Tourism Die Tomorrow
Among popular tourism trends over the recent years is the one called
‘Last-Chance Tourism’, which refers to tourism in places that are dying out;for example, Venice, Italy; Machu Picchu, Peru; and the Galapagos Islands.More tourists from across the world prefer to visit these places, which are going to be lost due to various causes; such as, climate change and destruction by the industry sector.
In view of tourism, there is an interesting aspect that tourism generates income that can be used to cope with problems, whereas numerous tourist visits will worsen such tourist destinations to be lost faster.
At Birth
ในอดีต การเดินทางระหว่างประเทศ มักเป็นบทสนทนาของคนมีฐานะดีค่อนไปทางสูง คนฐานะปานกลางและคนระดับล่างมักจะเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ยากหรือไม่บ่อยมากนัก แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดของสมองมนุษย์ การเดินทางระหว่างประเทศจึงถูกพัฒนาให้รวดเร็วขึ้นและมีราคาที่ถูกลง จนกระทั่งใครๆ ก็สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ไม่ใช่เรื่องยากเหมือนเช่นก่อน
เมื่อมนุษย์สามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น อัตราส่วนการเดินทางระหว่างประเทศ ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หากพูดถึงเทรนด์การท่องเที่ยวยอดนิยมในช่วง 2 ปีนี้คงหนีไม่พ้น ‘Last-Chance Tourism’ เทรนด์การท่องเที่ยวสนองความต้องการนักท่องเที่ยวเผ่าพันธุ์ FMO (Fear of Missing Out) ที่นิตยสาร Forbes ยกให้เป็นหนึ่งในเทรนด์การท่องเที่ยวมาแรงประจำปี 2018 (Forbes 2018)
Before we say goodbye!
หากลองนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังจะหายไปจากโลกเนื่องจากสภาวะโลกร้อนและภาวะอากาศแปรปรวน เช่น แนวปะการังเกรทแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) หมู่เกาะมัลดีฟส์ (Maldives) อุทยานแห่งชาติเกลเชอร์ (Glacier National Park) และทะเลเดดซี (Dead Sea) สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลายๆ คนใฝ่ฝันและอยากจะเก็บเงินไปเยี่ยมเยือนสักครั้งก่อนสิ้นลมหายใจ
ในปัจจุบัน สถานที่เหล่านี้ได้รับความสนใจและถูกศึกษาอย่างจริงจังจากนักสิ่งแวดล้อมและนักอนุรักษ์ทั่วทั้งโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดผลกระทบและยืดอายุชีวิตสถานที่เหล่านี้ให้ยังคงไว้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวเองก็ให้ความสนใจมากไม่แพ้กัน ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ของการอนุรักษ์หรือรักษาไว้
แต่เพื่อวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยวเพื่อสนองความต้องการและบอกให้โลกรู้ว่า “ฉันได้มาเที่ยว ที่นี่แล้ว” จนเกิดกระแสเทรนด์การท่องเที่ยวที่ชื่อว่า Last-Chance Tourism หรือการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ที่กำลังจะสาบสูญไปจากโลก ก่อนจะไม่มี
โอกาสได้เยี่ยมเยือน
Die Tomorrow 1 : Venice, Italy: The Sinking City
ทุกช่วงฤดูหนาวของทุกปีหากใครติดตามข่าวต่างประเทศจะได้เห็นภาพของย่านจัตุรัสเซนต์มาร์ก (St. Mark’s Square) ในเมืองเวนิส ที่เปลี่ยนสภาพเป็นทะเลสาบ สิ่งเหล่านี้กำลังบอกเป็นนัยว่าเมืองเวนิสกำลังจะค่อยๆ จมและกลายเป็นตำนานในที่สุด
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวเวนิสมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละวัน เมืองเวนิสมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมน้อยสุด 60 คนต่อวัน และสูงที่สุดกว่า 70,000 คนต่อวัน โดยเฉลี่ยในหนึ่งปี เวนิสต้องแบกรับจำนวนนักท่องเที่ยวราวๆ 25-30 ล้านคน (Telegraph 2018) เมืองเล็กๆ ขนาด 8 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้กำลังประสบกับปัญหา Overtourism จนก่อให้เกิดการขับไล่นักท่องเที่ยวของคนท้องถิ่น กอปรกับ เมืองแห่งนี้ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเกินกว่า 100 ครั้งต่อปี ที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนและอากาศเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่ทำให้เมืองเวนิสค่อยๆ จมน้ำนั้นก็คือ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ปริมาณน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าเมืองแห่งนี้กำลังจมด้วยอัตราความเร็วที่เพิ่มขึ้น 5 เท่า เนื่องจากการทรุดตัวของพื้นดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเติมแต่งเพื่อตอบรับปริมาณนักท่องเที่ยว
ในขณะที่เวนิสกำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อย การทรุดตัวของเมือง และหาวิธีการยื้อชีวิตเมืองแห่งนี้จากการจมน้ำ ในทางกลับกันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามเทรนด์ Last-Chance Tourism กลับสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เข้ามาซ้ำเติมปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้พักอาศัยมากมาย อาทิ อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้ประชาชนท้องถิ่นตัดสินใจย้ายออกจากเมือง คุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว เช่น มลพิษทางเสียง ปริมาณขยะ และการทำธุรกิจหลอกขายสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมถูกแทรกแซง
How Venice Deals?
รัฐบาลอิตาลีพัฒนาโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมนับตั้งแต่ปี 2003 โดยใช้งบประมาณที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (CBS News 2018) โครงการ MOSE (Modulo Sperimentale Elettromeccanico) คือการสร้าง Barrier ป้องกันน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการสร้างประตูเหล็กระบบไฮดรอลิกกันน้ำทะเลไม่ให้เข้าสู่มหานครเวนิสผ่านการสร้าง Barrier สูง 20-27 เมตร และกว้าง 30-60 เมตร จำนวน 78 บาน(Voice TV 2012) ประตูเหล็กแต่ละบานจะถูกพับเก็บไว้ใต้น้ำในช่วงเวลาปกติ และจะยกตัวขึ้นมาป้องกันเมืองเวนิสเมื่อเวนิสประสบกับน้ำทะเล
หนุนและมีคลื่นสูง โครงการนี้คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2022 (CBS News 2018)
Die Tomorrow 2 : Machu Picchu, The Lost (Forever) City of Incas
มาชูปิกชู หรือ Lost City of Incas โบราณสถานอารยธรรมแห่งชนเผ่าอินคา ถูกค้นพบโดยบังเอิญจากนักสำรวจโบราณคดีชาวอเมริกัน Hiram Bingham ในปี 1911 มาชูปิกชูตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงในประเทศเปรู ที่ความสูง 2,430 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ปัจจุบันมาชูปิกชูได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกจนกลายเป็น 1 ใน Travel Bucket List ของนักท่องเที่ยวทุกคนที่ต้องไปให้ได้ก่อนตาย
ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (1.4 ล้านคน ในปี 2016) นับตั้งแต่ UNESCO ประกาศให้สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งใน World Heritage Site ในปี 1989 ส่งผลกระทบต่อมาชูปิกชู ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า ปริมาณขยะและกองขยะทับถม และการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวที่ควบคุมได้ยาก
มาชูปิกชูมีความเสี่ยงที่จะสาบสูญไปตลอดกาลด้วยสาเหตุของน้ำมือมนุษย์ และภัยทางธรรมชาติ การกัดกร่อนของพื้นดินและดินถล่มอาจเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ หากมาชูปิกชูยังไม่สามารถบริหารการจัดการภายในพื้นที่ได้ดี ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้ Tambomachay Fault (รอยแยกแผ่นดินใน Tambomachay) ทำให้มาชูปิกชูมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เช่นเดียวกัน
How Machu Picchu Deals?
การแก้ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวที่ควบคุมได้ยากของรัฐบาลเปรู เริ่มต้นจริงจังนับตั้งแต่ปี 2005 ทั้งการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมที่ได้รับอนุญาตในแต่ละฤดูกาล ปิดให้บริการเพื่อบำรุงรักษาสถานที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของ ทุกปี และจัดตั้งกฎเกณฑ์ใบอนุญาตที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังคงมีปริมาณสูงเกินกว่าที่ UNESCO แนะนำไว้ (2,500 คนต่อวัน) ด้วยเหตุนี้ ในปี 2017 รัฐบาลเปรูจึงได้จัดตั้ง ระบบแบ่งขายบัตรแบบแบ่งครึ่งวัน เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดระเบียบความคล่องตัวและลดปัญหาความแออัดภายในมาชูปิกชู โดยแบ่งประเภท
บัตรเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บัตรช่วงเช้า (06:00-12:00 น.) บัตรช่วงบ่าย(12:00-17:30 น.) และบัตรสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการอยู่ตั้งแต่ (06:00-17:00 น.) (The Telegraph 2017)
Die Tomorrow 3 : Churchill, Canada, Polar Bear Killing Destination
เชอร์ชิลล์ (Churchill) คือเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐแมนิโทบา (Manitoba) ประเทศแคนาดา เมืองแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘The Polar Bear Capital of the World’ ที่นี่นับเป็ศูนย์กลางที่อยู่อาศัยและหาอาหารของหมีขั้วโลกอันดับต้นๆ ของโลก ช่วงฤดูหนาวของทุกปี เมืองแห่งนี้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวโดยมีจุดประสงค์หลัก คือ การสำรวจและสังเกตการดำรงชีวิตของหมีขั้วโลก
ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันส่งผลให้หมีขั้วโลกที่มีอยู่ประมาณ 26,000 ตัว (The International Union for the Conservation of Nature 2018) กำลังจะสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วในอีกไม่นาน ภาวะอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้พื้นน้ำแข็งบริเวณแถบมหาสมุทรอาร์กติกละลายตัวด้วยอัตราความเร็วสูงกว่าปกติ
โดยธรรมชาติแล้วหมีขั้วโลกหาอาหารโดยใช้พื้นน้ำแข็งที่แข็งตัวเป็น Platform ในการล่าแมวน้ำเป็นอาหารในการดำรงชีวิต การละลายตัวของ พื้นน้ำแข็งอย่างรวดเร็วส่งผลให้หมีขั้วโลกหาอาหารได้ยาก และมีระยะเวลาในการหาอาหารที่ลดน้อยลง
ในขณะที่หมีขั้วโลกกำลังประสบกับปัญหาการดำรงชีวิตที่ยากขึ้นทุกๆ ปี เทรนด์การท่องเที่ยว Last-Chance Tourism กลับทำให้สถานที่ท่องเที่ยว แห่งนี้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปดูหมีขั้วโลกสักครั้งก่อนสูญพันธุ์กลับทำให้สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม จำนวนนักท่องเที่ยว 1 คนที่เดินทางไปดูหมีขั้วโลก มีอัตราการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกสูงถึง 8.61 ตันต่อทริป หรือเทียบเท่ากับประชากรสหราชอาณาจักรบางส่วนที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี 10.9 ตัน (The Independent 2018) นับเป็นปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
How Churchill Deals?
ปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของหมีขั้วโลกเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่รัฐบาลแคนาดาให้ความสำคัญ หมีขั้วโลกนับเป็นไอคอนสัตว์อนุรักษ์สำคัญประจำชาติของแคนาดา และมีความสำคัญกับชุมชนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ทั้งด้านวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และเศรษฐกิจ (Government of Canada 2018) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลแคนาดาได้เพิ่มงบการศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ ของหมีขั้วโลก และจำกัดจำนวนรถสำหรับชมหมีขั้วโลก (Tundra Buggy) ที่ให้บริการสำหรับการชมหมีขั้วโลกภายในเมือง (Travel Manitoba 2018)
Last-Chance Tourism : Blue Pill or Red Pill
Last-Chance Tourism เปรียบเสมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ที่ด้านหนึ่งอาจส่งผลเสียและทำลายจุดหมายปลายทางให้สูญหายและสูญเสียรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งการทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) การเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่มากจนส่งผลต่อการดำรงชีวิต วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในท้องที่ หรือแม้แต่การทำลายระบบ Eco-System ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่จุดหมายปลายทางนั้นเป็นที่นิยมก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบๆ ให้สามารถนำรายได้เหล่านั้นไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพัฒนาและวางแผนการจัดการเพื่อลดความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังช่วยสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์โลกร้อนอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
UNWTO Keep fighting
UNWTO ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘Overtourism’ Understanding and Managing Urban Tourism Growth beyond Perceptions ในงานวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอ 11 กลยุทธ์ สำหรับการจัดการการเติบโตของนักท่องเที่ยวในแต่ละเมือง โดยใจความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวก็คือ กลยุทธ์ที่ 11 (การจัดการ เฝ้าสังเกตการณ์ และตอบสนอง) โดยเมืองหรือจุดหมายปลายทางสามารถอิงและปฏิบัติตามมาตรการต่อไปเพื่อวางแผนการจัดการความสมดุลของจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ได้
The End
ทุกวันนี้วิกฤตการณ์โลกร้อนเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบดีและรู้จักเป็นอย่างดี เราทุกคนทราบถึงวิธีการลดปัญหาและผลกระทบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ เลือกที่จะรับรู้หรือปล่อยผ่านและใช้ชีวิตแบบเดิม เพราะนี่คือโอกาสสุดท้ายของพวกเรา เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ แต่พวกเราสามารถเลือกที่จะทำได้ เลือกที่จะปล่อยผ่านใช้ชีวิตมีความสุขไม่สนใจอะไรเช่นเดิม หรือเลือกที่จะรับรู้ หาวิธีการแก้ไข และลดผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบัน