Film Tourism ท่องไปในภาพยนตร์
โตมร ศุขปรีชา
มีอยู่ทริปหนึ่ง ผมมีโอกาสเดินทางไปทั้งอังกฤษตอนใต้และไอร์แลนด์ตอนเหนือ
คุณอาจคาดไม่ถึง ว่าสิ่งที่เชื่อมอังกฤษตอนใต้และไอร์แลนด์ตอนเหนือเข้าด้วยกัน คือหายนะครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเดินเรือ
ไททานิก!
ที่จริงแล้ว เรือไททานิกนั้นมีการต่อก่อสร้างและปล่อยลงน้ำที่เมืองเบลฟาสต์ อันเป็นเมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ ที่อู่ต่อเรือหรือ Shipyard ที่มีชื่อว่า ฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟ (Harland & Wolff) แต่ถ้าเราดูฉากในภาพยนตร์เรื่องไททานิก เราจะรู้ทันทีว่า ผู้คนไม่ได้เดินทางไปขึ้นเรือที่เบลฟาสต์ ทว่าพวกเขาขึ้นเรือกันที่เมืองท่าใหญ่ของอังกฤษ อย่างเซาแธมป์ตันต่างหาก
ปัจจุบันนี้ ทั้งเบลฟาสต์และเซาแธมป์ตัน คือเมืองที่นักท่องเที่ยวและนักเดินทางยังแห่กัน ‘จาริก’ มาตามรอยโศกนาฏกรรมไททานิกกันอยู่ เฉพาะที่เซาแธมป์ตัน อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ SeaCity Museum นั้น มีผู้เข้าชมมากกว่าปีละ 150,000 คน ยิ่งถ้าเป็น Titanic Belfast ที่บอกเล่าเรื่องราวของไททานิกโดยตรง ยิ่งมีผู้เข้าชมมากกว่านั้น คือราวปีละ 420,000 คน
นี่คือตัวเลขมหาศาลที่สร้างรายได้ให้กับเมืองทั้งสองเป็นจำนวนมาก
และเป็นรายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะประวัติศาสตร์ของเรือไททานิกลำจริงมากเท่ากับเกิดจากภาพยนตร์เรื่อง Titanic
อิทธิพลของภาพยนตร์ต่อการเดินทางท่องเที่ยวมีมากขนาดนั้น
เราเรียกการท่องเที่ยวแบบนี้ว่า Film Tourism หรือ Film-Induced Tourism ซึ่งหมายถึงการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากภาพยนตร์
การท่องเที่ยวในแนวนี้ไม่ใช่การจัดเทศกาลภาพยนตร์เพื่อดึงดูดคนไปเยี่ยมชมเมืองนะครับ แต่เป็นการใช้โลเคชันของเมืองบางเมือง แล้วทำให้ผู้คนที่ได้ชมภาพยนตร์แห่แหนกันมาเที่ยวเมืองนั้น ๆ ซึ่งเดิมทีเดียว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมองว่าเป็นแค่การท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก ๆ หรือเป็น Niche Tourism เท่านั้น
แต่มาในโลกปัจจุบัน เราพบว่าโซเชียลมีเดียและการบอก ‘ปากต่อปาก’ นั้นทรงอิทธิพลมากเสียยิ่งกว่าโฆษณาในสื่อกระแสหลัก ดังนั้นเราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ Lost in Thailand อันเป็นภาพยนตร์ตลกของจีนที่เปิดตัวครั้งแรกในจีนเมื่อปี 2555 และกลายเป็นปรากฏการณ์ ทำรายได้ถล่มทลาย แถมยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ทัวร์จีนบุกเชียงใหม่’ ขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก ๆ และนับแต่นั้นมา เชียงใหม่ก็กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวจีนไม่มีเสื่อมคลาย
อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้เกาะพีพีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก็คือการใช้พื้นที่อ่าวมาหยาถ่ายทำหนังเรื่อง The Beach หรือปรากฏการณ์ล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก ก็คือซีรีส์เกาหลีอย่าง King the Land ที่พาคนดูเที่ยวกรุงเทพฯ ตามจุดต่าง ๆ หลายแห่ง แต่ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุด ก็คือคลองโอ่งอ่าง
ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว โปรดอย่าลืมว่า ซีรีส์อย่าง Sex and the City ทำให้คนอยากไปเที่ยวนิวยอร์กมากแค่ไหน เช่นเดียวกับหนังเพลงแสนสวยที่ฉายภาพทะเลกรีซ (แต่จริง ๆ ถ่ายทำในแคริบเบียน) อย่าง Mamma Mia! ก็ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวกรีซพุ่งกระฉูด ไม่นับหนังที่มีชื่อตรงกับสถานที่เป๊ะ ๆ อย่าง Notting Hill ที่ทำให้คนจำนวนมากอยากไปเดินตลาดพอร์โทเบลโล หรือถ้าใครเป็นแฟนหนังอย่าง The Lord of the Rings ก็อาจอยากไปเที่ยวนิวซีแลนด์ขึ้นมาติดหมัด
การท่องเที่ยวแบบ Film-Induced Tourism นี้ เป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์การท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990s แล้ว และนับแต่นั้นมาก็ไม่เคยหยุดเติบโตเลย จนกระทั่งกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ในปี 1996 สมาคมการท่องเที่ยวอังกฤษ (British Tourism Association) เป็นองค์กรแรกที่ขับเน้นภาพยนตร์กับการท่องเที่ยว ด้วยการตีพิมพ์แผนที่แหล่งท่องเที่ยวในอังกฤษที่เป็นโลเคชันถ่ายหนังเรื่องต่าง ๆ ออกมาเป็นประจำ และหลังจากหนังสือเรื่อง Harry Potter กลายเป็นภาพยนตร์แล้ว การท่องเที่ยวตามรอยพ่อมดน้อยก็กลายเป็นเรื่องที่ยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ตัวอย่างเช่น ปราสาทแอนิก (Alnwick Castle) ที่ใช้ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ มีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น 120% ในฉับพลันทันที สร้างรายได้ราว 9 ล้านปอนด์ให้เกิดขึ้นกับพื้นที่แถบนั้น และทำให้คนเข้าไปเยี่ยมชมสถานีรถไฟ King’s Cross ของลอนดอน ที่สถานีเก้าเศษสามส่วนสี่ตั้งอยู่มากขึ้นหลายเท่าตัว และทุกโลเคชันที่ใช้ถ่ายทำหนัง Harry Potter ภาคต่าง ๆ จะมีผู้ชมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50%
งานวิจัยเรื่อง Analysis of the Impact of Film Tourism on Tourist Destinations 1 ให้รายละเอียดที่น่าสนใจเอาไว้ว่า แม้กระทั่งโลเคชันในหนังที่เก่ามาก ๆ อย่างเช่น Close Encounters of the Third Kind ที่ออกฉายในปี 1975 ปัจจุบันก็ยังมีผู้มาเยี่ยมชมโลเคชันอย่าง Devils Tower ในไวโอมิง มากถึง 20% ที่มาเพราะหนัง
หรือแม้แต่ประเทศที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยว และตัวหนังเองก็ไม่ได้ฉายภาพแหล่งท่องเที่ยวสวยงามเลย ก็ยังส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่นหนังที่ว่าด้วยการอนุรักษ์กอริลล่าอย่าง Gorillas in the Mist ที่ออกฉายในปี 1998 ก็ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนประเทศอย่างรวันดา เพิ่มขึ้นถึง 20%
ในไทย มีรายงานของ Walaiporn Rewtrakunphaiboon จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่อง Film-induced Tourism: Inventing a Vacation to a Location 2 ที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้ แต่ยังเป็นการศึกษากรณีต่าง ๆ ในต่างประเทศ
ส่วนโลเคชันที่ใช้ถ่ายหนังไทยในประเทศไทยนั้น มีบทความของ The Asianparent 3 รวบรวมไว้จำนวนหนึ่ง เช่น สวนรุกขชาติห้วยแก้ว จากหนังเรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ สะพานอัษฎางค์ที่เกาะสีชัง จากเรื่อง ‘Timeline จดหมาย ความทรงจำ’ หรือท้องฟ้าจำลอง จากเรื่อง ‘รถไฟฟ้า มาหานะเธอ’ หรืออีกที่หนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือสะพานดาว บริเวณศาลายา จากเรื่อง ‘Season Change’
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าโลเคชันในหนังไทยนั้น ยังไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ชมลืมเลือน จึงไม่ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่ภาพยนตร์เหล่านี้ หลายเรื่องยังวนเวียนกลับมาฉายในวาระต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ และสามารถกระตุ้นหรือส่งเสริมให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการเดินทางแนว Film-Induced Tourism ได้
คำถามก็คือ เราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้กันจริงหรือเปล่า?
ที่มา
1 Analysis of the Impact of Film Tourism on Tourist Destinations (https://www.abacademies.org/articles/analysis-of-the-impact-of-film-tourism-on-tourist-destinations-11323.html)
2 Film-induced Tourism: Inventing a Vacation to a Location (https://www.bu.ac.th/knowledgecenter/epaper/jan_june2009/pdf/Walaiporn.pdf)
3 หนังดังแต่ละเรื่อง ฉากนี้ถ่ายที่ไหน ไปเที่ยวตามรอยหนังกัน (https://th.theasianparent.com/travel-from-movies-location)