Wellcation เที่ยว พัก รักษา

 

 

AGENDA

 

 

 

หลังจากที่การท่องเที่ยวหยุดชะงักไปในช่วงยุคการระบาดของ COVID-19 ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวและกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากเงียบเหงาไปหลายปี เดิมทีแล้วการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) นั้นไม่ใช่เทรนด์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ทว่าการกักตัวในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้คนหันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น และพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาด เทรนด์การดูแลสุขภาพจึงบูมขึ้นมาอย่างฉุดไม่อยู่อีกครั้ง และส่งผลไปถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวเช่นกัน

 

เมื่อการท่องเที่ยวไม่ได้เป็นเพียงแค่การพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่มาควบคู่กับการดูแลรักษาสุขภาพกาย

 

เทรนด์ “Wellcation” เป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า “Wellness” ที่แปลว่า สุขภาวะ กับ “Vacation” ที่แปลว่า วันหยุด เป็นลักษณะของการท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ควบคู่ไปกับการบำบัดและดูแลรักษาสุขภาพ เช่น การนวดสมุนไพร การเข้ารับการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เป็นต้น

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ Global Wellness Institute รายงานว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น มีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงถึง 50,000 บาทต่อการเที่ยว 1 ครั้ง1 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

 

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ผู้คนนิยมไปพักผ่อนแบบ Wellcation กัน อาทิ ประเทศไทยซึ่งมีจุดเด่นด้านบริการทางการแพทย์ดีติดอันดับโลกและพ่วงมาด้วยราคาอันย่อมเยา ประเทศเกาหลีใต้ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึง Templestay ให้พักผ่อนหย่อนใจ และประเทศญี่ปุ่นที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น TAT Review Magazine จะพาทุกท่านไปส่องสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศเหล่านี้กัน

 

 

ไทยแลนด์ แดนสุขภาวะ

หนึ่งในประเทศยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นประเทศไทยนี้เอง

อย่างที่ทราบกันดีว่าไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย พร้อมด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม และที่สำคัญยังมีบริการด้านสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ได้แก่ สปา นวดแผนไทย ฯลฯ ดังนั้น นอกจากเป็นสถานที่ให้พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ประเทศไทยยังโดดเด่นในเรื่องของการแพทย์ในสายตาของนักท่องเที่ยวอีกด้วย

คงไม่มีใครไม่รู้จักการนวดแผนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นวดวัดโพธิ์” ซึ่งเป็นการนวดที่ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย การนวดแผนไทยเป็นภูมิปัญญาของไทยที่มีมาช้านาน ในอดีตมักใช้ในเชิงการแพทย์เพื่อรักษาโรค หญิงมีครรภ์มักจะให้เด็กตัวเล็ก ๆ ขึ้นเหยียบหลัง ด้วยเชื่อว่าจะช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น2 ปัจจุบันการนวดใช้เพื่อความผ่อนคลาย และเป็นจุดขายอันโดดเด่นของการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ชาวต่างชาติจะต้องมาสัมผัสสักครั้ง

เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนมากมายจะเลือกรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศที่มีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าในประเทศของตนเอง ซึ่งนอกจากจะได้รับการรักษาแล้ว ยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้น ๆ ต่ออีกด้วย เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไม่แพง จึงสามารถดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการทันตกรรม ซึ่งเป็นเทรนด์ Wellcation ที่ฮิตในหมู่ชาวต่างชาติมาหลายปีแล้ว

สำนักข่าวสยามรัฐรายงานว่า บริษัท เดนทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มบริษัท D ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านทันตกรรม มีรายได้รวม 242.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% ในไตรมาสที่ 2/2566 โดยมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างชาติถึง 90.3 ล้านบาท หรือ 59% จากรายได้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าบริการทำฟันยังคงฮิตในหมู่ชาวต่างชาติด้วยเช่นกัน3 เนื่องจากค่าบริการที่ถูกและจับต้องได้ หลายคนจึงเลือกที่จะมาใช้บริการที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ttb analytics4 ยังระบุว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ต่อคนต่ำติดอันดับท็อป 10 โดยเฉลี่ยคนละประมาณ 10,407 บาทต่อปี เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่อยู่ในอันดับ 9 ด้วยค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 119,755 บาทต่อปี จะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนที่ต่างกันมากทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น บริการทางการแพทย์ของไทยยังติดอันดับท็อป 5 ของโลกอีกด้วย ชาวต่างชาติจำนวนมากจึงเลือกที่จะมาเข้ารับบริการในประเทศไทยนั่นเอง

นอกจากประเทศไทยแล้ว สถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไร?

 

 

เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นแล้วคุณนึกถึงอะไร? การแช่ออนเซ็นที่ช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต อาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือทิวทัศน์ของธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั้งสิ้น

Global Wellness Institute ได้ประกาศว่าประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยทำเงินได้สูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท)5

แน่นอนว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีที่นำสมัย แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงเกิดการนำจุดแข็งเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาผนวกเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ในอนาคตเมืองโอซาก้าอาจกลายเป็นหมุดหมายยอดนิยมของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในทวีปเอเชีย6 ด้วยญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่น ๆ และยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินเยนที่กำลังอ่อนตัวลงอีกด้วย

ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ก็กำลังพยายามชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นกัน7 โดยตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพปีละราว 700,000 คน การศัลยกรรมเสริมความงามที่เป็นเทรนด์ฮิตก็ถูกนำมาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับนโยบายการเข้ามารับการรักษาของชาวต่างชาติให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น จากเดิมที่ผู้ดูแลคนไข้จะต้องเป็นคู่สมรสหรือครอบครัวที่ใกล้ชิดเท่านั้น สู่การที่ญาติพี่น้องก็สามารถเข้าไปดูแลคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังวางแผนสร้างจุดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ที่มาทำศัลยกรรมและผู้ดูแลสามารถพักฟื้นพร้อมเพลิดเพลินไปกับวันหยุดพักผ่อนได้

 

 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การท่องเที่ยวพร้อมเข้ารับการศัลยกรรมเสริมความงามเป็นเพียงด้านหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเกาหลีใต้เท่านั้น เพราะยังมีเทรนด์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นก็คือ Templestay หรือ “การอยู่วัด”8 ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้พักผ่อนและใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบในวัด เป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรม รับประทานอาหาร ทำกิจกรรม เช่น นั่งสมาธิ สัมผัสวิถีชีวิตแบบใกล้ชิดพระพุทธศาสนา นับเป็นการผ่อนคลายจิตใจอย่างหนึ่ง

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศเกาหลีใต้ระบุว่า ตัวเลขของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เข้ามาในประเทศในปี 2022 มีจำนวน 248,000 คน เพิ่มขึ้น 70.1% จากปี 2021 (146,000 คน) หลังจากการระบาดของ COVID-19 ซาลง อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเกาหลีใต้ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องของกำแพงภาษา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต้องชั่งใจสักเล็กน้อยว่าจะเลือกรับบริการทางการแพทย์ในประเทศเกาหลีใต้ดีหรือไม่

 

สรุป

จะเห็นได้ว่าเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในหลายประเทศ และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และกำลังพยายามผลักดันโดยพัฒนาต่อยอดจากจุดเด่นที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยหรือวัฒนธรรมที่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มองหาการดูแลรักษาสุขภาพที่คุ้มค่านอกประเทศของตน

ประเทศไทยเองก็มีความโดดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมานานแล้ว โดยเป็นประเทศที่ติดอันดับการให้บริการทางการแพทย์ดีเป็นอันดับ 5 ของโลก นอกจากการนวดแผนไทยและสปาซึ่งโด่งดังแล้ว ยังมีบริการทันตกรรมและการรักษาพยาบาลในด้านอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีค่าบริการที่ย่อมเยา ทำให้มีชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเข้ารับบริการมากมาย และยังมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอนาคต


ที่มา

1 บุญล้อม, ภูริตา. 2565. “ส่องเทรนด์ Wellness Tourism การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เที่ยวอย่างไรให้ได้สุขภาพดี – THE STANDARD.” the standard. https://thestandard.co/wellness-tourism/.

2 “โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน – การนวดไทย.” n.d. โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน. Accessed December 8, 2023. https://ttcmh.dtam.moph.go.th/index.php/knowledge/read-more/25-thai-massage.html.

3 “D ผลงานไตรมาส 2/66 รายได้พุ่ง 30% ลูกค้าต่างชาติมั่นใจคุณภาพ แห่ใช้บริการแน่นต่อเนื่อง.” 2023. สยามรัฐ. https://siamrath.co.th/n/469179.

4  “ttb analytics คาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยฟื้นเร็วโตเฉียด 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566 | ทีเอ็มบีธนชาต (ttb).” 2022. TTB. https://www.ttbbank.com/th/newsroom/detail/medical-tourism-2566.

5 “The Global Wellness Institute (GWI) Announces Japan as Latest Country Added to its “Geography of Wellness” Platform -.” 2023. Global Wellness Institute. https://globalwellnessinstitute.org/press-room/press-releases/the-global-wellness-institute-gwi-announces-japan-as-latest-country-added-to-its-geography-of-wellness-platform/.

6 Ryall, Julian. 2023. “Why the next big Asian medical tourism destination could be Osaka, Japan.” South China Morning Post. https://www.scmp.com/lifestyle/travel-leisure/article/3243932/why-next-big-asian-medical-tourism-destination-could-be-osaka-japan-advanced-cancer-treatments-world.

7 Jaeeun, Lee. 2023. “Korea seeks to boost medical tourism as future growth engine.” Asia News Network. https://asianews.network/korea-seeks-to-boost-medical-tourism-as-future-growth-engine/.

8 “Templestay | Finding your ‘True-self.’” n.d. Templestay | Finding your ‘True-self’. Accessed December 11, 2023. https://eng.templestay.com/page-templestay.asp.

Share This Story !

3.7 min read,Views: 2715,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024