สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ เดือนมกราคม-มีนาคม 2567

โดย งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด วันที่ 26 มีนาคม 2567

 

 

ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ เดือนมกราคม-มีนาคม 2567

 

สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยในช่วง High Season ต้นปี เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวไทยคึกคัก เพิ่มสูงขึ้น 1.3 ล้านคนจากระดับ 8 ล้านคนในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งสิ้น 9,381,098 คน หรือขยายตัวร้อยละ 44 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 476,072 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 โดยภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และเอเชียใต้ มีจำนวนและรายได้ฟื้นตัวเทียบเท่าที่ไทยเคยได้รับช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 แล้ว ส่วนนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเร่งจำนวนขึ้นได้ดี สามารถฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 67 ของปี 2562 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ (คาดการณ์ ณ 22 ธันวาคม 2567 ฟื้นตัวร้อยละ 50 ของปี 2562)

TOP 10 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากที่สุด ได้แก่ จีน (1.75 ล้านคน) มาเลเซีย (1.17 ล้านคน) รัสเซีย (6.28 แสนคน) เกาหลีใต้ (5.66 แสนคน) อินเดีย (4.76 แสนคน) เยอรมนี (3.18 แสนคน) ลาว (3.09 แสนคน) สหรัฐอเมริกา (2.81 แสนคน) สหราชอาณาจักร (2.78 แสนคน) และญี่ปุ่น (2.77 แสนคน) ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 65 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย

 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงต้นปี 2567 คือ 

1) ไทยมีมาตรการอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ การยกเว้นการขอวีซ่าท่องเที่ยวเข้าไทย (Visa Exemption) สำหรับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน โดยได้สิทธิ์พำนักในไทยสูงสุด 30 วัน และสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซีย ขยายวันพำนักในไทยสูงสุดเป็น 90 วัน จากเดิมสูงสุด 30 วัน และการยกเว้นยื่นแบบ ตม. 6 เป็นการชั่วคราว ณ ด่านชายแดนทางบก อ.สะเดา จ.สงขลา เพิ่มความคล่องตัวให้แก่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เป็นต้น 

2) กระแสท่องเที่ยวไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องเพื่อเดินทางท่องเที่ยวถึง 3-20 วัน

3) จำนวนที่นั่งเครื่องบินระหว่างประเทศเข้าไทยฟื้นตัวร้อยละ 79 ของจำนวนที่นั่งในช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน 

4) อานิสงส์การจัดแสดงคอนเสิร์ต-แฟนมีตติ้งของศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติในประเทศไทย ช่วยกระตุ้นกลุ่มแฟนคลับศิลปินจากประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียเดินทางเข้ามาชมการแสดงฯ พร้อมทำกิจกรรมท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมี 

5) การดำเนินงานส่งเสริมตลาดของ ททท. สำนักงานต่างประเทศไปยังกลุ่มเป้าหมายภายใต้มาตรการ Ease of Traveling ของรัฐบาล ประกอบกับการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายประเทศไทย เช่น World Travel Market 2023 (WTM 2023) Internationale Tourismus Börse 2024 (ITB Berlin 2024) ตลอดจนกิจกรรม Joint Promotion ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวและสายการบินในหลายพื้นที่ไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ กลุ่มคู่รัก/ครอบครัว กลุ่มเน้นขับรถเที่ยวด้วยตนเอง เป็นต้น 

ในขณะที่ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดต่างประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของราคาบัตรโดยสารเครื่องบินแพงที่ทำให้ค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับสูง การแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจากไทยของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างชูจุดขายสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ตลาดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่ายิ่งช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเยือนกันมากขึ้น 

โดยสรุปสถานการณ์แต่ละภูมิภาคดังนี้:

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

นับเป็นภูมิภาคตลาดที่ครองสัดส่วนนักท่องเที่ยวสูงที่สุดร้อยละ 33 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจากภูมิภาคนี้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ปรับตัวดีขึ้นเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนจากเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ตลาดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเรียงลำดับมากที่สุดไปน้อยที่สุดคือ ตลาดจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ตามลำดับ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเดินทางเข้าไทย 3,074,358 คน ขยายตัวร้อยละ 113 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 146,710 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 111 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 

 

โดยปัจจัยสนับสนุนหลักเกิดจาก 

1) กระแสการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 7-15 กุมภาพันธ์ 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2566 และเมื่อพิจารณาเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2566 อย่างมากหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 531 รวมทั้งนักท่องเที่ยวตลาดอื่น ๆ ที่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพื่อฉลองวันหยุดยาวช่วงตรุษจีนก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ ไต้หวัน (ร้อยละ 35) ฮ่องกง (ร้อยละ 31) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 13) 

2) ผลตอบรับที่ดีต่อมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 และนักท่องเที่ยวไต้หวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 – 10 พฤษภาคม 2567 ส่งผลให้ตลาดดังกล่าวมีจำนวนนักท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นหลังไทยใช้มาตรการฯ โดยเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 240 นักท่องเที่ยวไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 นอกจากนี้มาตรการยกเว้นการตรวจลงตราถาวรระหว่างไทย-จีนที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม 2567 โดยนักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศสามารถเดินทางเข้า-ออกเพื่อท่องเที่ยวและพำนักได้สูงสุด 30 วัน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นในระยะถัดจากนี้ เนื่องจากมีกระแสการพูดถึงประเด็นการยกเว้นวีซ่าถาวรและมีการสืบค้นเกี่ยวกับประเทศไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนพุ่งสูงถึงร้อยละ 90 หลังการรายงานประเด็นดังกล่าวทางสื่อหลักและสื่ออื่น ๆ บนโซเชียลมีเดีย 

3) จำนวนที่นั่งเครื่องบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไทย มีจำนวนรวม 4.7 ล้านที่นั่ง (คิดเป็นสัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 71 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) โดยตลาดจีนมีจำนวนสูงที่สุดราว 2 ล้านที่นั่ง (สัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 59 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) รองลงมาคือ ตลาดเกาหลีใต้ 745,211 ที่นั่ง และฮ่องกง 702,427 ที่นั่ง (สัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 85-96 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินประจำ (Schedule Flight) และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน ต่อเนื่องจนถึงช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 โดยเฉพาะเส้นทางบินมาจากเมืองต่าง ๆ ของจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ต ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความต้องการเดินทางมากขึ้น เช่น สายการบิน China Airlines เพิ่มเที่ยวบินเส้นทางโอกินาวา-ไทเป-กรุงเทพฯ เป็นวันละ 2 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 สายการบิน Singapore Airlines เส้นทางฟูกูโอกะ-สิงคโปร์-ภูเก็ต เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 สายการบิน Thai Vietjet เส้นทางเจิ้งโจว-กรุงเทพฯ เพิ่มเป็น 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เส้นทางเจิ้งโจว-ภูเก็ต เพิ่มเป็น 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และเส้นทางฮูฮอต-กรุงเทพฯ เพิ่มเป็น 1 เที่ยวบิน/สัปดาห์ รวมทั้ง Charter flight ของสายการบิน Thai Vietjet เส้นทางฟูกูโอกะ-ภูเก็ต จำนวน 1 เที่ยวบิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2566 – 3 มกราคม 2567

4) การจัดงานคอนเสิร์ตศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติในประเทศไทย (Concert LIVE in BKK) สามารถกระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดจีน เพื่อเข้ามาร่วมคอนเสิร์ตของกลุ่มแฟนคลับศิลปินไปพร้อมกับทำกิจกรรมการท่องเที่ยวในไทย อาทิ คอนเสิร์ตของนักแสดงไทยซีรีส์วาย “ซี-นุนิว” คอนเสิร์ตของศิลปิน “MARK TUAN” เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่นในเมืองไทย “Muuji Festival 2024” คอนเสิร์ตของวง K-Pop “IVE” ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีใต้ “NCT 127 3RD TOUR ‘NEO CITY : BANGKOK – THE UNITY’” ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก อาทิ “Coldplay Music of The Spheres World Tour Bangkok” และ “Ed Sheeran ‘+ – = ÷ x’ Mathematics Tour Bangkok 2024” รวมทั้งคอนเสิร์ตของวง K-Pop “ITZY” และ “BRUNO MARS LIVE IN BANGKOK” ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 

5) การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้าไทย อาทิ 1.การสร้างเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวกลุ่ม High-end ในพื้นที่ตลาดจีน โดย Joint Promotion ร่วมกับบริษัท Wedding Planner ระดับ High-end จัดกิจกรรม Market Briefing & Product Update และเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจสินค้าท่องเที่ยวกลุ่ม Wedding & Honeymoon ของไทย รวมถึงสำรวจเส้นทางสินค้าและบริการในจังหวัดภูเก็ต เพื่อนำไปต่อยอดการขายสินค้าท่องเที่ยว โดยจัดทำเนื้อหาประชาสัมพันธ์สินค้าท่องเที่ยว Wedding & Honeymoon เผยแพร่ผ่านทางนิตยสารและช่องทางออนไลน์ (Weibo, Wechat, Website) สามารถสร้างการรับรู้มากกว่า 6 ล้านคน/ครั้ง 2.กระตุ้นตลาดกลุ่ม Revisit to Thailand เช่น จัดกิจกรรมเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวทางบกร่วมกับพันธมิตร กิจกรรมคาราวานรถยนต์ และเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมโยงภาคอีสานและภาคอื่นของประเทศไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน การร่วมมือกับพันธมิตรบริษัทนำเที่ยว Mode Tour ส่งเสริมการขาย “Mode Tour’s Signature Products” ซึ่งเป็นสินค้าท่องเที่ยวในระดับพรีเมียมของ Mode Tour ไปยังประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น Quick Win Destination และเมืองรองอื่น ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหัวหิน ซึ่งสามารถส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไทยและสร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้า/บริการท่องเที่ยวของไทยไปยังกลุ่มเป้าหมาย อย่างน้อย 1.5 ล้านคน/ครั้ง เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าไทย คือ 

1) นโยบายส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของจีน โดยจีนได้ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศระหว่างเมืองและมณฑลมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่มีนโยบายท่องเที่ยวที่ชัดเจน และมีการดำเนินการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง 

2) การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลัก จีน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจระบุว่าวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน (GDP Growth) เติบโตในอัตราชะลอลง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า GDP ของจีนปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากปี 2565 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 5.3 ในขณะที่ ญี่ปุ่น การบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกปี 2567 หดตัวร้อยละ 0.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายในด้านการเดินทางท่องเที่ยว 

3) สถานการณ์แข่งขันด้านการท่องเที่ยว ญี่ปุ่น เน้นส่งเสริมการเดินทางด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติของแต่ละภูมิภาค และมีมาตรการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนและระยะเวลาพำนัก ตลอดจนการแก้ไขปัญหามลพิษทางการท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ความแออัดของการขนส่งสาธารณะและการทิ้งขยะ นอกจากนี้จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าช่วยดึงดูดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากมีความคุ้มค่าเงิน และ จีน นำร่องเปิดฟรีวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และมาเลเซีย โดยสามารถเดินทางเข้าจีนเพื่อการท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า และพำนักได้สูงสุด 15 วันเป็นระยะเวลา 1 ปี (เริ่มวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567) เช่นเดียวกับ มาเลเซีย ที่ประกาศให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาเลเซียได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าและพำนักได้สูงสุด 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 และ 

4) แนวโน้มเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น โดยในเดือนมกราคม 2567 เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิบริเวณคาบสมุทรโนโตะ จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น และในพื้นที่ซินเจียง ประเทศจีน ทั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมสถานการณ์การเดินทางเข้าไทยของตลาดดังกล่าวในไตรมาสนี้ เนื่องจากสถานการณ์ควบคุมได้ในระยะสั้น โดยทางการได้ประกาศเตือนภัยล่วงหน้าและยกเลิกเที่ยวบินบางส่วนเท่านั้น เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินจนสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ 

 

ภูมิภาคอาเซียน

ครองสัดส่วนจำนวนร้อยละ 27 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวอาเซียนในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 2,501,859 คน ขยายตัวร้อยละ 22 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 77,549 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 

1) กระแสการเดินทางเที่ยวไทยของตลาดมาเลเซียจากการยกเลิกยื่นแบบ ตม.6 เป็นการชั่วคราว ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา นับตั้งแต่เริ่มใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ทำให้การเดินทางผ่านด่านชายแดนทางบกของชาวมาเลเซียมีความคล่องตัวขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้าไทยเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีจำนวนสูงถึง 1.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 

2) การเดินทางช่วงตรุษจีนของนักท่องเที่ยวอาเซียนระหว่างวันที่ 7-15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยตลาดมาเลเซีย ตรุษจีนปีนี้มีวันหยุดยาวถึง 20 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-29 กุมภาพันธ์ 2567 ในขณะที่ตลาดอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีวันหยุดติดต่อกัน 3 วัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้ง 3 ตลาดเพิ่มขึ้นดังนี้ อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 มาเลเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลตรุษจีนปีที่ผ่านมา 

3) จำนวนที่นั่งเครื่องบินภูมิภาคอาเซียนเข้าไทย ฟื้นตัวร้อยละ 87 ของจำนวนที่นั่งปี 2562 หรือมีจำนวนที่นั่งราว 3.3 ล้านที่นั่ง ตลาดที่มีจำนวนที่นั่งฯ สูงที่สุด 3 อันดับแรกในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ (สัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 88-97 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) โดยเฉพาะสายการบินไทยได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางสิงคโปร์-กรุงเทพฯ เป็น 35 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยสะดวกขึ้น 

4) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. ด้วยสินค้าท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงและกระตุ้นการเดินทางกลุ่มจัดประชุมสัมมนาในไทย อาทิ การเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย TRAVEX Sessions ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานส่งเสริมการขาย ASEAN Tourism Forum 2024 (ATF 2024) เพื่อเจรจาธุรกิจทางการท่องเที่ยว สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการนำเสนอการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon ท่องอีสาน ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพันธมิตรทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่สนใจตลาดท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการร่วมมือกับตัวแทนการท่องเที่ยวจัดทำโปรแกรมส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรม B2B KL Travel Mart วันที่ 10 มกราคม 2567 การวางแผนงานร่วมกับ ททท. สำนักงานเกาะสมุย จัดกิจกรรม Samui Roadshow การวางแผนร่วมกับ Pfile International สำหรับจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ที่กำหนดเดินทางสู่ประเทศไทยในปี 2567 การดำเนินการประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการขาย CNY การเข้าร่วมงานกิจกรรมส่งเสริมการขาย NATAS Travel Fair 2024 วันที่ 1-3 มีนาคม 2567 เพื่อพบปะให้ข้อมูลสินค้า/บริการท่องเที่ยวประเทศไทยแก่นักท่องเที่ยวสิงคโปร์และผู้ที่พำนักในสิงคโปร์ รวมทั้งการเข้าร่วมมหกรรมการท่องเที่ยว MATTA Travel Fair, MITM JB Travel Fair และเริ่มจัดทำโพรโมชันสำหรับเทศกาลสงกรานต์ในไทย

ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ 

1) ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในประเทศลาวจากภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินลาวตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเงินกีบอ่อนค่าลงร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับเงินบาท (585 กีบ = 1 บาท) รวมทั้งหนี้สาธารณะประมาณ 6.75 แสนล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 112 ของ GDP ณ สิ้นปี 2566 ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศน้อยลง ซึ่งนักท่องเที่ยวลาวเป็นตลาดศักยภาพที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากมาเลเซีย 

2) การทำตลาดเชิงรุกของประเทศคู่แข่งขันในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวอาเซียน เช่น ไต้หวัน จัดแคมเปญสุ่มแจกเงิน 5,000 NT$ (5,600 บาท) ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังไต้หวันด้วยตนเอง (FIT) โดยนำเสนอข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม รวมทั้งเกาหลีใต้ จัดแคมเปญ Visit Korea Year 2023-2024 นำเสนอประสบการณ์เฉพาะในเกาหลี พร้อมโพรโมชันส่วนลดต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน 

3) นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic Tourism) โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่มีราคาใกล้เคียงกับประเทศไทย และกระแสการเดินทางที่ทำให้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยแสวงหาสถานที่และประสบการณ์ใหม่มากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางภายในประเทศมากขึ้น 

ในขณะเดียวกันสถานการณ์แข่งขันด้านการท่องเที่ยวไทยกับประเทศคู่แข่งขันในอาเซียน
ที่ต้องจับตา โดยมีการปรับทิศทางทำตลาดให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นในปี 2567 คือ เวียดนาม กระตุ้นและส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อาหารอันเป็นเอกลักษณ์ มรดกโบราณ ผู้คนที่เป็นมิตร และภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้มาเยือน ภายใต้สโลแกน “Vietnam – Timeless charm” หรือ “เวียดนาม – เสน่ห์เหนือกาลเวลา” โดยปี 2567 ตั้งเป้าหมายต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 18 ล้านคน ลาว ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับชาวออสเตรเลียที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ และเป็นประเทศที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก โดยเฉพาะ 3 เมืองหลัก ได้แก่ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และวังเวียง นับเป็นเมืองที่สามารถเดินทางได้สะดวก และมีความโดดเด่นในฐานะเมืองที่เป็นมิตรกับงบเดินทางท่องเที่ยว นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit Laos Year 2024 ตั้งเป้าหมายจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศมากกว่า 6.2 ล้านคนในปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 1,368 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย TOP 5 นักท่องเที่ยวจากไทย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าลาวมากที่สุดในปี 2566 

 

ภูมิภาคยุโรป

การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวยุโรปมากเป็นอันดับที่ 3 สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26 จากร้อยละ 23 ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวยุโรปเข้าไทย จำนวน 2,448,358 คน ขยายตัวร้อยละ 26 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 172,673 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยตลาดหลักยุโรปที่เข้าไทยมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ รัสเซีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร 

ปัจจัยสนับสนุนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปให้เดินทางมาไทย คือ 

1) จำนวนที่นั่งเครื่องบินเข้าไทย (Seat Capacity) ฟื้นตัวร้อยละ 83 ของช่วงเดียวกันปี 2562 หรือมีจำนวนราว 1.4 ล้านที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านที่นั่งในไตรมาสก่อนหน้า) โดยเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีการเปิดเส้นทางบินเข้าไทยจากเมืองต่าง ๆ ในแถบยุโรปเหนือมากขึ้น อาทิ เที่ยวบินประจำ สายการบิน Norse Atlantic Airways เปิดเส้นทางใหม่ ออสโล-กรุงเทพฯ 2 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และสายการบิน FinnAir เพิ่มความถี่เส้นทางเฮลซิงกิ-กรุงเทพ เป็น 14 เที่ยวบิน/วัน และเปิดเส้นทางเฮลซิงกิ-ภูเก็ต 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบิน Charter Flight สายการบิน TUI Airlines เปิดเส้นทางเดนมาร์ก-ภูเก็ต เส้นทางฟินแลนด์-ภูเก็ต และสายการบิน VING เปิดเส้นทางนอร์เวย์-ภูเก็ต และเส้นทางสวีเดน-ภูเก็ต 

2) กิจกรรมการดำเนินงานส่งเสริมตลาดของ ททท. สำนักงานในยุโรป ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขายสำคัญหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคเพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้าไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะ 1) กระตุ้นในช่วงปลายปี 2566 เช่น งาน World Travel Market (WTM 2023) วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อเจาะกลุ่มตลาดศักยภาพใหม่ เช่น กลุ่มรักสุขภาพหรือ Wellness กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างวัยมิลเลนเนียล นำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวใหม่ที่เน้นให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เส้นทางการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon แสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่และส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการขยายตลาดสู่พื้นที่ศักยภาพใหม่ เช่น สก็อตแลนด์ ตลาดยุโรปตะวันออก เป็นต้น ระยะ 2) กระตุ้นในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เพื่อให้เกิดการเดินทางมาไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวยุโรปนิยมวางแผนทริปเดินทาง 2-3 เดือนล่วงหน้าขึ้นไป อาทิ ยุโรปใต้ อิตาลี สเปน กลุ่มตลาดกลาง-บนแถบภาคเหนือของอิตาลี เช่น มิลาน อีกทั้งนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางเข้าไทยมากที่สุดในช่วงวันหยุดยาวฤดูร้อนเดือนสิงหาคม ยุโรปตะวันตก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ มีการเดินทางของกลุ่มความสนใจเฉพาะหรือกลุ่มครอบครัว ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนของยุโรปเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เช่น งาน Feria Internacional de Turismo (FITUR 2024) เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยและเป็นพื้นที่สำหรับการติดต่อธุรกิจ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน วันที่ 24–28 มกราคม 2567 จัดกิจกรรม Lauch Campaign Thailand is Healing Mind สร้างการรับรู้ให้ประเทศไทยเป็น Top of Mind ในกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสราเอลให้เกิดการตัดสินใจเดินทาง เลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกเมื่อมีการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนจากเหตุวิกฤตในพื้นที่ โดยลงโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยที่เกี่ยวกับ Spa & Wellness ผ่านสื่อ Conde Nast Traveller ในช่วงเดือนมกราคม–มีนาคม 2567 Internationale Tourismus Börse 2024 (ITB Berlin 2024) ออกบูธประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยและกิจกรรมต่าง ๆ ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วันที่ 5-7 มีนาคม 2567 และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์/ส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวประเทศไทยที่เกี่ยวกับกีฬามวยไทย หรือ Fitness Holidays ในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จัดกิจกรรม Post-ITB Thailand Roadshow ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ วันที่ 11 มีนาคม 2024 ททท. สำนักงานกรุงโรม ร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย Pre-ITB 2024 Roadshow ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย Borsa Mediterranea del Turismo (BMT) ณ Mostra d’Oltremare เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี วันที่ 14–16 มีนาคม 2567 เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว/สินค้าบริการด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และ Moscow International Travel & Exhibition (MITT) 2024 วันที่ 19-21 มีนาคม 2567 เป็นต้น 

3) การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรปดังนี้ 1.มาตรการ Visa Exemption สำหรับนักท่องเที่ยวคาซัคสถาน พำนักในไทยสูงสุด 30 วัน (มีผลบังคับใช้วันที่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567) และรัฐบาลไทยขยายเวลามาตรการฯ ออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 อันเป็นผลจากกระแสตอบรับที่ดีของนักท่องเที่ยวคาซัคสถานนับตั้งแต่ประกาศใช้มาตรการดังกล่าว และเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 นักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าไทยคาดว่ามีจำนวน 118,000 คน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 37 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2566 และ 2.การขยายเวลาพำนักในไทยเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซียสูงสุด 90 วัน จากเดิมสูงสุด 30 วัน (มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567) ช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาพักผ่อนในไทยเพิ่มขึ้น

4) กระแสการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ และเทศกาลวันหยุดอีสเตอร์ ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปส่วนใหญ่มีวันหยุดยาวติดต่อกันราว 2 สัปดาห์ช่วงอีสเตอร์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผนวกกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น นักท่องเที่ยวจึงเสาะหาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอากาศอุ่นกว่า ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระยะไกลยอดนิยมประเภท Beach Holidays และนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวในตะวันออกกลาง (อียิปต์ จอร์แดน เลบานอน) เนื่องจากบรรยากาศสงครามบริเวณฉนวนกาซาคุกรุ่นอยู่ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อิตาลี สเปน และกลุ่มยุโรปตะวันออก เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 

ทั้งนี้ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปในไตรมาสนี้หลัก ๆ คือ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินยังคงมีราคาสูง ราคาค่าที่พักในประเทศไทยปรับตัวสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส (ปาเลสไตน์) ที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ยังไม่มีข้อยุติ แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรปในภาพรวม แต่เฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวอิสราเอลเข้าไทยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 หดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน หรือลดลงร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ทั้งนี้เป็นการหดตัวในอัตราชะลอลงจากการหดตัวร้อยละ 40 ในไตรมาสก่อนหน้า

 

 

ภูมิภาคอเมริกา

คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เดินทางเข้าไทยจำนวน 418,272 คน ขยายตัวร้อยละ 17 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 27,560 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23 โดยตลาดหลักสหรัฐอเมริกาเข้าไทยมีจำนวน 281,129 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ตามมาด้วย ตลาดแคนาดา สามารถฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าจำนวนที่เคยได้รับปี 2562 แล้ว อยู่ที่จำนวน 86,590 คน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบวกต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว ดังนี้ 

1) การให้บริการเส้นทางบินตรงเข้าไทย (Direct Flight) ของสายการบิน Air Canada เส้นทางแวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ โดยเพิ่มความถี่เที่ยวบินเป็น 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 จากเดิม 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ 

2) นักท่องเที่ยวภูมิภาคอเมริกาหันเหเดินทางท่องเที่ยวแถบเอเชียเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่ปลอดภัย เนื่องจากบรรยากาศท่องเที่ยวแถบตะวันออกกลางไม่เอื้ออำนวยจากภาวะสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ (ฮามาส) ทำให้มีการยกเลิกการเดินทางในพื้นที่หลายประเทศที่อยู่ใกล้เคียงอิสราเอลจำนวนมาก ส่งผลให้จุดหมายท่องเที่ยวในไทยและประเทศแถบเอเชียได้อานิสงส์รับนักท่องเที่ยวจากทางภูมิภาคอเมริกามากยิ่งขึ้น 

3) กิจกรรมการส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. มุ่งเน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวระดับ High-end เข้าไทย โดยได้ดำเนินโครงการ Thailand Luxurious Experiences คัดเลือก Travel Advisor ภายใต้การเป็นสมาชิก Virtuoso หรือมีคุณสมบัติในการขายกลุ่มตลาดระดับบน เพื่อไปเจรจาธุรกิจกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวหรือ Premium Suppliers ในประเทศไทยแบบ One on One Business Meeting ช่วงก่อนจัดงาน (Pre Tour) เส้นทางเชียงใหม่ เชียงราย สมุย ภูเก็ต (เกาะยาวใหญ่) และระหว่างการจัดงาน ณ กรุงเทพฯ และอยุธยา ระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม 2567 ทั้งนี้

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวคือ ความไม่แน่นอนของสงคราม ยังคงเป็นสาเหตุหลักทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าบัตรโดยสารเครื่องบินในเส้นทางระยะไกลปรับราคาสูงขึ้น จึงส่งผลต่อต้นทุนการเดินทางและการตัดสินใจท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวระยะไกล

 

 

ภูมิภาคเอเชียใต้ 

การเดินทางเข้าไทยภูมิภาคนี้ยังคงรักษาสัดส่วนนักท่องเที่ยวไว้ที่ร้อยละ 6 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด จากผลตอบรับมาตรการ Visa Exemption เข้าไทยของนักท่องเที่ยวอินเดีย ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียใต้เดินทางเข้าไทยจำนวน 560,213 คน ขยายตัวร้อยละ 41 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 22,209 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38

 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 

1) ตลาดอินเดียตอบสนองต่อมาตรการ Visa Exemption ของไทยในระดับดี หลังมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอินเดียตัดสินใจเดินทางมาพักผ่อนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวอินเดียจำนวน 476,423 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่งตลาดอินเดียเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง ส่วนใหญ่ต้องการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนในวันหยุด โดยจะเดินทางในรูปแบบครอบครัวใหญ่ และนิยมเดินทางมาจัดงานแต่งงานในไทยช่วงเดือนพฤศจิกายน–กุมภาพันธ์ 

2) จำนวนที่นั่งเครื่องบินในภูมิภาคเอเชียใต้เข้าไทยมีจำนวน 908,231 ที่นั่ง (ฟื้นตัวร้อยละ 78 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) โดยตลาดอินเดียมีจำนวนที่นั่งสูงสุดอยู่ที่ 677,010 ที่นั่ง (สัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 84 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) ทั้งนี้ มีการเปิดเที่ยวบินใหม่เข้าไทยจากตลาดอินเดีย ภูฏาน และเนปาล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าไทยมากขึ้น 

3) ททท. มุ่งเน้นให้เกิดกระแสการเดินทางของคู่แต่งงานจากภูมิภาคเอเชียใต้ โดยดำเนินการส่งเสริมการขายภายใต้โครงการ The Celebration with Care ในตลาดอินเดีย โดยทำการบันทึกวิดีโองานแต่งงานของชาวอินเดียที่เดินทางมาจัดงานแต่งงานในประเทศไทย เพื่อใช้เผยแพร่ในรายการ Good Times สำหรับจัดทำสารคดีประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ‘Amazing Thailand: The Best Wedding Destination’ ซึ่งงานแต่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นทั้งสิ้น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 20-22 มกราคม 2567 ณ โรงแรม Avani+ Khao Lak โดยมีแขกร่วมงานกว่า 350 คน 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียใต้ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าไทยคือ 

1) ประเทศคู่แข่งขันของไทยในภูมิภาคอาเซียนผ่อนคลายมาตรการวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ดังนี้ 1.มาเลเซีย: อนุญาตให้นักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้ามาเลเซียโดยไม่ต้องขอวีซ่า (Visa Free) และพำนักได้สูงสุด 30 วัน มีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2566 และ 2.เวียดนาม: เปิดใช้ระบบ e-Visa รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเวียดนามเพื่อการท่องเที่ยวหรือเพื่อธุรกิจ ในส่วนของนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางเข้าเวียดนามยังคงต้องยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศ โดยสามารถพำนักได้สูงสุด 30 และ 90 วัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวอินเดียสามารถเดินทางเข้าประเทศดังกล่าวได้สะดวกขึ้น และช่วยลดความยุ่งยากในการจัดการเอกสารก่อนเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว 

2) ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินมาไทยมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเข้าไทยทุกเส้นทาง มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งขันค่อนข้างมาก เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางไปยังประเทศอื่นแทน เมื่อเปรียบเทียบราคาและความคุ้มค่าของการเดินทาง

 

ภูมิภาคโอเชียเนีย

มีการเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวภูมิภาคโอเชียเนียเดินทางเข้าไทยจำนวนทั้งสิ้น 188,377 คน ขยายตัวร้อยละ 10 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 13,486 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9 

โดยมีปัจจัยเอื้ออำนวยหลัก ๆ คือ 

1) กระแสการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเทศกาลปีใหม่และเทศกาลอีสเตอร์ Summer School Holiday ของตลาดโอเชียเนียอยู่ในช่วงเดือนมกราคม 2567 ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปีใหม่จนถึงช่วงกลางเดือนมกราคม 2567 และเทศกาลวันหยุดยาวอีสเตอร์มีวันหยุดติดต่อกันราว 2 สัปดาห์ในเดือนมีนาคม 2567 

2) จำนวนที่นั่งเครื่องบินภูมิภาคโอเชียเนียเข้าไทยมีจำนวนที่นั่ง 172,148 ที่นั่ง (คิดเป็นสัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) โดยเป็นจำนวนที่นั่งของเที่ยวบินตรงจากตลาดออสเตรเลียมาจาก 3 เมือง คือ ซิดนีย์ เมลเบิร์น และเพิร์ธ ซึ่งทำการบินโดย 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบิน JetStar, Qantas, Thai Airways และ Thai AirAsiaX ในขณะที่ตลาดนิวซีแลนด์ยังไม่มีเที่ยวบินตรงรองรับการเดินทางเข้าไทย โดยนิยมเดินทางด้วยเที่ยวบินเชื่อมโยงมาจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งนี้การกลับมาทำการบินของสายการบินไทย เส้นทางเพิร์ธ-กรุงเทพฯ จะกลับมาทำการบินทุกวัน ตามกำหนดการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวภูมิภาคโอเชียเนียช่วงถัดไป 

3) ททท. จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในภูมิภาคโอเชียเนีย มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย First Visit อาทิ การส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัท Fusion Holidays และ Travel Online ประเทศออสเตรเลีย เพื่อกระตุ้นการเดินทางนักท่องเที่ยวกลุ่ม Revisit เมื่อวันที่ 2-31 มกราคม 2567 และการส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัท Ignite Travel บริษัทในเครือ Flight Center ซึ่งเป็น Wholesales รายใหญ่ของตลาดออสเตรเลีย เพื่อนำเสนอสินค้า/บริการในประเทศไทยให้กลุ่มเป้าหมายคือ นักท่องเที่ยว First Visit ภายใต้แบรนด์ “My Thailand” เมื่อวันที่ 31 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2567 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวคือ 

1) ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญขึ้นราคา ได้แก่ น้ำมันรถยนต์ ค่าเช่า การซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ และค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนของชาวออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในวันหยุด 

2) การทำตลาดเชิงรุกของคู่แข่ง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวฮ่องกงร่วมกับพันธมิตรบริษัทนำเที่ยว สายการบิน Cathay Pacific และสนามบินฮ่องกง จัดทำแคมเปญ Infinity Holidays นำเสนอทริป 6 วัน แพ็กเกจท่องเที่ยวใหม่สุดพิเศษเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเข้าฮ่องกง เป็นต้น

 

 

ภูมิภาคตะวันออกกลาง 

การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวแผ่วลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอการเดินทางในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งปีนี้ตรงกับช่วงวันที่ 12 มีนาคม – 9 เมษายน 2567 คาดว่าในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จะมีนักท่องเที่ยว 158,705 คน ขยายตัวร้อยละ 1 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 13,516 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ตลาดหลักนักท่องเที่ยวมุสลิมของภูมิภาคคือ ซาอุดีอาระเบีย มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทย 27,397 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 รองลงมาคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 14,981 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ตามลำดับ 

โดยปัจจัยหนุนให้เกิดการเดินทางมาจาก 

1) การรุกทำตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมให้เดินทางเข้าไทยในช่วงปลายปี 2566 อาทิ การหารือผู้บริหารสายการบินชั้นนำ Saudia Airlines ในตลาดซาอุดีอาระเบีย ในการ Joint Promotion/จัดทำแคมเปญระดับโลกฺ ทั้ง B2B และ B2C ได้แก่ 1. เพิ่มเส้นทางบินไปยังปลายทางใหม่ ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ เส้นทางริยาด-ภูเก็ต 2. ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ ตลอดจนการ Joint Promotion “Two Kingdoms One Happiness (สองอาณาจักร หนึ่งความสุข) เชื่อมทะเล Dead Sea กับทะเลภูเก็ต และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมกับสายการบิน Air Arabia ผ่านช่องทางวิทยุ และกลุ่ม B2C ผ่านทาง Travel Agents ต่าง ๆ และ 

2) สถานการณ์การบินตลาดภูมิภาคตะวันออกกลางเข้าไทยขยายตัวดี ช่วยรองรับความต้องการในการเดินทางเที่ยวไทยได้สะดวก ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีจำนวนที่นั่งฯ รวม 1,078,626 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2566 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และบาห์เรน มีจำนวนที่นั่งฯ กลับมาสูงกว่าจำนวนที่นั่งฯ ในปี 2562 แล้ว ส่วนตลาดกาตาร์และคูเวต มีสัดส่วนฟื้นตัวของจำนวนที่นั่งฯ ประมาณร้อยละ 80 ของปี 2562 ในขณะที่ตลาดจอร์แดนและอิหร่าน มีสัดส่วนฟื้นตัวของจำนวนที่นั่งฯ น้อยที่สุดเฉลี่ยร้อยละ 30-50 ของปี 2562 

ทั้งนี้ภูมิภาคตะวันออกกลางมีปัจจัยเป็นอุปสรรคท้าทายต่อการเติบโตของนักท่องเที่ยวหลัก ๆ คือ เรื่องของราคาบัตรโดยสารเครื่องบินมายังประเทศไทยค่อนข้างสูงในปัจจุบันจากค่าน้ำมันและเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่เอื้ออำนวย และประเด็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามบริเวณฉนวนกาซา จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางบางส่วนชะลอการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทย และตัดสินใจท่องเที่ยวภายในประเทศทดแทนในช่วงเกิดความไม่สงบในพื้นที่

 

ภูมิภาคแอฟริกา

รักษาระดับนักท่องเที่ยวเข้าไทยได้ต่อเนื่องจากช่วง 3 เดือนก่อนหน้า คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เดินทางเข้าไทยจำนวน 30,956 คน ขยายตัวร้อยละ 30 และสร้างรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 2,369 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยตลาดหลักนักท่องเที่ยวแอฟริกาใต้เข้าไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 13,746 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 

ปัจจัยสนับสนุนหลักส่งผลให้นักท่องเที่ยวภูมิภาคแอฟริกาเดินทางมาไทยเกิดจาก 

1) จำนวนที่นั่งเครื่องบินจากภูมิภาคแอฟริกาเข้าไทย ฟื้นตัวแตะระดับร้อยละ 90 ของจำนวนที่นั่งฯ ปี 2562 จัดว่าดีที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีจำนวนที่นั่งเครื่องบินรวม 47,136 ที่นั่งหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 แม้ว่าจะไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศแอฟริกาใต้และประเทศไทย แต่ยังมีเที่ยวบินเชื่อมโยง (Connecting flight) มาช่วยรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ดังนี้ 1. สายการบิน Singapore Airlines เพิ่มความถี่เที่ยวบินเส้นทางโจฮันเนสเบิร์ก-สิงคโปร์ เป็น 10 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากเดิม 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม – 29 มีนาคม 2567 2. สายการบิน Kenya Airways เพิ่มความถี่เส้นทางไนโรบี-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ 

2) การดำเนินงานส่งเสริมตลาดของ ททท. สำนักงานดูไบ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยว High-end โดย Joint Promotion ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว TravelStart ในตลาดแอฟริกาใต้ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 เพื่อเจาะกลุ่มตลาดคุณภาพ และ “Joint Influencer Trip” ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว WOLO Travel ในตลาดแอฟริกาใต้ เดือนมีนาคม 2567 นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวทะเลชายฝั่งอ่าวไทย กรุงเทพฯ-เกาะสมุย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และ 

3) ผลกระทบจากค่าโดยสารเครื่องบินยังคงมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด อย่างไรก็ดีส่งผลในแง่บวกเชิงโครงสร้างนักท่องเที่ยวตลาดแอฟริกาใต้ที่เดินทางเข้าไทยเป็นกลุ่มตลาดบนมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวมีความสนใจแพ็กเกจท่องเที่ยวระดับพรีเมียมและเลือกที่พักระดับ 4-5 ดาวมากขึ้น

Share This Story !

9.2 min read,Views: 4534,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 4, 2024