โลก (ท่องเที่ยว) หลัง COVID-19

No one can tell how the world will be after the COVID-19 outbreak. One thing for sure is that the virus has entirely changed our way of transport, plus economic regression that affects industries around the world. However, it is the tourism industry that would mostly encounter this challenge, so travel and tourism may not be the same anymore.

 

ที่จริงแล้ว ยังไม่มีใครตอบได้แน่ชัดนักหรอกว่า

โลกหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเป็นอย่างไรบ้าง

 

บางคนบอกว่าจะเกิด New Normal หรือความปกติแบบใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐาน บางคนบอกว่าโลกอาจไม่สามารถกลับคืนสู่ Normalness หรือความปกติใดๆ ได้อีก ไม่ว่าจะแบบใหม่หรือแบบเก่า แต่บางคนก็บอกว่า แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นสั้นเกินกว่า จะสั่นคลอนวิถีชีวิตที่มนุษย์เคยมีมาเป็นร้อยเป็นพันปีได้ ดังนั้น สุดท้ายโลกก็จะกลับคืนสู่วิถีเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นจึงคือ Normalness ที่ไม่ New

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นแน่ๆ ก็คือโคโรนาไวรัสได้เปลี่ยนวิธีที่เราเดินทางไปอย่างสิ้นเชิง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด น่าจะคืออุตสาหกรรมการบิน และแน่นอน อุตสาหกรรมถัดมาที่เป็นผลพวงจากการบิน ก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะผลกระทบระยะสั้น เกิดจากการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ ทำให้การเดินทางเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งก็แปลว่าการท่องเที่ยวได้หยุดชะงักลงด้วย

แต่นั่นเป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น ยังไม่นับรวมผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นเพราะโรคระบาด จะส่งผลยาวนานและรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

ก่อนหน้านี้ หลายประเทศเคยเตรียมการในเรื่องสนามบินเพื่อรองรับการเดินทางของคนปีละหลายสิบ (หรืออาจถึงหลักร้อย) ล้านคน ซึ่งก็รวมทั้งสนามบินในไทยด้วย นั่นเพราะก่อนโคโรนาไวรัสมาถึง อุตสาหกรรมการบินนับตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปี 2019 มีแต่จะเติบโตขึ้น สนามบินต่างๆ พบกับการเติบโตรายปีตั้งแต่ 5.5% (ในประเทศที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงขีดสุดแล้ว เช่น ในอเมริกา) และอาจมากถึง 12.1% กับประเทศที่กำลังเติบโต เช่น ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ก็คือ อุตสาหกรรมเดินเรือ โดยเฉพาะเรือสำราญหรูหราต่างๆ เพราะเรือสำราญที่มีผู้ติดเชื้อ กลับกลายเป็นแหล่งกักกัน สื่อหลายสื่อขนานนามเรือสำราญว่าเป็น ‘จานเพาะเชื้อเคลื่อนที่ได้’ ทั้งที่มีผู้วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางเรือโดยเรือสำราญนั้น กำลังอยู่ใน ‘ขาขึ้น’ แท้ๆ แต่เมื่อพบกับโคโรนาไวรัสที่ไม่เลือกชนชั้นหรือสถานะทางสังคม และสามารถแพร่ระบาดได้ในที่ที่แออัด ผู้คนอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้ป้องกัน เรือสำราญจึงกลายเป็นเป้าหมายของไวรัสไปอย่างช่วยไม่ได้

ถ้าเราดูเทรนด์ทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1961 ถึง 2019 เราจะพบว่าเกือบตลอดมา การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นสูงกว่า GDP เฉลี่ยของโลกเสมอ แนวโน้มนี้เริ่มตั้งแต่ทศวรรษหกศูนย์แล้ว นั่นคือผู้คนเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาเปิดตัว เปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ‘เมกะเทรนด์’ นี้ ทำให้ทุกประเทศมองเห็นโอกาส ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมใหม่ที่ทำรายได้เข้าประเทศให้มหาศาล แถมยังส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม เกิดการแลกเปลี่ยนใหม่ๆ ทั้งในแง่วัฒนธรรมและทุน แม้สิ่งที่อาจเสียไปคือสิ่งแวดล้อมแต่ในระยะหลังก็เริ่มมีการปรับปรุงและสร้างจิตสำนึกให้กับทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ให้บริการมากขึ้น

ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน – ว่าจะมีอะไรสามารถ ‘หยุด’ เมกะเทรนด์ที่ใหญ่โตขนาดนี้ได้

 

จนกระทั่งโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้มาถึง

 

ประเทศอย่าง ไทย โปรตุเกส จาเมกา สเปน ตุรกี และกระทั่งสาธารณรัฐโดมินิกัน ต่างมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคอยหนุนและค้ำจุน GDP อย่ระหว่าง 16% ถึง 50% กันทั้งนั้น ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จึงเปราะบางต่อการล่มสลายของภาวะเศรษฐกิจซ้ำเข้าไปอีก ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทั้งหกประเทศที่ว่ามา อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาอันสั้น หรือแม้กระทั่งในระยะกลาง และถ้าหากว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นได้ยาก เศรษฐกิจ โดยรวมก็จะฟื้นได้ยากเช่นเดียวกัน

ในทางเศรษฐศาสตร์ มีสิ่งที่เรียกว่า ‘กฎของโอคุน’ (Okun’s Law) ซึ่งตั้งชื่อตาม อาร์เธอร์ เมลวิน โอคุน (Arthur Melvin Okun) กฎนี้พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงานกับการเติบโตของ GDP และบอกไว้ว่า ถ้าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะทำให้ GDP ของประเทศต่ำลงกว่า GDP ที่ควรจะเป็นตามศักยภาพเดิมประมาณ 2% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มหาศาลมาก

แน่นอน สำหรับประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก (อย่างเช่น 6 ประเทศที่ว่ามา) โคโรนาไวรัส ย่อมทำให้เกิดภาวะว่างงานเป็นจำนวนมหาศาล เพราะกิจการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต้องปิดตัวลง (หรืออย่างน้อยก็หยุดชะงักหรือปิดตัวชั่วคราว) เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบ แล้วส่งปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องมา ซึ่งก็แปลว่า GDP จะต้องลดลงไม่น้อย ยิ่งถ้าประเทศพึ่งพิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากๆ เผลอๆ อาจจะลดลงมากกว่ากฎของโอคุนเสียอีก

 

 

มีผู้ยกตัวอย่างประเทศอย่างตุรกี โดยบอกว่าในปี 2018 ตุรกีมีตัวเลข รายได้จากการส่งออกราวๆ 168 พันล้านเหรียญ โดยในจำนวนนี้มีรายได้ จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 16.6% (คือ 28 พันล้านเหรียญ) ในขณะที่สินค้า ส่งออกอย่างเครื่องจักรและเหล็กอยู่ที่ราว 26.4 พันล้านเหรียญ หรือราว 15.4% ซึ่งก็แปลว่าคนจำนวนมากในตุรกีมีรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม ฯลฯ การขาดหายไปของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวย่อมส่งผลกระทบรุนแรง

ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ เมื่อขาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งก็คือการขาด ‘เครื่องยนต์เศรษฐกิจ’ สำคัญไปหนึ่งตัว ในระยะยาวจะยิ่งส่งผลต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่ ซึ่งไปผลักดันให้ภาวะว่างงานเกิดมากขึ้น เมื่อว่างงานมากขึ้น GDP ก็จะยิ่งลดลง (ตาม Okun’s Law) จึงเกิดวัฏจักรและการเสื่อมถอย ลงไปเรื่อยๆ แบบ Spiral

รายงานของ FM Global Resilience Index บอกว่า การฟื้นตัวและ ความทนทานในทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน บางประเทศอาจฟื้นตัวและมีความทนทานในทางเศรษฐกิจน้อยกว่า บางประเทศ เพราะขึ้นอยู่กับห่วงโซ่อุปทานของประเทศนั้นๆ ว่าแข็งแกร่ง แค่ไหน โดยประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า และฟื้นตัวได้น้อยกว่า ก็คือประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก นั่นแปลว่า คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยิ่งต้องทำงานหนัก และมองไกลไป ข้างหน้า เพื่อหาโอกาสและโมเดลใหม่ๆ ในการทำงานมากขึ้น

ต่อจากนี้ไป การทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การหารายได้เข้ากระเป๋าอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องมีสำนึกร่วมกันว่า นี่คือการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมโดยรวมในทุกมิติ ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และรวมไปถึงมิติสิ่งแวดล้อมด้วย

มองย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้น เรารู้ว่าวิกฤตนี้เริ่มต้นในประเทศจีน โดยที่จีนในปัจจุบันคือผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีตัวเลขบอกว่า นักท่องเที่ยวจีนนั้น ใช้จ่ายในเรื่องการท่องเที่ยวเมื่อปี 2018 มากมายมหาศาลถึงเกือบสามแสนล้านเหรียญ เรียกว่ามากกว่านักท่องเที่ยวอเมริกันไปแล้วโดยในจำนวนนี้มีอยู่ 4.4 พันล้านเหรียญ ที่ใช้จ่ายเฉพาะในฝรั่งเศสประเทศเดียว

ถ้าดูเฉพาะทวีปที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุด คือทวีปยุโรป เราจะพบว่าในปี 2018 มีนักท่องเที่ยว 672 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ นอกเหนือจากประเทศในยุโรปด้วยกันเอง โดยหนึ่งในสามของนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะเดินทางไปอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปนที่เสียดเย้ยเหมือนเป็นเรื่องล้อเลียนกันก็คือ ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากๆ เหล่านี้กลับกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มากติดอันดับต้นๆ ของโลก นั่นคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

มีส่วนอย่างมากต่อการแพร่ระบาดในระยะแรก แล้วโรคระบาดที่เกิดขึ้น เพราะมีการหมุนเวียนของผู้คนผ่านการท่องเที่ยวก็ย้อนกลับมาทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเสียเอง

ประมาณกันว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา มีการยกเลิกการจองห้องพักในยุโรปอย่างน้อยที่สุดก็ 2 ล้านห้อง ซึ่งคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มหาศาลมาก กิจการไม่น้อยอาจต้องล้มละลายไป อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ก็อาจสร้างโอกาสให้กับการท่องเที่ยวโลกด้วย อย่างน้อยที่สุดก็คือ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้อง ‘หยุด’ เพื่อจะ ‘คิด’ กับก้าวเดินที่ผ่านมาทั้งหมด ว่ามีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า ถึงได้ทำำให้อุตสาหกรรมที่สำคัญและทำรายได้ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนี้มีความ ‘เปราะบาง’ อย่างมาก

มีผู้วิเคราะห์ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้น ได้หยุดยั้งสภาวะที่เรียกว่า ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ หรือ Over-Tourism ที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลก ส่วนหนึ่งก็เพราะความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมการบินที่แพร่หลายและเข้าถึงง่าย

นิยามของ ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ ก็คือการเดินทางทะลักล้นไปด้วยผู้คนจำนวนมากเกินกว่าที่ความสามารถของเมืองหรือท้องถิ่น (City Capacity) จะรองรับไหว จึงเกิดผลลบกับประชากรท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะเริ่มเห็นปฏิกิริยาของหลายเมือง (เช่น ในสเปน) ที่เริ่มไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวกันแล้ว เนื่องจากนักท่องเที่ยวแห่แหนกันเข้าไปถ่ายรูปหรือทำลายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่เคยเป็นมา ทั้งยังสร้างมลพิษ แย่งชิงการใช้สาธารณูปโภค และถึงขั้นทำให้ระบบนิเวศเสียหายด้วย

อย่างไรก็ตาม การพูดว่าสายการบินโลว์คอสต์เป็นต้นเหตุของภาวะการท่องเที่ยวล้นเกิน ก็อาจเป็นการพูดที่ตีขลุมมากเกินไป เพราะการที่คนเราสามารถเดินทางได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ไม่ได้แปลว่าเราต้องเข้าไปทำลายล้างจุดหมายปลายทางแห่งการเดินทางเสียทั้งหมด เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ปัญหาอยู่ที่สำนึกในการเดินทาง (อันเป็นเรื่องปัจเจก) และการจัดการทั้งเชิงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของประเทศต้นทางกับการจัดการระบบท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศปลายทาง (อันเป็นเรื่องโครงสร้าง) ต่างหาก

แต่ที่ผ่านมา โลกเศรษฐกิจหมุนเร็วเสียจนคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่มีเวลาหยุดคิดถึงเรื่องเหล่านี้ วิกฤตโรคระบาดที่เหมือนไม้สอดเข้ามาหยุดการหมุนของฟันเฟืองที่กำลังหมุนเร็วจี๋ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะหวนกลับมาพิจารณาวิธีท่องเที่ยวเดินทางอื่นๆ ที่เคยเป็นวิธีท่องเที่ยวทางเลือก (Alternative Tourism) มาก่อน เช่น วิธีเที่ยวแบบ Staycation หรือ Slow Tourism หรือ Travelism เป็นต้น

 

 

ตัวอย่างเช่น โรงแรมหรูๆ ในปารีส ได้ลดราคาค่าที่พักจำนวนมากให้กับชาวปารีเซียง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ Staycation มากขึ้นและคนปารีสเองก็จะได้รับประสบการณ์ในการให้บริการและทำกิจกรรมต่างๆ ที่แต่เดิมไม่มีโอกาส เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจับจองมาตลอดเวลา

หลายฝ่ายเริ่มมองว่า ภาครัฐจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการสาธารณูปโภคต่างๆ ให้สอดรับกับการท่องเที่ยวแบบ Staycation (ซึ่งจะแตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบเดิม) เพื่อให้เอกชนสามารถลงทุนในการท่องเที่ยวท้องถิ่นต่อไปได้ โดยควรคาดการณ์เอาไว้เลยว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการฟื้นตัวขึ้นมามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในระดับเดิม (หรือเกือบเท่าเดิม) ดังนั้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชนด้วยการดูแลบริบทแวดล้อม ผ่านเงินอุดหนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เรียกว่า Autochthonous Culture ให้เข้มแข็งและเกิดขึ้นได้จริง

อีกมิติหนึ่งที่เรายังตระหนักถึงและใช้ศักยภาพของมันได้ไม่เต็มที่
ก็คือมิติของโลกยุคใหม่อันเป็นโลกออนไลน์ไร้พรมแดน

พูดได้ว่า วิกฤตโคโรนาไวรัสครั้งนี้ ได้ผลักคนให้เข้าไปใช้งานโลกออนไลน์อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น มีการใช้งานเข้มข้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น การประชุมออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการชอปปิงออนไลน์ การปาร์ตี้ออนไลน์ การสตรีมมิ่ง และอื่นๆ

การใช้เวลาว่างของคนในปัจจุบันแตกต่างไปจากคนเมื่อสิบปีก่อนอย่างมาก แม้แต่การท่องเที่ยวก็ไม่แตกต่าง เราจะเริ่มเห็นมิวเซียมออนไลน์ หรือเมืองต่างๆ ที่สร้างภาพสามมิติแบบดิจิทัล นำเสนอให้คนได้ไปเยือนโดยไม่ต้องออกจากบ้านกันมากขึ้น

แต่แน่นอน การนั่งอยู่หน้าจอย่อมไม่สามารถเทียบได้กับการไปสัมผัสสถานที่จริง ในช่วงที่คนเหมือนถูกขังให้ต้องนั่งอยู่ที่หน้าจอ ก็คล้ายคนที่ท้องหิวแล้วได้แต่นั่งมองอาหาร นี่คือช่วงเวลาที่คนจำนวนมากกำลังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทาง พวกเขาเห็นภาพในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่อีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างละเอียดลออราวกับเป็นภาพจริง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะทำให้พวกเขาไม่อยากเห็นของจริง ตรงข้าม มันคือการยั่วเย้าบ่มเพาะความกระหายจะไปเห็น จินตนาการผ่านสายตาจะไปเร่งเร้าความปรารถนาให้ยิ่งคุโชนมากขึ้น

 

มีผู้วิเคราะห์ว่า e-Tourism หรือการเดินทางผ่านโลกออนไลน์นั้น ไม่ได้ทำให้คนออกเดินทางน้อยลง แต่ที่จริงมันกลับเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้คนอยากออกเดินทางมากขึ้นในภายหลังต่างหาก ดังนั้น ในจังหวะที่คนทั้งโลกจำต้อง ‘หยุด’ อยู่กับบ้านแบบนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอาจใช้เป็นโอกาสอันดีที่จะนำเสนอข้อมูลต่างๆ อย่างดีที่สุดผ่านโลกออนไลน์ เพื่อเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เมื่อวิกฤตนี้ผ่านพ้นไป

นอกเหนือจากนี้แล้ว ในระดับรัฐ รัฐสามารถช่วยเหลือเอกชนได้ในหลายเรื่อง เช่น ผ่อนคลายมาตรการภาษี (เรียกว่า Tax Moratoriums ซึ่งสหภาพยุโรปกำลังหามาตรการอยู่ เช่น ยืดเวลาในการจ่ายภาษีสำหรับทั้งบุคคลธรรมดาและเอกชน เข้าไปจ่ายค่าแรงทดแทน หรือให้เงินกู้พิเศษและรับรองคนทำงานต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือทำให้สังคมมี safety net หรือหลักประกันรับรองว่าคนทั่วๆ ไปจะปลอดภัยและไม่ร่วงหล่นจากความเป็นมนุษย์

อีกมาตรการหนึ่งที่อาจขัดกับสำนึกพื้นฐานของนักเศรษฐศาสตร์ (และเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป เพราะกระบวนการนี้ละเอียดอ่อน) ก็คือกระบวนการที่เรียกว่า Nationalisation หรือการที่ภาครัฐเข้าไปโอบอุ้มหรือ ‘ซื้อ’ กิจการบางอย่างกลับคืนมาเป็นของรัฐ เช่น อิตาลีซื้อสายการบิน Alitalia กลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด หรือสหราชอาณาจักรซื้อบริษัทรถไฟกลับมาเป็นของรัฐบางส่วน ในขณะที่ฝรั่งเศสปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการยกเลิกตั๋ว เพื่อให้คนได้รับเงินคืนได้ง่ายขึ้น ส่วนสวีเดนก็ให้เงินกู้กับสายการบินต่างๆ ซึ่งก็คือรัฐต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือแต่จะช่วยเหลือในระดับความเข้มข้นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากัน

 

 

วิกฤตนี้ทำให้เกิดความริเริ่มใหม่ๆ ในด้านเทคโนโลยีหลายอย่างด้วยกัน โดยธุรกิจสตาร์ทอัปใหม่ๆ หลายแห่ง ได้ริเริ่มนวัตกรรมที่อาจนำมาต่อยอดได้ ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัปชื่อ RubiQ ซึ่งอยู่ในเทลอาวีฟของอิสราเอล ได้ออกแบบระบบที่ช่วยสายการบินให้ลดงานไปได้มาก เช่น งานคอลเซ็นเตอร์ หรือกระบวนการจอง การคืนเงิน การเปลี่ยนตั๋วต่างๆ ให้มีลักษณะที่ ‘สตรีมไลน์’ หรือมีอุปสรรคขัดข้องต่างๆ น้อยที่สุด โดยใช้ระบบ AI ที่เรียกว่า Aircules มาดูแลผู้โดยสารแทนมนุษย์ จึงให้บริการผู้โดยสารได้ในระดับบุคคลหรือในญี่ปุ่นก็มีบริษัทชื่อ Bespoke ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวในญี่ปุ่น เพื่อช่วยแปลและสื่อสารกับคนจากหลายๆ ประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดนี้ โดยใช้ AI ชื่อ Bebot มาเป็นตัวช่วย ผู้คนสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพหรือการแพร่ระบาดของไวรัสได้ในหลายภาษา ซึ่งในอนาคตก็จะกลายมาเป็นฐานข้อมูลพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ต่อไป

ส่วนในจีนอาจจะมีความน่าขนลุกอยู่สักหน่อย แต่ก็เป็นประโยชน์ได้เพราะมีบริษัทชื่อ Face++ ที่ออกแบบกล้องอินฟราเรดขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการตรวจสนามบินและสถานีรถไฟทั้งหลายว่ามีนักเดินทางคนไหนที่ตัวร้อนบ้าง วิธีนี้คือการตรวจคัดกรองเป็นกลุ่มใหญ่ และทำได้ตลอดเวลา จึงไม่ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลมาคอยตรวจทีละราย จึงลดโอกาสในการติดเชื้อและมีประสิทธิภาพในการตรวจมากกว่าด้วย แต่อาจมีปัญหาในเรื่อง Privacy ได้

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัปใหม่ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอีกมาก เช่น Paanini ที่พัฒนาระบบออโตเมชันโดยใช้ AI เพื่อเปลี่ยนข้อมูลดั้งเดิมที่เป็นลายมือให้กลายมาเป็นข้อมูลที่สามารถเข้ากระบวนการได้ หรือ Automation Hero จากซานฟรานซิสโกที่รวมเอากระบวนการทางหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Robotic Process Automation หรือ RPA เข้ากับ AI จนกลายมาเป็นกระบวนการออโตเมชันที่ชาญฉลาด (Intelligent Process Automation หรือ IPA) เป็นต้น

มีการคาดการณ์ว่า เมื่อวิกฤตนี้หายไปและประเทศเริ่มอยู่ในช่วงฟื้นฟู การเดินทางที่สำคัญจะคือการเดินทางภายในประเทศ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงอาจต้องพยายามหานวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะในด้านที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน โรงแรม หรือการจองที่ต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์นี้ โดยเรื่องสำคัญก็คือ – ต้องไม่ทำซ้ำความผิดพลาดเดิมๆ เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวแบบล้นเกิน จนก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมขึ้นมาอีก

 

ถ้าวิกฤตนี้จะมีบทเรียนอะไรให้ใครเรียนรู้ได้มากที่สุด

– กล่าวกันว่าก็เห็นจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี่เอง

 

Share This Story !

Published On: 17/07/2020,3.1 min read,Views: 645,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023