การท่องเที่ยวแห่งประเทศใจ
รศ. ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์
ว้าวุ่น … 2023 กำลังจะผ่านพ้น แต่ความเครียด กังวล เศร้า สับสน ก็ยังวิ่งวนเรื่อยไป เป็นสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังคงเวียนว่ายในสายธารชีวิต และนับวันกลับปรากฏชัดเจนขึ้น อาจด้วยสภาพสังคมที่รีบเร่ง การแข่งขันที่ร้อนแรง และปัญหาหลายด้านที่รุมเร้า ตั้งแต่วิกฤต COVID-19 วิกฤตโลกร้อน วิกฤตสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลต่อวิกฤตปัญหาสุขภาพจิต ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำนิยามถึงสุขภาพจิตหรือ Mental Health ว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับอารมณ์ สภาวะจิตใจ และการดำรงอยู่ทางสังคม ปัญหาสุขภาพจิตมีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นต้น เช่น ความเครียด วิตก ไปจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า Depression และความไม่ปรกติ เช่น Bipolar Disorder, Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD), Obsessive-Compulsive Disorder (OCD) โดยจะเข้าไปก่อกวนความเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งการงาน การเรียน ความสัมพันธ์ เป้าหมาย และความเป็นอยู่ส่วนตัว WHO ยังระบุต่อถึงคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ คนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ความยากจน ความรุนแรง ความบกพร่องทางกายหรือทางจิต การสูญเสีย
มาดูกันต่อที่ความรุนแรงของปัญหา การศึกษาโดย IHME (2019) และ WHO (2021) ระบุสถิติว่ามีคน 1 ใน 8 บนโลกที่มีภาวะไม่ปรกติทางจิต (Mental Disorders) หรือคิดเป็นประชากร 970 ล้านคนบนโลก แบ่งเป็นผู้ชาย 47.6% และผู้หญิง 52.4% ปัญหาที่พบมากสุดได้แก่ ที่เกี่ยวกับความวิตกกังวล Anxiety Disorders มากถึง 31% ตามมาด้วยซึมเศร้า Depressive Disorders 28.9% ความผิดปรกติในพัฒนาการ Developmental Disorders 11.1% และสมาธิสั้น Attention-Deficit / Hyperactivity Disorders (ADHD) 8.8% ที่น่าสนใจคือสถิติระบุกลุ่มประเทศที่พบปัญหาเหล่านี้มากสุดเป็นประเทศรายได้สูง ตามมาด้วยกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและลดหลั่นกันลงมา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความสามารถในการเข้าถึงบริการสุขภาพจึงปรากฏเป็นรายงานผล ขณะที่กลุ่มประเทศยากจนแม้มีปัญหาอยู่สูงแต่อาจจำต้องรับสภาพกันไป โดยสถิติระบุไว้ว่ามีคนมากถึง 71% ที่ไม่ได้รับการรักษาบำบัด และมีการจัดสรรงบประมาณเพียง 2% ของงบการดูแลสุขภาพประชาชนเพื่อใช้ไปกับการจัดการเรื่องนี้
แล้วประเทศไทยเราเป็นอย่างไร Mintel Reports (2022) เก็บข้อมูล Online Survey กับ 2,000 คน ระบุปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเครียด Stress 46% ตามมาด้วยนอนไม่หลับ Insomnia 32% ความวิตกกังวล Anxiety 28% และความเหงา Loneliness 27% เหล่านี้เป็นปัญหาที่พบทั่วไป แตกต่างจากกรณีที่เข้าข่ายความไม่ปรกติทางจิต (Mental Disorders) ซึ่งมักเป็นสิ่งที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ยังคงมีส่วนใต้ล่างที่ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความตื่นตัวให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทางนโยบายยังพบแนวทางการดำเนินงานที่ค่อนข้างล้าสมัยหรือติดกรอบ รวมถึงข้อจำกัดทางทรัพยากร ตัวอย่างใกล้ตัวในสถาบันการศึกษา พบว่ายังขาดความชัดเจนในการทำความเข้าใจ ติดตาม ดูแล และให้บริการบำบัดรักษา แม้จะพอสังเกตได้จากลักษณะพฤติกรรมในนักเรียนนักศึกษาหรือเพื่อนร่วมงาน แต่ก็มักปล่อยเป็นการดูแลไปตามที่เคยชินหรือเข้าใจเอง ซึ่งหลายครั้งอาจยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง
เรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของตัวเองเมื่อไปสอนหนังสือที่อเมริกาปีก่อน มีนักศึกษารายหนึ่งขาดเรียนไป 2-3 สัปดาห์ พยายามอีเมลหาก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับจนชักจะหวั่นใจ มหาวิทยาลัยมีหน่วยงานกลางให้ส่งเรื่องเพื่อเจ้าหน้าที่ช่วยประสานติดตาม ต่อมานักศึกษากลับมาเข้าเรียนเลยได้พูดคุยกับเด็ก (ป.ตรี) เค้าบอกตัวเองมีอาการซึมเศร้า ลุกออกจากเตียงมามหาวิทยาลัยไม่ไหว เด็กเสียคุณพ่อไปเมื่อช่วงเทอมก่อนและบอกยังทำใจไม่ได้ ขณะที่ยิ่งขาดเรียนขาดส่งงานก็ยิ่งทำให้ผลการเรียนดิ่งลง งานกลุ่มไม่ได้ร่วม ทำให้เพื่อนเหนื่อยหน่าย กลายเป็นปัญหาทับถมรวมกันเพิ่มเข้าไปอีก จนทุกเช้าที่เค้าตื่นลืมตาจะรู้สึกไม่อยากต้องออกมาเจอกับอะไร ๆ ที่ทำให้ใจห่อเหี่ยว
เมื่อได้ยินแล้วอึ้ง (สารภาพตรงนี้ว่าไม่เคยเจอ อยู่เมืองไทยสอนแต่ผู้ใหญ่ ป.โท ป.เอก ที่แม้มีปัญหาหนักไม่แพ้กันแต่ก็อาจมีวุฒิภาวะและประสบการณ์มากกว่าในการจัดการ) ต่อมาที่เอ่ยออกไปคือเสียใจด้วยนะที่เค้าสูญเสียคุณพ่อ ส่วนเรื่องเรียนขอให้พยายามดันตัวเองมาเข้าชั้นได้บ้างก็ยังดีกว่าปล่อยเลย เพราะมันกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโนนะ ลองหาเพื่อนและกิจกรรมที่ชอบไปร่วมดูมั้ยล่ะ แล้วเล่าต่อไปถึงคนอื่นและตัวเองว่าเคยใช้วิธีไหนบ้างมาช่วย พูดไปทั้งหมดแล้วเด็กก็ยิ้มเรื่อย ๆ ฟังไป หลังจากนั้นก็หายไปอีกยาว ๆ
เริ่มหวั่นใจอีกแล้ว คราวนี้เล่าให้เพื่อนรุ่นน้องฟัง น้องบอกพี่ลองเข้าคอร์ส Mental Health First Aid ดูมั้ย เค้ามีเรียนออนไลน์วันเดียวเอง เผื่อพอได้ไอเดีย ปรากฏว่าเรียนไปตกใจแรง ที่ทำไปคือมันไม่ใช่เลย ที่ควรทำคือการรับฟังให้เค้าได้บอกเล่าแทนที่จะมีคำแนะนำไปบอกเค้าต่าง ๆ นานา และที่แอบคิดในใจว่าเค้าน่าจะเข้าข่ายทำร้ายตัวเองแต่กลัวว่าถามไปอาจไปจุดประเด็น เลยใช้วิธีเบี่ยงความสนใจไปพูดเรื่องอื่น แท้จริงแล้วควรทำในทางกลับกัน คือถามตรงเพื่อประเมินสภาวการณ์จะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ความรุนแรงอยู่ในระดับไหน เหมาะกับการส่งต่อให้มืออาชีพแบบใดต่อ คนเป็นครูอยู่ใกล้ชิดเด็ก แต่ไม่เคยได้รับการฝึกฝนว่าควรทำงานเรื่องสุขภาพจิตกับเด็กอย่างไร และสถาบันการศึกษาก็ไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจน กรณีเด็กที่เล่ามาไม่ใช่รายเดียว หลังจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ได้พูดคุยกัน เด็ก ๆ บอกว่ารอคิวพบนักบำบัดนานมาก ถ้านัดต้องรออย่างน้อยสามเดือนนู่น
หันกลับมามองที่ภาคธุรกิจ น่าดีใจที่เห็นมีความก้าวหน้าชัดเจน เริ่มจากในองค์กรที่มีการเพิ่มการดูแลสุขภาวะทางจิตของพนักงาน ตั้งแต่การจัดกิจกรรมสันทนาการ การปฏิบัติธรรมหรือกิจกรรมทางศาสนา การให้ความสำคัญกับสมดุลงานและชีวิต Work-Life Balance การให้คำปรึกษา Coaching ซึ่งมีทั้งส่วนที่เกี่ยวกับงาน Career Coaching และที่เกี่ยวกับชีวิต Life Coaching เพราะสัมพันธ์กันแบบแยกยาก
ด้านการนำเสนอสินค้าบริการก็พบว่ามีการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์สุขภาพจิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น ที่พบทั่วไปได้แก่ การขยายตัวของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จรรโลงใจ เกิดเป็น Creative Economy ไปทั่วโลก กิจกรรมและกิจการบันเทิงต่าง ๆ ก็เติบโตแม้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพราะเข้ามาช่วยแก้เซ็ง ด้านการท่องเที่ยวมีความดีต่อใจเป็นรากฐาน หากสอบถามคนถึงเหตุผลหรือที่มาของการไปเที่ยวก็จะได้คำตอบประมาณเพื่อพักผ่อน เพื่อไปพบเห็นเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ เพื่อไปใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัว เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพจิตทั้งสิ้น ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ด้วยตาเช่น การที่ผู้คนพากันออกเที่ยวหลังวิกฤต COVID-19 ขยับขั้นมากขึ้น พบเทรนด์ท่องเที่ยวที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยดูแลจิตใจ ได้แก่ Wellness Center หรือ Retreat Center ต่าง ๆ และปัจจุบันโรงแรมรีสอร์ตก็เพิ่มเติมบริการ อาทิ สปา นวด ฝังเข็ม โยคะ การฝึกสติ ทำสมาธิ กิจกรรมสัมผัสธรรมชาติ และมีที่เจาะจงไปเรื่องการบำบัดปัญหา เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การพบผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา หลายแห่งยังผสานเรื่องสุขภาวะองค์รวม มีการนำเสนออาหารการกิน กลิ่นเครื่องหอม ที่มีสรรพคุณทำให้ผ่อนคลาย ช่วยให้รู้สึกสดชื่น หรือช่วยให้นอนหลับได้ดี
เทรนด์ดังกล่าวมักเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ตัวอย่างที่ได้รับการกล่าวถึงมากเช่น การอาบป่า Forest Bathing ในประเทศญี่ปุ่น หรือที่เรียก Shinrin-Yoku ให้คนได้ใช้เวลากับป่าอย่างใกล้ชิด กิจกรรมที่ทำได้แก่ การเดินป่าอย่างมีสติ ฟังเสียงนก แมลง หรือใบไม้ สัมผัสดิน กอดต้นไม้ สูดอากาศ ดมดอกไม้ กลิ่นน้ำ กลิ่นฝน สังเกตดูสิ่งแวดล้อมรอบตัว สีสันที่แตกต่าง การเปลี่ยนแปลงตามแสงของวัน ชิมผลผลิตจากธรรมชาติแบบปราศจากการปรุงแต่ง งานวิจัยพบว่าการอาบป่านอกจากส่งผลทางตรงกับการเยียวยาจิตใจ ยังส่งผลทางกายให้ความดันลดลง ลดฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) เพิ่มภูมิต้านทาน เรื่องเสียงนกร้องนี้ยังมีการศึกษาเชิงลึกไว้ว่าช่วยลดอาการในกลุ่มคนที่มีภาวะซึมเศร้า และช่วยบรรเทาความวิตกกังวล (Anxiety) และความหวาดระแวง (Paranoia) ในกลุ่มคนทั่วไป
จากตัวอย่างที่พบในปัจจุบันอาจพอสรุป Highlights ออกได้เป็น 5 ประเด็นหลัก เริ่มจาก “Relaxation” เพื่อช่วยลดทอนบรรเทาปัญหา โดยใช้ความสงบเย็น (Tranquility) การปลดปล่อยคลายออก (Unwind) การพัก (Rest) ต่อมาด้วย “Restoration” เรียกคืนพลังชีวิตให้กลับมา โดยอาจให้ Detox เอาของเสียออกแล้วนำเอาของดีเข้ามา บางกรณีที่เข้มข้นอาจไปถึงการ Recovery หรือ Rehabilitation จากสภาวะหนัก ๆ เช่น ที่เคยมีอาการทางจิตหรือต้องพึ่งสารเสพติด เป็นต้น ลำดับสามเป็นการ “Reconnect” คือกลับมาเชื่อมโยงกับกายใจของตัวเอง สร้างสมดุลภายใน ช่วยส่งต่อสู่ลำดับสี่คือ ทำให้รู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ “Renewal” หรือย้อนไปสู่วันเวลาที่สดใส Rejuvenate มีไฟหรือพลังใจในการออกไปเผชิญโลก สุดท้ายที่สำคัญคือ “Resilience” ได้แก่ การมีภูมิต้านทานพร้อมรับปัญหาที่ย่อมมีเข้ามาอีกตามกฎธรรมชาติ แม้อยู่ในรูปแบบต่างกัน
ทั้งนี้หากมองแนวทางการทำงานกับปัญหาสุขภาพจิตตามแบบโลกตะวันตกกับตะวันออก พบว่ามีความแตกต่างระหว่างความพยายามค้นหาปมหรือที่มาของปัญหา แล้วเข้าไปซ่อมก่อนสร้างความมั่นใจความภูมิใจในตัวเองให้กลับมา ขณะที่วิถีตะวันออกไม่ได้มุ่งที่การขุดปมแต่ให้รับรู้ไปตามปัจจุบัน โดยแยกส่วนระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกต่อสิ่งที่เกิด เป็นการเรียกสติ ก่อให้เกิดความเข้าใจยอมรับ ปรับสมดุลการดำรงชีวิต
เทรนด์การท่องเที่ยวที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตยังพบการนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกการทำงานมากขึ้น ที่พบแพร่หลายได้แก่ การใช้ช่องทางออนไลน์สร้างการเข้าถึงไร้พรมแดนและข้อจำกัดเวลา เช่น โรงแรมบางแห่งมีบริการ Counselling กับผู้เชี่ยวชาญผ่านสื่อออนไลน์ ทำให้ไม่ต้องจัดหาบุคลากรมาประจำอยู่ตลอด นอกจากนั้น Data Analytic และ AI ยังเข้ามาช่วยในการบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน เช่น ที่เกี่ยวกับภาวะอารมณ์และสุขภาพจิตของคน บางแห่งยังนำวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนการทำงาน เช่น การทำ Detoxification ในระดับอนุภาคเซลล์
เมื่อลองท่องเที่ยวไปในจิตใจ จะพบว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีปัญหามากบ้างน้อยบ้าง บางคนมีแต่ไม่รับรู้ บางคนรู้แต่มองข้ามไป บางคนมองแต่ไม่สนใจ บางคนสนใจแต่ไม่ทุกข์ร้อน บางคนทุกข์ร้อนแต่ผ่อนคลายได้ หรือบางคนเก็บสะสมไว้กลายเป็นความรู้สึกรุนแรงพร้อมระเบิด วาระส่งท้ายปีเป็นช่วงเวลาที่ให้ได้มาสะท้อนดูสิ่งที่ผ่านไปและตั้งสติพร้อมรับสิ่งที่จะเข้ามาใหม่ ขอใช้วาระนี้ส่งกำลังใจให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศใจของทุกคน