
แก้ปัญหา Overtourism สไตล์ ‘ปาเลา’
เราคือหนึ่งในคนที่เคยตั้งคำถามว่าหากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่จุดอ่อนที่ยากจะแก้ไขซ่อนอยู่ นั่นคือปัญหา Overtourism ซึ่งส่งผลกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแบบแทบจะแยกจากกันไม่ขาด
แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดที่ตายตัว บางประเทศอย่างโครเอเชีย เลือกแก้ไขปัญหาด้วยการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ ขณะที่อัมสเตอร์ดัมออกนโยบาย การใช้ City Card ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ มาช่วยบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวภายในเมือง หรือหมู่เกาะพีพี เลือกที่จะปิดแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้ระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตนเองแต่ประเทศเล็กๆ อย่างปาเลากลับคิดต่างออกไป

1.แก้ปัญหา Overtourism กระทบเศรษฐกิจ
ใครๆ ก็รู้จักปาเลาในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม โดยเฉพาะการดำน้ำเนื่องจากปาเลามีแนวปะการังที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การท่องเที่ยวจึงกลายเป็นรายได้หลักของคนในประเทศไปโดยปริยาย และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาจนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จนกระทั่งปาเลาประสบปัญหา Overtourism ถาโถมอย่างหนักในปี 2016 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปปาเลาสูงถึง 160,000 คน (เทียบได้กับชาวปาเลา 1 คนต่อนักท่องเที่ยว 8 คน เลยทีเดียว!) สิ่งนี้จึงสร้างความตึงเครียดให้กับสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป รวมถึงชาวปาเลาเองไม่น้อย แต่ถ้าหากมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะทำให้ประชาชนขาดรายได้
2. Palau Pledge คำมั่นสัญญาเพื่อการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
Palau Pledge หรือ ‘คำมั่นสัญญาปาเลา’ จึงถูกเขียนขึ้น โดยนาย Tommy E. Remengesau ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปาเลา เพื่อเป็นสัญญาเชิงสัญลักษณ์ในการแสดงความเคารพต่อสิ่งแวดล้อม และการรักษาทรัพยากรไว้ให้แก่เด็กๆ รุ่นหลัง เป็นคำมั่นสัญญาด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในรูปแบบตราประทับลงในหนังสือเดินทางครั้งแรกของโลก
โดยมีเนื้อหาดังนี้
” เด็กๆ แห่งปาเลาทั้งหลาย… ในฐานะแขกผู้มาเยือน
ฉันขอสัญญาว่าจะดูแลและหวงแหนบ้านที่สวยงามหลังนี้ของพวกหนูอย่างดีที่สุด
ฉันจะเข้ามาท่องเที่ยวด้วยความเคารพและประพฤติปฏิบัติกับสิ่งแวดล้อมอย่างใส่ใจ
จะไม่แตะต้องสิ่งที่ไม่ควร
จะไม่ทำร้ายสิ่งที่ไม่ทำร้ายฉัน และสิ่งเดียวที่ฉันจะเหลือไว้ที่ปาเลาก่อนจากไป
นั่นคือสิ่งที่สามารถลบเลือนได้ดั่งรอยเท้าบนผืนทราย “
เมื่อเดินทางถึงประเทศผ่านจุดตรวจหนังสือเดินทาง ตราสัญญานี้จะถูกประทับลงในพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวทุกคนเพื่อให้นักท่องเที่ยวลงนามให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยรักษาธรรมชาติอันสวยงามของปาเลาจึงจะได้รับการอนุญาตเข้าประเทศได้ โดยตราประทับดังกล่าว มีถึง 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน
ปาเลายังดำเนินการในส่วนอื่นควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่การทำเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ข้อมูล การเปิดคลิปสั้นบนเครื่องบิน (Inflight Movie) ที่บินสู่ปาเลา ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์หรือ คำเตือนโทษปรับในแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเห็นแล้วไม่ขัดกับอารมณ์สุนทรีย์ คู่มือการท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงการลงชื่อตราประทับ แทนการใส่พาสเวิร์ดล็อกอินเข้าใช้บริการ WIFI ในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อเป็นการย้ำเตือนอ้อมๆ ตลอดการมาเยือน
3. Small Country, Big Impact
Palau Pledge ประสบความสำเร็จเพราะได้รับความร่วมมืออย่างดี จาก 3 ภาคส่วนด้วยกัน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ประชาชนชาวปาเลา และนักท่องเที่ยว
แคมเปญนี้ทำให้ปาเลากลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองมาช่วยขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อม
เพียงเวลาแค่หนึ่งปี มีคนลงนามมากกว่า 150,000 คน แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก นั่นคงเป็นเพราะความตั้งใจที่จะทำเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ผ่านการคิดโฆษณาแคมเปญซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ที่สำคัญ Palau Pledge ยังเป็นต้นแบบของ Tourist Vow ของหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Icelandic Pledge (ไอซ์แลนด์) Tiaki Promise (นิวซีแลนด์) หรือ Pono Pledge (หมู่เกาะฮาวาย)
ใครอยากอ่านแบบเต็ม ๆ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่
TAT REVIEW MAGAZINE Vol.5 No.4 October – December 2019: H2O WATER DOES MATTER
https://bit.ly/2NtrltZ