เมื่อโลกฟื้นฟู : การกลับมาของ Wellness Tourism

โตมร ศุขปรีชา

 

เราคุ้นหูกับคำว่า Wellness เป็นอันดี แต่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่า คำนี้หมายถึงอะไรกันแน่ และ Wellness กับ Well-Being แตกต่างกันอย่างไร

 

ที่มาของคำนี้น่าจะมาจากคำอธิบาย ‘สุขภาพ’ ขององค์การอนามัยโลก ที่บอกว่าสุขภาพที่ดีนั้นหมายถึงความครบพร้อมหรือมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ไม่ใช่แค่ปลอดจากโรคภัยต่าง ๆ เท่านั้น

 

ต่อมา นิยามนี้ถูกรวบยอดเข้ามาในคำคำเดียว คือคำว่า Wellness โดยจอห์น ทราวิส (John Travis) ได้เปิดศูนย์ที่เรียกว่า Wellness Resource Center ขึ้นครั้งแรกในแคลิฟอร์เนีย ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970s แล้วก็ค่อย ๆ กลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยเฉพาะในยุคที่เกิดคนรุ่น Me Generation ที่ให้ความสำคัญกับตัวตนของตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป็นกระแสที่เริ่มต้นจากแคลิฟอร์เนีย

 

และนั่นเอง ที่เป็นจุดกำเนิดของธุรกิจท่องเที่ยวแบบเวลเนส หรือ Wellness Tourism

 

องค์กรอย่าง Global Wellness Institute เคยรายงานเอาไว้ว่า ธุรกิจท่องเที่ยวแบบเวลเนสนั้นเป็นเหมือน ‘จุดตัด’ ของสองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โตมหึมา อันหนึ่งก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ในปี 2017 มีขนาดอยู่ที่ราว 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และอุตสาหกรรมเวลเนส ที่ใหญ่โตกว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีก เพราะมีขนาดถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การรวมตัวกันของสองอุตสาหกรรมนี้จนออกมาเป็น Wellness Tourism จึงเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงมาก

 

การท่องเที่ยวเชิงเวลเนสก็คือการเดินทางท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการทำนุบำรุงหรือส่งเสริมสุขภาวะของคนคนหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เที่ยวไปด้วย สุขภาพดีได้ด้วย แต่กระนั้น การท่องเที่ยวแบบนี้ก็เป็นคนละเรื่องกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical Tourism ซึ่งเป็นการเดินทางไปเพื่อ ‘รักษา’ นั่นแปลว่า ถ้าเป็น Medical Tourism ผู้เดินทางท่องเที่ยวมักจะมีอาการต่าง ๆ อยู่กับตัว คือเป็นผู้ป่วยในระดับหนึ่ง จึงต้องเดินทางไปรักษาตัว โดยการรักษาคือจุดประสงค์หลัก การได้ท่องเที่ยวเป็นจุดประสงค์รอง ทว่า Wellness Tourism คือการเดินทางของคนที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เลือกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ทำให้สุขภาพดีขึ้น หรือแม้กระทั่งป้องกันโรคได้ด้วย โดยมีคำที่ใหญ่กว่าเอาไว้ใช้เรียกทั้ง Wellness และ Medical Tourism ก็คือ Health Tourism

 

หลายคนอาจเข้าใจว่า นักท่องเที่ยวเชิงเวลเนส จะเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีรายได้สูง เป็นคนระดับบนที่อยากเดินทางไปสปา ไปรีสอร์ตสุขภาพ หรือไปเข้ารีทรีตต่าง ๆ ทั้งโยคะและการทำสมาธิภาวนา แต่ที่จริงแล้วมีนักท่องเที่ยวเชิงเวลเนสที่กว้างขวางหลากหลายกว่านั้นมาก โดยเราอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มด้วยกัน

 

กลุ่มแรกคือนักท่องเที่ยวเวลเนสที่มีเป้าหมายไปที่เรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ เรียกว่า Primary Wellness Traveler คนกลุ่มนี้จะมีแรงขับเคลื่อนในการเดินทางเป็นเรื่องเวลเนสโดยเฉพาะ เช่น เดินทางไปอาบน้ำแร่หรือทำกิจกรรมสุขภาพตามที่ต่าง ๆ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มองว่าเรื่องสุขภาพเป็นเพียงผลพลอยได้จากการเดินทางท่องเที่ยวเท่านั้น เรียกว่า Secondary Wellness Traveler ซึ่งแม้อาจไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องสุขภาพตั้งแต่ต้น ทว่าคนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากกว่า และหากเห็นประโยชน์ของการเดินทางเพื่อสุขภาพแล้ว ก็อาจขยับขึ้นไปเป็น Primary Wellness Traveler ได้ไม่ยากนัก

 

 

เราอาจรู้สึกว่า ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเวลเนสนั้นสร้างยาก เพราะซับซ้อน ต้องมีอุปกรณ์และสถานที่ต่าง ๆ เป็นฐาน แต่ที่จริงแล้วทุก ๆ จุดหมายปลายทาง เราสามารถหาหรือสร้างจุดเด่นเรื่องสุขภาพขึ้นมาได้ทั้งนั้น เช่นในตุรกีมี Turkish Bath ในญี่ปุ่นมีการอาบน้ำแบบออนเซ็น ที่เชียงใหม่มีบ่อน้ำพุร้อน เหล่านี้คือการมองหาเอกลักษณ์ของสถานที่ที่เราอยู่ แล้วนำมาสร้างเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งสามารถใส่รายละเอียดอื่น ๆ เข้าไปได้อีกมาก เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา แร่ธาตุ ป่าไม้ และอื่น ๆ

 

ก่อนหน้าจะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเวลเนสกำลังไปได้ด้วยดี แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวแทบทั้งหมดล้มระเนระนาด แต่หากการแพร่ระบาดพ้นผ่านไป หลายฝ่ายมองว่าคนทั่วไปจะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น นั่นจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเวลเนสกลับมาบูมอีกครั้ง และน่าจะ ‘บูม’ มากกว่าที่เคยเป็นด้วย

 

 

Global Wellness Institution เคยประเมินถึง ‘เทรนด์’ ของธุรกิจเวลเนสเอาไว้ 5 เทรนด์ใหญ่ ๆ ว่าได้แก่

-การดูแลความงามส่วนบุคคลและเวชศาสตร์ชะลอวัย เช่น คลินิกความงามต่าง ๆ (Personal Care, Beauty & Anti-Aging) ซึ่งในปี 2019 หรือก่อนโควิด มีมูลค่าราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

-ด้านการออกกำลังกาย คือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกาย เช่น ฟิตเนสต่าง ๆ (Physical Activity) ในปี 2019 มีมูลค่าประมาณ 873,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

-ด้านอาหารสุขภาพ ในปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 945,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

-ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือ Wellness Tourism ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ มีมูลค่าในปี 2019 ประมาณ 720,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

-ด้านการป้องกันและการดูแลสุขภาพ (Preventive Personalized Medical) ในปี 2017 มีมูลค่าราว 575,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่า เทรนด์ทั้งห้าเทรนด์นี้ ที่จริงสามารถหลอมรวมเข้ากับการท่องเที่ยวได้ทั้งหมด เช่น ธุรกิจโรงแรมสามารถจัดสถานที่ออกกำลังกายแบบใหม่ ๆ จัดอาหารเพื่อสุขภาพแบบใหม่ ๆ หรือแม้กระทั่งจัดให้มีการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้มาใช้บริการได้ เป็นต้น

 

เดิมทีเดียว คนจะมองว่าการท่องเที่ยวเชิงเวลเนสเป็นเรื่องของผู้สูงวัย ต้องมีอายุห้าสิบปีขึ้นไป แต่เทรนด์การดูแลสุขภาพที่แพร่หลายไปในคนทุกกลุ่มทุกวัยในปัจจุบัน จะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการท่องเที่ยวเชิงเวลเนส ให้ต้องขยายครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากขึ้น นี่จะเป็นการท่องเที่ยวที่ ‘ลึก’ มากขึ้น ไม่ได้เพียงเสพความสนุกเท่านั้น แต่ยังเสพความรู้ในด้านสุขภาพด้วย

 

ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเวลเนสนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวและธุรกิจเวลเนสเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ของมันกว้างขวางใหญ่โตกว่านั้นมาก นักท่องเที่ยวเชิงเวลเนสที่ต้องการความ ‘ลึก’ ในความรู้ จะไม่ได้ใส่ใจเติมเต็มเฉพาะเรื่องทางร่างกายของตัวเองเท่านั้น เพราะตามนิยามของคำว่า Wellness จริง ๆ จะต้องครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งทางกาย ใจ และความคิดด้วย นั่นคือสุขภาพกายและจิตดี รวมถึงต้องได้รับความรู้เพื่อเติมเต็มอาหารสมองให้กับตัวเองด้วย

 

 

เคยมีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า นักท่องเที่ยวแนวเวลเนสกำลังจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่น่าสนใจที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวแนวนี้ มีแนวโน้มที่จะไม่ได้สนใจเฉพาะร่างกายและสุขภาพของตัวเองเท่านั้น แต่คนเหล่านี้จะเห็น ‘ความเชื่อมโยง’ ระหว่างสุขภาวะของตัวเองกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวด้วย ดังนั้น นักท่องเที่ยวเหล่านี้จึงเป็นนักท่องเที่ยวเชิงลึกที่มักพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียด ทั้งการเลือกเข้าพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร และบริการด้านสุขภาพต่าง ๆ รวมไปถึงการเลือกที่พัก โรงแรม การเดินทาง ฯลฯ เพื่อลดภาระของสังคมรอบตัวลงด้วย

 

มีผู้วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวแบบนี้จะเป็นคนละกลุ่มกับนักท่องเที่ยวที่มาเสพความบันเทิงผ่านความเริงรมย์ยามราตรีเป็นหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อาจสร้างปัญหาในทางสังคมและวัฒนธรรมบางรูปแบบให้เกิดขึ้นได้กับท้องถิ่น รวมทั้งแตกต่างจากนักท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่ตระเวนไปตามที่ต่าง ๆ เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจใช้จ่ายไม่มากนัก และยังไม่เหมือนกับนักท่องเที่ยวระดับหรูที่นิยมเสพความสะดวกสบายแบบห้าดาวเจ็ดดาว ซึ่งแม้จะมีกำลังซื้อสูง แต่อาจสร้างภาระทางสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นได้

 

ดังนั้นจึงพูดได้ว่า นักท่องเที่ยวเชิงเวลเนสเป็นนักท่องเที่ยวที่พึงปรารถนา แต่ในเมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พิถีพิถันกับชีวิต การ ‘สร้าง’ หรือ ‘ดึงดูด’ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จึงต้องใช้วิธีและมาตรฐานที่พิถีพิถันด้วย

 

ตรงนั้นเองที่คือคำถาม – ว่าเราจะวางมาตรการอย่างไรเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

 

เพราะเมื่อโลกฟื้นฟู พวกเขาจะกลับมาแน่ ๆ

 

เป็นผู้ต้อนรับอย่างเรา ๆ นี่เอง ที่พร้อมและ ‘เข้าใจ’ ความเปลี่ยนแปลงนี้ดีพอแล้วหรือยัง

Share This Story !

1.9 min read,Views: 8439,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 24, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 24, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 24, 2024