โลกจะทนได้สักแค่ไหน: รู้จักกับ Planetary Boundaries
โตมร ศุขปรีชา
ทุกวันนี้ เวลาพูดถึงสิ่งแวดล้อม หลายคนนึกถึงคำว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) รวมไปถึงการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ – อะไรทำนองนั้น
แต่ปัจจุบันนี้ แค่เรื่องของคาร์บอนไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วที่จะนำมาใช้พิจารณาว่า ‘โลก’ ของเรายัง ‘อึด ถึก ทน’ ต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ได้หรือไม่
กรอบคิด (Framework) ใหม่ ที่ใช้พินิจพิจารณาเรื่องของสภาพแวดล้อม คือสิ่งที่เรียกว่า Planetary Boundary หรือ ‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ ซึ่งหมายถึงว่า โลกนี้มี ‘ขีดจำกัด’ ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้แค่ไหน
คำคำนี้คือการดูว่า ‘น้ำมือ’ ของมนุษย์ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหลายแหล่นั้น มันไปส่งผลกระทบต่อ ‘ระบบของโลก’ (Earth System) ในเรื่องไหน – อย่างไรบ้าง
เดิมที โลกจะมีความทนทานในการรักษาสมดุลอยู่ในระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ความเป็นกรดหรือด่างของน้ำทะเลนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับล้าน ๆ ปี จะมีค่าที่ค่อนข้างคงที่ ซึ่งจริง ๆ ต้องถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เนื่องจากแม่น้ำต่าง ๆ ล้วนแต่ไหลเติมแร่ธาตุหลากหลายลงไปในมหาสมุทรทั้งสิ้น แต่มหาสมุทรกลับไม่ได้มีค่าความเป็นกรดด่างเปลี่ยนแปลงไปมากนัก คล้ายกับว่าโลกสามารถจัดการกับตัวเองเพื่อรักษาสมดุลเรื่องนี้ไว้ได้เป็นเวลายาวนาน
แต่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง นักวิทยาศาสตร์พบว่าค่าความเป็นกรดด่างหรือ pH ของมหาสมุทรลดลง ซึ่งหมายความว่า มหาสมุทรมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น จาก pH 8.15 ลดลงมาเหลือ pH 8.05 ในระยะเวลาราวเจ็ดสิบปี และมีแนวโน้มจะลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก จนในปี 2020 มีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 410 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้จะถูกดูดซับโดยมหาสมุทร คล้าย ๆ กับเวลาเราทำน้ำอัดลม ก่อให้เกิดกรดคาร์บอนิกในมหาสมุทรมากขึ้น มหาสมุทรจึงมีความเป็นกรดมากขึ้น
คำถามก็คือ แล้วมหาสมุทรจะ ‘ดึง’ ค่าความเป็นกรดด่างเอาไว้ให้อยู่ในระดับเดิมได้นานแค่ไหน
หรือว่าถึงจุดไหน – ที่มหาสมุทรคงค่าความเป็นกรดด่างเอาไว้ไม่ได้อีกแล้ว และถ้าถึงจุดนั้น มันจะเกิดหายนะอะไรขึ้นมาได้บ้าง
การที่เราต้องมาพิจารณา ‘ขีดจำกัด’ ความปลอดภัยของโลก ก็เพราะมนุษย์เราบริโภคกันอย่างไม่มี ‘ขีดจำกัด’ นั่นเอง และการบริโภคนั้นย่อมใช้ทรัพยากรของโลกมหาศาล จนกระทั่งเกิน ‘ขีดจำกัด’ ของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ มีงานวิจัยของ Stockholm Resilience Centre ที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราได้บริโภคจนเกินขีดจำกัดของโลกไปแล้วถึง 4 ใน 9 ข้อ
การที่โลกมีขีดจำกัด ก็เหมือนมีกำแพงที่กั้นขวางน้ำท่วมเอาไว้ในระดับหนึ่ง เราอาจประมาท คิดว่าเติมน้ำไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ไม่เห็นว่าน้ำจะล้นทะลักมาได้ จึงเติมน้ำที่หลังกำแพงต่อไปอย่างไม่บันยะบันยัง
แต่ถ้าหากว่าน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดวันหนึ่ง น้ำก็จะล้นกำแพงท้นถั่งหลั่งไหลออกมา แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ กำแพงอาจจะพังทลาย ปลดปล่อยสายน้ำมหาศาลออกมาท่วมพื้นที่หน้ากำแพงจนจมมิดไปเลยก็ได้
‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่ามีการบริโภคหรือใช้ทรัพยากรของโลกอย่างล้นเกินไม่หยุดจนทำให้ขีดจำกัดนี้พังทลายลงมา ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่แบบกะทันหัน จนอาจทำให้มนุษย์ต้องสูญพันธุ์ไปเลยก็เป็นได้
ในปัจจุบัน เป็นที่รับรู้กันว่า ขีดจำกัดด้านความปลอดภัยของโลกมีอยู่ด้วยกัน 9 อย่าง เรื่องความเป็นกรดของมหาสมุทรที่ว่ามาข้างต้นเป็นเรื่องหนึ่ง ที่เหลืออีก 8 อย่าง เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะเรื่องแรก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change โดยความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศต้องมีน้อยกว่า 350 ส่วนในล้านส่วน
เรื่องของชั้นโอโซนในบรรยากาศที่กลายเป็นรูโหว่แหว่งก็เช่นกัน ชั้นโอโซนจะต้องไม่ลดหายไปเกินกว่า 5% นับจากยุคก่อนยุคอุตสาหกรรม ในขณะที่วัฏจักรไนโตรเจนและวัฏจักรฟอสฟอรัสก็เป็นอีกขีดจำกัดหนึ่งที่ต้องพิจารณา เช่น ฟอสฟอรัสจะต้องไม่ไหลลงไปในมหาสมุทรมากกว่า 10 เท่าตามที่เป็นอยู่โดยธรรมชาติ แต่เราจะเห็นได้ว่า การใช้ปุ๋ยเคมีที่มีการชะล้างลงไปในแม่น้ำลำคลองทั่วโลก ทำให้ค่านี้อยู่ในความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก
ในแง่ของการเดินทางท่องเที่ยว พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก ที่สำคัญก็คือ เวลาที่เราเดินทางท่องเที่ยวมักเป็นช่วงเวลาที่เรา ‘ปล่อยตัวปล่อยใจ’ ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าสภาวะปกติ นั่นทำให้เราจับจ่ายใช้สอย (หรือบริโภค) มากกว่าสภาวะปกติไปด้วย นั่นแปลว่าเมื่ออยู่ในสถานะ ‘นักท่องเที่ยว’ เราจะใช้ทรัพยากรของโลกที่มีอยู่จำกัดแบบ ‘ไร้ขีดจำกัด’ มากกว่าปกติ เช่น เราต้องกินให้อร่อย นอนให้ดี ชอปปิงให้สนุก ฯลฯ โดยที่เราอาจไม่ได้คิดว่า การกลายไปเป็นนักท่องเที่ยวนั้น มีส่วนในการ ‘ละเมิด’ สิ่งที่เรียกว่า ‘ขีดจำกัด’ ของโลกไปมากมายแค่ไหน
การตระหนักถึง ‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ จะทำให้เราต้อง ‘เปลี่ยน’ วิธีคิดและวิธีเดินทางท่องเที่ยวของเราเสียใหม่ และจำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างรีบด่วนด้วย ว่ากันว่า อิทธิพลของมนุษย์ต่อ ‘ชีวมณฑล’ (Biosphere) ในโลกนั้นมีมหาศาลมาก จนถึงขั้นที่อาจเปลี่ยน ‘ยุคทางธรณีวิทยา’ จากโฮโลซีน (Holocene) ไปเป็นแอนโธรโพซีน (Anthropocene) หรือยุคที่มนุษย์ทำให้โลกทั้งใบเปลี่ยนแปลงไปเพราะการดำรงอยู่ของเราได้เลย
เราอาจยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่า โลกเข้าสู่ยุคแอนโธรโพซีนแล้วหรือยัง แต่หลายคนก็ขีดเส้นเอาไว้ว่า ยุคนี้น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1950s แล้ว เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็เพิ่มในอัตราเร็วที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาในรอบ 66 ล้านปี ไม่นับรวมขยะพลาสติกที่ต่อไปในอนาคตจะกลายเป็น ‘ร่องรอยฟอสซิล’ ที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ในปัจจุบันทำลายล้างโลกด้วยพลาสติกมากขนาดไหน หรือระดับของไนโตรเจนกับฟอสฟอรัสที่ใช้ในปุ๋ยเคมีก็ส่งผลต่อวัฏจักรไนโตรเจนและวัฏจักรฟอสฟอรัสมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบสองพันห้าร้อยล้านปี
แต่มนุษย์ก็ไม่เคยหยุดบริโภค ไม่เคยหยุดใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างไม่จำกัด
ถ้าถามว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ สำหรับปีหน้าที่จะมาถึง การทำความเข้าใจต่อ ‘ขีดจำกัด ความปลอดภัยของโลก’ หรือ Planetary Boundaries น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงกันได้แล้ว
เพราะโลกนั้นเปราะบางและซับซ้อนมากเกินกว่าที่เราคิด
เราจะ ‘บริโภคโลก’ เหมือนที่เคยเป็นมาตลอด – ไม่ได้อีกแล้ว!