การนำเสนอทิศทาง การส่งเสริมการท่องเที่ยว ของ ททท. ปี 2563

โดย ดร. ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

Even in the coming year of 2020, the tourism industry has still been trusted and assigned to be the major and significant force to impel Thailand’s economy. TAT, therefore, has determined the economic targets to increase the total income from the tourism industry by 10 percent, which is equivalent to 3.718 trillion Baht. The marketing plan for 2020 features the main strategy that is designated from the opportunities and strengths of Thailand, which is reflected from both domestic and international tourists. According to TAT’s vision to promote Thailand to continuously be a ‘Preferred Destination‘, quality tourism marketing then also comes into focus.

นับตั้งแต่วันที่มีการก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมื่อปี 2503 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเพียง 80,000 กว่าคนในตอนนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลายมาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้รอดพ้นวิกฤติในหลายวาระ

ข้อมูลในปี 2560 ระบุว่าสัดส่วนรายได้จากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว ชาวไทยและชาวต่างประเทศมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 18.25 ของ GDP ประเทศไทย โดยคาดว่าจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ และหาก พิจารณาตำแหน่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในระดับโลก ข้อมูล ล่าสุดของ UNWTO ระบุว่า ในปี 2560 ประเทศไทยติดอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดในโลก

ในปี 2563 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงได้รับความไว้วางใจให้เป็น ฟันเฟืองหลักที่สำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ททท. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการตลาด จึงได้กำหนดเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวรวมให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2562 ซึ่งจะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2.431 ล้านล้าน บาท ในปี 2563 ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.287 ล้านล้านบาท ทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 3.38 ล้านล้านบาท เป็น 3.718 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะแสวงหา แนวทางเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยนำโอกาสและจุดแข็งของประเทศ ที่สะท้อนจากตัวนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมากำหนด เป็นแนวทางหลัก ตลอดจนการตลาดท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ตามวิสัยทัศน์ ททท. ที่ต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม (Preferred Destination) อย่างยั่งยืนต่อไป ด้วย 3 กลยุทธ์หลักนั่นคือ

  1. สร้างความเชื่อมั่นในคุณค่าของแบรนด์ประเทศไทย โดยผลักดัน การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Responsible Tourism อย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติของการดำเนินงานและการสื่อสาร
  2. นำเสนอสินค้าและบริการที่สามารถชูเอกลักษณ์ของประเทศไทยแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดจนสินค้าที่กระตุ้นและเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
  3. ขยายตลาดกลุ่มลูกค้าคุณภาพปรับสมดุลตลาดกลุ่มเป้าหมายดึงกลุ่มคนไทยที่นิยมท่องเที่ยวในต่างประเทศให้หันมาท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ ททท. จะให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลตลาดกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นตลาดต่างประเทศระยะใกล้การขยายตลาดในภาคต่างๆนอกเหนือจากกรุงเทพฯเพื่อลดการแย่งลูกค้าการท่องเที่ยวข้ามภาคและภายในภูมิภาคและพยายามทำให้คนไทยที่นิยมท่องเที่ยวต่างประเทศหันมาให้ความสนใจกับประสบการณ์และคุณค่าจากการท่องเที่ยวในเมืองไทยมากขึ้น


ต่อยอดความเข้มแข็งวิถีไทยผ่านประสบการณ์จริง

เพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ผ่านการใช้นวัตกรรมกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมผนวกกับการเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีแนวโน้มสนใจทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

‘Tourism Journey’

ในปี 2563 เป็นปีแรกที่ ททท. จะส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว โดยการนำเสนอเรื่องประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว หรือ ‘Tourism Journey’ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงหลักๆ ได้แก่ ก่อนการเดินทาง (Before The Trip) ระหว่างการเดินทาง (During The Trip) และภายหลังการเดินทาง (After The Trip)

ก่อนการเดินทาง (Before the Trip)

  • การรักษาความเชื่อมั่นในคุณค่าแบรนด์ประเทศไทยนับเป็นบทบาทหลักของ ททท. ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจและเห็นคุณค่า ในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากกว่าปัจจัยด้านราคา โดยมุ่งเน้นการสื่อสารแนวคิดปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม การใส่ใจ สมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับ การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Responsible Tourism
  • เน้นการแก้ปัญหา Overtourism โดยคำนึงถึงศักยภาพของ แหล่งท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ปรับปรุงช่วงเวลาในการสื่อสารให้เข้าถึง ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยนำส่งเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ด้าน การท่องเที่ยว เพิ่มบทบาทของอนุสาร อสท. ให้เป็นกลไกในการปลุก จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้เครื่องมือ Social Listening ร่วมกับพันธมิตรเพื่อรับมือกับปริมาณข่าวสารจำนวนมากที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ระหว่างการเดินทาง (During the Trip)

  • มุ่งแก้ปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ททท. จึงวางแผนออกแบบสินค้าทางการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความรู้สึกที่นักท่องเที่ยวจะได้รับนอกเหนือจากประสบการณ์จากการเดินทาง ส่งเสริมการเดินทางแบบเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรองทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศและรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมและสังคมในคราวเดียวกัน ในขณะที่ตลาดต่างประเทศจะเน้นเรื่องของความหลากหลาย  โดยปรับปรุงเนื้อหาและจังหวะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ลงตัว เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมแนวคิดของตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง
  • ใช้ข้อมูลจากงานวิจัย ในการออกแบบสินค้า/บริการด้านการท่องเที่ยว ที่ตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายต่อทริป โดยรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะสร้างชีวิตที่ดีให้กับชุมชน/ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
  • การบูรณาการกับพันธมิตร พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมโดยมีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้น 2 ประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก สร้างเกณฑ์มาตรฐานของธุรกิจ ด้านการขนส่งและที่พัก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและเพื่อลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น ประการที่สอง คือ การพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการวางแผนเชิงรุก โดยเฉพาะการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าตลอดการเดินทาง ตลอดจนการทำงานร่วมกับพันธมิตรผลักดันการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยง ใช้การท่องเที่ยวเพิ่มอุปสงค์ของการใช้พาหนะที่เป็นการคมนาคมหลักของภาค และส่งต่อในรูปแบบขนส่งท้องถิ่น

หลังการเดินทาง (After the Trip)

  • ติดตามฟีดแบ็กจากนักท่องเที่ยวผ่านเครื่องมือออนไลน์ เพื่อประเมิน Return on Experience (ROX) หรือประสบการณ์/ความประทับใจ ที่ได้รับจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะริเริ่มให้มีระบบรับฟังเสียงของลูกค้าโดยตรง (TAT Echo) และระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการส่งเสริมการตลาด ททท. ปี 2563

ตลาดต่างประเทศ เจาะกลุ่มคุณภาพ ‘5 Go’

เน้นการเจาะกลุ่มคุณภาพราย Segment ต่อยอดจากปีที่ผ่านมา 5 แนวทางได้แก่

  • Go High เจาะกลุ่มตลาดบนที่มีความสนใจในคุณค่ามากกว่าราคา
  • Go New Customer ขยายตลาดกลุ่ม First Visit ลูกค้ากลุ่มใหม่ในพื้นที่เดิมและลูกค้าในพื้นที่ใหม่
  • Go Local การท่องเที่ยววิถีถิ่นเพื่อกระจายการเดินทางสู่ชุมชนทั้งเมืองหลักและเมืองรอง
  • Go Low Season ทำการตลาดที่สอดคล้องกับพื้นฐานของประเทศ ชูความประเทศไทยในฐานะประเทศแห่งการเกษตรกรรม สายน้ำสายฝนที่มีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสินค้าหลัก คือ Gastronomy ได้อย่างลงตัว
  • Go Digital ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือหลักในการเข้าถึงลูกค้าทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง

ตลาดในประเทศ ตอบโจทย์ทุกเจนฯ เน้น Lifestyle

มุ่งแบ่งกลุ่มลูกค้าในหลากหลายมิติเพื่อสะท้อนรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย โดยกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก/ย่อยเพื่อขยายฐานตลาดใหม่ๆและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาบางตลาดมากเกินไป

นอกจากนี้จะเน้นเจาะกลุ่มคนไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงให้หันมาสนใจหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองไทยกันมากขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดในประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

‘Amazing ไทยเท่’ เมืองไทยสวยทุกที่เท่ทุกสไตล์

ต่อยอดการนำเสนอการท่องเที่ยวแบบเท่ๆ ไม่จำกัดรูปแบบ ผสมผสาน กิจกรรมที่ชอบเข้าไปด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่ได้แบ่งกลุ่มแค่ตาม เพศ อายุ วัยเท่านั้น แต่กลับมี ‘Lifestyle’ ความชอบในการออกเดินทาง ที่แตกต่างกัน ททท. จะกระตุ้นให้คนไทยมีความสนุกความสุขและความภูมิใจในออกแบบการท่องเที่ยวของตัวเองและแบ่งปันวิธีเที่ยวของตนให้กับคนอื่นๆให้เกิดแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวในแบบของตนเองเพราะเมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกสไตล์

Amazing Thailand, Open to the New Shades

ในปี 2563 นี้ ยังคงจะใช้แคมเปญ Amazing Thailand, Open to the New Shades เช่นเดิม แต่เนื้อหาการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะมุ่งเน้น การนำเสนอประสบการณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจและคาดไม่ถึง จัดทำชุดโฆษณาจำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย ให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่นักท่องเที่ยวมีต่อประเทศไทย


วางแผนโปรเจกต์ใหญ่ ททท. ครบรอบ 60 ปี

  • ‘Thailand Week’
    โดยสำนักงาน ททท. ทั้ง 29 แห่งทั่วโลก เพื่อสร้าง Impact และกระตุ้นความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ผ่านการดำเนินงานอย่างไม่จำกัดรูปแบบ เพื่อให้ทุก Touch point มีแต่เรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับประเทศไทยตลอดทั้งสัปดาห์ โดยหวังว่าการผนึกกำลังลักษณะนี้จะทำให้ประเทศไทยโดดเด่นเป็นที่จับตามองมากขึ้นกว่าปกติ ใช้สื่อทางการตลาดทุกชนิดและทุกระดับพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิด Impact ที่แรงขึ้น ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Thai Restaurant Week, Window Display ในเมืองต่างๆ ร่วมกับสายการบิน จัด Offer of the Week เพื่อจองตั๋วเครื่องบินที่นั่งพิเศษและทำการตลาดร่วมกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำเมืองสำคัญของโลก เป็นต้น
  • ‘โครงการ 60 เส้นทางความสุข @ เมืองไทย เดอะ ซีรีส์
    กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทั้งปีภายใต้แรงบันดาลใจของ 3 ฤดูกาล ที่แตกต่างกัน โดยเส้นทางที่สร้างสรรค์จะใช้ระบบการขนส่งของภาค และพาหนะท้องถิ่นเป็นเครื่องมือส่งต่อการท่องเที่ยวใน 60 เส้นทางความสุขทั่วประเทศเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวหลักและรอง

 

จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่อนาคตอย่างมั่นใจ

 

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่บ่งบอกความสุขของนักท่องเที่ยว

คือจุดหมายการทำงานของทุกคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เป็นบันไดขั้นแรกของความสำเร็จที่แท้จริงเพื่อให้นักท่องเที่ยว

มีความเชื่อมั่นในการมาเที่ยวเมืองไทยให้เก็บความสุขความประทับใจ

กลับบ้านไปด้วยความรู้สึกดีๆอย่างเต็มหัวใจ

 

สุดท้ายนี้ ททท. อยากเชิญชวนให้ทุกท่านในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีความมั่นใจ มุ่งมั่นที่จะร่วมกันทำให้ Return of Investment เกิดเป็น Return of Experience (ROX) มาช่วยกันทำให้ลูกค้าของเราเดินทาง

กลับบ้านอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความสุขที่หาจากที่อื่นไม่ได้ จนอยากกลับ มาอีกทุกครั้งที่มีโอกาส และยินดีที่จะบอกเล่าความประทับใจดีๆ แทน พวกเรา ความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำให้เราก้าวข้ามความท้าทายและวิกฤติต่างๆ ที่เผชิญอยู่ไปได้ และทำให้ปี 2563 เป็นอีกปีหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน

Share This Story !

Published On: 11/12/2019,4.2 min read,Views: 4566,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023