สัมภาษณ์พิเศษ ‘พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท’ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

Interview with DASTA Director-General Nalikatibhag Sangsnit, Ph.D.

The Designated Areas for Sustainable Tourism Administration or DASTA is a public organization which aims to promote creative and low-carbon tourism that is initiated by and involves participation from communities known as community-based tourism (CBT). Moreover, the community must be the primary recipient of benefits from tourism under the concept of CBtT or ‘Communities Benefitting through Tourism’. DASTA has also initiated the ‘CBT Development and Evaluation Guideline’ adapted from the UNWTO Global Sustainable Tourism Criteria, and is spreading it’s CBT program to other countries such as Laos and the Philippines.

รู้จัก อพท. จากการทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนยั่งยืน

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีรูปแบบการทำงาน 3 ส. คือ ประสานส่งเสริม และสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างสมดุลใน 3 มิติ ทั้ง สังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม หรือ โค-ครีเอชั่น (Co-Creation) ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ภายใต้คำจำกัดความ 5 ร่วม คือ ‘ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติร่วมรับผิดชอบและร่วมรับผลประโยชน์’เน้นย้ำการทำงานบนพื้นฐานความต้องการของประชาชนและชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นต้องตกอยู่กับประชาชนเจ้าของพื้นที่เช่นกัน

มุมมองใหม่ลดความเหลื่อมล้ำ

พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึงเป้าหมายสูงสุดที่จะนับเป็นความสำเร็จของ อพท. คือชุมชนสามารถนำกลไกการจัดการการท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมาไปใช้ขับเคลื่อนจนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต
ของชาวบ้านและชุมชนให้เกิดความอยู่ดีมีสุข และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ  

กิจกรรมการท่องเที่ยวที่ อพท. พัฒนาขึ้นมานั้น เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ‘Creative Tourism’ และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ‘Low Carbon Tourism’ ผ่านกระบวนการจัดการของคนในชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่ง อพท. ให้คำนิยามการทำงานในรูปแบบนี้ว่า ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ แต่รูปแบบหรือเครื่องมือที่ อพท.ใช้ดำเนินการนั้น จะไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism : CBT) แต่จะเป็น Communities Benefitting through Tourism (CBtT) หรือ การท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ เพราะเครื่องมือ CBtT นี้ แม้ว่าชุมชนใดที่ไม่มีศักยภาพที่จะใช้พื้นที่ของตัวเองทำเรื่องท่องเที่ยว แต่จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยวกระแสหลัก (Mainstreaming) หรือผลประโยชน์ของชุมชนผ่านการท่องเที่ยวได้

 

 

“อพท. ให้น้ำหนักความสำคัญไปที่เรื่องสังคมวัฒนธรรม มีการตั้งสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ สทช. รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงาน เพื่อประสานงานและสนับสนุนสร้างการมีส่วนร่วมและถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เพราะ อพท. ต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon และเพื่อให้การดำเนินงานของ อพท.เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ตัวชี้วัดที่จับต้องได้คือความอยู่ดีมีสุขของชุมชนที่อพท. เข้าไปช่วยบริหารการพัฒนา จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานตามแนวคิด CBtT ของผู้อำนวยการ อพท. ซึ่งเน้นย้ำเสมอว่าการพัฒนาจะยั่งยืนได้สุดท้ายชุมชนต้องเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนานั้นเนื่องจากจะทำให้ชุมชนรู้สึกรักและหวงแหนในวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ และวิถีชีวิต ที่ทุกสิ่งล้วนกินได้ เพราะการคงอยู่ของสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งการสร้างรายได้เสริมเลี้ยงชีพ” พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค กล่าว

CBtT นวัตกรรมการจัดการของ อพท.

Communities Benefitting through Tourism (CBtT) หรือการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นนวัตกรรมของ อพท. ที่เกิดจากการพบข้อบกพร่องในการทำงานที่ผ่านมา กล่าวคือ ปัญหาของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ไม่ประสบความสำเร็จ มีสาเหตุจากหลายกรณีเช่น ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด การดำเนินงานไม่ได้รับความไว้วางใจ การขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน สถานที่ชุมชนบางแห่งมีความลำบากในการเดินทางเข้าถึง พื้นที่ขาดการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะชุมชนไม่มีความรู้ทางการจัดการระบบท่องเที่ยวและขาดเครือข่ายการท่องเที่ยว (networking)   

หลักของ CBtT คือชุมชนไม่จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการท่องเที่ยวเองแต่อาศัยกระแสของการท่องเที่ยว หรือการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ โดยผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องมีการหารือกับชุมชนถึงการดำเนินงานและการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ข้อดีของ CBtT คือ แม้ว่าชุมชนที่ไม่ได้อยู่รอบแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลักก็ยังสามารถรับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้ เช่น ชุมชนชาวไทยภูเขามีรายได้จากการขายดอกไม้ประดับให้กับโรงแรม ร้านอาหาร เพื่อไปประดับตกแต่ง เพราะชุมชนชาวไทยภูเขาไม่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สามารถเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือดึงดูดนักท่องเที่ยวเพราะบนภูเขามีความเป็นธรรมชาติเนื่องจากอยู่บนที่สูงสภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ก็สามารถปลูกและส่งกล้วยไม้ไปยังโรงแรม ถือเป็นรายได้ที่ได้รับจากการท่องเที่ยวเช่นกัน หรือชาวบ้านที่ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่แล้วนำไปส่งยังร้านอาหารโรงแรมรีสอร์ทเพื่อทำอาหารให้แก่นักท่องเที่ยวรับประทานก็เท่ากับชาวบ้านหรือชุมชนนั้นๆ มีรายได้เพิ่มจากการมาเยือนของนักท่องเที่ยวเช่นกัน

เราจะเห็นได้ว่า CBtT ของ อพท. นั้น มีความลึกซึ้งและมุ่งเน้นผลลัพธ์มากกว่า CBT หรือการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism) ซึ่งสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้นิยามว่า หมายถึง การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมกำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน และชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของ มีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน

อย่างไรก็ตาม การจะทำท่องเที่ยวให้ได้ผลดีสิ่งสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือการพัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยว ตลอดจนการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและการจัดการให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล

อพท. จึงได้จับมือกับสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ทำการประยุกต์ใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) มาเป็น ‘แนวทางการประเมินและพัฒนาศักยภาพชุมชน’ มีองค์ประกอบ 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการ เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การบริการ และความปลอดภัย  

เกณฑ์ดังกล่าวจัดทำขึ้นมาเพื่อให้รู้ถึงขีดความสามารถของชุมชนก่อนนำจัดทำแผนการพัฒนาเป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อันจะช่วยเพิ่มความสุขและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กิจกรรมที่ อพท. สนับสนุนคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Low CarbonTourism) และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ดำเนินการภายใต้กรอบ CBtT และแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand)

ใช้เกณฑ์ระดับโลกพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา อพท. ใช้ เกณฑ์ GSTC ประเมินและพัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษทั้ง 6 แห่ง และนับจากปี 2560 เป็นต้นไป อพท. ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) ฉบับแรกของประเทศไทย ทำให้ อพท. สามารถนำเครื่องมือ CBT Thailand ไปใช้ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวครอบคลุมในพื้นที่เขตพัฒนาท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ทั้ง 9 เขตโดยปี 2560 อพท. ได้ลงพื้นที่ประเมินศักยภาพ 700 ชุมชน ใน 38จังหวัด คัดเลือกได้ 168 ชุมชน แบ่งเป็น 3 ระดับตามศักยภาพ คือระดับ A เป็นที่ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูง โดย อพท. จะเข้าไปช่วยพัฒนาต่อยอดด้านการตลาด ส่วนชุมชนระดับ B และ C อพท.จะวางแผนพร้อมประสานภาคีเครือข่าย ดำเนินการพัฒนาตามความเหมาะสมอย่างเป็นขั้นตอน โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเครื่องมือการทำงานของ อพท. ตามแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) โดยเฉพาะเกณฑ์ประเมินและพัฒนาศักยภาพชุมชน ได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง เป็นเกณฑ์ที่หากได้ดำเนินการตามขั้นตอนจะประสบผลสำเร็จเป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เห็นได้จาก 14 ชุมชนต้นแบบของ อพท. ที่ปัจจุบันนี้ได้รวมกลุ่มกันเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ ภายใต้ชมรมเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ(ชคพ.) นับเป็นอีกหนึ่งเครือข่ายการทำงาน (networking) ที่ อพท.สร้างขึ้นจนประสบผลสำเร็จ

อาเซียนให้การยอมรับ

ไม่เพียงแต่การยอมรับภายในประเทศ CBT Thailand ยังได้รับการยอมรับจากประเทศกลุ่มอาเซียน โดย อพท. ได้ขยายผลปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนล้านช้าง หรือCBT Lan Xang เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาชุมชนและเอกชนในอาณาจักรล้านช้าง ตามความต้องการของ สปป.ลาว พร้อมกับได้นำแผนยุทธศาสตร์นี้นำเสนอในเวทีการประชุมระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง GMS Tourism Working Group และ Mekong Tourism Forum2017 ณ แขวงหลวงพระบาง โดยที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขง เห็นตรงกันว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวตอบโจทย์ความหมายและการพัฒนา ASEAN One Destination ซึ่งหากไม่รวมประเทศไทยแล้วสปป.ลาว นับเป็นประเทศแรกที่นำยุทธศาสตร์นี้ไปใช้โดยมี อพท. คอยเป็นพี่เลี้ยง   

“แผนยุทธศาสตร์ CBT Lan Xang นำร่องใช้ในโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ครอบคลุมพื้นที่ 4 เมืองใน สปป.ลาว ได้แก่ แขวงไชยะบุรี แขวงหลวงพระบาง แขวงเวียงจันทน์ และนครหลวงเวียงจันทน์และ 4 จังหวัดของไทย ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย”

การนำองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไปอบรมให้แก่ภาคเอกชนและชุมชนใน สปป.ลาวตามแนวทางการพัฒนาของ CBT Lan Xang ทำให้ อพท. ได้รับคำชื่นชมจากรัฐบาล สปป.ลาว ว่า CBT Lan Xang เป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปดำเนินงานได้จริงเห็นผลเป็นรูปธรรมและจัดเป็นความร่วมมือที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามพรมแดน (Cross Border Tourism) ที่มีความชัดเจน และกรมพัฒนาการท่องเที่ยว สปป.ลาว ยังเตรียมจัดทำหลักสูตร CBT Lan Xang แบบ 2 ภาษา ไทยและลาวเพื่อบรรจุในการเรียนการสอนในประเทศ สปป.ลาว รวมถึงการจัดทำชุมชนต้นแบบ แขวงละ 1 ชุมชน จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือดีๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้แก่นานาประเทศ ถือเป็น Spirit of GMS อย่างแท้จริง

นอกจากนั้น อพท.ยังได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์จัดทำ‘เครื่องมือประเมินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม’หรือ ASEAN’s Sustainable and Inclusive Tourism Development Assessment Tool (ASITAT) มอบให้ที่ประชุมหน่วยงานระดับชาติด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน หรือ National Tourism OrganizationsMeeting (NTOs) เพื่อที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้นำไปใช้ต่อไป

นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ อพท. ที่ได้การยอมรับจากนานาประเทศแม้จะเป็นหน่วยงานเล็กๆ ในสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สามารถนำองค์ความรู้ออกไปเผยแพร่แบ่งปันและเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

” ผลจากการใช้กลไกทางการท่องเที่ยว มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชุมชนให้มีรายได้เสริมมีสังคมที่ดีขึ้นและมีความสุขเป็นที่มาของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคมให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน”

นำกลไกท่องเที่ยวสร้างสุขชายแดนใต้

ผลจากการใช้กลไกทางการท่องเที่ยวมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนให้มีรายได้เสริม มีสังคมที่ดีขึ้นและมีความสุขเป็นที่มาของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน อพท. จึงได้รับมอบหมายจาก พลเอก ฉัตรชัยสาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล อพท. ให้นำกลไกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ CBT Thailandไปพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เบื้องต้น อพท. ได้จัดทีมลงพื้นที่สำรวจและอยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนา โดยจะร่วมกับภาคีภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ดำเนินงานร่วมกัน

ความสำเร็จของการใช้เครื่องมือ CBT Thailand พัฒนาชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างได้ผล ตอกย้ำว่า อพท. เป็นองค์กรด้านการจัดการองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน มีความพร้อมทั้งข้อมูล เครื่องมือการทำงาน และความชำนาญของบุคลากร อพท. จึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ สำหรับให้บริการฝึกอบรมแก่ผู้สนใจ ทั้งส่วนราชการ เอกชน และชุมชนทั่วประเทศ

เรื่องโดย : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

Share This Story !

4.3 min read,Views: 2083,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 5, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 5, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 5, 2025