ก้าวต่อไปของ TravelTech ในประเทศไทย

นพพล อนุกูลวิทยา

 

ทุกวันนี้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้วนแนบชิดกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในฝั่งของผู้ให้บริการ เช่น กลุ่มโรงแรมที่พัก กลุ่มสายการบิน เป็นต้น และในฝั่งของนักท่องเที่ยวที่ใช้การซื้อหรือจองบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ จนเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้แทบจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ว่าได้ โดยเรามักเรียกกลุ่มผู้ผลิตเทคโนโลยีดิจิทัลว่าเป็นกลุ่ม TravelTech

 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า TravelTech กันก่อน ซึ่งความหมายก็ค่อนข้างตรงไปตรงมาคือ เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว ซึ่งรวมไปถึงในด้านที่เป็น Hardware และ Software หากเรายกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น ที่ใกล้ตัวที่สุดเช่น แพลตฟอร์มการจองที่พัก อย่าง Agoda หรือ Airbnb เป็นต้น หรือจะพูดถึงเทคโนโลยีของฝั่งผู้ให้บริการ เช่น Amadeus ที่เป็นระบบจัดการหลังบ้านของสายการบินทั่วโลก หรือ Hotel Management System Software ที่ใช้บริหารจัดการห้องพักหรือโรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการท่องเที่ยว (TravelTech) อื่น ๆ จาก Startup ที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา

 

โดยธรรมชาติของธุรกิจเทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูง แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปทำซ้ำและขยายการให้บริการไปได้กว้างเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์อย่าง Skyscanner ที่ช่วยให้เราสามารถหาเส้นทางบินทั่วโลกที่เหมาะสมกับเราทั้งในด้านราคา ระยะเวลา และบริการ ซึ่งบริษัทจะเน้นทำการพัฒนาอัลกอริทึมของการค้นหาเส้นทางบินและการคำนวณข้อมูลจำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน โดยอัลกอริทึมดังกล่าวสามารถให้ผลลัพธ์กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม จึงทำให้มีผู้ใช้จำนวนมากและสร้างรายได้ให้กับบริษัทกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปี 2020 ที่ผ่านมา

 

หากเปรียบเทียบ TravelTech ก็เหมือนกับการผลิตของเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละมาก ๆ ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพียงแต่ TravelTech เป็นเหมือนเครื่องจักรที่ผลิตบริการด้านการท่องเที่ยวที่สามารถตอบสนองได้กับคนทั่วโลกเพราะอยู่ในโลกดิจิทัล ถ้าเดิมเคยเป็นเคาน์เตอร์ขายตั๋วท่องเที่ยวก็อาจจะต้องตั้งบูธทั่วโลก จ้างพนักงานขายจำนวนมาก แต่พอเป็นแพลตฟอร์มอย่าง TravelTech ก็สามารถพัฒนาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วให้บริการกับคนทั่วโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เมื่อการพัฒนาธุรกิจ TravelTech ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการพัฒนา และมีโอกาสเติบโตสูง ขยายได้ทั่วโลก ดังนั้น ในช่วงก่อน COVID-19 นั้น TravelTech จึงเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจำนวนมาก มีเงินทุนหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในบริษัทด้าน TravelTech โดยในปี 2019 มีการระดมทุนรวมทั้งหมดกว่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.8 แสนล้านบาท เมื่อมีเงินทุนมหาศาล แต่ละแพลตฟอร์มก็พยายามที่จะดึงดูดผู้ใช้งานเข้ามาหาตนเองผ่านวิธีการต่าง ๆ ทั้งลดแลกแจกแถม และการทำการตลาดทุกช่องทาง

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ในขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้รับอานิสงส์จากการล็อกดาวน์ นักลงทุนต่างพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น EdTech (Education Technology), E-Commerce เป็นต้น แต่ TravelTech กลับได้รับความสนใจน้อยลงมาก

 

หลังจากที่บางประเทศ ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น TravelTech ก็พอมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เริ่มกลับสู่ความปรกติ แม้ยังไม่สมบูรณ์เท่าช่วงก่อน COVID-19 ดีนัก ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกก็เกิดขึ้นอีกครั้งจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกต่างทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลใจอีกครั้งหนึ่ง แผนการหาผู้ใช้งานและการทำการตลาดแบบเดิมเริ่มเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากเงินทุนที่ชะลอลง

 

 

สถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น แม้ว่าการท่องเที่ยวได้เริ่มฟื้นตัวกลับมา เราเห็นความคึกคักของตลาดท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ในฝั่งผู้ให้บริการ อย่างเช่น โรงแรมและที่พัก สายการบิน กิจกรรมท่องเที่ยว เริ่มมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการมากขึ้น ในฝั่งนักท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคอาจยังไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เนื่องจากเดิมทีที่เคยใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการเลือกซื้อหรือจองบริการ อาจไม่ได้มีส่วนลดแลกแจกแถมเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนแล้ว ในฝั่งกลุ่ม TravelTech เองก็อาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ ทั้งจากในเรื่องของทุน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะไม่ได้มีปริมาณมากเหมือนก่อน ซึ่งทำให้ความคุ้มค่าของต้นทุนการพัฒนายังไม่ดีเท่าไรนัก เปรียบเสมือนการเดินเครื่องจักรขนาดใหญ่แต่ผลิตของจำนวนน้อยชิ้น ส่วนกลุ่มบริษัท TravelTech ขนาดเล็ก หรือ TravelTech Startup ก็อาจยังคงต้องอดทนต่อสู้กันต่อไป ทั้งจากการเข้าถึงเงินทุนได้ยากยิ่งขึ้น และตลาดการแข่งขันจากรายใหญ่ที่รุนแรงขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่น้อยกว่าเก่า 

 

หากเราเปรียบเทียบ COVID-19 เป็นเหมือนพายุลูกหนึ่งที่เราทุกคนได้ผ่านมันมา เราจะพบว่าผู้ที่อยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้หลายรายปรับตัวขนานใหญ่ บางรายปรับตัวจนสามารถรับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้ บางรายปรับตัวจนประสิทธิภาพของธุรกิจสูงขึ้นมาก บางรายมีการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนธุรกิจออกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปเลย ทำให้นึกถึงเนื้อความตอนหนึ่งของนักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดังอย่างฮารูกิ มูราคามิ ที่ว่า

 

“เมื่อพายุผ่านพ้นไป คุณก็แทบจะจำไม่ได้เลยว่าคุณผ่านมันมาได้ยังไง คุณเอาตัวรอดด้วยวิธีใด คุณไม่แน่ใจกระทั่งว่าพายุมันผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนเมื่อคุณก้าวออกมาจากพายุก็คือ คุณไม่ใช่คนเดิมที่ก้าวเข้าไปอีกแล้ว และนั่นแหละคือสิ่งที่พายุบอกกับเรา”

 

ในท้ายที่สุดเราไม่สามารถทำนายได้แน่ชัดในโลกที่มีความผันผวนรุนแรงได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แล้วเราจะรับมือกันอย่างไร แต่เราล้วนต้องปรับตัวกันไปตามสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครคาดการณ์ได้ว่า COVID-19 จะสร้างความเสียหายได้มากและยาวนานขนาดนี้

Share This Story !

0.9 min read,Views: 1735,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024