Ecomarathon วิ่งสนุกรักษ์โลก

Modern tourists often do not travel just tosee and take pictures but to participate in a certain event. One of the currently popular trend among travelers is the running event or marathons. An interesting variation is the ‘Ecomarathon’ or ‘Eco Slow Marathon’ which began in the city of Chiba, Japan. Unlike other marathons, this one pays no attention to strict time limit but encourage runners to enjoy the natural scenery en route and to participate in conservation activities along the way. One aspect not to be forgotten is the environmental-consciousness of organizers and participants so that the ecosystem is not damaged in the process.


เทรนด์ในการท่องเที่ยวเดินทางอย่างหนึ่งของยุคนี้ก็คือการเดินทางไปร่วมอีเวนต์บางอย่าง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ได้เดินทางไป ‘เที่ยว’ โดยทำแค่ถ่ายรูปแล้วก็กลับเท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อไป ‘ร่วมงาน’ บางอย่างด้วย

งานหนึ่งที่หลายคนชื่นชอบและอยากมีส่วนร่วม ก็คือ ‘งานวิ่ง’ หรือมาราธอนทั้งหลาย ที่โด่งดังก็มีตั้งแต่ บอสตันมาราธอน, โตเกียวมาราธอน, นิวยอร์กมาราธอน ซึ่งแต่ละงานก็ต้องมีการ ‘ควอลิฟายด์’เสียก่อน คือคุณสมบัติในการวิ่งต้อง ‘ถึง’ จึงจะสามารถเข้าร่วมงานวิ่งเหล่านี้ได้ เช่น ต้องวิ่งระยะฟูลมาราธอน (หรือ 42.195 กม.) ได้จบภายในเวลาสามชั่วโมง หรือสามชั่วโมงครึ่ง โดยต้องเคยไปแข่งในสนามอื่นๆ มาก่อน แล้วมีผลการแข่งขันมายืนยัน เป็นต้น

ดังนั้น เวลาพูดถึงงานวิ่งมาราธอน หลายคนเลยนึกถึงแต่การแข่งขันบ้าดีเดือด ต้องตระเตรียมร่างกายให้พร้อมสรรพ ต้องซ้อมกันเป็นเดือนเป็นปี ก่อนจะเข้าร่วมการแข่งขันเหล่านี้ได้ เรียกว่าต้องอุตสาหะบากบั่นไม่น้อยเพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ หรือแม้จะควอลิฟายด์แล้ว แต่ถ้าไม่ได้เตรียมตัวให้ดี แข่งไม่จบ ก็เท่ากับเสียเงินเปล่าๆ ทั้งค่าสมัคร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก

แต่คุณรู้ไหมว่า ในโลกนี้ยังมีการแข่งขันมาราธอนอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือแข่งกันที่ความเร็ว

อ้าว! ถ้าไม่ได้แข่งกันที่ความเร็วแล้วจะไปแข่งกันที่อะไรล่ะนี่

ตามปกติ งานมาราธอนทั้งหลายก็จะมีกำหนดเวลาให้ เรียกว่า ‘คัตออฟ’(Cut-Off Time) เช่น บางงานอาจจะบอกว่า ให้เวลาวิ่ง 6 ชั่วโมงเท่านั้นหลังจากนั้นถือว่าถูกตัดออกไปแล้ว คือจะวิ่งต่อก็ได้นะครับ แต่ว่าจะเริ่มมีการเปิดถนนให้รถวิ่งแล้ว

แต่กระนั้น ก็มีงานประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Ecomarathon (หรือในบางที่ก็เรียกว่า Eco Slow Marathon) ที่ให้เวลาคัตออฟนานกว่านั้น

งานแรกที่เกิดขึ้นในโลก น่าจะเป็นงานที่คุณฮาจิเมะ นิชิ (HajimeNishi) ซึ่งเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่สามารถวิ่งมาราธอนได้ครบทั้ง 7 ทวีปจนเสร็จสิ้นภายในเวลา 7 เดือน ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1997

คุณฮาจิเมะบอกว่า อย่ากระนั้นเลย เราลองมาจัดงานวิ่งมาราธอนแบบไม่เอาเป็นเอาตายกันดีกว่า แต่เป็นงานวิ่งมาราธอนแบบ ‘รักษ์โลก’ คือค่อยๆ วิ่งกันไป แล้วไม่ได้วิ่งเฉยๆ แต่ให้ช่วยกันวิ่งเก็บขยะตามท้องถนนไปด้วย รายได้ส่วนหนึ่งก็นำไปใช้จ่ายในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญก็คือ ผู้เข้าร่วมวิ่งก็ต้องทำตัว ‘กรีน’ ในแบบต่างๆ เช่น ห้ามขับรถส่วนตัวมาร่วมงาน ใครขับรถส่วนตัวมาร่วมงานต้องถูกปรับแพ้

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามากในงานวิ่งมาราธอนทั้งหลาย ก็คือการดื่มน้ำ ที่จะมีการเตรียมจุดให้น้ำตามที่ต่างๆ เอาไว้ ซึ่งวิธีให้น้ำที่เราพบเห็นกันทั่วไป ก็คือการใช้แก้วพลาสติกใส่น้ำรายเรียงอยู่บนโต๊ะเวลานักวิ่งวิ่งผ่าน
ก็ค่อยหยิบแก้วเหล่านั้นมาดื่มหรือรดศีรษะอะไรก็ว่ากันไปแต่เราก็คงรู้ดีเหมือนๆ กันนะครับ ว่าตอนนี้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาร้ายแรงขนาดไหน โดยเฉพาะพลาสติกในทะเลที่เกิดการย่อยสลายจนกลายเป็นอณูเล็กๆทำให้สัตว์น้ำกินพลาสติกเหล่านี้เข้าไปในขณะที่พลาสติกชิ้นใหญ่หน่อยก็ไปสร้างปัญหาอื่นๆ ให้สัตว์ทะเลอีก เช่น หลอดพลาสติกเข้าไปอยู่ในจมูกของเต่าทะเล เป็นต้น ดังนั้น การใช้แก้วพลาสติกในการวิ่งมาราธอน จึงไม่ใช่การกระทำที่ ‘รักษ์โลก’สักเท่าไหร่

งานวิ่งมาราธอนที่คุณฮาจิเมะจัดขึ้น จึงเป็นงานวิ่งมาราธอนที่ไม่มีแก้วน้ำให้ นั่นแปลว่านักวิ่งต้องพกแก้วน้ำกันมาเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีแก้วหลากหลายรูปแบบ ทำจากวัสดุต่างๆ กันไป แต่โดยรวมแล้วเป็นวัสดุที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ อาจเป็นแก้วที่พับเก็บได้ด้วย

งาน Eco Slow Marathon ที่ว่านี้ จัดขึ้นในจังหวัดชิบะ ของประเทศญี่ปุ่นปกติแล้วจะจัดกันในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกซากุระกำลังบานงดงามพอดี ทำให้สามารถวิ่งไปชื่นชมความงามของธรรมชาติไปด้วยได้นอกจากนี้ ยังวิ่งผ่านทุ่งทิวลิปของชิบะอีกด้วย พร้อมกับมี‘ฉากหลัง’เป็นกังหันลมแบบเดียวกับเนเธอร์แลนด์ให้ได้ถ่ายรูปกันด้วย

แต่กระนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการวิ่งแบบ Eco Slow Marathon ก็คือเวลานั่นเองครับ

อย่างที่บอกว่า ถ้าเป็นมาราธอนอื่นๆ เวลาคัตออฟอาจจะน้อย เช่น อยู่ที่ห้าหรือหกชั่วโมง แต่สำหรับการวิ่ง Eco Slow Marathon นี้ เวลาคัตออฟสำหรับการวิ่งฟูลมาราธอน จะอยู่ที่ 9 ชั่วโมง ซึ่งแปลว่ามีเวลาเหลือเฟือให้คุณค่อยๆ วิ่งสลับกับเดินเพื่อเก็บขยะ (ที่ไม่ค่อยจะมีให้เก็บนักหรอก) ไปเรื่อยๆ โดยมีข้อบังคับสำคัญก็คือต้องไม่วิ่งให้เวลา ‘น้อยกว่า’ 5 ชั่วโมงด้วยนะครับ คือถ้าวิ่งเร็วมาก ไปถึงเส้นชัยก่อนเวลา 5 ชั่วโมง เขาก็ยังไม่เปิดให้คุณเข้าหรอก เพราะแนวคิดของการวิ่งแบบนี้ก็คือ ‘วิ่งช้าๆ’ ชื่นชมธรรมชาติและค่อยๆ ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมกันไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าคุณคิดว่าตัวเองวิ่งเร็ว อยากใช้เวลาน้อยกว่าที่เขาว่ามา ก็สามารถเลือกลงฟูลมาราธอนแบบคัตออฟที่ 7 ชั่วโมงได้ คือจะเริ่มวิ่งสายหน่อยเท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังมีการวิ่งระยะอื่นๆ อีก เช่น ฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กม.) จะมีเวลาคัตออฟที่ 6 หรือ 4 ชั่วโมงให้เลือก เช่นเดียวกับการวิ่งมินิมาราธอน (11.4 กม.) ก็มีเวลาคัตออฟที่ 6 หรือ 4 ชั่วโมง ให้เลือกเช่นกัน (ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เหลือเฟือจนไม่รู้จะเหลือเฟือยังไง)

แต่ถ้าใครอยากไปชิลล์สุดๆ ล่ะก็ เขาก็มีระยะ 4.1 กม. ให้เลือก โดยมีเวลาคัตออฟอยู่ที่ 3 ชั่วโมงให้ด้วยซึ่งปกติคนเราเดินช้าอย่างไร หนึ่งชั่วโมงก็มักจะเดินได้ราวๆ 5 กิโลเมตรอยู่แล้ว ดังนั้น 4 กิโลเมตรใน 3 ชั่วโมงนี่ต้องถือว่าสบายมาก

งาน Eco Slow Marathon ของชิบะ น่าจะเป็นงานแนวนี้ที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เพราะว่าไปง่ายที่สุด แถมยังเป็นประเทศที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดด้วย ทั้งยังปลอดภัย สวยงาม เลิกแล้วก็มีงานปาร์ตี้ต่อให้ได้สนุกสนานกันคือมีอีเวนต์ต่างๆ ตลอดงานนั่นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เทรนด์ Ecomarathon กำลังแพร่หลายไปในหลายแห่งทั่วโลก ถ้าใครเคยไปวิ่งที่ชิบะมาแล้ว และอยากลองไปวิ่งที่อื่นอีกก็มีที่น่าสนใจหลายแห่งนะครับ ตัวอย่างเช่น การวิ่ง Ecomarathonที่โรมาเนีย ซึ่งเรียกว่า Ecomarathon Moieciu De Sus ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม

งานนี้จัดขึ้นโดย Centrul de Ecologie Montana ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยตรง ที่น่าสนใจก็คือ งานนี้ดำเนินรอยตามวิธีการของ Ecomarathon ที่ชิบะเลย เช่น ให้เวลาคัตออฟยืดออกไปเป็น 9 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ที่น่าสนใจก็คือ เขาจะแบ่งการวิ่งออกเป็นรอบๆ (Loops) ทำให้เกิดเป็นรูปใบโคลเวอร์ คือเป็นใบที่มีสามแฉกยื่นออกจากกัน แต่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่เดียวกัน

Ecomarathon ของโรมาเนียนี้ จะไม่ได้แบ่งการแข่งขันออกเป็นฟูลฮาล์ฟ หรือมินิมาราธอนนะครับ แต่จะแบ่งการวิ่งออกเป็นสามอย่างด้วยกัน คือเป็นฟูลมาราธอน ระยะ 42 กิโลเมตร ซึ่งเวลาคัตออฟอยู่ที่9 ชั่วโมง แล้วก็มีการแข่งแบบ Cross ซึ่งมีระยะทางราว 14 กิโลเมตรใช้เวลา 3 ชั่วโมง 15 นาที กับการวิ่งสำหรับเด็กๆ

การวิ่ง Ecomarathon ของโรมาเนีย ไม่ได้เป็นการวิ่งบนถนนนะครับการวิ่งบนถนนลาดยางคิดเป็นแค่ราว 10% ของทั้งหมดเท่านั้นเองอีก 90% เป็นการวิ่งเข้าไปในป่าเขาลำเนาไพร กับถนนที่เป็น Country Road หรือทางลูกรัง ที่ทอดเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติมากๆ ดังนั้น จึงมีข้อบังคับหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามใช้อุปกรณ์บางอย่างอย่างเช่นไม้เท้าเดินเขาหรือไม้เท้าสกี (ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ได้) การทิ้งขยะต้องทำอย่างไรบ้าง และเนื่องจากเป็นพื้นที่ทุรกันดารหน่อยๆ ก็เลยต้องมีการบังคับเรื่องการเตรียมน้ำดื่ม และควรต้องพกมือถือติดตัวไปด้วย เพราะจุดพักให้น้ำและอาหารจะอยู่ห่างจากกันค่อนข้างมาก

การเป็น Ecomarathon จะอยู่ตรงข้อบังคับที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมนี่แหละครับ โดยมีการสร้างหลักการในการดูแลสิ่งแวดล้อม(รวมถึงวัฒนธรรม) ออกมาชัดเจน ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เรียกว่า Environment and Cultural Protection

ตัวอย่างเช่น ห้ามใช้ทางลัดเด็ดขาด ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพราะกลัวจะได้เปรียบเสียเปรียบกันนะครับ แต่เป็นเพราะถ้าใช้ทางลัด ก็เป็นไปได้ว่าจะไปทำให้พื้นที่ที่เป็นผืนดินที่อ่อนไหวเปราะบางเกิดการเสียหายได้ที่สำคัญก็คือ ถ้าพบว่ามีการทิ้งขยะบนทางวิ่ง จะต้องถูกปรับแพ้ทันทีนอกจากนี้ก็ต้องลดการใช้แก้วพลาสติก ด้วยการนำขวดหรือแก้วน้ำมาเองจากบ้าน รวมทั้งลดการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อเดินทางมายังสถานที่แข่งขันเป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการเคารพบ้านช่องห้องหับของชาวบ้านไม่วิ่งเข้าไปดูอันจะเป็นการทำลายความเป็นส่วนตัว หรือการต้องช่วยเหลือผู้เข้าร่วมแข่งขันคนอื่นๆ ที่กำลังมีปัญหา และต้องเคารพผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ ผู้จัด อาสาสมัคร หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ด้วย

นอกจากญี่ปุ่นและโรมาเนียแล้ว การแข่งขัน Ecomarathon ที่น่าสนใจและมีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง ก็คือการแข่งขันที่ซิซิลีในอิตาลี

การแข่งขันนี้เรียกว่า Ecomaratona Madonie หรือการแข่งขันEcomarathon ในแถบภูเขา Madonie บนเกาะซิซิลี ซึ่งไม่ได้แข่งวิ่งธรรมดาๆ แต่เป็นการวิ่งผ่านเข้าไปใน ‘อุทยานธรณีวิทยา’ หรือGeopark บนเกาะซิซิลี อันเป็นแถบถิ่นภูเขาไฟ ทำให้มีภูมิทัศน์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง

เส้นทางวิ่งจะอยู่ในแถบเมืองปาเลอร์โม (Palermo) โดยเริ่มจากในเมืองจากถิ่นประวัติศาสตร์ แล้ววิ่งออกนอกเมืองผ่านความงามของธรรมชาติบนเส้นทางที่เรียกว่า Pheidippides ขึ้นลงไปใน Geopark ที่สวยงามอลังการอย่างยิ่ง โดยจะได้พบยอดเขาและสถานที่สำคัญๆหลายแห่งเรียงรายรวมไปถึงต้นไม้สำคัญที่มีชื่อเสียง
ของซิซิลีด้วย อย่างต้นบีชที่มีเฉพาะในซิซิลีเท่านั้น โดยจะได้พบกับประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 ล้านปีของ Geopark ได้เห็นภูมิทัศน์ล้ำค่าในแบบที่ยากจะเห็นถ้าไม่ได้วิ่งเห็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแสนงาม เห็นวิวเกาะซิซิลีและเกาะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

การวิ่งในซิซิลีนี้มีอยู่สามแบบด้วยกัน คือแบบฟูลมาราธอน แบบ 23กิโลเมตร และแบบ 14 กิโลเมตร (ที่จะเดินเอาก็ได้) โดยมีเวลาคัตออฟและข้อบังคับอื่นๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ ในลักษณะเดียวกับ Ecomarathon อื่นๆ

การวิ่งมาราธอนที่ไม่ได้เอาเป็นเอาตายกับสถิติและผลแพ้ชนะ แต่ค่อยๆ วิ่ง ค่อยๆ สัมผัสซึมซับธรรมชาติแบบนี้ น่าจะเป็นอีเวนต์ที่ได้รับความนิยม มากขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ค่อยเห็นงานแบบนี้ในเมืองไทยเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตาม การจัดงานแบบนี้ในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบนิเวศในเขตร้อนนั้นเปราะบางกว่าในเขตอบอุ่น ดังนั้นหากจะจัดงานทำนองนี้เพื่อส่งเสริมสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ต้องมีสำนึกเรื่องนี้จริงจังตั้งแต่ผู้จัดงานกันเลยทีเดียว เพราะไม่อย่างนั้น แทนที่จะเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ที่ทำให้วิ่งสนุกและรักษ์โลก ก็อาจกลายเป็นการวิ่งสนุกที่ทำร้ายระบบนิเวศไปได้เหมือนกัน

เรื่องโดย : โตมร ศุขปรีชา

Share This Story !

Published On: 25/05/2018,3.4 min read,Views: 288,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023