เที่ยวได้ (ก็) กู้ได้
พัชรวรรณ วรพล
นอกเหนือจากจุดหมายปลายทางที่เราอยากไปนั้นจะมีอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ มีความสวยงามและความสะดวกสบายของแต่ละสถานที่แล้ว แคมเปญ โพรโมชันต่าง ๆ ก็มีส่วนไม่น้อยในการช่วยตัดสินใจ เพราะสามารถเปรียบเทียบดูกันเลยว่าที่ไหนให้สิทธิประโยชน์คุ้มค่ากับเรามากที่สุด
เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหลังจากพ้นช่วง COVID-19 ระบาด แคมเปญที่กระหน่ำกันออกมาแล้วจากหลาย ๆ ประเทศ เริ่มตั้งแต่การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบมีขีดจำกัด จนตอนนี้ให้ฟรีวีซ่ากันแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้หลักที่เป็นกอบเป็นกำนั่นเอง
ภาพจาก: SNEHIT PHOTO / Shutterstock.com
อินเดีย ประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายและมีทุกสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนในชนบทอันเงียบสงบ เดินเล่นในเมืองใหญ่ที่คึกคักมีสีสัน หรือจะแนวผจญภัย ลานสกี การดำน้ำใต้ทะเลลึก ฯลฯ ทำให้อินเดียกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับโลกได้ไม่ยาก แต่การจะรักษาให้นักท่องเที่ยวยังคงเลือกอินเดียเป็นจุดหมายปลายทางในอันดับต้น ๆ นั้น รัฐบาลอินเดียจึงริเริ่มโครงการมากมาย เช่น การพัฒนาสนามบิน 220 แห่ง ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2568 การจัดสรรเงิน 2.4 แสนล้านรูปีเพื่อปรับปรุงการคมนาคมทางรถไฟ การก่อสร้างโรงแรมใหม่ ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีตัวเลือกและเข้าถึงที่พักได้ง่ายขึ้น เพราะหากมีหลายระดับราคาก็อาจกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจึงอัดฉีดงบประมาณสนับสนุนให้หน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ รวมถึงลดหย่อนภาษีแก่โรงแรมและโฮมสเตย์ที่ส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยว เช่น ใช้แสงสว่างจากธรรมชาติ มีอุปกรณ์ประหยัดน้ำ มีแนวทางปฏิบัติในการลดของเสีย เพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยเฉพาะ SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG 13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ)
ภาพจาก: Shutterstock.com
ตุรกี ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อสูง ลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน จากที่ชาวจีนให้ความสนใจสถานที่ทางประวัติศาสตร์เป็นพิเศษและชอบถ่ายรูปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภูมิภาคคัปปาโดเกีย (Cappadocia) แหล่งอารยธรรมโบราณและจุดชมพระอาทิตย์ตกอันงดงามในจังหวัดเนฟเซฮีร์ตอนกลาง เมืองเอเฟซัส (Ephesus) เมืองกรีกโบราณในจังหวัดอิซเมียร์ทางตะวันตกของอีเจียน และอิสตันบูล หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของตุรกี
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวตุรกีจึงพยายามสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจกับประเทศจีนให้มากขึ้น รวมถึงจับมือกับเหล่าบริษัทนำเที่ยวเปิดตัวแคมเปญส่งเสริมการขายและการจองล่วงหน้า เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนให้ได้ประมาณ 50,000 คน ในปี 2567 นี้
ภาพจาก: Shutterstock.com
มาเลเซีย ที่เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อการพัฒนาประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้นำแคมเปญ Tahun Melawat Malaysia (Visit Malaysia 2026) กลับมาใช้เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้บูมอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 26 ล้านคน รัฐบาลจึงมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ทั้งแผนเปิดฟรีวีซ่า เช่น เสนอวีซ่าเข้าประเทศหลายครั้งเพื่อส่งเสริมการเข้ามาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับการสมัคร Malaysia My Second Home (MM2H) เพื่อเพิ่มการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและนักลงทุน
การร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการกว่า 200 รายในการจัดกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม การจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ทะเลสาบ Timah Tasoh ในเปอร์ลิส ป่าฝน Kenong Rimba ในปะหัง การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งมรดกโลกจาก UNESCO เช่น ถ้ำ Niah แหล่งโบราณคดีมนุษย์ยุคหินเก่าซึ่งมีอายุอย่างน้อย 40,000 ปี โครงการ Think City ศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ที่ดำเนินการฟื้นฟูเมืองต่าง ๆ โดยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง
การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวชอบใช้เทคโนโลยีและพึ่งพาเครื่องมือดิจิทัลในการวางแผนการเดินทาง และช่วยให้ได้รับประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัว เช่น แอปพลิเคชัน XTVT และแชทบอทที่สามารถให้ความช่วยเหลือแบบเรียลไทม์
นอกจากรัฐบาลจะทุ่มงบประมาณกับการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน AI และฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว AI มากขึ้นแล้ว ก็ยังพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย
สิ่งสำคัญคือรัฐบาลมีแนวคิดเสนอสิ่งจูงใจหลายประการ เช่น การลดหย่อนภาษี บัตรกำนัลการเดินทาง ส่วนลดสำหรับเยาวชนและนักเรียน แพ็กเกจการท่องเที่ยว และรางวัลสำหรับนักเดินทางให้มากขึ้น
ภาพจาก: Shutterstock.com
แอฟริกา ที่หลาย ๆ ประเทศหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาแนวทางการลงทุนเพื่อปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ประเทศบอตสวานา ที่จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติสำหรับบอตสวานา’ และ ‘แผนแม่บทการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับพื้นที่ Kasane-Kazungula’ อันมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของ Kasane-Kazungula อุทยานแห่งชาติ Chobe ที่มีสัตว์ป่านานาชนิดและเขตรักษาพันธุ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ชุ่มน้ำของนามิเบีย ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสงครามปลดปล่อย ทำให้ Kasane-Kazungula กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด และนำมาซึ่งรายได้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ภาพจาก: Shutterstock.com
ไนจีเรีย ได้จัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวแยกออกมา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว สร้างงาน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพลักษณ์ของไนจีเรียในระดับโลกด้วย
ภาพจาก: www.marriott.com
เคนยา ที่ภาครัฐฯ และเอกชนร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ สร้าง JW Marriott Masai Mara Lodge ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ระดับโลกของ Marriott Bonvoy เป็นลอดจ์ซาฟารีสุดหรูแห่งแรก ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์แห่งชาติมาไซมาราทางตะวันตกเฉียงใต้ของเคนยา หนึ่งในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีชื่อเสียงที่สุดของแอฟริกา ประกอบด้วยเต็นท์ส่วนตัว 20 หลัง เต็นท์สวีทฮันนีมูนพร้อมสระส่วนตัว ออกแบบตกแต่งหรูหราด้วยโทนสีอบอุ่นและใช้วัสดุจากธรรมชาติเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่ละห้องมีระเบียงส่วนตัวและอ่างจากุซซีที่มองเห็นวิวแม่น้ำและที่ราบ Mara ผู้เข้าพักจะได้พบทิวทัศน์อันน่าทึ่งของสัตว์ป่ามากมาย “บิ๊กไฟว์” อย่าง สิงโต เสือดาว ควาย แรด และช้าง โดยในเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เขตอนุรักษ์แห่งนี้ยังเป็นสถานที่ย้ายถิ่นของวิลเดอบีสต์ฝูงใหญ่ประจำปี สัตว์นับ 10 ล้านตัวจะเดินทางเป็นระยะทาง 1,800 ไมล์จากเซเรนเกติในประเทศเพื่อนบ้านแทนซาเนีย
ภาพจาก: visitsweden.com
รวันดา หลังจากที่ร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลชื่อดังของยุโรปอย่างทีมอาร์เซนอล ปารีส แซงต์แชร์กแมง และล่าสุดบาเยิร์น มิวนิคอย่างต่อเนื่องแล้ว รัฐบาลรวันดาได้มีข้อตกลงการโพรโมตแคมเปญ “Visit Rwanda” ทั้งบนเสื้อของทีมในการแข่งขัน ป้ายโฆษณา และข้อมูลของผู้เล่นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป้าหมายสูงสุดคือการดึงดูดนักท่องเที่ยวรายใหม่ให้มาเยือนรวันดา โดยใช้ประโยชน์จากฐานแฟนคลับทั่วโลกและความนิยมของสโมสร ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาทำให้รวันดามีนักท่องเที่ยวมากกว่าล้านคนในปี 2565 และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 445 ล้านดอลลาร์
กลยุทธ์ของรัฐบาลรวันดาที่ใช้กีฬาเป็นตัวเร่งการเติบโตของการท่องเที่ยว นอกเหนือไปจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายสนามกีฬา Amahoro โดยเพิ่มความจุที่นั่งเป็น 45,000 ที่นั่ง ซึ่งจะทำให้รวันดาเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ชื่นชอบกีฬา อีกทั้งยังทำให้รวันดาถูกเลือกเป็นเจ้าภาพในการประชุม World Travel & Tourism Council Global Summit ที่จัดขึ้นที่เมืองคิกาลี เมื่อวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมารวมตัวกันเพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยหัวข้อสำคัญของการสนทนาคือ “กีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล สามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างไร”
รัฐบาลรวันดายังคงแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ทำให้เห็นได้ชัดแล้วว่าแนวทางของประเทศในการรวมกีฬาและการส่งเสริมการเดินทางกำลังสร้างกระแสในเวทีโลก รวันดาจึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่ทำธุรกิจที่ง่ายที่สุดเป็นอันดับสองในแอฟริกา และได้รับรางวัลความเป็นผู้นำในด้านการท่องเที่ยวและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) และ World Economic Forum
เมื่อการท่องเที่ยวมีส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูท้องถิ่น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทุ่มงบประมาณในหลาย ๆ ทางร่วมกับทุกภาคส่วน ลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการ พัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่เพิ่มขีดความสามารถในธุรกิจท่องเที่ยว ปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งเก่าและใหม่พร้อม ๆ ไปกับการสร้างเมืองและชุมชน รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจึงกำหนดให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเสาหลักที่แข็งแกร่งและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ.
อ้างอิง
https://www.bernama.com/en/thoughts/news.php?id=2240067
https://www.topafricanews.com/2023/03/14/luxurious-safari-retreat-opens-in-kenya/