Village x Renewal x Tourism Small is still beautiful

Low Carbon Tourism ท่องเที่ยวเกี่ยวเนื่องเรื่องโลกร้อน

Village x Renewal x Tourism

Small is still beautiful

For renowned writer and Japanologist, Alex Kerr, the neglected rural ‘shutter towns’ have the potential to develop a new style of tourism. Using the case of Iya valley and other small villages in Japan, Kerr illustrates how local resources can be used to create a more sustainable form of tourism as opposed to the current big bus tourism model. This article is adapted from his talk on ‘Rural revival using what’s on hand’ at TEDx Chiang Mai 2018 on 10 February 2018.

เมื่อเอ่ยถึงประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เรานึกถึงคืออะไร

ภาพขบวนรถไฟที่อัดแน่นไปด้วยมวลมนุษย์ ตึกสูงขนาบชิดกันจนมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า ฝูงชนที่พากันเดินข้ามทางแยกชิบุยะอย่างล้นหลามราวกับมดแตกรัง มหานครที่ไม่มีวันหลับใหลอย่างโอซากาและโตเกียว เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก…

จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่า ภายในประเทศเดียวกันนั้น มีหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทมากมายที่ตกอยู่ในสภาพซบเซาเหงาหงอย หรือที่เรียกกันว่า‘เมืองที่มีแต่หน้าต่างปิด’ (ShutterTowns)คนวัยทำงานต่างพากันอพยพไปตามโอกาสทางเศรษฐกิจ
ที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่หมู่บ้านชนบทกลายเป็นสถานที่ที่มีแต่ผู้สูงอายุ บ้านไม้เก่าถูกปิดและทิ้งร้าง บางหมู่บ้านมีจำนวนประชากรหุ่นไล่กามากกว่าคนเสียอีก

สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหมู่บ้านชนบทเหล่านี้คือการสร้าง สร้าง และสร้างไม่ว่าจะเป็นถนนซูเปอร์ไฮเวย์ หอคอยอนุสรณ์สถาน หรือพิพิธภัณฑ์ขนาดมหึมา ฯลฯ เพื่อหวังดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา แต่ความพยายามเหล่านั้นส่วนใหญ่จะล้มเหลวและหมู่บ้านทั้งหลายก็ยังคงร้างต่อไป

อเล็กซ์ เคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นชาวอเมริกัน ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านอิยะ หมู่บ้านเล็กๆ ภายในจังหวัดโทขุชิมะบนเกาะชิโกขุ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นกำลังเร่งเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีมหานครขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลางหมู่บ้านอันลี้ลับและแสนห่างไกลที่เคยเป็นที่หลบภัยของเหล่านักรบเฮเคะผู้แพ้สงครามในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถูกมองว่าเป็นสถานที่ที่ ‘ไม่มีอะไรเลย’แต่อเล็กซ์กลับมองว่านั่นแหละคือเสน่ห์ของพื้นที่ชนบทเหล่านี้ เขาได้ซื้อบ้านไม้เก่าอายุ 200 ปี ที่ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานานกว่าสิบปี และเริ่มบูรณะอย่างจริงจังด้วยความช่วยเหลือจากคนในหมู่บ้าน

หลังจากบูรณะเสร็จเป็นที่เรียบร้อย อเล็กซ์เริ่มเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยว(ซึ่งในช่วงแรกๆ คือเพื่อนของเขาเอง) เข้ามาพักเพื่อซึมซับประสบการณ์วิถีชีวิตชนบทญี่ปุ่นที่หาได้ยาก ‘บ้านฉิโอริ’ ซึ่งเป็นชื่อที่อเล็กซ์ตั้งให้บ้านหลังนี้ เป็นบ้านไม้หลังคามุงหญ้าที่มีโครงสร้างแบบบ้านญี่ปุ่นดั้งเดิมก่อนยุคเสื่อตาตามิ จุดเด่นของบ้านคือเตาผิงแบบฝังลงในพื้นบ้าน (Floor hearth) ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า อิโรริ อเล็กซ์มองว่าสิ่งเหล่านี้คือมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าควรรักษาและสืบทอดให้คนรุ่นหลังอย่างไรก็ตาม การบูรณะของเขาไม่ได้ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้สอยของคนในปัจจุบันด้วย โดยอเล็กซ์ได้พยายามบูรณะอาคารเก่าให้มีความน่าอยู่และสะดวกสบายด้วยการนำสิ่งของดั้งเดิมมาใช้ใหม่ในทางสร้างสรรค์ หรือ มิตาเตะ (Creative re-purposing) ตามหลักปรัชญาญี่ปุ่น เช่น การปรับเตาผิงอิโรริให้กลายเป็นพื้นที่นั่งเล่น หรืออิโรริโซฟา ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างท่วมท้น

อเล็กซ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ขณะนี้เขาได้บูรณะและเปิดบริการบ้านพักญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมในหมู่บ้านอิยะจำนวน 9 หลัง ต้อนรับนักท่องเที่ยวปีละ 3,000 คน ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดยมีอัตราคนเข้าพักเต็มตลอดช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้เขายังมีโครงการบูรณะซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนเก่าๆ อีกหลายหมู่บ้านในประเทศญี่ปุ่น อาทิ หมู่บ้านโอจิคะในจังหวัดนางาซากิ โดยการท่องเที่ยวได้กระตุ้นให้เศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทเหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวา เริ่มมีคนหนุ่มสาวย้ายกลับมาที่หมู่บ้าน

‘The bright jewel is in the palm of your hand’

เพื่อทำธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวยังมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การเกษตรแบบไร้สารพิษ การทำอาหารประจำท้องถิ่น เช่น เต้าหู้แบบแขวนเชือก กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หมู่บ้านเล็กๆสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินจากรัฐบาล

นอกจากการบูรณะฟื้นฟูและเปิดบ้านพักที่เป็นบ้านญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอเล็กซ์ยังมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบทรูปแบบอื่นๆ เช่น จัดกิจกรรม Dining Out Iya ที่หมู่บ้านอิยะ และ Dining Out Sado ที่หมู่บ้านซะโด จังหวัดนีงาตะ เชิญนักท่องเที่ยวมารับประทานอาหารที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบท้องถิ่นโดยเชฟมิชลิน 3 ดาว ฮาจิเมะ โยเนดะ โดยงาน Dining Out จะจัดตามสถานที่กลางแจ้งซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ทางธรรมชาติหรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ใช้บุคลากรภายในท้องถิ่น ตลอดจนนำเสนอวัฒนธรรมพื้นบ้านผ่านการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ อเล็กซ์กล่าวว่า กิจกรรม Dining Out ประสบความสำเร็จอย่างมากในการชุบชีวิตให้กับเศรษฐกิจในหมู่บ้านชนบท โดยในปีต่อๆ มายังคงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปหมู่บ้าน
ที่จัดงานอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวในหมู่บ้านอิยะและหมู่บ้านอื่นๆ เป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ริเริ่มบนพื้นฐานของมรดกวัฒนธรรมดั้งเดิมในท้องถิ่น แทนที่จะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไร้ค่าที่ต้องหลีกทางให้กับการพัฒนาขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวพื้นที่ชนบทในรูปแบบที่ชาวญี่ปุ่น (และชาวไทย) คุ้นเคยคือการเที่ยวแบบบัสคันใหญ่ (Big Bus Tourism) ที่มาควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ลักษณะเด่นของ Big Bus Tourism คือจอดแวะแต่ละจุดเพียงครู่เดียวแล้วรีบไปต่อ การเที่ยวแบบบัสคันใหญ่ถึงจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่เป็น Day Tripper ที่ไม่แวะค้างคืนและไม่ใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ในขณะที่การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว อย่างเช่นที่หมู่บ้านอิยะ ถึงแม้ว่าจะมีขนาดเล็กกว่า แต่กลับมีมูลค่าทางการท่องเที่ยวมากกว่า โดยอเล็กซ์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่พักในหมู่บ้านอิยะนั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวแบบบัสคันใหญ่ถึง 20 เท่า

สิ่งเล็กๆ ยังคงมีความงดงามอยู่เสมอ หากเรามองเห็นคุณค่าของทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่แล้วรอบตัว ความงดงามเรียบง่ายในความ ‘ไม่มีอะไรเลย’ เราอาจพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เรามีสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดแล้วอยู่ในมือ หรือดังที่อเล็กซ์กล่าวตามสุภาษิตญี่ปุ่นไว้ว่า
‘The bright jewel is in the palm of your hand’

เรื่องโดย : ชญานิน วังซ้าย พนักงานวางแผน 5 กองวิจัยการตลาด ททท.

Share This Story !

2.9 min read,Views: 312,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤษภาคม 18, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤษภาคม 18, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤษภาคม 18, 2024