Sustainability in this Next Normal World ความยั่งยืนที่น่าจับตามองในปี 2023
ธิติสรร พึ่งกัน
ในยุคปัจจุบันคงไม่มีประเทศใดบนโลกใบนี้ที่ไม่รู้จักและไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่โหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่หนาวจัด ร้อนจัด ภัยแล้ง ไฟป่า พายุฝนที่รุนแรง และน้ำท่วมใหญ่ สามารถพบเห็นได้บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น และรุนแรงมากยิ่งขึ้นในทุกวันนี้
เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ World Meteorological Organization (WMO) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (UN) ได้ระบุว่าปี 2022 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 5 – 6 เท่าที่มีการบันทึกมา และเป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ยุคดั้งเดิมที่ยังไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยมีสาเหตุจากก๊าซเรือนกระจกและความร้อนสะสมที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้จากข้อมูลของ WMO แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 1.15 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในปี 1850 – 1900 ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 2011 – 2020 ที่อยู่ในระดับ 1.09 องศาเซลเซียสแล้ว ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าภาวะโลกร้อนยังคงเดินหน้าต่อไปและไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงในระยะยาว
ด้วยปัญหาที่ยิ่งใหญ่นี้ โลกของเราจึงได้มีการจัดประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties (COP) เป็นประจำทุกปี โดยมีผู้นำระดับนานาชาติ ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนองค์กร ผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือแนวทางให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม หรือไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งหมดในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตบนบก สิ่งมีชีวิตในน้ำ รวมไปถึงมนุษย์ด้วย โดยล่าสุดเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุม COP ครั้งที่ 27 เพื่อให้คำมั่นและเน้นย้ำการร่วมมือกันแก้ปัญหาระดับโลกนี้ ซึ่งส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนเกิดความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการดำเนินการและแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2023 นี้ มีแนวโน้มการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสังคมและด้านธุรกิจที่ต้องจับตามอง ดังนี้
Net Zero & Supply Chain
Net Zero หรือ แนวคิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้รับความนิยมเป็นครั้งแรกจากข้อตกลงปารีส ในการประชุม COP21 ปี 2015 ที่ประเทศผู้เข้าร่วมเกือบ 200 ประเทศเห็นพ้องต้องกันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะโดยผ่านวิธีธรรมชาติ เช่น การปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูป่าชายเลนและหญ้าทะเล หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศได้กำหนดให้องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ ต้องจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งปลดปล่อยก๊าซที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมโดยตรง รวมทั้งแหล่งที่ซื้อมาจากภายนอกเพื่อใช้ดำเนินการภายในองค์กร
ในปี 2023 Net Zero จะถูกผลักดันอย่างจริงจังและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะหันมาให้ความสำคัญกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานของตนเองและตระหนักถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของ McKinsey
ในปี 2022 ว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนเป็นวิธีที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าและนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง Net Zero สามารถมอบโอกาสทางธุรกิจถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างโอกาสในตลาดใหม่ ๆ ได้ นอกเหนือจากการคำนึงถึงการปล่อยมลพิษโดยตรงจากองค์กรหรือบริษัทผู้ผลิตแล้ว การปล่อยมลพิษทางอ้อมจากซัพพลายเออร์หรือผู้บริโภคตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ก็จะได้รับความสนใจและถูกกระตุ้นให้ลดการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจจะกลายเป็นข้อบังคับหรือกฎหมายให้ยึดถือปฏิบัติในอนาคตอันใกล้นี้ ยกตัวอย่างเช่น CHEP บริษัทโลจิสติกส์ซัพพลายเชนของ Brambles ที่ให้บริการมากกว่า 60 ประเทศ ได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ ในหลายประเทศเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนที่สุดโดยไม่สูญเสียคุณภาพ อาทิ ร่วมมือกับ Coca-Cola Enterprises, Colruyt และ Van Dievel ในเบลเยียม เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกเปล่าของทั้งสามบริษัท ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงถึง 30% ต่อปี หรือตัวอย่างของ Coca-Cola ที่นำน้ำทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มมาบำบัดก่อนคืนสู่สิ่งแวดล้อม และทำให้บรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยเปิดตัวขวดพลาสติกที่ผลิตจากพืชไปเมื่อปี 2021 เป็นต้น
Circular Economy
Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นคำที่หลายคนอาจจะคุ้นหูมานับทศวรรษและคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเพียงแค่การรีไซเคิลเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ระบบใหญ่ของกระบวนการผลิตที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการไปจนถึงการจัดการของเสียเหลือทิ้ง โดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ระบุว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การลดการใช้วัสดุ การออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ใช้ทรัพยากรน้อยลง และการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้เป็นแหล่งผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่
ในปี 2023 กระบวนการผลิตในรูปแบบเดิม ๆ เช่น การผลิตเพื่อใช้แล้วทิ้ง (take-make-waste)
หรือการผลิตจำนวนมากเพื่อสร้างกำไรโดยปราศจากกระบวนการจัดการหลังการใช้ จะถูกองค์กรชั้นนำต่าง ๆ หันหลังให้ และมีแนวโน้มอย่างสูงที่จะได้เห็นองค์กรและบริษัทต่าง ๆ ดำเนินการในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ในการพาองค์กรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในเทคโนโลยีการรีไซเคิล หรือการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำได้ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิ Ellen MacArthur ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ระดมองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 500 ราย อาทิ L’Oréal, Nestlé, PepsiCo, Coca-Cola, Unilever, Mars, Walmart ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรวมกันกว่า 20% ทั่วโลก ลงนามร่วมกันในการเริ่มสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก เพื่อลดปัญหามลพิษของพลาสติกจากแหล่งกำเนิดให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2025 ผ่านการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเพื่อให้สามารถนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือทำปุ๋ยหมักได้อย่างปลอดภัย
Social Sustainability
Social Sustainability หรือ ความยั่งยืนทางสังคม เป็นแนวคิดในการจัดการผลกระทบจากธุรกิจ
ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร โดย United Nations Global Compact (UNGC) ระบุว่า ความยั่งยืนทางสังคม คือ การระบุและจัดการผลกระทบทางธุรกิจต่อผู้คนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ แรงงานในห่วงโซ่คุณค่า หรือแม้แต่ชุมชนท้องถิ่น
ในปัจจุบันหลายองค์กรและธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ Social Sustainability มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยั่งยืนทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี เยาวชน และผู้พิการ การดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกิจการขององค์กร และการใส่ใจต่อการศึกษาและสุขภาพของผู้คนในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มความผูกพันของพนักงานในองค์กรแล้ว ยังช่วยลดความขัดแย้งระหว่างองค์กรกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าถึงตลาดลูกค้าใหม่ ๆ รวมถึงช่วยรักษาและดึงดูดพันธมิตรทางธุรกิจได้เช่นกัน
ในปี 2023 ความยั่งยืนจะไม่ใช่เพียงแค่การคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเท่านั้น
แต่องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ จะหันมาคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย ยกตัวอย่างเช่น Starbucks ที่มอบโอกาสให้กับประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยให้คำมั่นว่าจะจ้างงานทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ และคู่สมรส จำนวน 25,000 คน ภายในปี 2025 และสนับสนุนความเสมอภาคทางด้านเชื้อชาติและสังคม โดยให้คนผิวดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสี (BIPOC) เป็นตัวแทน 30% ของภาคองค์กร และ 40% ของภาคการค้าปลีกและการผลิตภายในปี 2025 หรือตัวอย่างของ The Walt Disney Company ที่มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์แหล่งน้ำ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสียให้เป็นศูนย์ โดยกระตุ้นให้พนักงานและชุมชนร่วมกันสร้างความยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนเงิน 27 ล้านดอลลาร์ต่อชุมชน ผ่านการบริจาคอาหารและชุด PPE และกระตุ้นให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็น Virtual Volunteering ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย
Innovation & Technology
ในขณะที่ภาวะโลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น วิทยาการของมนุษย์ก็ก้าวหน้ามากขึ้นเช่นเดียวกัน มนุษย์ตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาโลกร้อนที่มีต่อการดำรงชีวิต และพยายามคิดค้นวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จากข้อมูลในเดือนมกราคม 2023 ของ HolonIQ แพลตฟอร์มข้อมูลเทรนด์และงานวิจัยทางการศึกษาระดับโลกระบุว่า ปัจจุบันมี Climate Tech Unicorns (ธุรกิจ Start up ทางด้านเทคโนโลยีลดโลกร้อนที่มีมูลค่าบริษัทสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) ถึง 83 ธุรกิจทั่วโลก
ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 180 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ กระจายตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เช่น กลุ่มพลังงาน อาหาร การเกษตร ยานยนต์ การก่อสร้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ Artificial Intelligence (AI) ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนา
ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิเคราะห์และคาดการณ์ภาวะโลกร้อนที่แม่นยำเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การใช้จัดการผลผลิตทางการเกษตรเพื่อลดคาร์บอน การใช้ออกแบบวัสดุการก่อสร้างหรือบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดโลกร้อน หรือใช้ในการบริหารอุปสงค์และอุปทานเพื่อลดของเสียและการปล่อยมลพิษ เป็นต้น
เพียงแค่วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาที่ทำให้ GDP ประเทศไทยหายไป 6% เรายังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจกันขนาดนี้ แล้วถ้า GDP หายไปมากกว่านี้ล่ะ? ข้อมูลจากสำนักวิจัย Swiss Re Institute ในปี 2021 ระบุว่าหากประเทศไทยเรายังไม่มีมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเลย อาจจะทำให้เราสูญเสีย GDP สูงถึง 43.6% ภายในปี 2048 เพราะผู้บริโภคเองให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ความยั่งยืนมากที่สุด และต้องการให้ภาคธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน หากองค์กรหรือธุรกิจไหนไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืน หรือไม่รักโลก ผู้บริโภคก็จะไม่รักเขาเช่นเดียวกัน ในปี 2023 นี้ ประโยคที่ว่าความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือกแต่คือทางรอด คงใกล้ตัวเข้ามามากยิ่งขึ้น วิถีปฏิบัติเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของโลกจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน เราคงได้เห็นหลายองค์กรและธุรกิจพยายามปรับตัวตามกติกาสังคมทางด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนจะกลายเป็นทั้งเทรนด์และไฟต์บังคับที่ทุกภาคส่วนจะหันมาให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ล้วนทำให้ทุกคนหวาดกลัวและพยายามหาวิธีการปรับตัว
ที่มา:
“The top 5 sustainability and climate trends to watch in 2023.” Economist Impact, 31 December 2022, https://impact.economist.com/sustainability/net-zero-and-energy/the-top-5-sustainability-and-climate-trends-to-watch-in-2023.
Olynec, Natalia. “13 sustainability trends driving business in 2023 – I by IMD.” IMD.org, 2 January 2023, https://www.imd.org/ibyimd/sustainability/13-sustainability-trends-driving-business-in-2023/.
Ridings, Karen. “2022 confirmed as one of warmest years on record: WMO.” UN News, 12 January 2023, https://news.un.org/en/story/2023/01/1132387.
“The Global Commitment 2022.” Ellen MacArthur Foundation, https://ellenmacarthurfoundation.org/global-commitment-2022/overview.
“The value of net zero.” McKinsey, 29 August 2022, https://www.mckinsey.com/featured-insights/sustainable-inclusive-growth/chart-of-the-day/the-value-of-net-zero.