The “Greenest” Olympics Game EVER?
ปฐวี ธุระพันธ์
- คอนเซ็ปต์ ‘สิ่งแวดล้อม’ จากงาน Tokyo 2020 Olympics เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหัวข้อหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 1995
- Tokyo 2020 Olympics เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโอลิมปิกที่มีสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความ “รักษ์” โลกอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา ในคอนเซ็ปต์ Reduce, Reuse และ Recycle
ในสายตาคนทั้งโลก Tokyo Olympics นอกจากจะเป็นโอลิมปิกที่มีเรื่องราวบวกส่วนผสมของความพยายามและความยากลำบากอย่างมากของประเทศญี่ปุ่นที่ทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้ท่ามกลางภาวะโรคระบาดที่ยังไม่หมดไป ความซับซ้อนในแง่ของความรู้สึกของคนในประเทศว่าที่จริงแล้ว ญี่ปุ่นควรจัดโอลิมปิกในสถานการณ์แบบนี้ไหม แต่ไม่ว่าจะมีความรู้สึกแบบไหนกับ Tokyo Olympics ที่เพิ่งปิดฉากไป ในอีกมุมหนึ่ง Tokyo Olympics ก็ถูกยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโอลิมปิกที่มีความรักษ์โลกมากที่สุด ณ วินาทีนี้
ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมถูกนำเข้ามาเป็นประเด็นหลักเกี่ยวกับการจัด Mega Event ทางกีฬาอย่างโอลิมปิกเกม เพราะถ้ามองกันง่าย ๆ การจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกนั้น ต้องใช้สนามกีฬามากกว่า 20 สนาม สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในแง่ของการแข่งกีฬา และความเป็นอยู่ของนักกีฬาในระหว่างช่วงที่มีการแข่งขัน ซึ่งนั่นหมายถึงการเดินทางที่จะเพิ่มสูงขึ้น ที่จอดรถที่ต้องมีรองรับมากขึ้น อาหารที่ต้องเตรียมมากขึ้น การสร้างโฆษณา ป้ายประกาศ ที่พักของนักกีฬา และการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นกว่าการใช้งานปกติของเมืองที่จัดงานนั้นอีกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ รวมถึงกีฬาบางประเภทยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีการทำลายธรรมชาติ เช่น กอล์ฟ ที่ต้องมีการหาพื้นที่เพื่อทำสนามกอล์ฟ และการได้มาของสนามนั้นก็ต้องแลกด้วยการทำลายพื้นที่ทางธรรมชาติที่เมืองนั้นได้เลือก ทุกอย่างที่กล่าวมา หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติที่จะถูกใช้ ทำลาย และอาจสร้างมลภาวะ หรือสิ่งแปลกปลอมในสิ่งแวดล้อมในภายหลังสำหรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในประเทศนั้นเพียงแค่ครั้งเดียวซึ่งแทนที่จะเป็นมหกรรมกีฬาที่สร้างความสนุกและความภาคภูมิใจให้กับประเทศชาติ แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมา ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า จริง ๆ แล้วเราควรจัดงานแบบนี้หรือไม่
ในที่ประชุมเกี่ยวกับโอลิมปิกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 1994 ได้มีการนำเรื่องของสิ่งแวดล้อม (Environment) เพิ่มเข้าไปเป็นเสาหลักที่ 3 ของการจัดงานโอลิมปิก ต่อจาก 2 เสาหลักอย่าง กีฬา (Sport) และ วัฒนธรรม (Culture) ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาตร์ที่มีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมในการแข่งกีฬา ซึ่งในปี 1995 IOC หรือ International Olympic Committeeก็ได้นำเรื่องนี้เป็นหัวข้อหลักในการที่จะตัดสินใจว่า ประเทศไหนที่จะมีความพร้อมในการจัดโอลิมปิกในครั้งถัดไปด้วย
Sydney Olympics ในปี 2000 ถือว่าเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่มีการยื่นเอกสารที่เกี่ยวกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรับการตัดสินให้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปีนั้นได้เน้นไปที่การลดของเสีย การนำกลับมาใช้ใหม่ และการใช้วัสดุรีไซเคิล หรือในปีที่ประเทศอังกฤษได้เป็นเจ้าภาพLondon Olympics 2012 ก็ได้ประกาศว่า นี่จะเป็นโอลิมปิกที่มีสีเขียวที่สุดเท่าที่มีการจัดโอลิมปิกบนโลกใบนี้ ซึ่งมีการใช้วัสดุรีไซเคิลมากกว่า 98% ในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆในการจัดงาน และ 99% ในการสร้าง Olympics Park เพื่อที่หลังจากที่จบการจัดงาน จะได้รื้อถอนวัสดุเหล่านั้น แล้วนำกลับไปใช้ในกิจกรรมอื่น แถมยังกล่าวอีกว่า London Olympics 2012 ใช้ปริมาณแก๊สทั้งหมดน้อยกว่า Beijing Games 2008 ที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพถึง 15% ยังไม่รวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่รกร้างให้กลับมาเป็นสถานที่แข่งขัน และระบบขนส่งสาธารณะที่ทำให้ผู้คนต่างทึ่ง เพราะประเทศอังกฤษสามารถทำให้กรุงลอนดอนในช่วงที่มีการแข่งขัน มีระบบขนส่งที่พร้อมและมีพื้นที่สำหรับคนเดินและปั่นจักรยานมากถึง 1 ล้านคนต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นการจัดโอลิมปิกที่ได้รับคำชมในด้านของการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอีกงานหนึ่ง
ถือว่าเป็นงานหนักสำหรับเจ้าภาพคนถัดไปอย่างประเทศบราซิล ใน Rio 2016 ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอเมริกาใต้ ที่ได้เป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการจัดการอย่างไรเกี่ยวกับเสาหลักเสาที่สามในการจัดโอลิมปิกอย่างเต็มรูปแบบในประเทศตัวเอง ซึ่งการได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ประเทศบราซิลถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำความสะอาดแหล่งน้ำ อ่าว หรือชายหาดนอกเมือง และพัฒนาในเมืองริโอ เพื่อที่จะทำให้มีความพร้อมในการจัดกีฬา โดยเฉพาะกีฬาทางน้ำ
เนื่องจากประวัติศาสตร์ เมืองริโอ มีปัญหาเกี่ยวกับสภาพน้ำมาโดยตลอด ปัญหามลพิษทางน้ำเริ่มต้นขึ้นในปี 1950 เพราะโรงกลั่นน้ำมันดำเนินการโดยไม่มีการตรวจสอบ รวมถึงอัตราส่วนของประชากรในเมืองริโอเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนระบบสุขาภิบาลและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ไม่สามารถดูแลได้ เป็นผลให้ประมาณครึ่งหนึ่งของขยะในเมืองจากผู้อยู่อาศัยเก้าล้านคน ไหลลงสู่แม่น้ำและอ่าว Guanabara ทำให้เกิดสารปนเปื้อนแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นอันตราย ประเทศบราซิลหวังว่าจะใช้การเคลื่อนไหวของโอลิมปิกเพื่อปรับปรุงสภาพน้ำ โดยการบำบัด 80% ของสิ่งปฏิกูลที่ไหลลงสู่อ่าว สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้กิจกรรมกีฬาทางน้ำกลางแจ้งปลอดภัยขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองอีกด้วย
นอกจากนี้ Rio 2016 จะมีการปรับปรุงและนำสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยที่ได้เป็นเจ้าภาพ Pan American Games 2007 กลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงสิ่งปลูกสร้างสมัยที่เมืองริโอได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2014 แล้ว ซึ่งหมายความว่าสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลกจะได้รับเปลี่ยนแปลงและนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งหลังจากปิดฉากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนั้นไป จะเห็นว่า Rio 2016 ยังเป็นโอลิมปิกที่ต้องมีการปรับปรุงและจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอีกมาก หลายอย่างที่วางแผนไว้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง ยังมีปัญหาเรื่องระบบน้ำเสียและมีนักกีฬาป่วยจากภาวะสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเมืองที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการคอรัปชันของรัฐบาล และการเมืองที่ยังไม่ปกติ จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นดีขึ้นหรือหายไป แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโอลิมปิกที่ได้เห็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกงานหนึ่ง
และแน่นอน สำหรับ Tokyo 2020 Olympics ที่ประเทศญี่ปุ่นรับไม้ต่อจาก Rio 2016 นั้น มีการวางแผนในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดีในการนำเสนอรูปแบบการจัดโอลิมปิกแบบยั่งยืน ตั้งแต่เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือก จนกระทั่งได้ทำมันให้เป็นความจริง เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโอลิมปิกที่แสดงให้เห็นถึงความ “รักษ์” โลกอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา ซึ่งยังคงอยู่ในคอนเซ็ปต์ Reduce, Reuse และ Recycle
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานที่แข่งขันใหม่เพียง 8 แห่ง สร้างสถานที่จัดงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกประมาณ 25 แห่งจากทั้งหมด 43 แห่งมีอยู่ก่อนการแข่งขัน โดยบางแห่งใช้สนามเดิมที่เคยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว 1964 หลายแห่งได้รับการปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีอาคารขั้นสูงเพื่อลดการใช้พลังงาน สถานที่อีก 10 แห่งเป็นโครงสร้างชั่วคราวที่ออกแบบมาเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างและการใช้พลังงาน
คบเพลิงโอลิมปิกถูกผลิตขึ้นโดยใช้เศษอะลูมิเนียมจากที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2011 แม้แต่เสื้อยืดและกางเกงขายาวที่คนถือคบเพลิงใส่ยังทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่ทางบริษัท Coca-Cola เป็นคนเก็บรวบรวม
“เหมืองในเมือง” เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ได้นำเอาโลหะที่ได้รับการกู้คืนจากสมาร์ตโฟนเกือบ 79,000 ตัน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่บริจาคโดยชาวญี่ปุ่น ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างเหรียญโอลิมปิกและพาราลิมปิก 5,000 เหรียญ เรียกว่าเป็นเหรียญที่มาจากทุกคนโดยแท้จริง
ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้วิธีการเช่าอุปกรณ์จำนวนมากแทนที่จะซื้อ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณ 65,000 เครื่อง พร้อมโต๊ะทำงาน เก้าอี้ และอุปกรณ์อื่น ๆ อีก 19,000 รายการที่เช่าสำหรับการแข่งขัน จะถูกส่งคืนและนำกลับมาใช้ใหม่หลังจากจบการแข่งขัน
พลังงานส่วนใหญ่สำหรับ Tokyo Olympics มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์และพลังงานชีวมวลจากไม้ ซึ่งใช้ขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และมีการนำเอาพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ รวมถึงการใช้ EV Car ในการเป็นพาหนะหลักในการขนส่งนักท่องเที่ยวในการแข่งขัน
ยิ่งไปกว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อม Tokyo Olympics ยังจัดงานในรูปแบบที่เน้นความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลาย และการไม่แบ่งแยก ซึ่ง Tokyo Olympics 2020 เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่สมดุลทางเพศครั้งแรก โดยมีนักกีฬาหญิง 49% และชาย 51% มีศูนย์ LGBTQ+ ถาวรแห่งแรกถูกก่อตั้งขึ้นในโตเกียวที่เรียกว่า Pride House Tokyo มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็น LGBTQ+ ผ่านการสร้างพื้นที่ให้บริการ การจัดกิจกรรม และการผลิตเนื้อหาที่หลากหลาย เป็น Pride House แห่งแรกที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก
แน่นอนว่า “ภาพลักษณ์” ของโตเกียวที่ถูกฉายออกไปให้คนทั่วโลกเห็นในช่วงนี้ ทำให้ผู้คนรับรู้ถึงความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนทางสังคมในรูปแบบที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป เกมที่ถูกมองว่ายากลำบากที่สุดในการจัดขึ้นในรอบหลายสิบปี เมื่อมาอยู่ในมือของญี่ปุน ประเทศที่ย่อยทุกอย่างออกมาแล้วส่งต่อด้วยความเรียบง่าย Pop Cultureที่ซ่อนอยู่ทุกมุมในชีวิตของคนทั้งโลก รวมถึงการเอาใจใส่ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้โอลิมปิกในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ผู้คนยอมรับว่ามัน “รักษ์” โลก และ “น่ารัก” ในความรู้สึกของคนที่มองเข้าไป
และเมื่อมองย้อนกลับไปในทุก ๆ ครั้งของการจัดโอลิมปิกนั้น เจ้าภาพมักจะบอกกับทุกคนเสมอว่า มันคือการจัดโอลิมปิกที่รักษ์โลกที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่เบื้องหลังการทำให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริง ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะประเทศต่าง ๆ มีความต้องการและลำดับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ระบบการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง แต่ละประเทศต้องหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด ในการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายและพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นความยั่งยืนต้องใช้ความพยายามร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยังเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ และเพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน
ซึ่งในอนาคตเราจะได้เห็นเจ้าภาพคนถัดไปออกมาบอกว่า นี่คือโอลิมปิกที่รักษ์โลกที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งฟังแล้วไม่ได้น่าเบื่ออะไร แต่น่าดีใจเสียอีกที่โลกกำลังก้าวไปสู่การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกครั้ง
ที่มา :
- https://www.independent.co.uk/climate-change/news/tokyo-olympics-2021-climate-change-b1885491.html
- https://inhabitat.com/the-london-2012-summer-games-were-the-greenest-olympics-ever/
- https://eandt.theiet.org/content/articles/2021/06/will-tokyo-2020-be-the-greenest-olympics-ever/
- http://www.susted.com/wordpress/content/sustainability-and-the-olympics-the-case-of-the-2016-rio-summer-games_2018_01/
- https://olympics.com/ioc/news/all-you-need-to-know-about-tokyo-2020-sustainability
- https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/sustainability/