Over Capacity : เมื่อขาดแคลนคือล้นเกิน

The emergence and spread of COVID-19 has plunged the world into ‘shock’. The best measures to be implemented are to ‘stop’, or suspend travelling and doing business, or practise social distancing. A sudden ‘country lockdown’ has inevitably affected the tourism industry. To ‘reopen’ the country for the sake of the recovery of tourism within a short time has to be proceeded with caution. Depending on the tourist season, the number of tourists may sometimes fall behind and sometimes ‘exceed’ the carrying capacity. For this reason, the TAT Review would like to invite you all to have a look at how the Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) has evaluated, managed, and made a forecast on how to handle the situation of ‘country reopening’ for tourism under the current state of an excessive carrying capacity.

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

 

หากไม่มี COVID-19 เราคงพูดไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีภาวะ ‘ล้นเกิน’ เพราะถึงฤดูท่องเที่ยว (ที่เรียกว่าไฮซีซัน) ทีไร สภาวะขาดแคลนห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น แม้นอกฤดูท่องเที่ยวห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ จะยู่ในสภาวะ ‘เหลือ’ แต่ทั้งสองช่วงก็สามารถชดเชยกันไปได้

 

 

แต่เมื่อเกิด COVID-19 ขึ้นมา มันเหมือนสึนามิขนาดยักษ์ที่โถมเข้ามาทลาย ‘โครงสร้าง’ การท่องเที่ยวแบบที่ว่าลงจนพินาศไปสิ้น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ และมีแนวโน้มที่แทบทุกประเทศจะหันหน้ามาพึ่งพิงการท่องเที่ยวมากขึ้นเพราะอุตสาหกรรมเกื้อหนุน – คืออุตสาหกรรมการบินเองก็รุ่งเรืองเฟื่องฟูมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดสายการบินประเภทต้นทุนต่ำ ที่บินไปได้ไกลๆ แม้กระทั่งสายการบินต้นทุนต่ำที่บินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็ยังมี นั่นทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลอยรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิด COVID-19 ขึ้นมา โลกจึงเหมือนตกอยู่ในสภาวะ ‘ช็อก’ เพราะรัฐบาลทั้งหลายทั่วโลกต่างมีฉันทามติเห็นพ้องกันแล้วว่า มาตรการที่ดีที่สุดคือการ ‘หยุด’ หรือยับยั้งการเดินทาง การทำธุรกิจต่างๆ และลดละเลิก หรือทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอยู่ห่างกันให้มากที่สุด

นั่นย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านมาประมาณห้าเดือน สถานการณ์ยิ่งบ่งชัด ว่าการฟื้นตัวเขยิบห่างจากเราออกไปเรื่อยๆ จากที่เคยคาดการณ์กันว่าอาจจะยืดเยื้อเพียงไม่กี่เดือน ก็กลายเป็นว่าปีนี้ทั้งปีน่าจะมีปัญหาไปตลอด และกระทั่งอาจยืดเยื้อไปถึงปีหน้าทั้งปีด้วย

ที่สำคัญก็คือ การ ‘ปิด’ นั้นสามารถทำได้อย่างฉับพลันทันที และส่งผลกว้างขวาง แต่การจะ ‘เปิด’ นั้นต่างหากที่เป็นเรื่องต้องระมัดระวัง

ค่อยเป็นค่อยไป และต้องหามาตรการที่รัดกุมรอบคอบ เราจึงคาดหวังไม่ได้เลยว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นคืนตัวในเร็ววัน และดังนั้นความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เคยมีอยู่ อาจขาดบ้างเกินบ้างตามฤดูกาลท่องเที่ยวก็กลายเป็นเรื่องที่พูดได้เต็มปากว่าล้นเกิน

ด้วยเหตุนี้ จึงอยากชวนคุณมาดูการประเมิน รับมือ และคาดการณ์ของประเทศในกลุ่ม OECD หรือ The Organisation for Economic Co-operation and Development ที่สมาชิกมีอยู่ด้วยกัน 37 ประเทศ กระจายไปทั่วโลก เพื่อดูว่า OECD คาดการณ์อย่างไร และแนะนำการรับมือในการเปิดการท่องเที่ยวกลับมาอย่างไร เพื่อให้สภาวะ ล้นเกินที่เกิดขึ้น ไม่ทำร้ายอุตสาหกรรมมากไปกว่าที่เป็นอยู่

OECD หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 เพื่อกระตุ้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการค้าโลก มันคือเวทีให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ได้มาลองเปรียบเทียบนโยบายต่างๆ เท่าที่เคยลองทำดู จะได้ถอดบทเรียนร่วมกัน และหาคำตอบให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน รวมทั้งสร้างมาตรฐานการปฏิบัติต่างๆ และความร่วมมือในหลากหลายระดับในกลุ่มสมาชิก แม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ OECD แต่เราก็มีความพร้อมในบางระดับ และมีความร่วมมือบางอย่างกับ OECD และการที่ OECD ถูกมองว่าเป็น Rich Men’s Club หรือคลับของคนรวย ก็แปลว่าเราน่าจะมองเห็นและประยุกต์ใช้แนวทางจาก OECD ได้หลายอย่าง

มีรายงานของ OECD ที่ประเมินฉากทัศน์หรือ Scenario ล่าสุดเอาไว้สามแบบ ที่บอกว่า COVID-19 น่าจะส่งผลให้เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระดับโลกลดลงมากถึง 60-80% และการฟื้นตัวที่พอจะเห็นทางหรือมีความหมายขึ้นมาบ้างนั้น ก็จะไม่เกิดขึ้นรวดเร็วนัก โดยในรายงานนี้แบ่งเป็น 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน คือ

ฉากทัศน์ที่ 1

การท่องเที่ยวในระดับโลกจะเริ่มฟื้นตัวในเดือนกรกฎาคม แล้วครึ่งหลังของปีจึงค่อยๆ แข็งแรงขึ้น แต่อยู่ในอัตราช้ากว่าที่เคยทำนายไว้ ดังนั้นมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวก็จะลดลงราว 60% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ฉากทัศน์ที่ 2

การท่องเที่ยวจะไปเริ่มฟื้นในเดือนกันยายน แล้วค่อยๆ แข็งแรงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยอยู่ในอัตราช้ากว่าที่เคยทำนายไว้ มูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวจะลดลงราว 75% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ฉากทัศน์ที่ 3

การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นในเดือนธันวาคม ดังนั้นมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวก็จะลดลงราว 80% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

คาดการณ์กันว่า การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คิดและเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นช้ากว่าที่เคยทำนายเอาไว้ด้วย

มันเหมือนการตัดต้นไม้ เวลาตัด ต้นไม้ก็ล้มลงในทันที แต่การฟื้นฟูต้องค่อยๆ สร้างความเชื่อมั่นต่างๆ ขึ้นมาทีละนิด รวมถึงมาตรการต่างๆ ก็ต้องค่อยๆ ลองผิดลองถูก หากเกิดคลื่นการระบาดรอบที่สองหรือสาม ก็ต้องกลับมาปิดใหม่อีกครั้ง

คาดการณ์กันว่าในทุกประเทศ การท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวกลับมาก่อน และเป็นตัวการอุดหนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม ก็คือการท่องเที่ยวในประเทศ เศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวในประเทศกลุ่ม OECD นั้นถือเป็นรายได้หลัก และมีมูลค่าราว 75% ของมูลค่าเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในประเทศก็ไม่สามารถชดเชยการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในบางประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างหนัก ประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่ามาก

ตัวอย่างเช่น ในเกาหลี มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ต่อให้สามารถเปิดประเทศได้ในเดือนกันยายน และสถานการณ์โลกเริ่มดีขึ้น ก็อาจมีนักท่องเที่ยวเข้าเกาหลีราว 7.5 ล้านคน ซึ่งลดลงราว 57.1% โดยรายได้จากการท่องเที่ยวของปีนี้จะอยู่ที่ราว 10.3 พันล้านเหรียญ ซึ่งก็ลดลงราว 42.1% อยู่ดี

หรือในฟินแลนด์ เคยมีการคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของปี 2020 จะลดลงราว 60-70% เท่ากับรายได้หายไป 10-11 พันล้านเหรียญ ส่วนในสหราชอาณาจักรก็มีโมเดลต่างๆ หลายอย่างที่การท่องเที่ยวอังกฤษ หรือ VisitBritain ได้ทดลองทำแบบจำลองขึ้นมา แต่แบบจำลองที่ดีที่สุดก็ยังคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะลดลง โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศลดลง 54% ค่าใช้จ่ายลดลง 55% ซึ่งเท่ากับเงินหายไปราว 15.1 พันล้านปอนด์ แต่ในแบบจำลองอื่นๆ พบว่ารายได้จะหดหายไปมากกว่านี้อีกมหาศาล

ประมาณการว่า ประชากรโลก 9 ใน 10 คน (คือราว 90%) จะต้องถูกตรึงอยู่กับที่ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองข้ามพรมแดนได้ และในหลายประเทศด้วยความที่สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น การปิดพรมแดนจึงยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีกำหนดแน่นอน ส่วนในประเทศที่สามารถเดินทางเข้าได้แล้ว ก็ยังต้องกักตัวอีก 14 วัน การเปิดประเทศและฟื้นตัวในเรื่องการท่องเที่ยวจึงเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะเกิดอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปและมีลักษณะที่ ‘ไม่เป็นเส้นตรง’ (Non-Linear Process) คืออาจจะเปิดแล้วหวนกลับไปปิด อาจจะผ่อนคลายแล้วหวนกลับไปเคร่งครัด ก่อนจะกลับมาผ่อนคลายได้ ซึ่งเห็นได้ชัดในสิงคโปร์ที่เคยผ่อนคลาย แต่แล้วก็ต้องกลับไปเข้มงวดอีกครั้ง เมื่อเกิดความกังวลถึงคลื่นการระบาดครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม มีผู้วิเคราะห์ว่า ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวขนานใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งก็คือจีน เพราะก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีนกำลังเติบโตอย่างมาก นักท่องเที่ยวจากจีนนั้นถือว่าเดินทางออกนอกประเทศเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2018 (คือราว 10.6%) ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าจีน ก็ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก (คือ 4.5% เป็นรองก็แต่ฝรั่งเศส สเปน และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น) รายได้จากการท่องเที่ยวของจีนอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก เมื่อต้องปิดประเทศกะทันหัน จึงเหมือนการเบรกรถหัวทิ่ม

แต่ถ้ามองข้ามชอต เลยไปจนถึงการฟื้นตัวของประเทศและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล่ะ – OECD มองและวิเคราะห์อย่างไร

คำตอบที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากจะเกิดการ ‘สร้าง’ จุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ (Rebuilding Destinations) ก็จะต้องอาศัยวิธีเดียว คือการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง

มีผู้วิเคราะห์ว่า COVID-19 นั้น มันกระจายตัวอย่างไม่สมมาตร คือไม่ได้กระจายไปทุกหนทุกแห่งเท่าเทียมกันหมด ทว่าบางประเทศก็มีการกระจายตัวหนาแน่น บางประเทศก็เบาบาง (เช่น ในไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นเพราะอะไร) และอีกบางประเทศก็เปราะบางต่อโรคนี้อย่างไม่ได้ส่วน (Disproportionately Vulnerable) ซึ่งก็จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวแตกต่างกันไป และผลที่ว่านี้จะยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้น หลังการระบาดของไวรัสจบสิ้นลงแล้ว

มีการวิเคราะห์จาก European Commission’s Joint Research Centre ที่ระบุว่า เศรษฐกิจในจุดท่องเที่ยวยอดนิยมนั้น จะเสี่ยงต่อความเปราะบางที่เกิดเพราะการปิดประเทศหรือจำกัดการเดินทางมากเป็นพิเศษ ถ้าดูเฉพาะในยุโรป แถบที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คือในแถบชายฝั่งต่างๆ รวมไปถึงตามหมู่เกาะ เพราะการเดินทางซับซ้อนกว่าปกติ อีกการวิเคราะห์หนึ่งของ OECD ระบุว่า แหล่งท่องเที่ยวที่น่าจะได้รับผลกระทบสูงสุดคือหมู่เกาะไอโอเนียนในกรีซ หมู่เกาะคานารีในสเปน เกาะเชจูในเกาหลี และหมู่เกาะอัลการ์เวในโปรตุเกส ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกล และพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างเดียว ส่วนในอเมริกา แม้จะไม่ใช่หมู่เกาะ แต่ก็มีลักษณะคล้ายๆ หมู่เกาะ คือตัดขาดจากโลกภายนอกพอสมควร และพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก ได้แก่ รัฐเนวาดา ซึ่งมีลาสเวกัสเป็นศูนย์กลาง แล้วถึงจะตามมาด้วยฮาวาย

 

การฟื้นฟูการท่องเที่ยวไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากภาคส่วนใดโดดๆ แต่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นองคาพยพใหญ่ OECD วิเคราะห์โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ที่ต้องร่วมมือกัน คือ

1. ภาคการเดินทางและการจัดการทัวร์

เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งที่จริงก็ลดขนาดและความถี่ลงไปมหาศาล กิจกรรมทางการบินต่างๆ หยุดลง โดยองค์กรการบินพลเรือนนานาชาติ หรือ International Civil Aviation Organization หรือ ICAO ประมาณไว้ในเดือนพฤษภาคมว่า ผู้โดยสารที่เดินทางในระดับนานาชาตินั้น ลดลงราว 44-80% โดย Airports Council International ก็ประเมินไว้เช่นกันว่าผู้โดยสารในปี 2020 จะลดลงมากถึง 4.6 พันล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมหาศาล อุตสาหกรรมถัดๆ มาที่ได้รับผลกระทบมากก็คือเรือสำราญ รถไฟ และเอเยนต์ทัวร์

2. ภาคที่พักและการให้บริการอาหาร

แน่นอนว่าโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในยุโรป ประมาณว่าโรงแรมปิดตัวลง 76% และที่เหลืออยู่ก็มีอัตราการเข้าพักเพียง 30% ส่วนที่พักแบบเปิดให้พัก (อย่างเช่น Airbnb) ก็ลดลงมาก เฉพาะ Airbnb นั้นลดพนักงานลงถึง 25% ร้านอาหารเองก็ติดลบเช่นกัน สมาคมร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา (National Restaurant Association) ประมาณว่าการขายอาหารจะลดลง 225 พันล้านเหรียญ โดยนี่เป็นช่วงไตรมาสที่สองของปีเท่านั้น ทำให้สูญเสียตำแหน่งงานไประหว่าง 5-7 ล้านตำแหน่ง ส่วนในฝรั่งเศส ประเทศแห่งอาหาร ก็พบว่าหลังล็อกดาวน์ มีร้านอาหารปิดไป 75,000 แห่ง ไม่นับคาเฟ่ 40,000 แห่ง และคลับบาร์อีก 3,000 แห่ง ตำแหน่งงานหายไป 1 ล้านตำแหน่ง

3. ภาคอื่นๆ

ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมีอีกมาก เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง กีฬา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ผู้จัดอีเวนต์ต่างๆ ต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งรายได้หดหาย The International Council of Museums หรือ ICOM รายงานว่าในอิตาลี รายได้ที่สูญเสียไปน่าจะอยู่ที่ราว 3 พันล้านยูโร ส่วนในสเปนน่าจะสูญเสียไปราว 980 ล้านยูโร แต่ที่น่าจะเจ็บหนักที่สุด ก็คือญี่ปุ่นกับการเลื่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกออกไป

ภาคส่วนเหล่านี้จำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อแสวงหาความร่วมมือโดยเฉพาะการคาดการณ์เรื่อง Capacity หรือความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ที่ต้อง ‘พอดี’ และสอดคล้องกับการฟื้นตัวต่างๆ ด้วย

นอกเหนือไปจากมาตรการที่ภาครัฐควรต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินกับธุรกิจที่ได้รับความเสียหาย หรือกับคนทำงานที่ต้องสูญเสียงานแล้วภาคธุรกิจเองก็ต้องมองไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งเรื่องหนึ่งที่รายงานของ OECD รายงานไว้ ก็คือ การร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะวงการแพทย์คือผู้กำหนดเป็นกำหนดตายได้ว่า จะเปิดหรือปิดเมืองอย่างไร เมื่อไหร่ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เป็นเหมือนแรงชักเย่อของพลังสองฝั่งเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพ ชีวิต และเศรษฐกิจ

มีตัวอย่างหลายที่ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเข้าไปสนับสนุนการแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น โรงแรมโฟร์ซีซันส์ในนิวยอร์ก เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นบ้านหรือที่พักสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือโรงแรมในเครือ Accor ในฝรั่งเศส เปิดโรงแรม 40 แห่ง ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าพักแต่เหนือไปกว่านั้น ก็คือการประมาณการร่วมกัน ถึงความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว ที่สอดคล้องลงตัวกับอัตราการผ่อนคลายล็อกดาวน์ต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ในคอสตาริกาซึ่งเป็นประเทศท่องเที่ยวที่สำคัญ โรงแรมต่างๆ ก็เริ่มทำงานแล้ว แต่ค่อยๆ เปิด และทำงานในปริมาณจำกัด เช่น ไม่ได้เปิดห้องพักทันทีเต็มที่เต็มจำนวน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐด้วย เพราะ Costa Rican Tourism Institute ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางภาษีให้กับผู้ประกอบการคู่ขนานกันไปอีกด้านหนึ่งด้วย

ในฟินแลนด์ ซึ่งพูดได้ว่าอุปสงค์นั้นลดลงมากกว่า 90% สายการบินอย่างฟินแอร์ ก็ลดเที่ยวบินลง 90% เช่นกัน เพื่อให้ความสามารถในการรองรับสอดคล้องกับความต้องการจริง หรือในฮังการี สายการบินอย่าง Wizz Air ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของฮังการี ก็วางแผนจะค่อยๆ เพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยคาดว่าเมื่อถึงปลายปี เที่ยวบินจะกลับมา 60-70% แต่จะกลับมา 100% อีกครั้ง ก็ในฤดูร้อนหน้า โดยมาตรการต่างๆ ทั้งหมดนี้ มีการประสานงานกันกับภาครัฐและภาคธุรกิจอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปอย่างสอดคล้องกัน ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยตัวเองโดยขาดแคลนข้อมูล

 


 

หากมองในระยะยาว อย่างไรเสีย มนุษย์ก็ต้องคิดค้นวัคซีนสำหรับ COVID-19 ขึ้นมาได้ นั่นแปลว่าโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลใหม่อีกครั้ง แม้อาจไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินทางจะฟื้นตัวกลับมาแน่ๆ ดังนั้นสิ่งที่เรารู้สึกว่าล้นเกินในปัจจุบัน เช่น ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวในเมืองอย่าง เชียงใหม่ก็อาจกลับมาขาดแคลนและรองรับการท่องเที่ยวไม่ได้อีกครั้ง การช่วยกันประคับประคองจากทุกภาคส่วน ค่อยเป็นค่อยไป แต่ทำงานใกล้ชิดประสานกันไปจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด.

Share This Story !

Published On: 29/10/2020,4.6 min read,Views: 522,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023