สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566

โดย งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด 

วันที่ 15 กันยายน 2566

 

ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566

 

ภาพรวมสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 ฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยทั้งสิ้น 7,075,073 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 73 ของปี 2562) จากที่คาดไว้ประมาณ 6.6 ล้านคน และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 347,543 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 73 ของปี 2562) จากที่คาดไว้ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า จะเห็นได้ว่าบรรยากาศการเดินทางเที่ยวไทยของตลาดต่างประเทศในภาพรวมดีขึ้น โดย TOP10 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากที่สุดไตรมาสนี้ มาจากนักท่องเที่ยวในแถบเอเชียเป็นหลัก ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว สิงคโปร์ และไต้หวัน สาเหตุหลักคือการเปิดเพิ่มเที่ยวบินประจำจากตลาดหลักภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกกลาง และเที่ยวบิน Charter Flight จากเมืองรองของรัสเซียเข้าไทยช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งปกติจะปรับตารางการบินในช่วงเดือนตุลาคมทุกปี ส่งผลให้จำนวนที่นั่งเครื่องบินจากต่างประเทศเข้าไทยภาพรวม (Seat Capacity) ฟื้นตัวร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2562 นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยหนุนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเที่ยวไทยเป็นคณะกลุ่มเพื่อนกลุ่มครอบครัวในช่วงวันหยุดพักร้อน/ปิดภาคเรียนของต่างประเทศ อาทิ เทศกาลโอบ้ง(ญี่ปุ่น) เทศกาลชูซอก(เกาหลีใต้) Summer School ในตลาดรัสเซีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สเปน ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ ผนวกกับการเดินทางเที่ยวไทยจากการกระตุ้นตลาดด้วยการนำเสนอ Soft Power ของไทยเผยแพร่ในละครซีรีส์เกาหลี แพลตฟอร์มออนไลน์ถ่ายทอดประสบการณ์เที่ยวไทยตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อีกทั้งอานิสงส์จากการจัดคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดังระดับโลกในประเทศไทยช่วยผลักดันให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Fanclub ศิลปิน โดยเฉพาะในแถบเอเชียตัดสินใจเดินทางเข้ามาชมคอนเสิร์ตร่วมไปกับการท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นการเดินทางของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายของ ททท. สำนักงานต่างประเทศร่วมกับพันธมิตร บริษัทนำเที่ยว และสายการบินในหลายพื้นที่ตลาด อาทิ การต่อยอดสินค้าเสนอขายจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย B2B ด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย TTM+2023 การจัดงาน Consumer Fair : Amazing Thailand Festival 2023 ณ กรุงนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) และเมืองบาร์เซโลนา (สเปน) การรุกส่งเสริมตลาดศักยภาพในพื้นที่ใหม่ ๆ อาทิ จีน รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย โดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัวกำลังซื้อสูง ความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น การเร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย การเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ในการยื่นขอวีซ่าเข้าไทย โดยลดระยะเวลาการอนุมัติวีซ่าฯ ให้กระชับขึ้น เป็นต้น

 

โดยสถานการณ์รายภูมิภาคสรุปได้ ดังนี้:

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ประกอบด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และอาเซียน)

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเดินทางเข้าไทยราว 4.8 ล้านคน (ฟื้นตัวร้อยละ 67 ของปี 2562) และสร้างรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 1.9 แสนล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 61 ของปี 2562) สถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกครองสัดส่วนถึงร้อยละ 68 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้าไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาก 

 

1) จำนวนที่นั่งเครื่องบินของ “ตลาดหลัก” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ฟื้นตัวกลับมามากกว่าร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 ภาพรวมจำนวนที่นั่งเครื่องบินจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้าไทยฟื้นตัวร้อยละ 67 (ราว 7 ล้านที่นั่ง) จากช่วงเดียวกันของปี 2562 (ราว 10 ล้านที่นั่ง) โดยแบ่งเป็น ภูมิภาคอาเซียนมีจำนวนที่นั่งราว 3.2 ล้านที่นั่ง (ฟื้นตัวถึงร้อยละ 82 จากช่วงเดียวกันของปี 2562) และตลาดที่มีจำนวนที่นั่งเครื่องบินเข้าไทยสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ตลาดสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย (อัตราการฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 88-92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562) โดยทั้ง 3 ตลาดเป็นตลาดหลักของภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนที่นั่งราว 3.8 ล้านที่นั่ง (ฟื้นตัวร้อยละ 58 จากช่วงเดียวกันของปี 2562) โดยตลาดหลัก“เกาหลีใต้” มีอัตราการฟื้นตัวของที่นั่งเครื่องบินสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 รองลงมาคือ ตลาดญี่ปุ่น และฮ่องกง มีอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 59 และร้อยละ 68 ตามลำดับ ในขณะที่ จีน ฟื้นตัวมาร้อยละ 40 ผลจากการอนุญาตการเดินทางระหว่างประเทศที่ล่าช้า ทั้งนี้ ตลาดจีน ฮ่องกง และไต้หวัน มีสายการบินรวม 15 สายการบินประกาศเพิ่มเที่ยวบินจากเมืองต่าง ๆ ของทั้ง 3 ตลาดเข้ากรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ในตารางการบินฤดูร้อนระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2566 และตลาดญี่ปุ่น สายการบิน Thai Airways กลับมาเปิดเที่ยวบินในเส้นทางโอซาก้า-กรุงเทพฯ 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในเดือนพฤษภาคม และเพิ่มความถี่เป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในเดือนกรกฎาคม 2566 

2) รัฐบาลไทยเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจีนในการขอวีซ่าเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2566 โดยลดเอกสารประกอบการยื่นวีซ่าเหลือเพียง 6 รายการ และลดระยะเวลาการอนุมัติวีซ่าเหลือ 7 วันทำการ 

3) การจัดคอนเสิร์ตของศิลปินดังจากต่างประเทศในประเทศไทย มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวเอเชีย จากข้อมูลเว็บไซต์ inzpy.com เว็บไซต์ที่รวบรวมกิจกรรมการจัดคอนเสิร์ตในไทยพบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 มีคอนเสิร์ตจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทยถึง 4 งาน จึงคาดว่าจะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่ม Fanclub เนื่องจากทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียมีเที่ยวบินรองรับการเดินทางเข้าไทยค่อนข้างมาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่นานต่อทริป 

4) กระแสการเดินทางช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน) โดยดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อวันของภูมิภาคฯ ในช่วงปิดเทอม ซึ่งตรงกับเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2566 มีจำนวนราว 25,000-26,000 คนต่อวัน ขยับเพิ่มขึ้นจากระดับ 20,000 คนต่อวันในช่วงก่อนหน้า 

5) การให้บริการอย่างต่อเนื่องของรถไฟขบวนพิเศษเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่ ทำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ของไทยได้สะดวกมากขึ้น การรถไฟมาเลเซียให้บริการรถไฟขบวนพิเศษภายใต้ชื่อ “MY Sawasdee” จำนวนรวมทั้งสิ้น 10 ขบวน และจะเปิดให้บริการไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 

6) ททท. จัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเข้าไทยในรูปแบบ Consumer Fair ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าการท่องเที่ยวของไทย เสนอขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวโดยตรง และมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการเดินทางมาไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเอเชียนิยมเดินทางต่างประเทศ (High season) อาทิ “Thai Festival Fukuoka & Visit Thailand Year 2023” ณ เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (มิ.ย.) “Amazing Thailand Festival 2023” ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม (มิ.ย.) “Thailand Sanook 2023” ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย (มิ.ย.) “International Travel Expo 2023” ณ ฮ่องกง (มิ.ย.) “Amazing Thailand Fest 2023 in Osaka” ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น (ก.ค.) และ “Amazing Thailand…Craft Your Journey 2023” ณ ประเทศสิงคโปร์

 

 

 

ภูมิภาคยุโรป

การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวยุโรปในไตรมาสนี้มีจำนวนมากเป็นรองจากตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียตะวันออก คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 เดินทางเข้าไทยจำนวน 979,299 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 89 ของปี 2562) สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 70,668 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 89 ของปี 2562) ตามลำดับ ซึ่งตลาดที่มีการฟื้นตัวดีเกินร้อยละ 100 จากปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันคือ รัสเซีย และยุโรปตะวันออก ส่วนตลาดอื่น ๆ มีการฟื้นตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59-94 ตามลำดับ ปัจจัยที่สนับสนุนนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรปให้เดินทางมาไทยเกิดจาก 

 

1) จำนวนที่นั่งเครื่องบินเข้าไทย (Seat Capacity) ฟื้นตัวร้อยละ 71 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือจำนวนรวม 7.1 แสนที่นั่ง (จาก 9.2 แสนที่นั่งในปี 2562) ตลาดที่มีจำนวนที่นั่งเครื่องบินฟื้นตัวดีที่สุดมากกว่าค่าเฉลี่ยรวมของภูมิภาค (ร้อยละ 71) 5 อันดับแรกคือ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก นอกจากนี้สายการบิน Aeroflot เปิดเที่ยวบินตรงมายังประเทศไทยเร็วขึ้นในเดือนกรกฎาคม จากเดิมจะปรับตารางการบินฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าไทยจาก 5 เมืองของรัสเซียโดยไม่ผ่านมอสโก จำนวน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ใน 5 เส้นทางคือ ฮาบารอฟสค์-ภูเก็ต, โนโวซีบีสค์-กรุงเทพฯ, ครัสโนยาสค์-กรุงเทพฯ, อีร์คุตสค์-กรุงเทพฯ และวลาดิวอสต็อก-กรุงเทพฯ (เริ่ม 7 กรกฎาคม 2566) เส้นทางมอสโก-กรุงเทพ จำนวน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ สายการบิน S7 Airlines เส้นทางอีร์คุตสค์-กรุงเทพฯ จำนวน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ทั้งนี้มีเที่ยวบิน Charter Flight บินตรงเข้าไทยเส้นทางมอสโก-อู่ตะเภา ของสายการบิน Red Wing Air จำนวน 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ 

2) กิจกรรมการดำเนินงานส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. ในยุโรป โดยมีการ Joint Marketing Campaign กับบริษัทนำเที่ยวและสายการบินกระตุ้นการเดินทางของกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มครอบครัว มาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงฤดูร้อน รวมไปถึงการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย อาทิ จัดกิจกรรม Thailand More to Experience เป็นการจัดกิจกรรม TO-TA-Media Fam Trip (เยอรมนี) และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ประเทศไทยร่วมกับพันธมิตรสายการบิน Qatar Airways ในงาน World International Golf Championship “The Ryder Cup 2023” (อิตาลี) ในเดือนกรกฎาคม 2566 เข้าร่วมกิจกรรม FTI Roadshow ใน 5 เมืองหลักของตลาดเยอรมนี ได้แก่ Bremen Frankfurt Paderborn Nürnberg และ Leipzig (เยอรมนี) และเข้าร่วมงาน OTDYKH Leisure (รัสเซีย) ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป คือ วิกฤตการเงิน อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มสูง เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความระมัดระวังด้านการใช้จ่ายมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางระยะไกล โดยอาจเลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยัง Short Haul Destination และค่าบัตรโดยสารเครื่องบินยังคงมีราคาแพง รวมทั้งบางเส้นทางที่เคยทำการบินจากเมืองหลักยุโรปเข้ากรุงเทพฯ ในช่วงก่อนโควิดยังไม่มีแผนกลับมาเปิดให้บริการ อาทิ เมืองมิลาน บรัสเซลส์ ออสโล ของสายการบิน Thai Airways และเมืองลอนดอนของสายการบิน British Airways 

 

 

 

ภูมิภาคอเมริกา

เข้าสู่ช่วง Low Season ของตลาดในการเดินทางเข้าไทย คาดว่ามีนักท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 เดินทางเข้าไทยจำนวน 241,568 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 83 ของปี 2562) และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 17,732 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 85 ของปี 2562) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้าไทยเป็นกลุ่มครอบครัวที่เดินทางในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวภูมิภาคอเมริกา มีดังนี้ 

 

1) การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 5.25-5.50 ส่งผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น แตะระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (จาก 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมิถุนายน 2566) ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

2) การฟื้นตัวของเที่ยวบินเชื่อมโยงจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเข้าไทย จำนวนที่นั่งที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเมษายน–มิถุนายน 2566 ในตลาดฮ่องกง (ร้อยละ 16) ไต้หวัน (ร้อยละ 7) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 5) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 3) รวมทั้งการเปิดเส้นทางบินตรงเข้าไทยของสายการบิน STARLUX Airlines ที่เปิดบริการในชั้น First Class เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-ไทเป ส่งผลให้การเดินทางเข้าไทยจากฝั่งตะวันตกของอเมริกามีความสะดวกมากขึ้น 

3) ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของตลาดบราซิล อัตราการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดบราซิลสูงกว่าที่คาดการณ์ โดยมีอัตราการฟื้นตัวประมาณร้อยละ 95 จากช่วงเดียวกันในปี 2562 เสริมด้วยกระแสความนิยมเดินทางมายังภูมิภาคเอเชีย จากความต้องการหาแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ 

4) การส่งเสริมตลาดของ ททท. ที่มุ่งเน้นกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของนักท่องเที่ยว ผ่านโครงการ Let’s Go Thailand ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งสายการบิน (STARLUX Airlines, Singapore Airlines) และบริษัทนำเที่ยว (Affordable World, InterTrips) เพื่อกระตุ้นการเดินทางผ่านการให้ส่วนลด Agents Incentive และการเสนอขายผ่านช่องทางต่าง ๆ และการหารือร่วมกับพันธมิตรสายการบิน Qatar Airways ในกิจกรรม Joint Promotion และการต่อยอดสินค้าเสนอขายจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย B2B ด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย TTM+2023, การจัดงาน Consumer Fair : Amazing Thailand Festival 2023 ณ กรุงนิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)

 

 

 

ภูมิภาคเอเชียใต้

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้เดินทางเข้าไทยแผ่วลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเมษายน–มิถุนายน 2566 คาดว่าเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวน 467,339 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 81 ของปี 2562) และสร้างรายได้ประมาณ 22,150 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 83 ของปี 2562) โดยมีปัจจัยฉุดรั้งจาก 

 

1) จำนวนที่นั่งเครื่องบินของเที่ยวบินเข้าไทยลดลง โดยเฉพาะจากตลาดอินเดีย จำนวนที่นั่งเครื่องบินลดลงประมาณร้อยละ 5 จากข้อจำกัดในเรื่องเที่ยวบินตรงเข้าสู่ไทยจากเมืองหลักของอินเดีย เนื่องจากโควตาที่สายการบินไทยได้รับจากรัฐบาลอินเดียเต็มโควตา และอยู่ช่วงนอกฤดูกาลการเดินทาง โดยปัจจุบัน Load Factor อินเดียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70-75 ทั้งนี้ จำนวนที่นั่งเครื่องบินในไตรมาสนี้ฟื้นตัวกลับมาร้อยละ 69 ของช่วงเดียวกันในปี 2562 หรือมีจำนวนที่นั่งเครื่องบินรวม 782,575 ที่นั่ง 

2) การแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวอินเดีย โดยจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นคู่แข่งของไทยได้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวอินเดีย เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกมาตรการวีซ่าประเภท Multiple VISA เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอินเดีย โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ (ระดับกลาง-บน) ให้สามารถเดินทางเข้า-ออกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งภายในระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี เวียดนาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวอินเดียด้วยวีซ่าประเภท E-Visa อนุญาตให้เดินทางเข้า-ออกจากเวียดนามได้หลายครั้ง และมีระยะเวลาพำนักไม่เกิน 90 วัน เป็นต้น ทั้งนี้ ททท. ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อลดข้อจำกัดด้าน Seat Capacity เพื่อให้ยังคงสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ โดยการมุ่งเน้นการนำเสนอขายสินค้าและบริการ รวมทั้งกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่แปลกใหม่เหมาะกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมความหรูหรา จากกิจกรรม Amazing Thailand Luxury Road Show to India เสนอขายแพ็กเกจ Luxury เพื่อมุ่งเน้นการทำตลาดไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพในตลาดอินเดีย ปูพื้นกระตุ้นการเดินทางเข้าไทยในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566

 

 

 

ภูมิภาคโอเชียเนีย

ตลาดนักท่องเที่ยวจากโอเชียเนียมีการเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวน 201,858 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 90 ของปี 2562) และสร้างรายได้ประมาณ 15,520 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 88 ของปี 2562) โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนคือ 

 

1) ความนิยมเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่มีความคุ้มค่า ทดแทนช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่นักท่องเที่ยวต้องงดเว้นการเดินทาง นักท่องเที่ยวจากตลาดหลัก “ออสเตรเลีย” เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในเดือนกรกฎาคมแตะระดับ 6 หมื่นราย จัดว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงมกราคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา จากการเดินทางมาท่องเที่ยวไทยพร้อมครอบครัวในช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาว การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวหลังเก็บออมเงินของชาวออสเตรเลีย สำหรับการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ รายงานแนวโน้มพฤติกรรมนักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่เปลี่ยนแปลงไปโดย Euromonitor ระบุว่าชาวออสเตรเลียเต็มใจที่จะเลือกเข้าพักโรงแรมหรูหรืออัปเกรดห้องพัก เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่คุ้มค่า เช่น บริการสปา และผู้ให้บริการสามารถเพิ่มราคาได้ และมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางระยะสั้น เช่น นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินโดนีเซีย และประเทศไทย เนื่องจากมีราคาที่คุ้มค่ากว่าหากเทียบกับการเดินทางภายในออสเตรเลียที่สินค้าและบริการโดยเฉลี่ยมีราคาสูงกว่า 

2) นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนียนิยมเดินทางด้วยเที่ยวบินเชื่อมโยง แม้จำนวนที่นั่งเครื่องบินในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 ลดลงร้อยละ 5 หรือมีจำนวนที่นั่งเครื่องบิน 172,867 ที่นั่ง และมีเที่ยวบินเข้ามาจาก 2 เมือง คือ ซิดนีย์ และเมลเบิร์น ซึ่งทำการบินโดย 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบิน JetStar, Qantas, Thai Airways และ Thai AirAsiaX อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีเที่ยวบินตรงรองรับการเดินทางเข้าไทยของตลาดนิวซีแลนด์ โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนียนิยมเดินทางด้วยเที่ยวบินเชื่อมโยง มาจากสิงคโปร์ (ร้อยละ 38) และมาเลเซีย (ร้อยละ 10) ทั้งนี้ จำนวนที่นั่งเครื่องบินมีอัตราการฟื้นตัวกลับมาร้อยละ 73 ของจำนวนที่นั่งในปี 2562 หรือมีจำนวนที่นั่งรวม 172,867 ที่นั่ง 

3) ททท. ทำกิจกรรม Joint Marketing กับพันธมิตรสายการบิน เชื่อมโยงการเดินทางเข้าไทย สอดคล้องกับพฤติกรรมตลาดที่นิยมเดินทางด้วยเที่ยวบินเชื่อมโยงเข้าไทย โดย ททท. ร่วมมือกับสายการบิน Singapore Airlines จัดกิจกรรม Joint Marketing ในแคมเปญ “Unveil the Magic of Thailand with Singapore Airlines” ขายบัตรโดยสารเครื่องบินไปกรุงเทพ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และกิจกรรม Joint Marketing กับบริษัท Travel Junction (Wholesale) นำเสนอแผนการเดินทางจากกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกาญจนบุรี และภูเก็ต ในช่วงวันที่ 1-31 สิงหาคม 2566 Joint Marketing กับ Webjet (Australia’s #1 Online Travel site) เพื่อกระตุ้นการเดินทางในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566

 

 

 

ภูมิภาคตะวันออกกลาง 

คาดว่าเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 339,686 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 134 ของปี 2562) และสร้างรายได้ประมาณ 29,596 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 144 ของปี 2562) โดยตลาดภูมิภาคตะวันออกกลาง มีอัตราการฟื้นตัวด้านจำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ 

 

1) กระแสการเดินทางเที่ยวไทย ซึ่งตรงกับช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนของประเทศกลุ่มอาหรับ เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต โดยนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสูงกว่าช่วง Post Ramadan ที่นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีนักท่องเที่ยวสะสมในแต่ละตลาดของเดือนกรกฎาคม 2566 สูงถึง 30,000 คนต่อเดือน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ทำให้ตลาดซาอุดีอาระเบียครองสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมที่เดินทางเข้าไทยสูงที่สุด แซงหน้าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เป็นตลาดหลักของภูมิภาคตะวันออกกลาง 

2) การเปิดให้บริการของสายการบินใหม่เข้าไทย โดยมีสายการบิน Air Arabia ในเส้นทางชาร์จาห์–กรุงเทพฯ 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากตลาดซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ เที่ยวบินจากภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 และจำนวนที่นั่งเครื่องบินฟื้นตัวกลับมาร้อยละ 107 ของปี 2562 หรือมีจำนวนที่นั่งรวม 952,484 ที่นั่ง 

3) การรุกทำตลาดโดย ททท. การทำกิจกรรม Joint Marketing กับ Expedia และ Wego Exploring Thailand 2023 เสนอแพ็กเกจท่องเที่ยวไทย 

 

 

 

ภูมิภาคแอฟริกา

คาดว่าเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวน 33,342 คน (ฟื้นตัวร้อยละ 68 ของปี 2562) สร้างรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 2,343 ล้านบาท (ฟื้นตัวร้อยละ 71 ของปี 2562) โดยมีปัจจัยสนับสนุนนักท่องเที่ยวภูมิภาคแอฟริกาให้เดินทางมาไทยเกิดจาก 

 

1) จำนวนที่นั่งเครื่องบินเข้าไทย (Seat Capacity) ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 มีจำนวนที่นั่งเครื่องบินรวม 33,635 ที่นั่ง ฟื้นตัวร้อยละ 51 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 (53,497 ที่นั่ง) โดยการให้บริการของสายการบินภายในภูมิภาคแอฟริกา ดังนี้ สายการบิน Ethiopian Airlines เส้นทางอะดิสอะบาบา-กรุงเทพฯ 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ สายการบินภายในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชีย อาทิ Qatar Airways เส้นทางเชื่อมโยง เคปทาวน์-โดฮา-กรุงเทพฯ 72 เที่ยวบิน/สัปดาห์ สายการบิน Emirates Airlines จำนวน 48 เที่ยวบิน/สัปดาห์ สายการบิน Singapore Airlines เส้นทางเชื่อมโยง โจฮันเนสเบิร์ก-สิงคโปร์-กรุงเทพฯ 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และสายการบิน Cathay Pacific เส้นทางเชื่อมโยง เคปทาวน์-โดฮา-ฮ่องกง-กรุงเทพฯ 36 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ทั้งนี้ สายการบิน Kenya Airways งดให้บริการเส้นทางบินตรงจากตลาดเคนยาเข้าไทยชั่วคราวในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน  

 

2) วันหยุดยาว ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นช่วงที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์และปิดภาคเรียนฤดูหนาวในแอฟริกาใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปต่างประเทศแบบระยะไกล (Long Haul Destinations) อีกทั้งเป็นช่วงฤดูหนาวทำให้ชาวแอฟริกาใต้มองหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีสภาพอากาศอบอุ่น 

 

3) กิจกรรมการดำเนินงานส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. ลอนดอน ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม 2566 จัดกิจกรรม Joint Marketing ร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ในพื้นที่หลายราย อาทิ บริษัทนำเที่ยว Flight Site ส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม Luxury บริษัทนำเที่ยว Flight Centre ส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม Health & Wellness บริษัทนำเที่ยว WOLO Travel ส่งเสริมการท่องเที่ยวเจาะกลุ่ม Revisit

 

Share This Story !

6.5 min read,Views: 5363,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 19, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 19, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 19, 2025