์ที่จะพูดและให้เสียงสะท้อน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ธุรกิจระดับโลกให้ความสนใจ

 

ตัวอย่างแบรนด์ที่เสนอสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่สอดคล้องกับเทรนด์

PUMA

PUMA เปิดตัว Voices of a RE:GENERATION ซึ่งเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อรวมมุมมองของคนรุ่นใหม่เข้ากับกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท โดยจะมีผู้นำทางความคิดที่เป็นคนรุ่นใหม่ 4 คนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นที่ปรึกษา และพบปะกับประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดหา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ และสมาชิกในทีมความยั่งยืนของแบรนด์ปีละ 3 ครั้ง เพื่อให้ความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ว่าแบรนด์สามารถปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนได้อย่างไรในมุมมองคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ จากการวิจัยของ PUMA พบว่า 71% ของคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าความเห็นในเรื่องสิ่งแวดล้อมของพวกเขาไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ผู้ตอบแบบสอบถาม 49% ยังระบุด้วยว่าพวกเขาต้องการให้แบรนด์ให้คำมั่นสัญญามากขึ้น และ 34% ต้องการให้แบรนด์เปิดเผยและตรงไปตรงมามากกว่านี้ โดยแบรนด์ระบุว่า “เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่ในห้องประชุมผู้บริหารและการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พวกเราทุกคนล้วนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตของเรา เรากำลังทำงานร่วมกับนักคิดรุ่นใหม่ 4 คน ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการบริหารและให้สิทธิ์ในการออกเสียง” (PUMA, 2023)

The Body Shop

หนึ่งในแบรนด์ด้านความงามที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจด้านธุรกิจของแบรนด์ โดยให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมผู้บริหาร และเปิดตัวกลุ่ม The Youth Collective ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มพนักงานอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่ทำงานภายใน The Body Shop และจากธุรกิจ B Corp อื่น ๆ (ธุรกิจที่เป็นไปตามมาตรฐานระดับสูงในด้านการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบ และความโปร่งใสที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว) โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้จะให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจต่อทีมบริหารของแบรนด์ ซึ่งจากข้อมูลของ PwC ระบุว่า 38% ของพนักงานทั่วโลกเป็นพนักงาน Gen Z และ Millennials และจะเพิ่มขึ้นถึง 58% ภายในปี 2030 แต่อายุเฉลี่ยของบอร์ด FTSE 150 (ดัชนีของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 150 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน) อยู่ที่เกือบ 60 ปี ดังนั้น The Body Shop จึงแก้ไขช่องว่างนี้ด้วยการกำหนดกลุ่ม Youth Collective เพื่อรับฟังมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ (The Body Shop, 2023)

 

 

  • Owned Purpose – แน่วแน่ในวัตถุประสงค์

จากข้อมูลของ Google ในปี 2023 ระบุว่า 84% ของผู้บริหารทั่วโลกเชื่อว่าโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนของพวกเขาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีโครงสร้างที่ดีและมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ในปี 2024 จากการแถลงวัตถุประสงค์ที่นำไปสู่กลยุทธ์ของธุรกิจต่าง ๆ จะเข้าสู่ “การฝังวัตถุประสงค์เข้าไปในโครงสร้างทางกฎหมายของธุรกิจ” 

 

ตัวอย่างแบรนด์ที่เสนอสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่สอดคล้องกับเทรนด์

Patagonia

แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งในสหรัฐอเมริกาและหนึ่งในธุรกิจ B Corp ได้โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดให้กับหน่วยงานใหม่สองแห่งคือ Patagonia Purpose Trust และ Holdfast Collective โดยทุก ๆ ดอลลาร์ที่ไม่ได้นำกลับมาลงทุนใหม่ใน Patagonia จะถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลเพื่อปกป้องธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนชุมชนที่เจริญรุ่งเรือง และต่อสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้ง Patagonia ยังได้ประกาศว่า “ตอนนี้โลก (Earth) เป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวของเรา” (TrendWatching, 2023)

Tony’s Chocolonely

หนึ่งในแบรนด์ช็อกโกแลตรายใหญ่ที่สุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้จัดทำโครงสร้างการกำกับดูแลใหม่ที่เรียกว่า “หุ้นทองคำ” (Golden Shares) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถือหุ้นลดความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนในอนาคต ผ่านการแต่งตั้ง “ผู้พิทักษ์ภารกิจ” (Mission Guardians) ที่มีอำนาจยับยั้งการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ด้านจริยธรรม และมีอำนาจในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายต่อหลักการจัดหา และภารกิจในการกำจัดความไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งการแสวงหาผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พนักงาน เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ หุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือผู้บริโภค สามารถแจ้งปัญหากับผู้พิทักษ์ได้โดยไม่เปิดเผยตัวตน โดยผู้พิทักษ์จะทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และหากแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ผู้พิทักษ์มีสิทธิ์เผยแพร่ข้อกังวลของตนในรายงานประจำปีของบริษัทและผ่านโฆษณาในหนังสือพิมพ์แบบเต็มหน้า หรือส่งเรื่องเพื่อสอบสวนทางกฎหมายและอนุญาโตตุลาการที่ห้องวิสาหกิจของศาลอุทธรณ์ในอัมสเตอร์ดัม (TrendWatching, 2023)

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกของเราเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ภาวะโลกร้อนที่ยังคงเดินหน้าต่อไปและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง จนส่งผลให้อุณหภูมิโลกของเราเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และการถือกำเนิดของไวรัส COVID-19 ที่ทำให้แนวคิดและรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน การปรับตัวอย่างจริงจังเพื่อช่วยกันลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับโลกหลังจากนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือทำกันอย่างจริงจังเพื่อฟื้นฟูโลกให้กลับมาดีเหมือนเดิม ดังเช่นที่ Dr. Joëlle Gergis นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและผู้เขียนนำของรายงานการประเมินฉบับที่หกของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC Sixth Assessment Report) ได้กล่าวไว้ว่า “ในช่วงทศวรรษที่ 2020s นี้ จะถูกจดจำไว้ว่าเป็นทศวรรษที่กำหนดชะตากรรมของมนุษยชาติ พวกเราสามารถเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ และเมื่อเราทำเช่นนั้น มันจะนำความหมายและจุดประสงค์อันลึกซึ้งมาสู่ชีวิตของพวกเรา”

 

ที่มา: จากการเข้าร่วมงาน TrendWatching’s Amsterdam 19 กันยายน 2023

Share This Story !

4.6 min read,Views: 1226,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024