Smart City Smart Citizen Smart Tourism

A Smart City is the development of a city to have the potential for supporting lifestyles and providing facilitation for local residents as well as temporary residents including tourists to live a smart life benefiting from technology.

The survey of the Smart City of the world 2018, was made in 165 cities of 80 countries. It was found that New York City was ranked first, followed by London in the second place and Paris in the third place, while Bangkok was ranked 90th.

Get Smart…

บ่อยครั้งที่เหล่านักการตลาด นักพัฒนาสินค้า มักเรียกร้องความสนใจของผู้บริโภคผ่านการเพิ่มคำว่า Smart ลงไปในสินค้า Generation ใหม่ๆ
เช่น จากโทรศัพท์ (Telephone) เป็น สมาร์ทโฟน (Smartphone) จากนาฬิกา (Watch) เป็น Smartwatch จากรถยนต์ (Car) เป็น Smartcar จากทีวี (TV) เป็นสมาร์ททีวี (Smart TV) เป็นต้น เราจึงตระหนักได้ว่าปัจจุบันคอนเซปต์ของ Smart บวก Product นั้น อยู่รอบตัวเราแทบทุกสิ่ง เหลือบมองทางซ้ายเจอเพื่อนร่วมงานสวมนาฬิกา Smartwatch มองไปทางขวาเจอเจ้านายขับรถ Smartcar แต่ทว่า Smart… แต่ละอันนั้นมีระบบการทำงานอะไรบางอย่างที่เหมือนกันบ้าง?

อุปกรณ์ Smart ทั้งหลาย ทุกรูปแบบนั้นมีระบบการทำงานที่เหมือนและคล้ายกัน พวกมันทำหน้าที่เป็น Receiver (ตัวรับข้อมูล) และแปลงค่าข้อมูลธรรมดาๆ ให้กลายเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามากขึ้น เปลี่ยนข้อมูลทั่วไปให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึก หลังจากนั้นจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงได้

Smart Tourism Destination ก็เช่นกัน เพื่อสนองจิตวิญญาณความเป็น Tech-savvy ของผู้บริโภค บวกกับแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศ เมือง หรือแม้แต่ชุมชนและหมู่บ้านต่างพากันเสาะแสวงหากลยุทธ์ วิธีการใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกและดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านการใช้งานข้อมูลและเทคโนโลยี ทั้งการทำแอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกระหว่างการเดินทาง จองที่พัก หาร้านอาหาร อ่านรีวิวร้านอาหาร หรือแม้แต่การพัฒนาสร้างหุ่นยนต์ที่ทำงานแทนมนุษย์ที่เข้ามาร่วมให้บริการภายในสถานที่ต่างๆ แต่ในบางครั้งการพัฒนาให้จุดหมายปลายทางไปสู่ SmartTourism Destination นั้น อาจมีจุดเริ่มต้นที่เน้นการให้ความสำคัญกับรายได้และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากจนเกินไป และมองข้ามความสำคัญกับประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในท้องที่

Smart City

→ Smart Tourism Destination

การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่ให้เป็น Smart City มีศักยภาพในการสนับสนุนประชากรที่พักอาศัยเท่ากับการสนับสนุนให้จุดหมายปลายทางเป็น
Smart Tourism Destination เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภายในจุดหมายปลายทาง จำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร และระบบสาธารณูปโภคร่วมกันกับประชากรภายในพื้นที่ หากเมืองมีเทคโนโลยีสนับสนุนการใช้ชีวิตที่ดี มีแอปพลิเคชันที่รองรับการ feed ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับคนภายในพื้นที่ ก็เท่ากับว่านักท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นด้วย การปรับเปลี่ยนทัศนคติมุมมองการให้คำนิยามของนักท่องเที่ยว จากคนแปลกหน้าที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ ให้กลายเป็น Temporary resident จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะทำให้การพัฒนาเมืองนั้นสามารถเดินหน้าพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ช่วยป้องกันปัญหาและลดความขัดแย้งระหว่างผู้พักอาศัยกับนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

Smart City คืออะไร?

คำนิยามของ Smart City สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ คำนิยามเชิงการขับเคลื่อนทางข้อมูลและคำนิยามที่ให้ความสำคัญกับประชากรที่พักอาศัย

สำหรับคำนิยามเชิงการขับเคลื่อนทางข้อมูล IBM ได้อธิบายความหมายของ Smart City ไว้ว่า ‘Smart City คือเมืองที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อทางข้อมูลได้เหมาะสม สามารถเข้าใจปัจจัยเชิงลึกได้ดี สามารถ ควบคุม operations ต่างๆ และสามารถใช้ทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดได้อย่างมีประสิทธิผล’ (IBM 2009)

ในขณะเดียวกัน สำหรับมุมมองคำนิยามของ Smart City ในด้านการให้ความสำคัญกับประชากร Manchester Digital Development Agency (MDDA n.d.) ได้นิยามไว้ว่า ‘Smart City เท่ากับ Smart Citizens – คือเมืองที่สนับสนุนให้ประชากรได้รับข้อมูลที่พวกเขาต้องการสำหรับใช้ในการตัดสินใจเลือกทำอะไรสักอย่าง ทั้งด้านไลฟ์สไตล์ การทำงาน หรือแม้แต่ทางเลือกสำหรับการเดินทาง

หากนำคำนิยามทั้ง 2 แบบมารวมกัน Smart City ก็คือเมืองที่สนับสนุนการใช้ชีวิตและสามารถอำนวยความสะดวกผู้พักอาศัย รวมถึงคนที่เดินทาง เข้ามาภายในพื้นที่ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างชาญฉลาดโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลที่ได้รับ

Where are we now?

IESE Business School University of Navarra ได้ออกมาเปิดเผยผลสำรวจการจัดอันดับ Smart City ประจำปี 2018 หรือ IESE Cities in Motion Index 2018 จากการสำรวจเมือง 165 เมือง จาก 80 ประเทศทั่วโลก โดยใช้เกณฑ์การจัดอันดับผ่าน 9 มิติชี้วัดความเป็น Smart City ประกอบด้วย มิติที่ 1 ทุนมนุษย์ (Human Capital) มิติที่ 2 ความสมานฉันท์ (Social Cohesion) มิติที่ 3 เศรษฐกิจ (Economy) มิติที่ 4 การจัดการ
และการปกครอง (Governance) มิติที่ 5 สิ่งแวดล้อม (Environment) มิติที่ 6 การเดินทางและคมนาคม (Mobility and Transportation) มิติที่ 7 การวางผังเมือง (Urban Planning) มิติที่ 8 ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (International Outreach) และมิติที่ 9 เทคโนโลยี (Technology)

จากผลสำรวจของ IESE (2018) พบว่า Smart City อันดับที่ 1 คือ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (อันดับ 2) และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (อันดับ 3) สำหรับประเทศกลุ่ม ASEAN นั้นมีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่ติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 (อยู่ในอันดับที่ 6)

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 90 เมื่อเจาะลึก ลงไปใน 9 มิติเกณฑ์การจัดอันดับ (Figure 1) จะเห็นถึงจุดแข็งและจุดด้อยของเมือง จุดแข็งของกรุงเทพฯ คือ มิติของความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ (International Outreach) กรุงเทพฯ ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 7 แสดงให้เห็นถึงความเป็นจุดหมายปลายทางที่มีความเป็นสากล มีแบรนด์ที่โดดเด่น เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งคงหนีไม่พ้นผลพลอยได้จากการสนับสนุนการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐ และความร่วมมือจากภาคเอกชนที่สร้างการรับรู้และต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกทุกกลุ่ม ในทางกลับกัน จุดด้อยที่คอยฉุดความเป็น Smart City ของกรุงเทพฯ ก็คือมิติด้านการจัดการและการปกครอง (136/165) และมิติด้านสิ่งแวดล้อม (135/165) ที่มีการจัดการที่ด้อยกว่าหลายเมืองทั่วโลก

Figure 1: การจัดอันดับความเป็น Smart City ของกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งตามแต่ละมิติ

Smart City น่าสนใจ

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเร่งเดินหน้าแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา) ให้เป็น Smart City ตามนโยบายพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 (Office of the Permanent Secretary Ministry of Education 2018) และยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไหร่ ลองมาดูตัวอย่าง Smart City Project น่าจับตามองของประเทศอื่นๆ ดูซิว่าจะน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน

บาร์เซโลนา

บาร์เซโลนาเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาเมืองเป็น Smart City อย่างจริงจังในช่วงปี 2013 โดยวางเป้าหมายจะทำให้บาร์เซโลนากลายเป็นเมือง Smart City ที่แท้จริงแห่งแรกของประเทศสเปน สภาเทศบาลนครบาร์เซโลนา (Barcelona City Council) ได้ให้คำนิยาม Smart City ไว้ว่า ‘Smart City คือเมืองพึ่งพาตนเองได้ผ่านศักยภาพภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมือง’ (The United Nations Economic Commission 2017)

บาร์เซโลนาวางเป้าการพัฒนาเมืองโดยสร้างเทคโนโลยีที่สนับสนุนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยให้ความสำคัญ 5 องค์ประกอบหลัก อันได้แก่ เทคโนโลยี การสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ ชุมชนและผู้คน และสิ่งแวดล้อม (Ajuntament de Barcelona 2018) ปัจจุบันบาร์เซโลนามีโครงการสนับสนุน Smart City หลายอย่างที่น่าสนใจ อาทิ

ที่จอดรถอัจฉริยะ (Smart Parking)

ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะฝังอยู่ภายใต้พื้นถนนบริเวณ Parking Spot โดยจะแสดงพื้นที่ว่างที่สามารถจอดรถได้ให้กับผู้ขับรถผ่านแอปพลิเคชัน
apparkB ผู้ใช้งานสามารถชำระค่าที่จอดผ่านแอปพลิเคชันได้โดยตรง การบริการนี้ช่วยลดปัญหาการจราจรและลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ เนื่องจากผู้ขับขี่สามารถทราบและควบคุมรถไปที่จุดจอดรถได้ทันที ไม่จำเป็นต้องวนหรือชะลอเพื่อหาที่จอดรถ

ไฟถนนอัจฉริยะ (Smart Street Light)

ไฟสาธารณะในเมืองบาร์เซโลนาถูกเปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED ทั่วทั้งเมือง ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายค่าไฟของรัฐจากเดิมกว่าร้อยละ 30 นอกจากนั้น บาร์เซโลนายังมีระบบไฟจราจรอัจฉริยะที่มีตัวเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว อุณหภูมิ และสภาพอากาศ สามารถปรับเปลี่ยนความสว่าง เองได้ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม และปรับความสว่างอัตโนมัติ เมื่อมีประชาชนเดินผ่านยามค่ำคืน ช่วยลดและป้องกันปัญหาการเกิดอาชญากรรมในช่วงกลางคืน ระบบไฟจราจรอัจฉริยะของบาร์เซโลนาสามารถเปลี่ยนเป็นไฟเขียวทันทีเมื่อตรวจพบรถพยาบาลและรถฉุกเฉินวิ่งเข้าใกล้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยกู้ชีพภายในเมืองเพิ่มอัตรา การรอดชีวิตให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายภายในเมือง

ถังขยะอัจฉริยะ (Smart Bin)

ถังขยะภายในเมืองบาร์เซโลนาเป็นถังขยะอัจฉริยะที่ดูดขยะที่คนนำไปทิ้งลงไป Storage Tank ใต้ดิน นับเป็นการลดมลพิษด้านกลิ่นขยะภายในเมือง นอกจากนั้น ทุก Storage Tank ยังติดตั้งระบบวัดปริมาณขยะที่แสดงผลออนไลน์ ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเก็บขยะสามารถวางแผนการเก็บขยะได้แม่นยำและทราบถึงความถี่ในการเก็บขยะแต่ละจุดภายในเมือง

การคมนาคมชาญฉลาด (Smart Transit)

บาร์เซโลนามีระบบ Bike Sharing (Bicing) ที่ให้บริการจักรยานฟรี (30 นาทีแรก) อยู่ทั่วทั้งเมืองเพื่อสนับสนุนการเดินทางให้ประชาชนภายในเมืองและลดปัญหาการจราจร สำหรับระบบขนส่งสาธารณะบาร์เซโลนามี Digital Bus Stop ที่อัพเดตบอกเวลาที่รถบัสแบบ Real-time มี Charge Dock สำหรับโทรศัพท์มือถือ บริการฟรี Wi-fi และข้อมูลแนะนำแอปพลิเคชันสำหรับนักเดินทาง

สิงคโปร์

ปัจจุบันสิงคโปร์ได้มุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศ Smart Nation แห่งแรกของโลก ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2014 โดยให้ความสำคัญกับการกำกับระบบ ICT เครือข่ายและข้อมูลเพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สร้างโอกาสและส่งเสริมความเข้มแข็งสู่ชุมชน

ระบบการเดินทางชาญฉลาด Intelligent Transport System (ITS)

สิงคโปร์ใช้งานระบบ ITS สนับสนุนความคล่องตัวของการจราจรภายในเมืองและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน จุดเด่นของระบบ ITS ที่ใช้งานในประเทศสิงคโปร์คือการมุ่งเน้นการจัดการจราจรเต็มรูปแบบ ระบบ ITS สามารถทำงานร่วมกับนวัตกรรมด้านการขนส่งได้เป็นอย่างดี อาทิ ระบบขนส่งสาธารณะฟรีช่วงเวลาก่อนชั่วโมงเร่งด่วนในตอนเช้า นโยบายการจำกัดจำนวนรถในสิงคโปร์ (Vehicle quota system) ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบการเก็บเงินโซนรถหนาแน่น (Congestion charge zone) ผู้ขับขี่ยานพาหนะและรถสาธารณะในสิงคโปร์สามารถทราบและดูภาพการจราจร 5 นาทีก่อนเวลาปัจจุบันได้ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านการเก็บข้อมูลจากกล้องวงจรปิดบนท้องถนน นอกจากนั้นระบบ ITS ยังแสดงข้อมูลการซ่อมบำรุงถนน แนะนำเส้นทาง สถานที่ซ่อมบำรุงรถ และแสดงตำแหน่งสถานที่จอดรถ

ความปลอดภัย (Safety and Security)

สิงคโปร์เมืองปลอดภัยอันดับ 2 ของโลก (The Economist Intelligence Unit 2018) ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยที่ได้รับการสนับสนุนจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม สิงคโปร์มีสายด่วน Police Force 999 และมีบริการส่ง SMS 71999 ฉุกเฉิน ที่ให้บริการในกรณีผู้ประสบเหตุตกอยู่ในสถานการณ์ไม่สามารถส่งเสียงได้หรือเป็นผู้พิการไม่สามารถพูดหรือฟังได้เทียบเท่าคนปกติ ตำรวจสิงคโปร์ (Singapore Police Force) ทุกคนจะมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับแอปพลิเคชันเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ อาทิ แอปพลิเคชันส่งข้อความที่มีความปลอดภัยระดับสูง แอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของ Singapore Police Force และแอปพลิเคชันตรวจสอบสถานที่และรายละเอียดของกล้องวงจรปิด CCTV แบบ Real-time เป็นต้น นอกจากนั้นตำรวจสิงคโปร์ยังให้บริการเว็บไซต์ Electronic Police Centre (ePC) เป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลข่าวสาร แจ้งเหตุร้าย อุบัติเหตุ ทรัพย์สินสูญหาย ส่งเอกสารออนไลน์ และส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการจับผู้ร้าย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพโดยจัดทำแอปพลิเคชัน myResponders ที่ใช้แจ้งตำแหน่งและเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินกรณีพบผู้ป่วยประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะส่ง Notification และตำแหน่งไปให้รถพยาบาลฉุกเฉินและผู้ที่อยู่บริเวณใกล้ผู้ประสบเหตุ โดยให้คำแนะนำวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นระหว่างที่รถพยาบาลเดินทางไปรับผู้ป่วย

ข้อมูลเพื่อประชาชน (Data for Citizen)

นอกจากการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ภายในเมืองแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลที่รัฐบาลมี ผ่านการใช้งานเว็บไซต์ Data.gov.sg ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้บริการชุดข้อมูลแบบ One-stop portal ที่รวบรวมสถิติและข้อมูลจากหน่วยงานรัฐกว่า 70 หน่วยงานมาไว้ที่เดียว มีระบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน SingPass (ระบบบัญชีกลางบริการภาครัฐสิงคโปร์) ที่รวบรวมการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานแบบ One-stop e-service

บทสรุป

การพัฒนาเมืองสู่ความเป็น Smart City ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและเดินหน้าปฏิบัติ ถึงแม้ประเทศไทยจะล้าหลังกว่าหลายประเทศ (ได้รับการอนุมัติมาตรการส่งเสริมลงทุนเมืองอัจฉริยะเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2018) แต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการดำเนินงานโครงการนำร่องจังหวัดภูเก็ตที่แล้วเสร็จไปบ้างแล้วในบางส่วน อาทิ การดำเนินการติดตั้ง
Free Wi-fi 1,000 จุดรอบพื้นที่ และการเริ่มใช้งานภูเก็ตสมาร์ทบัส หากโครงการ Smart City ของจังหวัดภูเก็ตประสบความสำเร็จเป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้ (ปี 2020) ประชาชนภายในพื้นที่ก็จะได้รับประโยชน์ จังหวัดภูเก็ตก็จะมีศักยภาพสามารถ Function ตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภายในพื้นที่ แน่นอนว่าเมื่อโครงการแรกประสบความสำเร็จ การพัฒนาต่อยอดสู่จังหวัดทั้ง 77 คงไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

Share This Story !

6.7 min read,Views: 3236,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 25, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 25, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 25, 2025