สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศปี 2565

งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด

ข้อมูล ณ วันที่ 28 มกราคม 2566

 

ภาพรวมสถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 ‘ปรับตัวดีขึ้น’ 

 

สถานการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 (เดือน มกราคม-ธันวาคม) 

ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาก สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและไทยลดความรุนแรงและควบคุมได้ เกือบทุกประเทศประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโรคและลดข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาเป็นกลุ่มแรกที่มีการเดินทางเข้าไทย ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชียใต้ โอเชียเนีย แอฟริกา อาเซียน และ กลุ่มท้ายสุดคือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน) ทยอยลดข้อจำกัดการเดินทางและเงื่อนไขกักตัวเมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศ การเปิดเส้นทางบินเข้าไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้ รองรับความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทย ได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศเพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะหลักล้านคนในเดือนกรกฎาคม 2565 หลังยกเลิกการลงทะเบียน “Thailand Pass” ประกอบกับ การดำเนินงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ปี 2565 อาทิ การทำบันทึกข้อตกลงส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-อินเดีย (Air Travel Bubble) การส่งเสริม

 

ตลาดซาอุดีอาระเบียหลังการฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี ส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มความสนใจพิเศษ และกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม กลุ่มกอล์ฟ กลุ่ม Remote Worker กลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น รวมถึงการดำเนินงานด้านการตลาดผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว และสายการบิน อีกทั้งอานิสงส์จากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค APEC 2022 Thailand ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 นอกจากช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเวทีแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

 

แม้ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและประเด็นท้าทายที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศในปี 2565 คือ


1) การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่สิ้นสุด และพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่เป็นระยะ 

2) จีนคงนโยบาย Zero-Covid และไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกต่างประเทศได้ 

3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ 

4) อัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก 

5) การปรับขึ้นราคาบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศ และจำนวนที่นั่งเครื่องบินไม่เพียงพอ 

6) คู่แข่งในเอเชียและแปซิฟิกเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ทั้งปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย จำนวนทั้งสิ้น 11,153,026 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของปี 2562 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 589,833 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของปี 2562 ก่อนโควิด-19 (ดังตาราง)

 

นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตลาดระยะกลาง-ใกล้ของไทย ฟื้นตัวดี’ 

ในปี 2565 ตลาดภูมิภาคที่มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาจากปี 2562 (ก่อนCOVID-19) ทั้งรายได้ทางการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวดีที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียใต้ อาเซียน และโอเชียเนีย สัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของปี 2562 ตามมาด้วย กลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ฟื้นตัวระดับปานกลางราวร้อยละ 30-40 ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือฟื้นตัวช้าที่สุด ต่ำกว่าร้อยละ 10 เนื่องจากข้อจำกัดนโยบายการเปิดประเทศของจีน 

 

 

ตลาดที่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทย จำนวนนักท่องเที่ยวมากสุด 10 อันดับแรก จะเห็นได้ว่า “ 7 ใน 10 อันดับ เป็นกลุ่มนักเดินทางระยะใกล้ (ภูมิภาคเอเชีย) ” โดยตลาดมาเลเซีย ครองอันดับ 1 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากสุด คิดเป็นสัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 46 ของปี 2562 ตามมาด้วย ตลาดอินเดีย และ สิงคโปร์ ที่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 แล้ว อันเป็นผลจากการส่งเสริมการเดินทางเข้าไทยผ่านการเปิดด่านชายแดนทางบกทั่วประเทศ และการทยอยกลับมาเปิดเส้นทางบินเข้าไทยจากประเทศข้างต้น                                                                                                                                                                                                                                                                                                   

สำหรับนักท่องเที่ยวตลาดหลักระยะไกล ยังคงเป็นกลุ่มตลาดลูกค้าหลักของไทย คือ สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไทยเริ่มดำเนินการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวโครงการ Phuket Sandbox (กรกฎาคม 2564) และ Thailand Reopening (พฤศจิกายน 2564) โดยมีสัดส่วนการฟื้นตัวทั้งปี 2565 ร้อยละ 40-47 

 

ตลาดรัสเซีย สามารถเข้ามาอยู่อันดับ 9 ของตลาดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยสูงสุดในปี 2565 ถึงแม้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง โดยหลังจากการคลายล็อกข้อจำกัดด้านการบินเข้าไทยในช่วงปลายปี 2565 หลายสายการบินของรัสเซียได้กลับมาเปิดเที่ยวบินตรงและเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากรัสเซียเข้ากรุงเทพฯ ภูเก็ต และอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยวไทยในช่วง High Season ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 จากเดิม ระงับไปชั่วคราวในเดือนมีนาคม – ตุลาคม 2565 จากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

 

สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวต่างประเทศรายไตรมาสปี 2565 :

ไตรมาสที่ 1 (เดือน มกราคม-มีนาคม 2565) :

หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนคลี่คลายลงในช่วงเดือนมกราคม 2565 สถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง รัฐบาลไทยเปิดรับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ “Thailand Pass” ในรูปแบบ TEST&GO อีกครั้ง (กักตัวรอผลการตรวจ 1 คืน) รวมทั้งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสสามารถเดินทางเข้าไทยได้ ทำให้สายการบินของทั้งไทยและต่างชาติเริ่มกลับมาทำการบินเข้าไทยอีกครั้ง (เส้นทางที่ยกเลิกไปช่วงวิกฤต COVID-19) โดยมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปมากที่สุด (สัดส่วนร้อยละ 58) เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการควบคุม COVID-19 และลดเงื่อนไขการเดินทางระหว่างประเทศเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ยังได้แรงเสริมจาก การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวอินเดีย หลังการบรรลุข้อตกลงส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-อินเดีย (เดือน กุมภาพันธ์ 2565) จนทำให้มีสายการบินพาณิชย์จากอินเดียเข้าไทยมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 และการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ที่นำมาซึ่งเที่ยวบินแรกระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในรอบ 32 ปี โดยสายการบิน Saudia Airlines เส้นทาง ริยาด – กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม มาตรการจำกัดการเดินทางต่างประเทศของประเทศในเอเชีย เป็นอุปสรรคสำคัญของนักท่องเที่ยวเอเชียในการเดินทางเข้าไทยในระยะนี้

 

ไตรมาสที่ 2 (เดือน เมษายน-มิถุนายน 2565) :

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเป็น 3 เท่าจากไตรมาสแรก โดยมีแรงผลักดันสำคัญจาก การยกเลิกมาตรการ TEST&GO (กักตัวในโรงแรมเพื่อรอผลการตรวจ 1 คืน) ยกเลิกการใช้ผลตรวจ RT-PCR ก่อนและหลังเดินทางมาถึงไทย ลดวันกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส และการลดวงเงินประกันสุขภาพ รวมทั้ง การเปิดด่านชายแดนทางบกทั่วไทยในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย ลาว และกัมพูชา เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยทางบกได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในไตรมาสนี้ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “ตลาดรัสเซีย” โดยนักท่องเที่ยวตลาดรัสเซียต้องชะลอการเดินทางเข้าไทย เนื่องจากชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและระงับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ อีกทั้งระงับเที่ยวบินตรงจากรัสเซียเข้าไทยชั่วคราวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565

 

ไตรมาสที่ 3 (เดือน กรกฎาคม-กันยายน 2565) :

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแตะระดับ 1 ล้านคนต่อเดือน ในเดือนกรกฎาคม 2565 จากปัจจัยสนับสนุนหลักจากการ “ยกเลิกระบบลงทะเบียน Thailand Pass” และยกเลิกข้อกำหนดการซื้อประกันสุขภาพ (วันที่ 1 กรกฎาคม 2565) ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้าไทย ประกอบกับ ทุกตลาดในภูมิภาคอาเซียนผ่อนคลายมาตรการเดินทางขากลับเข้าประเทศหลังมาเที่ยวไทย จำนวนเที่ยวบินเข้าไทยจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่บั่นทอนบรรยากาศการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ คือ ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศปรับราคาสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงของสายการบินต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ อันเป็นผลพวงจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

 

ไตรมาสที่ 4 (เดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2565) :

สถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเติบโตดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักจาก ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 อีกทั้งมาตรการขยายระยะเวลาพำนัก ผู้ที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราประเภท Tourist Visa จากเดิม 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และประเภท Visa on Arrival จากเดิม 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ประกอบกับ เกือบทุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน) ผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศลงเกือบทั้งหมด อีกทั้ง ตลาดรัสเซียกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงและเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้าไทยอีกครั้งในช่วง High Season จึงทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายปีคึกคักขึ้น

Share This Story !

1.6 min read,Views: 16856,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 4, 2024